Humberger Menu

โครงสร้างค่าไฟฟ้า และปัจจัยกำหนดราคาต่อหน่วย สองบ้านใช้เท่ากัน อาจจ่ายไม่เท่ากัน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Economy

Economy

26 มี.ค. 65

creator
รุ่งนภา พิมมะศรี
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน มกราคม-เมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นประมาณ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
  • ไทยรัฐพลัสชวนทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้าว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ค่าเอฟทีคืออะไร อยู่ตรงไหนในโครงสร้าง และแต่ละองค์ประกอบส่งผลต่อค่าไฟอย่างไร นอกจากเข้าใจโครงสร้างค่าไฟแล้ว สิ่งที่ต้องเข้าใจไปควบคู่กันคือ ปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่าย
  • เพราะปัจจัยต่างๆ ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มหรือลดได้ ดังนั้น เราสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างเห็นผลชัดเจน โดยการเปลี่ยนปัจจัยบางตัว

...


คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ขึ้นไปเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน มกราคม-เมษายน 2565 อยู่ที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟจะแพงขึ้นประมาณ 23.38 สตางค์ต่อหน่วย   

เหตุผลของการปรับเพิ่มค่าเอฟทีที่ กกพ. อธิบายก็เป็นเหตุผลที่พอเดาได้คือ ความต้องการพลังงานในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมเพิ่มขึ้น ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย  

แต่สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 300 หน่วย ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 ล้านรายทั่วประเทศ จะได้รับการอุดหนุนจากมาตรการของรัฐบาลให้จ่ายค่าเอฟที 1.39 สตางค์ต่อไปในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 

ไฟฟ้าเป็นหนึ่งปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพที่เราขาดมันไม่ได้ และเรื่องการขึ้นค่าไฟก็จะปรากฏให้เราเห็นอีกเรื่อยไป ไทยรัฐพลัสจึงอยากชวนทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้าว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง องค์ประกอบเหล่านั้นส่งผลต่อค่าไฟอย่างไร และโครงสร้างอย่างเดียวยังไม่จบ สิ่งที่เราควรเข้าใจไปควบคู่กันคือ รายละเอียดปัจจัยต่างๆ ที่เป็นตัวกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่เราต้องจ่าย 

บ้านสองหลังที่อยู่ข้างกัน ใช้ไฟฟ้าเท่ากัน แต่อัตราค่าไฟต่อหน่วยที่ต้องจ่ายอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ 

และที่สำคัญ มีวิธีที่หลายๆ บ้านอาจจะลดค่าไฟลงได้ทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม


ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า

ก่อนจะไปถึงโครงสร้างค่าไฟฟ้า สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้เป็นพื้นฐานก็คือ ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า 

ประเทศไทยกำหนดประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าไว้ 8 ประเภท ได้แก่
1. บ้านอยู่อาศัย
2. กิจการขนาดเล็ก
3. กิจการขนาดกลาง
4. กิจการขนาดใหญ่
5. กิจการเฉพาะอย่าง
6. องค์กรไม่แสวงหากำไร
7. สูบน้ำเพื่อการเกษตร
8. ไฟฟ้าชั่วคราว เช่น ไฟฟ้าที่ใช้ในการก่อสร้าง หรือสถานที่ที่จัดตั้งขึ้นชั่วคราว-ไม่มีทะเบียนบ้าน 

ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าว่าสามารถใช้รูปแบบใดได้บ้าง

โรงไฟฟ้าวังน้อย (ภาพจาก กฟผ, egat.co.th)

 

โครงสร้างค่าไฟฟ้า 

โครงสร้างองค์ประกอบค่าไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นโครงสร้างที่ปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี 2558 ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่  

1. ค่าไฟฟ้าฐาน เป็นค่าไฟฟ้าที่คิดมาจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและการให้บริการไฟฟ้า โดยกำหนดใหม่ทุก 3-5 ปี ซึ่งต้นทุนที่นำมาคิดค่าไฟฟ้าฐานจัดกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม คือ ต้นทุนที่ใช้ก่อสร้างและขยายระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย, ต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานและบำรุงรักษาระบบ ค่าบริหารจัดการ ผลตอบแทนการลงทุน และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 

ค่าไฟฟ้าฐานจะแสดงในใบแจ้งค่าไฟฟ้า เป็น

  • ค่าพลังงานไฟฟ้า
  • ค่าบริการรายเดือน
  • ค่าความต้องการไฟฟ้า 

ค่าไฟของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยทั่วไปจะมีเพียง ค่าพลังงานไฟฟ้า และค่าบริการรายเดือน ส่วนค่าความต้องการไฟฟ้าจะเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงๆ

2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (Ft) เป็นค่าไฟฟ้าส่วนที่ลอยตัว กำหนดใหม่ทุก 4 เดือน เพื่อให้ค่าไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนจริง เนื่องจากต้นทุนการผลิตและให้บริการไฟฟ้าบางส่วน คือ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของการไฟฟ้า และมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพิ่มหรือลดจากต้นทุนค่าไฟฟ้าฐานแทบจะตลอดเวลา นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ เป็นต้นทุนอีกส่วนหนึ่งที่นำมาคำนวณเป็นค่าเอฟทีด้วย

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตรา 7 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟฟ้า 

จากโครงสร้างดังกล่าว สมการค่าไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟต้องจ่าย เป็นดังนี้ 

ค่าพลังงานไฟฟ้า (อัตราต่อหน่วย x จำนวนหน่วยที่ใช้) + ค่าบริการรายเดือน + ค่าเอฟที (อัตราต่อหน่วย x จำนวนหน่วยที่ใช้) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟฟ้า (ผลลัพธ์ของค่าพลังงานไฟฟ้า + ค่าบริการรายเดือน + ค่าเอฟที) = ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ 

 

ปัจจัยที่กำหนดอัตราค่าไฟ

แม้จะมีโครงสร้างหลักแค่ 4 ส่วน และเป็นสมการที่ไม่ซับซ้อน ดูเหมือนว่าแค่นำตัวเลขไม่กี่ตัวมาบวกกันก็เสร็จแล้ว แต่ถ้าเราอยากจะคำนวณค่าไฟเองโดยไม่มีใบแจ้งค่าไฟฟ้าอยู่ในมือ ขอบอกเลยว่าจะต้องเจอกับความปวดหัว เพราะว่า ‘ค่าพลังงานไฟฟ้า’ และ ‘ค่าบริการรายเดือน’ ไม่ได้มีตัวเลขสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกบ้านให้จับมาบวกกันได้ในทันที  

อัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยตามโครงสร้างดังกล่าวนี้ถูกกำหนดโดยปัจจัย 4 อย่างของผู้ใช้รายนั้นๆ เอง ได้แก่ ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้า ประเภทขนาดการใช้ไฟฟ้า และปริมาณการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน (จำนวนหน่วยที่ใช้) 

ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า มี 8 ประเภท ดังที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น คือ บ้านอยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, กิจการขนาดกลาง, กิจการขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์กรไม่แสวงหากำไร, สูบน้ำเพื่อการเกษตร และไฟฟ้าชั่วคราว ซึ่งในที่นี้เรากำลังพูดถึงการใช้ไฟฟ้าของประชาชนทั่วไป นั่นคือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท ‘บ้านอยู่อาศัย’ 

รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้า มี 3 รูปแบบ คือ 

1. อัตราปกติ กำหนดอัตราค่าไฟต่อหน่วยไว้เป็นอัตราก้าวหน้า หรือแบบขั้นบันได และยังแบ่งขนาดการใช้ไฟฟ้าเป็นประเภทที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน กับประเภทที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ซึ่งสองประเภทนี้มีช่วงจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่เท่ากัน อัตราค่าไฟต่อหน่วยก็ไม่เท่ากัน และอัตราค่าบริการรายเดือนก็ไม่เท่ากัน 

2. อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff: TOU) เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดตามช่วงเวลาการใช้งาน แบ่งเป็นช่วง On Peak ที่ความต้องการใช้ไฟเยอะ ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะสูง และช่วง Off Peak ที่ความต้องการใช้ไฟน้อย ค่าพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยจะต่ำ โดยมีอัตราค่าคงที่ช่วงเวลาละ 2 อัตราเท่านั้น ไม่เพิ่มขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า

ช่วงความต้องการไฟฟ้าสูง (On Peak) คือ ระหว่างเวลา 09.00-22.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ และวันพืชมงคล อัตราค่าไฟฟ้า 5.1135 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดัน 12-24 กิโลวัตต์ และ 5.7982 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลวัตต์ 

ช่วงความต้องการไฟฟ้าต่ำ (Off Peak) คือ ระหว่างเวลา 22.00-09.00 น. ของวันจันทร์-ศุกร์ และวันพืชมงคล และตลอดทั้งวันของวันเสาร์-อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ วันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้า 2.6037 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดัน 12-24 กิโลวัตต์ และ 2.6369 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องวัดไฟฟ้าขนาดแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลวัตต์ 

(ภาพจาก กฟน., mea.or.th)

 3. อัตราตามช่วงเวลาของวัน (Time of Day Tariff: TOD) เป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่กำหนดต่างกันตามช่วงเวลาการใช้งาน แบ่งเป็นช่วง On Peak และ Off Peak กับ Partial Peak คือการคิดค่าความต้องการไฟฟ้าส่วนที่เกินจาก On Peak แต่อัตราแบบ TOD นี้ใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับผู้ใช้ประเภทอื่น 


สรุปก็คือ ประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าของเรา รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าที่เราใช้ ขนาดการใช้ไฟฟ้าที่เราใช้อยู่เป็นประจำเกินหรือไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน และจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่เราใช้ในเดือนนั้นๆ จะเป็นตัวกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าของเรา 

ถ้าเราหาข้อมูลอัตราค่าไฟฟ้า เราจะเจอข้อมูลภาพรวมที่บอกอัตราที่กำหนดไว้ตามประเภทผู้ใช้ไฟ ประเภทขนาดการใช้ไฟ และอัตราค่าไฟตามช่วงปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นแบบอัตราก้าวหน้า  

ดังนั้น เราจะต้องดูปัจจัยทั้งสามอย่างของบ้านเรา แล้วนำไปเทียบหาอัตราค่าไฟต่อหน่วยของบ้านเราเอง ไม่ควรถามอัตราค่าไฟจากบ้านเพื่อน บ้านญาติ หรือเพื่อนบ้าน เพราะตัวเลขที่ได้มาอาจจะไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องสำหรับบ้านเราเอง ต่อให้เป็นบ้านที่ขนาดใกล้เคียงกัน มีผู้อยู่อาศัยจำนวนเท่ากัน ใช้ไฟปริมาณใกล้เคียงกัน ก็อาจจะมีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งต่างกัน ซึ่งส่งผลให้อัตราค่าไฟต่อหน่วยต่างกัน และอัตราค่าบริการรายเดือนต่างกัน

ตัวอย่างเช่น ถ้าบ้านเราเป็นประเภทที่ใช้ไฟไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน แต่เพื่อนบ้านหลังข้างๆ เป็นประเภทที่ใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน แล้วถ้าเดือนนี้ บ้านเรากับบ้านข้างๆ ใช้ไฟ 145 หน่วยเท่ากัน อัตราค่าไฟต่อหน่วยของสองบ้านก็จะไม่เท่ากัน อัตราค่าบริการต่อเดือนก็ไม่เท่ากัน ทำให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บของสองบ้านก็ไม่เท่ากันด้วย 


ลดค่าไฟได้ ถ้าเปลี่ยนรูปแบบอัตรา

เพราะปัจจัยต่างๆ ส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้า ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มหรือลดได้ ดังนั้น ถ้าอยากจ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลง เราก็ต้องมาพิจารณาปัจจัยกำหนดราคาว่ามีปัจจัยไหนที่เราสามารถปรับเปลี่ยนแล้วทำให้ค่าไฟลดลงได้บ้าง 

แน่นอนว่าเรื่องปริมาณการใช้ไฟ ถ้าเราใช้น้อยลง ค่าไฟที่ต้องจ่ายก็ย่อมลดลงไปด้วย แต่ยังมีวิธีที่จะลดได้มากและเห็นผลชัดกว่านั้น คือ การเปลี่ยนรูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าจากรูปแบบอัตราปกติ ไปใช้อัตรา TOU 

ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัยส่วนมากจะใช้รูปแบบ ‘อัตราปกติ’ ที่คิดค่าไฟแบบอัตราก้าวหน้า ยิ่งใช้ไฟมากขึ้น อัตราค่าไฟต่อหน่วยก็ยิ่งสูงขึ้น เมื่อทั้งจำนวนหน่วยที่จะเอาไปคูณก็มาก ตัวอัตราต่อหน่วยก็สูง ผลคือค่าไฟที่ต้องจ่ายสูง เห็นใบแจ้งค่าไฟแต่ละเดือนแล้วแทบจะเป็นลม

ถ้าเปลี่ยนไปใช้อัตราแบบ TOU แล้วกำหนดเวลาการใช้ไฟในบ้านให้ตรงกับช่วง Off Peak ได้ ก็จะช่วยให้ลดค่าไฟลงได้เดือนละหลายบาทเลย 

วิธีดูว่าบ้านเราเหมาะที่จะใช้อัตราแบบ TOU หรือไม่ ให้เริ่มจากพิจารณาการใช้ไฟในบ้านของเราว่า เราใช้ไฟมากในตอนกลางวันหรือตอนกลางคืน ถ้าบ้านไหนใช้ไฟน้อยในตอนกลางวัน ใช้ไฟเยอะตอนกลางคืน บ้านคุณเหมาะมากที่จะเปลี่ยนไปใช้อัตราแบบ TOU เพราะช่วงเวลา On Peak ที่ค่าไฟแพงคือ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-22.00 น. นั่นหมายความว่าวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลา 22.01-09.00 น. และตลอดวันเสาร์และอาทิตย์ ซึ่งเป็นช่วงเวลา Off Peak อัตราค่าไฟแบบ TOU จะถูก 

ถ้าจะให้เห็นผลความแตกต่างของอัตราค่าไฟทั้งสองแบบจริงๆ ต้องมั่นใจว่าเราใช้ไฟในช่วง Off Peak มากกว่าช่วง On Peak มากๆ สัดส่วนไม่ควรต่ำกว่า 60 : 40  

ขอยกตัวอย่างจากที่การไฟฟ้านครหลวงคำนวณเปรียบเทียบไว้มาให้ดูกัน (ตัวอย่างนี้คำนวณจากอัตราในอดีต) 

กรณีตัวอย่าง นายยินดี เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย มีการใช้ไฟฟ้า 1,000 หน่วย ค่า Ft เท่ากับ 30.00 สตางค์ต่อหน่วย อัตราในช่วง On Peak 5.2674 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak 2.1827 บาทต่อหน่วย 

ถ้าใช้อัตราปกติ จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 4,331.73 บาท 

ถ้าใช้อัตราแบบ TOU โดยใช้ไฟในช่วง Off Peak สัดส่วน 45 เปอร์เซ็นต์ และ On Peak 55 เปอร์เซ็นต์ จะต้องจ่าย 4,512.74 บาท

ถ้าใช้อัตราแบบ TOU โดยใช้ไฟในช่วง Off Peak สัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ และ On Peak 40 เปอร์เซ็นต์ จะต้องจ่าย 4,017.64 บาท 

ถ้าสามารถควบคุมสัดส่วนการใช้ไฟในช่วง On Peak ให้ลดน้อยลงกว่านั้น ค่าไฟก็ยิ่งจะถูกลงอีก 

จะเห็นว่า TOU เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับบ้านที่ออกไปทำงานนอกบ้านทุกวัน ใช้ชีวิตอยู่บ้านในเวลากลางคืน และวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น ซึ่งหลายๆ ครัวเรือนในประเทศไทยก็มีวิถีชีวิตและรูปแบบช่วงเวลาการใช้ไฟฟ้าแบบนี้ ดังนั้น ถ้าสนใจจะเปลี่ยนรูปแบบอัตราค่าไฟ ไปติดต่อยื่นคำร้องที่หน่วยงานการไฟฟ้าใกล้บ้านได้เลย


ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างและปัจจัยกำหนดค่าไฟของเรา ซึ่งถ้าเข้าใจแล้วจะช่วยให้เราหาทางลดค่าไฟลงได้ เป็นหนึ่งในวิธีพึ่งพาตนเองอย่างที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานบอก 

แต่ยังมีปัจจัยเบื้องลึกในระดับนโยบายการผลิต การจัดหา และการสำรองไฟฟ้า ที่เรายังไม่ได้กล่าวไปถึง ซึ่งอันนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะทำให้ค่าไฟถูกลง ไม่ได้อยู่ในขอบเขตที่ประชาชนสามารถทำได้เอง

อินโฟกราฟิก : Nuttal - Thanatpohn Dejkunchorn



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

หรือนโยบายลดค่าไฟฉบับเศรษฐา ก็แค่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat