กลุ่ม ‘เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ’ และ ‘ทะลุแก๊ซ’ ยื่นหนังสือเรียกร้องสิทธิประกันตัว หาความจริงการฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง
...
LATEST
Summary
- กลุ่ม ‘เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ’ และกลุ่มมวลชนอิสระ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ เดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อเรียกร้องสิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง สวัสดิภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ และสิทธิการประกันตัว
- นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพยายามฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ทางราชทัณฑ์รายงานความคืบหน้าล่าช้าหลายวัน
...
ภาพ: เอกลักษณ์ ไม่น้อย Thairath Online
เนื่องจากมีผู้ชุมนุมและผู้ต้องหาคดีการเมืองหลายคนไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว กลุ่ม ‘เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ’ และกลุ่มมวลชนอิสระ ซึ่งรวมถึงกลุ่ม ‘ทะลุแก๊ซ’ จึงเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง โดย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล เป็นผู้รับมอบ เพื่อเรียกร้องสิทธิการเยี่ยมผู้ต้องขัง สวัสดิภาพผู้ต้องขังในเรือนจำ และสิทธิการประกันตัว พร้อมทั้งขอให้ตรวจสอบเรื่องการพยายามฆ่าตัวตายของกลุ่มทะลุแก๊ซที่มีการแจ้งข่าวความคืบหน้าล่าช้า ทั้งที่เหตุเกิดไปแล้วหลายวัน
ข้อเรียกร้องหลักคือ ต้องการส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังที่ไร้สิทธิประกันตัวในทุกคดี และเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาทุกคน แถลงการณ์จากกลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำระบุว่า
“สถานการณ์ของเรือนจำทั่วประเทศในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหา ‘ผู้ต้องขังล้นคุก’ เนื่องด้วยพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว ทั้งๆ ที่ไม่ควรมีผู้ต้องขังคนใดที่ยังไม่ได้มีคำพิพากษาลงโทษต้องถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำจนไร้ซึ่งอิสรภาพในการต่อสู้คดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อันเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังทุกคน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มจำนวนของผู้ต้องขังในเรือนจำ สร้างความแออัด สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอันมาจากเงินภาษีของประชาชนโดยใช่เหตุ
“ตลอดจนปัญหาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติงานของกรมราชทัณฑ์และกฎระเบียบของเรือนจำที่ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การลงโทษภายในเรือนจำอันไร้มาตรฐาน ที่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้คุม การที่ผู้ต้องขังถูกปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรมและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการจำกัดให้ผู้ต้องขังได้อาบน้ำเพียงสิบขันต่อวัน สภาพความเป็นอยู่ภายในห้องนอนแออัด ตลอดจนด้านการรักษาพยาบาลที่จดบันทึกอาการแล้วให้รอรับยาในวันต่อไป โอกาสที่จะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์มีน้อยมาก ซึ่งเป็นระเบียบที่ไม่คำนึงถึงหลักสุขอนามัยที่ดีของผู้ต้องขัง
“ด้วยเหตุนี้ทางกลุ่ม ‘เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ’ จึงมีการจัดตั้งโครงการ ‘เยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ’ ขึ้นมาเพื่อต้องการสนับสนุนให้การดำเนินงานภายในเรือนจำนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่น สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นโครงการที่จะส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำอีกด้วย”
แหวน - ณัฏฐธิดา มีวังปลา อดีตผู้ต้องขังในเรือนจำทัณฑสถานหญิงกลาง ในฐานะตัวแทนกลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ กล่าวถึงสิทธิผู้ต้องขัง สิทธิการประกันตัว รวมทั้งถามหาข้อเท็จจริงที่นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ซพยายามฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเอง แต่มีรายงานออกมาล่าช้า ทำให้เกิดคำถามถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์
“นักกิจกรรมที่พยายามฆ่าตัวตายเดินทางไปมอบตัวด้วยตนเอง เพราะคดีที่ถูกกล่าวหาเขายืนยันอย่างชัดเจนว่าไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ในเวลานั้น จึงมีข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมว่า ศาลได้ดูหลักฐานและพิจารณาด้วยเหตุผลหรือไม่ก่อนจะออกหมายจับ เพราะหลักฐานที่ใช้ในชั้นสอบสวนเป็นคนละช่วงเวลากัน จึงเป็นหลักฐานที่อ่อนและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขามีความพยายามที่จะฆ่าตัวตายเพราะความเครียด กลุ่มเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำจึงขอฝากเรื่องนี้ให้ ส.ส.อมรัตน์ และพรรคก้าวไกล เข้าตรวจสอบความโปร่งใสนี้ต่อไป”
มวลชนอิสระถามหาความจริงเรื่องผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซทำร้ายตัวเอง พยายามฆ่าตัวตาย
และเนื่องจากมีรายงานความพยายามฆ่าตัวตายของ พลพล หนึ่งในผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซ ด้วยการรับประทานยาพาราเซตามอลเข้าไปหลายสิบเม็ด จนต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อล้างท้อง โดยเหตุเกิดตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน แต่มีรายงานออกมาล่าช้า ทำให้กลุ่มมวลชนอิสระ ที่เดินทางมายื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ที่รัฐสภา ออกจดหมายเปิดผนึกขอความยุติธรรมให้กับนักโทษทางการเมือง และการดูแลรักษาพยาบาลของนักโทษ มีรายละเอียดส่วนหนึ่งกล่าวว่า
“วันที่ 27 มิถุนายน 2565 อธิบดีราชทัณฑ์ อายุตย์ สินธพพันธุ์ แถลงการณ์เรื่องผู้ต้องขังทะลุแก๊ซกินพาราเซตามอลเกินขนาด แต่ทว่าทางทนายสิทธิมนุษยชนกลับได้แจ้งว่า ผู้ต้องขังทะลุแก๊ซจำนวน 3 ราย ได้ทำร้ายตัวเองในเรือนจำตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา (24 มิถุนายน 2565) แต่กรมราชทัณฑ์กลับไม่แถลงการณ์ใดๆ เบื้องต้นผู้ต้องขังหนึ่งรายกินพาราเซตามอลจำนวน 60 เม็ด และได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว แต่ยังมีผู้ต้องขังทะลุแก๊ซอีกสองรายได้ทำร้ายตัวเองโดยการกรีดข้อมือ กลับไม่มีประวัติการรักษาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์
“มวลชนอิสระจึงมีหนังสือฉบับนี้มายังท่าน เพื่อให้ท่านตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ รวมไปถึงโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเรื่องของการดูแลเอาใจใส่ผู้ต้องหาทั้งสุขภาพจิตใจ และสุขภาพกาย เพื่อให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิพื้นฐานตามสิทธิมนุษยชนที่พึงมี”
อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ กมธ. ภายในวันนี้ เหตุการณ์ทำร้ายตัวเองของนักกิจกรรมทางการเมืองมีลักษณะปิดข่าวจากกรมราชทัณฑ์ โดยเหตุการณ์เกิดตั้งแต่วันศุกร์ แต่โลกภายนอกกว่าจะรู้เรื่องคือวันจันทร์ หากเกิดรุนแรงมากกว่านี้ อาจไม่สามารถช่วยเหลือทัน จึงขอให้กรมราชทัณฑ์และกระบวนการยุติธรรมทบทวนแนวทาง เรื่องการกำหนดคนเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในดุลพินิจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถทำได้ แต่ที่ผ่านมามีการใช้ข้ออ้างเรื่องโควิด-19 ในการจำกัดการเข้าเยี่ยม ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายและกำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น กฎเกณฑ์จึงควรผ่อนคลายได้
“สภาแห่งนี้ใช้งบสร้างกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นสภาของประชาชน ทุกคนต้องเข้ามาใช้ได้ และควรใช้พื้นที่แห่งนี้พูดคุยกัน ไม่ใช่พอมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมแล้วต้องเรียกเข้าไปคุยในกระทรวงกลาโหม ประเด็นที่จะนำเข้าไปใน กมธ. คือเรื่องสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังที่ถูกจำกัด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง กรมราชทัณฑ์อ้างโควิด-19 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการจำกัดจำนวนเยี่ยม เป็นการทำให้ผู้ต้องขังที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เกิดความเครียดและทำร้ายตัวเองหรือไม่ จะต้องมีการตรวจสอบในเรื่องนี้”
ความคืบหน้าอาการ บุ้ง และ ใบปอ ที่กำลังอดอาหารประท้วงในเรือนจำ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันที่ 28 มิถุนายน ทนายความได้เข้าเยี่ยมบุ้งและใบปอ สองนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุวัง แต่มีแค่ใบปอที่สามารถพูดคุยผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาพูดคุยได้เพียงคนเดียว เนื่องจากบุ้งถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นครั้งที่สอง
ความคืบหน้าล่าสุด ศูนย์ทนายฯ รายงานผ่านทวิตเตอร์ว่า บุ้ง - เนติพร รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งแพทย์ได้ให้น้ำเกลือและวิตามินอยู่
ใบปอเล่าให้ทนายฟังว่า บุ้งน้ำหนักตัวลดไปถึง 15 กิโลกรัมจากการอดอาหารมาแล้ว 27 วัน ส่วนใบปอเองน้ำหนักลดไป 5 กิโลกรัม
วันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งบุ้งและใบปอ เช่นเดียวกับศาลชั้นต้น โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วจำเลยที่ 2 และ 3 ถูกฟ้องว่าร่วมกับพวกกระทำความผิดหลายข้อหา บางข้อหามีอัตราโทษสูงและมีลักษณะเป็นการกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของประชาชนทั่วไปถือเป็นเรื่องร้ายแรง”
“ประกอบกับศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 ในระหว่างสอบสวน โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมที่อาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือชักจูงประชาชนให้เข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง”
“แต่จำเลยที่ 2 และ 3 ผิดเงื่อนไขจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 2 และ 3 กรณีจึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นนี้จำเลยที่ 2 และ 3 อาจจะหลบหนีหรือก่อให้เกิดภัยอันตรายประการอื่น คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”
บุ้งและใบปอถูกจับกุมจากการทำโพลสำรวจความเห็นเรื่องความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ หลังถูกถอนประกัน ทั้งคู่ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม จนถึงวันนี้เป็นเวลา 58 วัน และได้อดอาหารประท้วงมาแล้ว 28 วัน
