มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวที่ถูกตัดหาง วิบากกรรมในฟาร์มงูเห่า
...
LATEST
Summary
- ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ประกาศลาออกจาก ส.ส. กลางสภาฯ
- มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ผลการเลือกตั้ง พรรคได้ไป 485,664 คะแนน ส่งผลให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภาฯ 6 คน
- มิ่งขวัญ และเศรษฐกิจใหม่ ถูกครหามาหลายครั้งว่าพร้อมสนับสนุนพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล แต่มิ่งขวัญยืนกรานเอกภาพของพรรคมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดแล้ว คนที่ยังอยู่กับฝ่ายค้าน มีเพียงมิ่งขวัญคนเดียว
...
ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ได้อภิปราย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะผู้นำ และการแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ
รายละเอียดการอภิปรายแม้หนักหน่วง แต่ไฮไลต์เกิดขึ้นในช่วงท้าย เมื่อน้ำเสียงของมิ่งขวัญเริ่มสั่น เปรยถึงความผิดหวังในการทำงาน โดยมีสาเหตุสำคัญอยู่ที่ ‘งูเห่า’ และ ‘ลิงกินกล้วย’
เนื่องจาก พรรคเศรษฐกิจใหม่ เคยประกาศถึงจุดยืนไม่ร่วมรัฐบาลกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกรรมการบริหารพรรคก็มีความเห็นเหมือนกัน แต่ท้ายที่สุด ความเป็นเอกภาพของพรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น
“ผมคิดว่าพ่อแม่พี่น้องประชาชนไทยทั้งประเทศรู้ดี ไม่อย่างนั้นผมไม่มายืนโด่เด่คนเดียวอยู่ตรงนี้ สิ่งที่ผมจะบอก ก็บังเอิญรัฐธรรมนูญเปิดโอกาส ส.ส.ไม่ต้องทำตามมติพรรค ทุกคนอยากอยู่ตรงไหนก็อยู่”
“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำให้เกิดนวัตกรรมศัพท์ขึ้นมา 2 คำ คือคำแรก ‘งูเห่า’ คำที่สอง คือคำว่า ลิงกินกล้วย ผมบอกเลยนะครับ ถ้าผมจะพูดเป็นภาษาชาวบ้าน เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ ผมเพิ่งเข้าใจคำสแลงคำนี้
ผมขออภิปรายและไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ว่าท่านไปทำอะไร หรือให้ใครไปทำอะไร ทำไมพวกเขาเหล่านั้นจึงเปลี่ยนจุดยืน สัญญาที่ผมให้ไว้กับประชาชน ผมไม่สามารถทรยศได้ 2 ปีเศษ ผมไม่มีความสุข กับการทำงาน”
“กราบขอบคุณประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ทั้ง 2 ท่าน ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ประเทศไม่ต้องเสียงบประมาณ ผมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผมลาออก ผมลาออกวันนี้ เขาก็เลื่อนลำดับขึ้นมา มีความสุขด้วยซ้ำ ผมขอยื่นใบลาออก ผมยอมที่จะสละความเป็น ส.ส. เพื่อให้มันจบ เพราะผมได้ขอให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ขับผมออกจากพรรค เพราะอุดมการณ์ไม่ตรงกัน แต่ฝากข้อความถึง พลเอกประยุทธ์ หรือลูกน้องท่าน ไปทำอะไร เขาถึงเปลี่ยนจุดยืนและต้านกระแสสังคมอย่างนั้น”
“และสิ่งสุดท้ายที่จะฝากไปยังประชาชนไทยทุกท่าน ผมจะยังคงดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จะใช้องค์ความรู้ความสามารถที่ผมมีอยู่ทำงานให้พ่อแม่พี่น้องประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมจะออกไปพิสูจน์ว่าแม้ผมไม่ได้เป็นรัฐบาล ความเหลื่อมล้ำจะถูกแก้ไขไหม โปรดติดตามก็แล้วกัน และผมก็จะไปเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งสมัยต่อไปด้วย เราได้เจอกันแน่นอน”
มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ กล่าวขอบคุณ ส.ส. ในสภาฯ ได้รับเสียงปรบมือให้กำลังใจ ก่อนจบการอภิปรายในฐานะ ส.ส. เป็นครั้งสุดท้ายในเวลาประมาณ 17.25 น
‘งูเห่า’ ในสภาฯ มาจากไหน
ย้อนไปยุควิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 หลัง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง สภาฯ ต้องสรรหานายกฯ ใหม่จากการโหวตของ ส.ส. ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยความหวังใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย และพรรคมวลชน สนับสนุน พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ
ขณะที่อีกฝากหนึ่ง นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคเอกภาพ พรรคพลังธรรม พรรคไท พรรคกิจสังคม และพรรคเสรีธรรม เสนอ ชวน หลีกภัย
ปรากฏการณ์งูเห่าเกิดขึ้น เมื่อ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ดึง ส.ส. พรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช 12 คน มาเป็นเสียงสนับสนุน จน ชวน หลีกภัย ได้ขึ้นเป็นนายกฯ
สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ในขณะนั้น เปรียบ ส.ส. กลุ่มที่ย้ายข้างไปโหวตสนับสนุนฝ่ายตรงข้าม ว่าเป็นเหมือนงูเห่าที่เลี้ยงไม่เชื่อง เหมือนในนิทาน ‘ชาวนากับงูเห่า’ ทำให้จากตัวสมัครเอง ในฐานะชาวนาที่ช่วยงูใกล้ตายไว้ จากที่เคยเป็นรองนายกฯ ต้องไปเป็นฝ่ายค้าน และเหลือ ส.ส. ในสังกัดประชากรไทยแค่ 4 คน
ส.ส. งูเห่ากลุ่มหนึ่ง นำโดยกลุ่มปากน้ำของ วัฒนา อัศวเหม ที่เคยสังกัดพรรคชาติไทย แต่ขัดแย้งกับหัวหน้าพรรค บรรหาร ศิลปอาชา ทำให้ไม่มีพรรคสังกัด จนต้องมาเข้าประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช และสร้างปรากฏการณ์สวนมติพรรค จนเป็นที่มาของงูเห่าในตำนานเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
เกิดอะไรขึ้นกับพรรคเศรษฐกิจใหม่
ย้อนไปราว 3 ปีที่แล้ว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ยื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยให้มีผลวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 หรือครบรอบ 5 ปี การรัฐประหาร แต่ยังคงสภาพสมาชิกพรรค และยังเป็น ส.ส.ของพรรค และย้ำว่า ส.ส. ทั้ง 6 คนของพรรคจะรักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชน
ช่วงที่ มิ่งขวัญ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรค คือช่วงที่ 2 ขั้วการเมืองกำลังแย่งชิงเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ฟากหนึ่งนำโดยพลังประชารัฐ ซึ่งชู พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกฟากหนึ่งคือกลุ่มพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็น ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ นำโดยเพื่อไทย และอนาคตใหม่ (ขณะนั้น) ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามแย่งชิงเสียงของพรรคขนาดกลางมาเพื่อจัดตั้งรัฐบาล
เพื่อไทย และอนาคตใหม่ คือสองพรรคใหญ่ที่ไม่เปลี่ยนจุดยืนแน่นอน แต่กับพรรคอื่นๆ หลายคนยังตั้งคำถาม ซึ่งพรรคเศรษฐกิจใหม่คือหนึ่งในนั้น จนเกิดกระแสว่า ส.ส.เศรษฐกิจใหม่บางส่วน จะพลิกไปสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับที่มีคนกล่าวหาว่า ตัว มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ มีความสัมพันธ์อันดีกับบุคคลในพลังประชารัฐ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพาพรรคพลิกไปสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ทำให้เกิดเป็นแฮชแท็กในโซเชียลมีเดียว่า #ลุงมิ่งโป๊ะแตก
เมษายน 2563 ในช่วงที่มีข่าวหนาหูว่า พลังประชารัฐสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมากได้แล้ว โดยพรรคเศรษฐกิจใหม่ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในนั้น ทำให้มิ่งขวัญต้องยืนยันผ่านเฟซบุ๊กว่า "ไม่เคยเจรจาทางการเมืองกับ พปชร." และย้ำว่าพรรคไม่มีงูเห่า และยังยืนยันหลังจากวันนั้นอีกว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกัน และจะทำงานร่วมกับฝั่งประชาธิปไตย และคำนึงถึงความซื่อสัตย์สุจริตต่อพี่น้องประชาชนชาวไทย
"พรรคเป็นเอกภาพ ไม่ว่าจะ 6 หรือ 7 เสียง เราไปทางเดียวกันหมด ไม่มีงูเห่าเด็ดขาด" คือสิ่งที่มิ่งขวัญยืนยันมาตลอด ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่
พรรคเศรษฐกิจใหม่ ลงสู่สนามเลือกตั้งปี 2562 ด้วยคำขวัญ "ได้เวลาของคนไทยทั้งประเทศก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่” โดย มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ผลการเลือกตั้ง พรรคได้ไป 485,664 คะแนน ส่งผลให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเข้าสภาฯ 6 คน คือ
1. มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์
2. สุภดิช อากาศฤกษ์
3. นิยม วิวรรธนดิฐกุล
4. ภาสกร เงินเจริญกุล
5. มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์
6. มารศรี ขจรเรืองโรจน์
สิงหาคม 2562 มิ่งขวัญยังยืนยันถึงเอกภาพของเศรษฐกิจใหม่ ว่าพรรคจะไม่แตกแถวแน่นอน แต่ก็มีข่าวว่า ส.ส. บางส่วนเตรียมไปร่วมงานกับรัฐบาล
และปรากฏการณ์งูเห่าก็เกิดขึ้นในวันที่ 4 ธันวาคม 2562 เมื่อ 4 ส.ส. พรรคเศรษฐกิจใหม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมให้รัฐบาลในการโหวตพิจารณาตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 โดย มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ขณะนั้น บอกว่าไม่ใช่งูเห่า ไม่ได้ถูกทาบทามจากฝั่งรัฐบาล แต่ให้เหตุผลว่า ต้องการให้สภาฯ เดินหน้าต่อได้
ต่อมาคือการโหวตลงมติวาระ 3 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วันที่ 11 มกราคม 2563 มีมติเห็นด้วย 253 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 196 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง มี ส.ส. ฝ่ายค้านที่ไปร่วมลงคะแนน ‘เห็นด้วย’ ให้กับฝ่ายรัฐบาล 7 คน โดยเป็นคนของเศรษฐกิจใหม่ 5 คน นิยม วิวรรธนดิฐกุล, ภาสกร เงินเจริญกุล, มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์, มารศรี ขจรเรืองโรจน์ และ สุภดิช อากาศฤกษ์ ยกเว้นคนเดียวที่ยังร่วมโหวตเป็นเสียงฝ่ายค้าน คือตัวมิ่งขวัญเอง
จากนั้น ในฐานะพรรคการเมือง พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ไม่ได้ถูกนับอยู่กับพรรคฝ่ายค้านในทางปฏิบัติ ต่อมา สุภดิช อากาศฤกษ์ รักษาการหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ ทำหนังสือถึงผู้นำฝ่ายค้าน แจ้งมติการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ ว่า
“เนื่องด้วยการประชุมกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม มีมติให้พรรคเศรษฐกิจใหม่ดำเนินกิจกรรมการเมือง โดยถอนตัวจากพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อทำงานตามอิสระ ตามแนวทางของพรรค”
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2564 ส.ส.เศรษฐกิจใหม่ แตกเป็น 2 ส่วน โดย 4 คน ที่โหวตไปในทางเดียวกับรัฐบาลคือ ภาสกร เงินเจริญกุล, มนูญ สิวาพิรมย์รัตน์, มารศรี ขจรเรืองโรจน์ และ สุภดิช อากาศฤกษ์ และคาดกันว่า 4 เสียงนี้ถูกนับรวมอยู่ใน 260 เสียงที่อยู่ในโพยของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะเป็นเสียงสนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้า
และล่าสุด ในการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็เป็น ส.ส. 4 รายชื่อนี้เช่นกัน ที่เห็นด้วยว่าจะ ‘อุ้ม’ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไปให้ ครม.ศึกษาต่ออีก 60 วัน
