วิเคราะห์การเยือนพม่าของทูตพิเศษอาเซียน กัมพูชาคงทำไม่สำเร็จในปีนี้
...
LATEST
Summary
- การเยือนพม่าครั้งแรกของ แปลก สุคนธ์ ในฐานะผู้แทนพิเศษประธานอาเซียน ไม่ได้บรรลุผลอย่างที่คาดหวัง รวมทั้งไม่ได้พบ ออง ซาน ซูจี เพราะทางการพม่าบอกว่ายังอยู่ระหว่างดำเนินคดี
- การที่ผู้แทนพิเศษอาเซียนไม่มีโอกาสจะได้พบกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน สถานะการเยือนจึงกลายเป็นแค่แขกของรัฐบาลทหาร และนำเอาเวชภัณฑ์ไปแจกจ่ายให้กับชาวพม่า
- แปลก สุคนธ์ ได้บอกกับผู้นำตัตมาดอว์ หรือกองทัพพม่า ว่า ได้มีความริเริ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นระหว่างที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน คือแนวคิดที่จะตั้ง ‘อาเซียน ทรอยกา’
...
แถลงการณ์หลังจากการเยือนพม่าครั้งแรกของผู้แทนพิเศษประธานอาเซียน แปลก สุคนธ์ ฟังดูสวยหรู แต่การแถลงข่าวของเขาที่สนามบินโปเชนตง ทันทีที่กลับถึงพนมเปญวันที่ 23 มีนาคม ดูเหมือนไม่มีอะไรคืบหน้าตามที่กลุ่มอาเซียนและนานาชาติคาดหวังเลยแม้แต่อย่างเดียว ส่อให้เห็นว่าไม่มีทางเลยที่วิกฤตการณ์พม่าจะจบลงในเร็ววันนี้
แปลก สุคนธ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาอีกตำแหน่งหนึ่ง เดินทางพร้อมกับ จอม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ ลิม จ๊อก ฮอย เลขาธิการอาเซียนชาวบรูไน มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ ติดตามผลการเยือนพม่าของ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม ประการที่สอง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่ตกลงกันเอาไว้ตั้งแต่ 24 เมษายน ปีที่แล้ว ประการที่สาม เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมที่จำเป็นแก่ชาวพม่า
ผู้แทนพิเศษอาเซียนได้พบกับ มิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีและผู้นำสูงสุดของพม่าและได้บอกกับนายพลผู้ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วว่า อาเซียนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบังคับใช้ฉันทามติอย่างน้อย 3 ข้อก่อนคือ ยุติความรุนแรงโดยพลัน ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ชาวพม่าอย่างต่อเนื่อง และเปิดการเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้น แปลก สุคนธ์ ก็ได้พบ วันนะ หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศรัฐบาลทหารพม่า เพื่อเน้นย้ำภารกิจของผู้แทนพิเศษ เขาได้พบกับ โก โก หล่าย หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอาเซียนในพม่า เพื่อให้ช่วยแจกจ่ายความช่วยเหลือให้ชาวพม่าโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าประชาชนนั้นจะเข้ากับฝ่ายใด
จากนั้นได้พบกับ พลโท ยา แป ประธานคณะกรรมาธิการสันติภาพและความสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ประสานงานการสงบศึกกับกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อบอกให้รู้ว่า ผู้แทนพิเศษอาเซียนพร้อมแล้วที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการพูดคุยเจรจากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางยุติความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่
ในการนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาได้แบ่งปันประสบการณ์ที่กัมพูชาเองเคยเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ระดับเดียวกัน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษ 70-90 (ไม่รู้บอกด้วยหรือเปล่าว่าในที่สุดแล้วเรื่องต้องถึงมือสหประชาชาติ) อีกทั้งยังได้พูดถึงปัญหาผู้อพยพโรฮีนจา ซึ่งทั้งสหประชาชาติและสหรัฐฯ ลงความเห็นว่า ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และผู้นำของตัตมาดอว์ต้องไปขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
แปลก สุคนธ์
ทั้งหมดในแถลงการณ์ 3 หน้า ที่ออกอย่างเป็นทางการไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่านี้ แต่ในการแถลงข่าว แปลก สุคนธ์ บอกนักข่าวว่า การเยือนพม่าครั้งแรกของเขาไม่ได้บรรลุผลอย่างที่คาดหวังเลย เขาขอพบ ออง ซาน ซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) แต่ มิน อ่อง หล่าย ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ซูจี และผู้นำหลายคนในรัฐบาลก่อน รวมทั้งประธานาธิบดี ถิ่น จ่อ ยังถูกดำเนินคดีอยู่ ห้ามพบปะบุคคลภายนอก ต่อเมื่อคดีสิ้นสุดแล้วจะอนุญาตให้พบ ซึ่งก็ไม่แน่ว่ากัมพูชาจะมีโอกาสก่อนหมดวาระเป็นประธานอาเซียนหรือไม่
สำนักข่าวอิรวดี รายงานว่า ทางการพม่าอนุญาตให้ แปลก สุคนธ์ พบกับ ดอว์ ซู ซู ลวิน ภรรยา ประธานาธิบดี ถิ่น จ่อ แต่เธอปฏิเสธที่จะพบกับทูตพิเศษอาเซียนด้วยเหตุผลสุขภาพ (ผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก) แต่คนในพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยบอกว่า ความจริงเธอเกรงว่า การพบปะอาจจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในพรรค เพราะแม้ว่าเธอเองเป็นหนึ่งในกรรมการบริหาร แต่ก็พูดอะไรแทนพรรคไม่ได้
นอกจากนี้ มิน อ่อง หล่าย ให้ผู้แทนอาเซียนพบกับ โก โก จี หัวหน้าพรรคประชาชน (People's Party) อดีตนักโทษการเมืองรุ่นปี 1988 ซึ่งปัจจุบันเขามีแนวโน้มจะประนีประนอมกับรัฐบาลทหาร และไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนักในการต่อสู้กับตัตมาดอว์ ดูเหมือนการพบปะครั้งนี้จะเป็นแค่กลยุทธ์แบ่งแยกและบ่อนเซาะฝ่ายต่อต้านมากกว่าจะตั้งใจแก้ปัญหาจริงๆ
การที่ผู้แทนพิเศษอาเซียนไม่มีโอกาสจะได้พบกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน สถานะการเยือนจึงกลายเป็นแค่แขกของรัฐบาลทหาร และนำเอาเวชภัณฑ์ไปแจกจ่ายให้กับชาวพม่า (ส่วนหนึ่ง) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับการเยือนของ ฮุน เซน ในเดือนมกราคม การเยือนครั้งนี้จึงจัดได้ว่าไม่เข้าสู่สาระสำคัญของปัญหาวิกฤตการณ์พม่าที่เริ่มมาตั้งแต่วันรัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ 2021 แต่อย่างใดเลย มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้รับปากอะไรสักอย่าง ประเมินได้เป็นเบื้องต้นว่า คว้าน้ำเหลวอีกตามเคย
อย่างไรก็ตาม แปลก สุคนธ์ ได้บอกกับผู้นำตัตมาดอว์ว่า ได้มีความริเริ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นระหว่างที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน คือแนวคิดที่จะตั้ง ‘อาเซียน ทรอยกา’ (ASEAN Troika) กลไกพิเศษอย่างหนึ่งที่เคยใช้แก้ไขปัญหาภายในกลุ่มหลายครั้งหลายครา เช่น ปัญหากัมพูชาเองในปี 1997
ทรอยกานั้นโดยหลักการแล้วมีองค์ประกอบของ 3 ชาติสมาชิก คือ อดีตประธานบรูไน ประธานปัจจุบันกัมพูชา และประธานอนาคตคือ อินโดนีเซีย รวมกันเป็นคณะเพื่อปรึกษาหารือและหาทางออกให้กับปัญหาพม่า
อีกกลไกหนึ่งที่มีการนำเสนอกันคือ กลุ่มเพื่อนพม่า (Friend of Myanmar) ซึ่งอาจจะเป็นชาติสมาชิกหรือไม่ใช่สมาชิกอาเซียนกลุ่มหนึ่งที่แนวคิดใกล้เคียงกันต้องการจะช่วยหาทางออกให้พม่าเหมือนกัน รวมกันเพื่อสนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการจัดการกับความขัดแย้งในพม่า
และแนวคิดสุดท้ายคือ เพิ่มบทบาทของเลขาธิการอาเซียน ในฐานะผู้ประสานและติดตามการบังคับใช้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
มองในมุมหนึ่ง ข้อริเริ่มทำนองนี้เกิดขึ้นเพราะว่าการทำงานของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนคงไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะแก้ไขปัญหาพม่าได้ จึงต้องอาศัยกลไกอื่นเพิ่มเติม
แต่มองในอีกมุมหนึ่งก็อาจจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินการของอาเซียนมากขึ้น เพราะทรอยกา มีองค์ประกอบของสามประธาน การทำงานจะมีลักษณะรวมหมู่ (collective) มากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้ประเทศประธานทำตามลำพัง (หรือตามอำเภอใจ) อย่างที่เป็นอยู่ และถ้าหากกลุ่มเพื่อนพม่ามีองค์ประกอบจากประเทศนอกกลุ่มอาเซียน ก็จะทำให้นานาชาติมีส่วนร่วมในการกดดันพม่ามากขึ้น แต่ก็อาจเกิดสภาพมากหมอมากความขึ้นก็เป็นได้
และที่สำคัญคือ มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองในทางบวกต่อความริเริ่มใหม่ๆ เช่นว่านั้นแต่อย่างใดเลย
