Humberger Menu

บ้านพักข้าราชการส่วนภูมิภาค อำนาจเมืองหลวงในต่างจังหวัด กับการทำให้เป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Social Issues

18 ก.ค. 65

creator
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ตำแหน่งที่ตั้งและการใช้พื้นที่ของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดมีนัยทางการเมืองของอำนาจภายนอกจากสยามที่เข้ามาสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว
  • จวนผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงบ้านพักต่างๆ มีลักษณะที่เด่นชัดคือ เป็นที่พำนักของคนนอกที่เข้ามาปกครองคนในพื้นที่ พวกเขาคือข้าราชการส่วนภูมิภาคสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ถูกแต่งตั้งมาจากกรุงเทพฯ
  • ในอนาคต การยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัดและยกเลิกส่วนภูมิภาค พื้นที่ดังกล่าวก็ควรจะตกเป็นของท้องถิ่น ไม่ว่าจะในนามเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด

...


ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ และหน่วยงานส่วนภูมิภาคทั้งหลาย คือกลไกจากส่วนกลางที่ถูกแต่งตั้งมาให้บริหารจัดการ ‘จังหวัด’ ต่างๆ บุคคลเหล่านี้คือ ข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทย ที่นอกจากจะมีสวัสดิการที่เป็นบ้านพักแล้ว บ้านพักของพวกเขายังตั้งอยู่ในกลางพื้นที่สำคัญของเมืองอีกด้วย 

เนื่องจากในประวัติศาสตร์ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นมาแทนที่จารีตการปกครองแบบเก่า นั่นคือ เจ้าประเทศราช-เจ้าผู้ครองนคร หรือเจ้าเมืองในเขตหัวเมืองชั้นใน ยามที่สยามเข้าสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาล

จวนผู้ว่าราชการจังหวัด หรือบ้านพักของผู้ว่าราชการจังหวัด เกิดขึ้นพร้อมกับศาลากลางเมือง ศาลากลางจังหวัด อันเป็นพื้นที่แยกระหว่างที่พักอาศัยกับที่ทำงาน ซึ่งจะต่างจากที่อยู่อาศัยของเจ้าประเทศราช เจ้าผู้ครองนคร เจ้าเมือง ที่มักจะอยู่ในที่เดียวกัน หรือพื้นที่คาบเกี่ยวกัน

พื้นที่ดังกล่าวของอำนาจท้องถิ่นที่ยังทรงอำนาจ ทำให้สยามต้องสร้างจวน หรือบ้านพักข้าราชการระดับสูงแยกออกมาต่างหาก กรณีเชียงใหม่ จวนผู้ว่าราชการและบ้านพักราชการอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง (ใกล้สะพานนวรัฐในปัจจุบัน) ที่พักแยกจากสถานที่ทำงานบริเวณศาลาว่าการมณฑลพายัพบริเวณใจกลางเมือง (บริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในปัจจุบัน) บริเวณบ้านพักดังกล่าวถือว่าอยู่นอกกำแพงเมืองเสียด้วยซ้ำ มีเหตุผลที่ระบุไว้ในช่วงทศวรรษ 2440 ไว้ว่า

“…ทางที่จัดโดยถือว่าเปนพวกไทยพวกลาวต้องทำการที่ต่างกัน เพราะถือว่าลาวเปนคนชาติต่ำ แลไม่ควร เพราะฉะนั้นพวกข้าหลวงแลพวกเจ้านายจึงทำการแยกกันคนละที…บรรดาคนพื้นเมืองที่มาทำการร่วมกับข้าหลวงก็ดี…ได้รับเงินเดือนอย่างมากที่สุดเดือนละ 50 รูเปีย ถึงจะเปนคนดีมีวุฒิทำการได้ หรือตั้งใจที่จะรับราชการก็ไม่มีโอกาสที่จะให้ดียิ่งกว่านั้น…โดยเหตุนี้พาให้เบื่อหน่ายในการทำราชการ…ในที่สุดจนถึงยุยงเจ้านายให้แตกกับข้าหลวงจะได้มีทางหากินต่างๆ…”

ทั้งนี้ ในปี 2426 เคยมีเหตุความขัดแย้งระหว่างบรรดาเจ้านายพื้นเมืองกับทหารสยาม ถึงขนาดยกพวกไล่ตีกันจนถึงหน้าประตูจวนข้าหลวง รวมไปถึงการวิวาทกันกลางตลาดอีกด้วย เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี การแบ่งโซนดังกล่าวย่อมสะท้อนการเชิงพื้นที่ไปด้วย

ขณะที่เมืองลำปางได้สร้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ริมแม่น้ำวัง ไม่ไกลจากบริเวณศาลากลางและคุ้มหลวง-หอคำ ศูนย์กลางอำนาจจารีตเดิมเท่าใดนัก อาจชี้ให้เห็นถึงอำนาจที่ไม่ได้ขัดแย้งกันมาก ผิดกับจวนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ที่ผู้ว่าฯ เข้าไปแทนที่คุ้มหลวงเจ้าพิริยะเทพวงศ์เสียเลย เนื่องจากถูกยึดอำนาจหลังเกิดเหตุการณ์กบฏเงี้ยวในปี 2445

ตำแหน่งที่ตั้งและการใช้พื้นที่ของจวนผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีนัยทางการเมืองของอำนาจภายนอกจากสยามที่เข้ามาสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่ผู้มีอำนาจในท้องถิ่นตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งลักษณะคล้ายกันนี้ก็เกิดขึ้นกับบ้านพักนายอำเภอนอกเขตเมืองด้วย

จวนผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงบ้านพักต่างๆ มีลักษณะที่เด่นชัดคือ เป็นที่พำนักของคนนอกที่เข้ามาปกครองคนในพื้นที่ พวกเขาคือข้าราชการส่วนภูมิภาคสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่ถูกแต่งตั้งมาจากกรุงเทพฯ แตกต่างจากนักการเมืองท้องถิ่นอย่างนายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้เป็นคนในท้องถิ่น มีบ้านเรือนที่พักอาศัยเป็นของตนเอง พื้นที่ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นพื้นที่ของคนนอกโดยแท้ 

บ้านพักเหล่านี้อาจดูไม่ต่างกับบ้านพักข้าราชการที่เป็นสวัสดิการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จวนผู้ว่าฯ คือพื้นที่แห่งอำนาจที่แทรกอยู่กลางเมือง ในวันสำคัญจะเป็นที่พบปะกันของข้าราชการพลเรือนในระดับจังหวัด เช่น การรดน้ำดำหัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บางแห่งยังเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดอีกด้วย 

บางครั้ง จวนผู้ว่าฯ ยังถูกผูกอยู่กับดวงชะตาของเมืองด้วย เช่น อาถรรพณ์จวนผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ที่เคยเกิดเหตุฆ่าตัวตายของ ประเทือง สินธิพงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด บนจวน ราวปี 2521-2523 โกสินทร์ เกษทอง อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่คนที่ 27 เคยเล่าว่า ก่อนจะมารับตำแหน่งที่เชียงใหม่ ก็มักจะถูกอำจากรุ่นพี่ผู้ว่าฯ คนเก่าๆ เรื่องไม้กระดานแผ่นหนึ่งหน้าห้องนอนด้านบน ซึ่งมักจะลั่นต้อนรับผู้มาเยือนใหม่ให้ได้ยิน  

ใน 10-20 ปีมานี้ มีแนวโน้มของการย้ายสถานที่ราชการออกจากตัวเมือง อย่างศาลากลางจังหวัด เรือนจำ เพื่อขยับขยายจากพื้นที่ในเมืองที่คับแคบ บางแห่งคืนพื้นที่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ หรืออยู่ในข้อถกเถียงและแย่งชิงพื้นที่กันของหน่วยงานต่างๆ 

อย่างไรก็ดี จวนผู้ว่าราชการจังหวัดและบ้านพักของข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยกลับเป็นประเด็นที่คนอาจไม่ได้ให้ความสนใจเท่าใดนัก หลายแห่งจวนผู้ว่าฯ มีความเก่าแก่จนได้รับความสำคัญจากกรมศิลปากร เช่น ที่ภูเก็ตสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อปี 2564 หรือที่นครพนมได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี 2548 และยกให้เป็นพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมเมื่อปี 2549

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม

 

หากพิจารณากันในอนาคต การยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด และยกเลิกส่วนภูมิภาค พื้นที่ดังกล่าวก็ควรจะตกเป็นของท้องถิ่น ไม่ว่าจะในนามเทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น เราอาจจะประเมินผ่านโครงการก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาว่า บ้านพักของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยส่วนภูมิภาคนั้นมีแนวโน้มเป็นอย่างไร

แม้ว่าก่อนปี 2563 จะมีข่าวการก่อสร้างบ้านพักอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจเทียบเท่ากับปี 2563 ข่าวประชาสัมพันธ์ในเดือนมิถุนายนกล่าวถึงการสร้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมกับบ้านพักรองผู้ว่าราชการจังหวัด 2 หลัง และบ้านพักหัวหน้าสำนักงานจังหวัด 1 หลัง ทั้งสามเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ตามข่าวใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20.4 ล้านบาท งานรื้อถอนบ้านพักพร้อมโรงจอดรถและถนน รวมถึงงานระบบต่างๆ 

อนึ่ง จวนหลังนี้เป็นหลังที่ 3 เนื่องจากหลังที่ 2 นั้นคือ การใช้บ้านพักรับรองของ กอ.รมน. เป็นจวนแทนหลังเดิม 

เมื่อสืบค้นดูจะพบว่าในปี 2563 นั้นมีรายการที่ชี้ให้เห็นถึงโครงการก่อสร้างอย่างน้อย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ บ้านพักผู้ว่าฯ 3 รายการ รองผู้ว่าฯ 31 รายการ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด 3 รายการ รวมทั้งหมด 37 รายการ 

อีกกลุ่มคือ กลุ่มปลัดจังหวัด 2 รายการ และปลัดอำเภอ 30 รายการ รวมเป็น 32 รายการ 

หากตรวจสอบราคาบ้านพักระดับปลัดอำเภอและจังหวัดจะอยู่หลังละ 2.808 ล้านบาท ราคาบ้านพักผู้ว่าฯ-รองผู้ว่าฯ-หัวหน้าสำนักงานจังหวัด ก็ไม่หนีกันจากนี้อยู่ในช่วง 2-3 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับกระแสและแนวโน้มการกระจายอำนาจในสังคมไทยแล้ว อีกไม่นานเชื่อว่าส่วนภูมิภาคจะหดตัวลงและสลายไปในที่สุดไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ดังนั้น บ้านพักและพื้นที่เหล่านี้ภายใต้กระทรวงมหาดไทย พึงถูกโอนกลับมาเป็นของท้องถิ่น นั่นหมายถึงพื้นที่เหล่านี้จะกลายเป็นพื้นที่สำคัญกลางเมืองผืนใหม่ในอนาคตอีกแห่ง อันจะเป็นโจทย์ต่อไปของเทศบาลหรือ อบจ. ว่า พื้นที่เหล่านี้มีศักยภาพเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ ห้องสมุด ศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลาดชุมชน สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ โรงละคร หอศิลปะ ฯลฯ ไม่ใช่ว่าเป็นแบบจวนผู้ว่าฯ เก่าบางแห่งผู้ว่าฯ คนก่อนเคยทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่พอเปลี่ยนผู้ว่าฯ ก็กลายเป็นอาคารปิดตายร้างๆ ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

อะไรคือการกระจายอำนาจที่แท้จริง เมื่ออำนาจส่วนกลางยังบดบังประชาธิปไตยท้องถิ่น

กสศ. กระทรวงศึกษาฯ เงาที่กำลังเติบใหญ่ กับการกระจายอำนาจที่ถอยหลัง

นโยบายการศึกษา กับประเด็นกระจายอำนาจ ที่ (แทบจะ) หายไป

เทศบาลนครนครศรีธรรมราช เมืองราชการแนวยาว ผู้คน รถสองแถว และน้ำท่วม

เทศบาลนครขอนแก่น เมืองศูนย์กลางของภูมิภาค กับอนาคตที่หวังเปลี่ยนเมืองด้วยระบบขนส่ง

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat