เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.ก้าวไกล เรียกร้องปล่อยตัว บุ้ง ใบปอ และผู้ต้องหาคดีการเมือง
...
LATEST
Summary
- ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 กรกฎาคม หรือวันสุดท้ายของการอภิปรายฯ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายถึงการใช้กฎหมายอย่างบิดเบือนตั้งแต่รัฐประหาร 2557
- นอกจากนี้เบญจายังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทางการเมือง บุ้ง-เนติพร และ ใบปอ-ณัฐนิช ที่อดอาหารอยู่ในเรือนจำ
...
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 22 กรกฎาคม หรือวันสุดท้ายของการอภิปรายฯ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ในการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่าง ชุมนุมต่อต้าน ขับไล่ ซึ่งรวมถึงการใช้กฎหมายมาตรา 112 กับนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคน
เบญจาระบุว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 พลเอกประยุทธ์ ซึ่งอยู่ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประยุทธ์ได้ทำลายทั้งระบบกฎหมายปกติ ระบบนิติรัฐ แล้วสถาปนาระบบกฎหมายชุดใหม่ขึ้นมาแทน กลายเป็นการปกครองแบบ ‘Rule by law’ ผ่านกฎหมายที่เขียนขึ้นเองในรูปแบบประกาศ-คำสั่งของ คสช. และการใช้กฎหมายความมั่นคงต่างๆ ทั้ง ม.116 ยุยงปลุกปั่นฯ และ ม.112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แบบบิดผัน มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร ควบคุมตัวในค่ายทหาร และดำเนินคดีในศาลทหาร
จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ภายใต้รัฐบาล คสช. มีพลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหารอย่างน้อย 2,408 คน และมีผู้ถูกดำเนินคดีจากประกาศ-คำสั่ง คสช. อย่างน้อย 428 คน 67 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 197 คน 115 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีจาก ม.116 อย่างน้อย 124 คน 50 คดี และมีผู้ถูกดำเนินคดีตาม ม.112 อย่างน้อย 169 คน
เบญจาระบุต่อไปว่า จากเอกสาร ‘หมาย จ.14’ ที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ส่งไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อแกนนำผู้ชุมนุม ‘คนอยากเลือกตั้ง’ ที่แนะนำให้พนักงานสอบสวนตีความว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นความผิดตาม ม.116 และยังให้ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารใส่ร้ายแกนนำการชุมนุม และให้ดำเนินคดีโดยให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับความยากลำบาก เป็นหลักฐานที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการดำเนินคดีการเมืองทั้งหมดในยุค คสช. เป็นคดีนโยบาย
สถานการณ์เหมือนจะเบาบางลงหลังเลือกตั้ง 2562 แต่ปี 2563 ช่วงการชุมนุมใหญ่ทางการเมือง ได้มีการใช้มาตรา 112 อีกหลายครั้ง โดยเบญจากล่าวว่า มาตรา 112 ถูกใช้ในลักษณะของคดีนโยบาย มาดำเนินคดีกับแกนนำการชุมนุม มีการฟ้องในต่างจังหวัดให้ผู้ต้องหาต้องสู้คดีด้วยความยากลำบาก มีการรื้อฟื้นคดีย้อนหลังไปหลายปี และยังมีการดำเนินคดีไม่เว้นแม้แต่กับเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี
“ขณะเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหาด้วยคดีนโยบายตาม มาตรา 112 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทั้งที่พฤติการณ์เป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ไม่มีพฤติการณ์ที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จนผู้ต้องหาหลายคนอดอาหารประท้วง มีการให้ประกันด้วยเงื่อนไขที่มุ่งลิดรอนเสรีภาพ เรียกได้ว่าเป็นการ ‘บีบให้หมอบกราบ แล้วค่อยคลาย’ ซึ่งในระยะหลังการดำเนินคดีโดยไม่ให้ประกันตัวในลักษณะนี้ ยังได้ลามไปถึงคดีอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย”
นอกจากนี้ เบญจายังได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มทะลุวัง บุ้ง-เนติพร และ ใบปอ-ณัฐนิช ที่กำลังอดอาหารประท้วงอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลาง หลังถูกถอนประกันเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม และแม้จะยื่นประกันถึง 7 ครั้ง ศาลก็ยังยืนคำสั่งเดิม คือไม่ให้ประกันตัว
บุ้งและใบปอถูกจับกุมจากการทำโพลขบวนเสด็จ ที่หน้าสยามพารากอน และถูกตั้งข้อหามาตรา 112 เบญจากล่าวว่า นักกิจกรรมทำโพลมีแค่แผ่นฟิวเจอร์บอร์ดกับมีสติกเกอร์และโพสต์อิต เพื่อให้ประชาชนที่ผ่านไปมาโหวตแสดงความเห็น
เบญจากล่าวว่า ทั้งบุ้งและใบปอกำลังเอาชีวิตตัวเองประจันหน้ากับกระบวนการยุติธรรมที่โหดเหี้ยมในยุคสมัยของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
“กระบวนการยุติธรรมที่ยึดตามหลักกฎหมายปฏิบัติเสมอมา มีหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา และต้องปฏิบัติเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ทำผิด นี่คือหัวใจสำคัญในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน แต่ทำไมหลักการนี้ เมื่อเป็นคดีมาตรา 112 ก็ไม่มีคนในกระบวนการยุติธรรมสักคนเดียวที่กล้าหาญพอ และยังแจ้งจับ สั่งฟ้อง คุมขัง กระทำการก่ออาชญากรรมผ่านการพรากสิทธิของประชาชนอยู่ร่ำ”
“ต่อกรณีของ ใบปอ-ณัฐนิช และ บุ้ง-เนติพร รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองสิ่งที่พวกเขาทำ นับเป็นการเคลื่อนไหวด้วยจิตใจที่กล้าหาญของสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่งแล้ว ท่านประธานก็เป็นนักกฎหมาย ท่านควรจะเข้าใจหลักกฎหมาย และทราบเป็นอย่างดี เพียงแค่พวกเราใช้สามัญสำนึกในการไตร่ตรองเรื่องนี้ให้ดี นี่ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายปกติอย่างที่มันควรจะเป็น แต่มันคือการที่อยากจะลงโทษพวกเขาล่วงหน้าตามอำเภอใจให้สาสม โบยตีเพื่อให้เขาหมอบกราบราบคาบลงโทษพวกเขาโดยไม่ต้องรอฟังคำพิพากษาด้วยซ้ำ”
“ส่วน ทานตะวัน (ตัวตุลานนท์) แม้จะได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว แต่ก็ถูกตั้งเงื่อนไขให้อยู่ในเคหสถานตลอด 24 ชั่วโมง และห้ามออกไปไหน ทำไมทานตะวันจะไม่มีสิทธิที่จะกลับไปใช้ชีวิตตามปกติระหว่างรอต่อสู้คดี ไหนคือหลักการที่ว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด”
เบญจากล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังเลวร้ายลง และคดีการเมืองที่เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ก็มีจำนวนสูงมากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง และเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี อย่างน้อย 30 คน จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 มิถุนายน 2565 มีประชาชนถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีอยู่ถึง 282 คน เฉพาะคดีมาตรา 112 มีจำนวนเกิน 200 คนไปแล้ว
“การบิดเบือนกฎหมายกระบวนการยุติธรรมแบบนี้ ทำไปเพื่อค้ำจุนและรักษาอำนาจทางการเมืองของท่านผู้นำอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน และมันได้กลายเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลนี้อย่างเห็นได้ชัดเจนไปแล้วด้วยเช่นกัน”
“สภาวะเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง แต่มันยังนำมาซึ่งวิกฤติของสถาบันตุลาการและสถาบันทางการเมืองอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย และนี่ไม่ใช่แค่วิกฤติของสถาบันตุลาการและสถาบันการเมืองอื่นๆ แต่วิกฤตินี้จะกลายเป็นวิกฤติทางโครงสร้างทางการเมืองที่รอวันพังทลายในอนาคตอันใกล้นี้”
“หากสภาฯ แห่งนี้ยังคงปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่ต่อไปเช่นนี้ ในวันข้างหน้าจะยังมีใครเคารพ เชื่อมั่น และนับถือในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่เปรียบเสมือนเป็นที่พึ่ง เป็นที่พิงหลังสุดท้ายของประชาชน”
เบญจากล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้จะยิ่งกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ที่จะกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต
ดิฉันและพรรคก้าวไกลคิดว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง สังคมไทยไม่อาจจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีอนาคต ดิฉันเรียกร้องให้ปล่อย บุ้ง-เนติพร ปล่อย ใบปอ-ณัฐนิช และนักต่อสู้ทางการเมืองทุกคน เพื่อคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน และคืนความยุติธรรมให้กับสังคมนี้โดยด่วนที่สุด
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เบญจาจึงสรุปว่า ไม่สามารถฝากอนาคตของประชาชน เยาวชน คนหนุ่มสาว ไว้ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่อาจไว้วางใจให้พลเอกประยุทธ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกเพียงเสี้ยววินาทีเดียว
“และดิฉันจะขอเชิญชวนเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาแห่งนี้ ร่วมกันยืนตรงอย่างทะนงองอาจ ทำหน้าที่ผู้แทนที่มีกระดูกสันหลัง ช่วยกันปลดล็อกชนวนระเบิดจากระบอบที่พลเอกประยุทธ์สร้างขึ้นมา ด้วยการเริ่มต้นเอาพลเอกประยุทธ์ออกไป นี่คือภารกิจสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพวกเราทุกท่าน ที่เป็นผู้แทนจากพี่น้องประชาชน”
นอกจากนี้ เบญจายังกล่าวถึงอนาคตว่า หากพลเอกประยุทธ์หมดอำนาจ จะเรียกร้องให้มีการคืนความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม
ไม่ควรมีใครต้องถูกคุมขัง ไม่ควรมีใครต้องตาย หรือย้ายประเทศ เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแสดงออกแตกต่างจากท่านผู้นำ หรือเพียงเพราะพวกเขาต้องการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมที่มาจากการทำรัฐประหารเพื่อล้มล้างการปกครอง
“และนั่นคือก้าวแรก คือความปกติ คืนความปกติให้สังคมไทย ให้ประชาชนยังเชื่อมั่นว่าพวกเรายังสามารถอยู่ในสังคมนี้ร่วมกันได้ ไม่ว่าใครจะมีความคิด ความเชื่อ และความฝัน ที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม”
