ASF กระทบการส่งออกหมูมากแค่ไหน อีกกี่ปีไทยจะพ้นสถานภาพ ‘ประเทศโรคระบาด’
...
LATEST
Summary
- โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF เป็นโรคระบาดสัตว์ระดับรุนแรง เมื่อพบการระบาดจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำแนะนำของ องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties: OIE) อย่างเคร่งครัด และแน่นอนว่าการส่งออกก็จะไม่ง่ายเหมือนตอนที่อยู่ในสถานะปลอดโรค
- ไทยส่งออกหมูมีชีวิต เนื้อหมูแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู มูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี นี่คือตัวเลขรายได้ที่หลายภาคส่วนหวงแหนว่าไทยจะเสียโอกาสไป แต่ล่าสุด อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้แจงว่า คาดการณ์ว่าการส่งออกเนื้อหมูดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า การขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในหมู ต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE คือ ต้องมีการเฝ้าระวังโรคในช่วงเวลา 3 ปีก่อนขอคืนสถานะ และไม่มีหมูป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในช่วง 3 ปีก่อนขอคืนสถานะ แต่ในต่างประเทศ มีบางประเทศที่สามารถขอคืนสถานะได้เร็วกว่านั้น
...
ตั้งแต่มีข่าวว่าประเทศไทยพบหมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) จนกระทั่งหลังจากกรมปศุสัตว์แถลงข่าวว่าพบหมูในประเทศไทยติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรจริง คำถามหนึ่งที่หลายคนอยากรู้คือ จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยอย่างไรบ้าง?
‘โรคระบาดในสัตว์’ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Office International des Epizooties: OIE) หรือปัจจุบันเรียกชื่อใหม่ว่า องค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health)
OIE มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสัตว์และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงร่วมกันในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เมื่อประเทศไหนพบโรคระบาดในสัตว์ซึ่งอยู่ในรายชื่อที่ OIE ระบุ จะต้องแจ้งให้ OIE ทราบ
สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF นั้น เป็นโรคระบาดสัตว์ระดับรุนแรง เมื่อพบการระบาดจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและคำแนะนำของ OIE อย่างเคร่งครัด และแน่นอนว่าการส่งออกก็จะไม่ง่ายเหมือนตอนที่อยู่ในสถานะปลอดโรค
ไทยรัฐพลัสขอชวนหาคำตอบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป การเป็นประเทศที่มี ASF ระบาดจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหมูไทยอย่างไรบ้าง? แล้วต้องใช้เวลานานเท่าไรจึงจะพ้นสถานะประเทศที่เกิดโรค ASF ระบาด กลับไปสู่สถานะ ‘ประเทศปลอดโรค’
มูลค่าส่งออกปีละ 22,000 ล้านบาท จะเสียหายจริงทั้งหมดหรือไม่?
ก่อนหน้านี้ ไทยรัฐพลัสสอบถามคนในวงการปศุสัตว์ว่า หลังจากรายงานต่อ OIE ว่ามีการระบาดของ ASF ในหมูในประเทศไทยแล้ว ผลของมันจะร้ายแรงแค่ไหน คำตอบที่ได้คือ ไทยจะถูกห้ามส่งออกหมูนานหลายปี บางคนบอกตัวเลขนานถึง 10 ปี!
จากข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 เพื่อขออนุมัติงบประมาณ เพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่า ระบุไว้ว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการส่งออกหมูมีชีวิต เนื้อหมูแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์หมู ไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 22,000 ล้านบาทต่อปี
แต่หากเป็นไปตามที่กรมปศุสัตว์ให้ข่าวล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 ผลกระทบต่อการส่งออกอาจไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า หลังจากที่กรมปศุสัตว์ประกาศพบโรค ASF ในสุกรในประเทศไทย ในวันที่ 11 มกราคม 2565 ต่อมาได้รายงานสถานการณ์ไปยัง OIE แล้ว เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาถึงผลกระทบและเงื่อนไขในการนำเข้าเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของประเทศผู้นำเข้าต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ของไทยให้น้อยที่สุด
จากการที่เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ค้นคว้าข้อมูล-กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า และตามหลักมาตรฐานสากล คาดการณ์ว่าการส่งออกเนื้อสุกรดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากประเทศไทยมีตลาดส่งออกหลักทั้งเนื้อสุกรดิบและสุกที่ยอมรับการปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE และเงื่อนไขที่ประเทศผู้นำเข้ากำหนด โดยเนื้อหมูดิบ มีตลาดหลักอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนเนื้อหมูสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่น และฮ่องกง
สรุปข้อมูลที่เราทราบจากการชี้แจงของกรมปศุสัตว์ครั้งนี้ คือ มีบางประเทศที่ยอมรับหมูจากประเทศที่พบ ASF ระบาดในหมู หากประเทศต้นทางผู้ผลิตหมูปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE อย่างเคร่งครัด และ/หรือปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า
ดังนั้น ถ้าไทยปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE และปฏิบัติตามเงื่อนไขของประเทศปลายทางได้ ไทยก็จะยังสามารถส่งหมูไปยังประเทศนั้นๆ ได้ เนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูของไทยจะไม่ถูกระงับการส่งออกทั้งหมดอย่างที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้
กฎเกณฑ์-เงื่อนไข หลังจากนี้หมูไทยส่งไปไหนได้บ้าง?
อธิบดีกรมปศุสัตว์อธิบายลงรายละเอียดว่า การส่งออกหมู และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อหมู ในกรณีที่ประเทศมีการระบาดของโรค ASF ในหมูนั้น จะพิจารณาตามข้อแนะนำ OIE และเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น เป็นการห้ามทั้งประเทศ หรือห้ามเป็นพื้นที่ หรือห้ามเป็นฟาร์ม โดยมีข้อกำหนด ดังนี้
1. การส่งออกเนื้อหมูดิบ สำหรับบางประเทศที่ไม่ได้ห้ามนำเข้า กรมปศุสัตว์จะอนุญาตให้ส่งออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการควบคุมการผลิตเนื้อหมูไม่ให้มีเชื้อ ASF ปนเปื้อนในกระบวนการผลิต เช่น การกำหนดแหล่งที่มาของหมูต้องมาจากฟาร์มมาตรฐาน GAP มีการตรวจหาเชื้อ ASF ในหมูมีชีวิตก่อนส่งโรงฆ่า การอนุญาตให้เคลื่อนย้ายต้องเป็นไปตามแนวทางข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ และในโรงฆ่าสัตว์เพื่อการส่งออกจะมีสุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหมูทุกฟาร์ม เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้มีเชื้อ ASF ปนเปื้อนในหมู ก่อนอนุญาตให้ส่งออก หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารของคน หรืออาหารสัตว์เลี้ยง
2. สำหรับผลิตภัณฑ์เนื้อหมูปรุงสุก OIE กำหนดเงื่อนไขการทำลายเชื้อไวรัส ASF ในสุกร ดังนี้
- การทำลายเชื้อไวรัส ASF ในเนื้อสุกรต้องผ่านความร้อน 70 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 30 นาที
- อาหารกระป๋อง ต้องมีค่า F0 ≥ 3 (F0 คือ เวลาทั้งหมดที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ)
- เนื้อหมูผ่านการหมักด้วยเกลือและตากแห้งอย่างน้อย 6 เดือน และไส้ (casing ของไส้รอก) ต้องหมักเกลือหรือน้ำเกลือ (Aw < 0.8) หรือสารประกอบเกลือฟอสเฟต 86.5%NaCl + 10.7%Na2HPO4 + 2.8%Na3PO4 เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน
3. ในกรณีที่บางประเทศมีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการเฉพาะ กรมปศุสัตว์จะเร่งเจรจากับหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศนั้นๆ เพื่อขอส่งสินค้าเนื้อหมูปรุงสุกหรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมูให้ได้อย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเงื่อนไขของประเทศต่างๆ
- สิงคโปร์มีข้อกำหนดว่าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปต้องมาจากประเทศที่ปลอดจากโรค ASF อย่างน้อย 3 เดือน ก่อนวันเชือดและวันส่งออก
- ฟิลิปปินส์ กำหนดห้ามการนำเข้าเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากประเทศที่มีการรายงานโรค ASF ในหมู ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มี ASF ระบาดมาตั้งแต่ปี 2562
- ฮ่องกงมีข้อกำหนดว่า เนื้อหมูแช่เย็น/แช่แข็ง ต้องมาจากหมูมีชีวิตในพื้นที่ปลอดจากโรค ASF ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งดูตามหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health certificate)
- อินเดียกำหนดว่าเนื้อหมูแช่เย็น/แช่แข็งต้องมาจากประเทศที่ต้องปลอดจากโรค ASF ในหมู หรือสำหรับประเทศที่พบ ASF ในหมู หากมีแผนเฝ้าระวังและมีการกำหนดพื้นที่ปลอดโรคตาม OIE สามารถส่งเนื้อหมูสดเข้าอินเดียได้
4. การส่งออกเนื้อหมูดิบ และสินค้าเนื้อหมูปรุงสุก หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากหมู ในปี 2565 จะพิจารณาจากท่าทีและเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้า ซึ่งอาจจะมีการกำหนดเพิ่มเติม และปัจจัยอื่นๆ เช่น สถานการณ์โควิด-19 คาดการณ์ว่าในปี 2565 การส่งออกน่าจะมีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2564 ซึ่งส่งออกประมาณ 23,000 ตัน มูลค่า 3,646 ล้านบาท
ส่วนกรณีการส่งออกหมูมีชีวิตนั้น อธิบดีกรมปศุสัตว์บอกว่า ยังเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 6 มกราคม - 5 เมษายน 2565 ซึ่งหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาตามประกาศนี้ จะมีการพิจารณาแนวทางให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่อไป
กี่ปีไทยจะคืนสถานะ ‘ปลอดโรคระบาด ASF’
เรื่องระยะเวลาว่าไทยจะอยู่ในสถานะประเทศที่มีโรค ASF ระบาดไปอีกนานเท่าใด? หากสามารถควบคุมการระบาดได้ทั้งหมดแล้ว จะคืนสถานะประเทศปลอด ASF ได้เลยหรือไม่ หรือต้องรอไปอีกกี่ปี?
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า การขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในหมู ตามที่ OIE กำหนดไว้ใน Terrestrial Animal Health Code (Chapter 15.1. Infection With African Swine Fever Virus) คือ สามารถขอคืนได้ในรูปแบบ country free, zone free หรือ compartment free โดยต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE คือ ต้องมีการเฝ้าระวังโรคในช่วงเวลา 3 ปีก่อนขอคืนสถานะ และไม่มีหมูป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในช่วง 3 ปีก่อนขอคืนสถานะ, สินค้าหมูที่ถูกนำเข้ามาเป็นไปตามข้อกำหนดของ OIE, ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks), มีหลักฐานการฆ่าเชื้อในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้าย และร่วมกับมีการทำลายหมู และใช้หมูสำหรับการเฝ้าระวังโรค (sentinel pigs) ในโรงเรือน ซึ่งผลที่ได้ต้องเป็นลบต่อเชื้อ ASF
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ชี้แจงคือ หลังจากจัดการควบคุมการแพร่ระบาดแล้ว ต้องใช้เวลาพิสูจน์ว่าประเทศไทยปลอดการแพร่ระบาดของ ASF ในหมูแล้ว 3 ปี จึงจะขอคืนสถานภาพ ‘ปลอดโรค ASF’ ได้
ไทยรัฐพลัสหาข้อมูลกรณีของประเทศอื่น พบว่ามีบางประเทศใช้เวลาพิสูจน์น้อยกว่า 3 ปี ก็สามารถขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ได้
อย่างกรณีประเทศเบลเยียม ซึ่งพบโรค ASF ระบาดในหมูป่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ส่งผลให้เบลเยียมถูกประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังการระบาดของ ASF และส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อหมูของเบลเยียม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของสหภาพยุโรปที่สามารถส่งออกสินค้าเนื้อหมูได้ราว 2 ใน 3 ของการผลิตในประเทศ
เบลเยียมใช้เวลาเพียง 1 ปีก็สามารถจัดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ASF ได้สำเร็จ โดยการสร้างรั้วจำกัดพื้นที่ของหมูป่า การค้นหา ล่า วางกับดัก และกำจัดหมูที่ติดเชื้ออย่างเข้มงวด
วันที่ 21 ธันวาคม 2563 องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ประกาศยืนยันว่าเบลเยียมได้กลับมาเป็นพื้นที่ปลอด ASF แล้ว เนื่องจากเบลเยียมไม่มีรายงานการตรวจพบหมูที่ติดเชื้อ ASF มานานกว่า 1 ปี หลังจากรายงานพบการระบาดครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 ซึ่งการไม่พบการแพร่ระบาดเป็นเวลาที่นานเพียงพอ ถือเป็นเงื่อนไขจำเป็นในการอ้างสิทธิ์ที่จะขอสถานะปลอดการระบาดของโรค ASF
วิธีการควบคุมโรคระบาดของเบลเยียมนำมาใช้กับประเทศเราไม่ได้ เพราะที่เบลเยียม ASF ระบาดในหมูป่า ไม่ใช่หมูในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูเหมือนในไทย แต่สิ่งที่นำมาเสนอเป็นข้อมูลเทียบเคียงให้เห็นคือ ระยะเวลาหลังจากควบคุมโรคระบาดได้แล้ว ไปจนถึงการขอคืนสถานภาพปลอดโรคระบาดของเบลเยียมใช้เวลาเพียง 1 ปี
อีกหนึ่งตัวอย่างเป็นกรณีประเทศที่ยังไม่พ้นสถานภาพประเทศโรคระบาด แต่ยังสามารถส่งออกหมูได้ นั่นคือเวียดนาม ที่เริ่มประสบกับการระบาดของโรค ASF ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ต่อมาในเดือนเมษายน 2564 มีรายงานข่าวว่า เวียดนามสามารถกลับมาส่งออกเนื้อหมูได้แล้ว
ตามข้อมูลบอกว่า เนื่องจากในปีก่อนๆ หน้านั้นเวียดนามลงทุนเป็นเงินจำนวนมาก เพื่อสร้างเครือข่ายการผลิตเนื้อหมูแบบระบบปิดที่ทันสมัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของ OIE ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูจากเวียดนามได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เมียนมา ซาอุดีอาระเบีย และออสเตรเลีย
หากอิงจากกรณีของเบลเยียม อาจมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะสามารถคืนสถานภาพ ‘ปลอดโรค ASF’ ได้ก่อนเวลา 3 ปี หลังจากควบคุมโรคได้แล้ว แต่คำถามคือ เราจะคุมการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ช้าหรือเร็วแค่ไหน? เราจะใช้เวลากี่ปีในการจัดการปัญหาการแพร่ระบาด?
และถ้าอิงจากกรณีของเวียดนาม ก็น่าจะคล้ายๆ กับที่อธิบดีกรมปศุสัตว์บอกว่า ไทยยังสามารถส่งออกหมูได้ แม้อยู่ในสถานภาพประเทศที่พบการระบาดของ ASF ในหมู
หากสรุปตามนี้ว่า การส่งออกหมูจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ก็ชวนให้ย้อนกลับไปตั้งคำถามอย่างที่มีคนในวงการปศุสัตว์แสดงความเห็นเชิงตั้งคำถามกับไทยรัฐพลัสตั้งแต่ที่เราสอบถามข้อมูลเรื่องหมูแรกๆ ว่า ไทยไม่ได้ส่งออกหมูในสัดส่วนที่มาก ดังนั้นการเปิดเผยตั้งแต่แรกว่าพบหมูติดเชื้อ ASF แล้วรีบจัดการปัญหา คงไม่ส่งผลกระทบมากเท่ากับการปิดข่าวไว้ แล้วเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งก่อความเสียหายต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูทั้งประเทศ
อ้างอิง : euromeatnews.com (1), euromeatnews.com (2)
ภาพ : กรมปศุสัตว์
