Humberger Menu

การเดินทางจากพม่าถึงเชียงใหม่ของ ‘ผู้ต้องเนรเทศ’

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Social Issues

28 ก.ค. 65

creator
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

LATEST

+
morebutton read more
Summary
  • เด็กหนุ่มอายุ 17 ปี จากรัฐฉาน ประเทศพม่า หนีภัยสงครามจากบ้านเกิดสู่เมืองเชียงใหม่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครอบครัวรวบรวมเงินจำนวน 19,000 บาท จ่ายให้นายหน้านำพาลักลอบข้ามพรมแดน
  • ตลอดทั้งปี 2564 จนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2565 การลักลอบข้ามพรมแดนจากพม่าเข้าประเทศไทยจำนวนมากหนีไม่พ้นสายตาของเจ้าหน้าที่ไทย ไม่ว่าเขาและเธอจะหนีภัยใดมา ผู้อพยพจากพม่าจะถูกผลักดันกลับประเทศต้นทาง
  • นักวิจัยพบว่า ค่านายหน้าในการลักลอบข้ามพรมแดนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นมา มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบการเดินทางของผู้อพยพก็เพิ่มจำนวนขึ้นต่อการเดินทางแต่ละครั้ง

...


ระหว่างเก็บตัวรอเวลาเดินทางข้ามพรมแดนอยู่ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งในเมืองท่าขี้เหล็ก จายแลงใส ขังตัวเองอยู่ในความเงียบ “ผมรู้สึกกลัวครับ กลัวโดนจับ” ความกลัวของเด็กหนุ่มมีจุดอ้างอิงมาจากการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างต่อเนื่องของเจ้าหน้าที่ฝั่งไทย เขาออกเดินทางจากหมู่บ้านเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 หมู่บ้านเกษตรกรรมแห่งนี้ตั้งอยู่ในเมืองกึ๋ง รัฐฉาน พักแรมหนึ่งคืนที่เมืองกาลิ ก่อนจะเดินทางมายังเมืองท่าขี้เหล็ก แม่สายอยู่ฝั่งตรงข้าม เชียงใหม่คือจุดหมายปลายทาง ความกลัวยืดระยะเวลายาวนานราวกับผืนดินข้างหน้าคือดินแดนไกลโพ้น

จากพม่าถึงเชียงใหม่

ตลอดทั้งปี 2564 ถึงช่วงฤดูร้อนของปี 2565 การลักลอบข้ามพรมแดนจากพม่าเข้าประเทศไทยจำนวนมากหนีไม่พ้นสายตาเจ้าหน้าที่ไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยผลการจับกุมคนต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563-15 ธันวาคม 2564 พบผู้ลักลอบเข้าเมืองจำนวน 42,443 คน ผู้นำพาเข้าเมือง 293 คน ผู้ช่วยเหลือ 841 คน

ขณะที่ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นเดือนครบรอบหนึ่งปีประหารรัฐประหารในพม่า เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองได้ 1,380 คน 

ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ระบุว่าในเดือนเมษายน 2565 จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมือง 13,405 คน

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ความไม่สงบทางการเมือง และความถดถอยทางเศรษฐกิจ เป็นแรงผลักให้ผู้คนข้ามเข้ามาแสวงหาทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจและความปลอดภัยของชีวิต 

share

นักวิชาการระบุว่า ค่านายหน้าในการลักลอบข้ามพรมแดนในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เป็นต้นมา มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบการเดินทางของผู้อพยพก็เพิ่มจำนวนขึ้นต่อการเดินทางแต่ละครั้ง

ตัวเลขการจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองของเจ้าหน้าที่ไทยข่มขวัญเด็กหนุ่มจากหมู่บ้านชนบทในรัฐฉาน จายแลงใส อายุ 17 ปี ผอม ผิวซีด ร่างกายและผิวพรรณสวนทางกับการเป็นกำลังหลักในไร่ข้าวโพดของครอบครัว ต้นปีที่ผ่านมา แรงระเบิดที่ฝังใต้ดินฉีกกระชากชีวิตของชาวบ้าน 2 คน วัวและควายกว่า 20 ตัวล้มตายไปเพราะกับดักที่มนุษย์มุ่งหมายกระทำต่อมนุษย์ แรงสั่นสะเทือนของระเบิดทำลายความปกติของชีวิตและผลักดันให้ผู้คนต้องหนีภัยสงคราม

“เหตุผลที่ผมข้ามเข้ามาเมืองไทย เพราะกองกำลัง SSPP (พรรคก้าวหน้ารัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน หรือ SSPP/SSA ) ทำการเก็บศึก พวกเขาต้องการเด็กผู้ชายอายุตั้งแต่ 14-15 ปี ไปเป็นทหาร ระเบิดที่ฝังใต้ดินก็ทำให้เราเดินทางไปไร่นาไม่ได้เลยครับ ชีวิตที่นั่นก็เป็นแบบนี้ เวลามีการสู้รบเราต้องหาที่หลบ ไม่รู้ว่าเมื่อไรเขาจะเอาตัวเราไป พ่อแม่อยากให้ผมข้ามมาฝั่งไทย พวกเขาติดต่อนายหน้าที่จะพาผมไปหาพี่สาวที่เมืองเชียงใหม่” จายแลงใส บอก

การสู้รบระหว่างกองกำลังฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ยืดเยื้อยาวนาน นี่คือการสู้รบอันเจ็บปวดของชาวไทใหญ่ มันคือการลั่นดาลความหวังหลังประตูบานนี้ถูกปิดลงจากการรัฐประหารของทหารพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ครอบครัวของเด็กหนุ่มติดต่อนายหน้าที่จะพาลูกชายอพยพข้ามมาเมืองไทย ด้วยจำนวนเงิน 19,000 บาท พี่สาวของจายแลงใสและคนรักของเธอเรี่ยไรเงินจำนวนนี้จากญาติๆ ไว้รอจ่ายให้นายหน้าทันทีที่น้องชายเดินทางมาถึงหอพักของพวกเขาในเมืองเชียงใหม่

“นายหน้าบอกให้เราจ่ายเงินปลายทางครับ ไม่มีการเก็บเงินมัดจำ เราจึงไม่ได้เครียดมากนัก เพราะเขาต้องพาน้องของเราเข้ามาได้แน่ๆ” จ๋ายจอมแลง พี่ชายผู้เป็นคนรักของพี่สาวเล่าให้ฟังถึงอีกฝั่งของการเดินทาง - รอคอย

 

ต้นทุนการข้ามพรมแดน

สถานการณ์ในพม่าเลวร้ายลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 พรมแดนไทย-พม่าถูกปิดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กระทั่งการรัฐประหารในปีถัดมาค่อยๆ ฉุดให้เศรษฐกิจในประเทศถดถอย  

“เศรษฐกิจแย่มาตั้งแต่ช่วงโควิด พอสถานการณ์การเมืองมีความซับซ้อน การลงทุนจึงถดถอย บริษัทที่มาลงทุนในประเทศปิดตัวลงไปเยอะมาก” ทราย ล่ามชาวพม่าผู้อาศัยอยู่ในรัฐพะอันให้ข้อมูลว่า นอกจากความถดถอยทางเศรษฐกิจที่ผลักดันผู้คนจำนวนมากข้ามพรมแดนไปแสวงหางานทำ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าก็เป็นอีกแรงผลักสำคัญที่ทำให้ผู้คนต้องจากบ้าน

“ผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์สัญจรในเมืองจะถูกเรียกจอดเพื่อขอดูโทรศัพท์ตอนไหนก็ได้ มันทำให้เมืองนี้ไม่น่าอยู่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเมืองครับ ขณะที่หมู่บ้านเล็กๆ นอกเมือง จะมีกองกำลังปะปน ซึ่งไม่มีความปลอดภัยเลยครับ” ล่ามชาวพม่าผู้เคยใช้ชีวิตในประเทศไทยร่วม 20 ปี บอกเล่าให้ฟังผ่านแอพลิเคชันไลน์ ซึ่งสัญญาณจะตัดทุก 30 นาที

การลักลอบเดินทางข้ามพรมแดนจึงเป็นเหมือนการลงทุนที่ผู้อพยพยอมรับความเสี่ยง พื้นที่ต้นทางในพม่าของผู้ข้ามแดน ได้แก่ รัฐกะเหรี่ยง รัฐฉาน เขตตะนาวศรี รัฐยะไข่ รัฐพะโค และรัฐมอญ พวกเขามีปลายทางที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยเฉพาะสมุทรสาคร ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะบางสะพานน้อยและกุยบุรี ราชบุรี ชุมพร ตรัง ปัตตานี หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และเชียงใหม่

ศิรดา เขมานิฎฐาไท แห่งสำนักวิชาการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ต้นทุนในการเดินทางข้ามพรมแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้อพยพก็มากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลที่บันทึกในเดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า ผู้อพยพข้ามพรมแดนจะต้องจ่ายให้นายหน้า 15,000-25,000 บาท แต่หากต้องการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 20,000 บาท สำหรับการเดินทางไปราชบุรี หรือประจวบคีรีขันธ์ ผู้อพยพข้ามพรมแดนจะต้องจ่าย 15,000-17,000 บาท

share

ส่วนการเดินทางไปจังหวัดต่างๆ ของภาคใต้ต้องใช้เงินระหว่าง 15,000-18,000 บาท แต่หากต้องการเดินทางไปจังหวัดชั้นในอย่างสมุทรสาคร หรือชลบุรี จะต้องเสียค่าใช้จ่ายระหว่าง 21,000-25,000 บาท

ค่าใช้จ่ายขยับสูงขึ้นอีกในเดือนกันยายน 14,000-25,000 บาท สำหรับการเดินทางไปกรุงเทพฯ ปริมณฑล พระนครศรีอยุธยา และมหาชัย การเดินทางไปภาคใต้ก็ปรับราคาสูงขึ้นเป็น 15,000-26,000 บาท สำหรับการเดินทางไปมหาชัยในเดือนตุลาคม มีราคาสูงถึง 25,000-28,000 บาท 

อาจารย์ศิรดายังศึกษารูปแบบการข้ามพรมแดนของผู้อพยพจากพม่า พบว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564 การเดินทางเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน 20 คน ก่อนที่จำนวนผู้ลักลอบจะขยายเป็นกลุ่มละ 50 คนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน และพบจำนวนเกิน 100 คนในสองเดือนสุดท้ายของปี 2564

ตั้งแต่ต้นปี 2565 เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการอำพรางมีความหลากหลาย พวกเขาดัดแปลงรถซ่อนตัวในกองกะหล่ำปลี บางการเดินทางต้องซ้อนมอเตอร์ไซค์ของผู้นำพาลัดเลาะตะเข็บชายแดนเพื่อข้ามพรมแดน 

“ถ้าถูกจับ ผมคิดว่าคงถูกขังคุกแล้วส่งตัวกลับบ้าน” จายแลงใส ประเมินถึงกรณีเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นหากถูกเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยจับกุม ก่อนเดินทางข้ามพรมแดนจากเมืองท่าขี้เหล็กสู่แม่สาย นายหน้าร้องขอให้ผู้เดินทางทั้งหมด 11 คน ทิ้งสัมภาระไว้ที่เมืองชายแดนแห่งนี้ จายแลงใส ทิ้งกระเป๋าเป้ที่ใส่เสื้อผ้าทั้งหมด 4 ชุด ไว้ที่เมืองท่าขี้เหล็ก มีเพียงกระเป๋าคาดอกสีดำติดตัวมาด้วย

“เราต้องรอจนถึงสองทุ่ม เพื่อเดินทางข้ามมาแม่สาย เรามาถึงแม่สาย 10 โมงเช้า” ผู้อพยพ 9 ใน 11 คนเป็นชาวกะเหรี่ยง พวกเขามีจุดหมายปลายทางที่กรุงเทพฯ จายแลงใสมุ่งหน้ามาเชียงใหม่

จากแม่สาย ผู้อพยพข้ามพรมแดนทั้งหมด 11 คนนั่งอัดกันมาในห้องโดยสารของรถกระบะ เบาะนั่งข้างคนขับเป็นที่นั่งของผู้หญิงชาวกะเหรี่ยง 3 คน ที่เหลืออีก 8 คน นั่งซ้อนกันในห้องโดยสารส่วนหลัง

“ผมไม่รู้จักชื่อใครเลยครับ ไม่รู้ว่าพวกเขาเผชิญอะไรมาบ้าง เราไม่ได้พูดคุยกัน ออกเดินทางจากแม่สายตอนหนึ่งทุ่ม ผมมาถึงเชียงใหม่ตอนเที่ยงคืน” รถคันใหม่เดินทางมารับผู้เดินทางที่จะไปกรุงเทพฯ รถอีกคันพาจายแลงใสไปยังจุดนัดหมาย ที่นั่นพี่สาวและคนรักของเธอ รอคอยน้องชายด้วยใจจดจ่อ

“คืนนั้นเราไม่ได้นอนกันเลยครับ” จ๋ายจอมแลง เล่าถึงคืนร้อนอ้าวในเดือนกุมภาพันธ์ที่เขาและคนรักรอรับน้องชาย “ผมโทรคุยกับนายหน้าตลอด ตั้งแต่น้องยังไม่เข้าฝั่งไทย เราติดต่อคุยกับน้องอยู่ช่วงหนึ่ง หลังจากนั้นเราก็โทรคุยกับนายหน้าตลอด นายหน้าอัปเดตสถานการณ์ให้ฟังเป็นระยะว่าน้องของเราเดินทางถึงไหนแล้ว คืนนั้นเขามาถึงในสภาพไม่ได้อาบน้ำมาสองวัน เมื่อมาถึงห้อง เขาอาบน้ำ แล้วหลับเป็นตาย”

ชาวพม่าถูกส่งกลับจากประเทศไทย:  Lauren DeCicca/Getty Images

 

ประตูบ้านของเรา

“มนุษย์ต้องกลับบ้านครับ” พลตำรวจตรีอาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ “คนเราต้องมีการกลับบ้าน ไม่ว่าจะกลับไปทำพาสปอร์ต ทำเอกสารเดินทาง หรือกิจธุระส่วนตัว ล้วนเป็นเหตุผลต่างๆ นานาของการเดินทางกลับ แต่ในช่วงที่ด่านพรมแดนปิด ก็ต้องลักลอบออก พอจะกลับเข้ามาก็ลักลอบเข้า เป็นวัฏจักร เป็นธรรมชาติของคนที่จำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้าย แต่การพูดว่าเราเข้าใจธรรมชาติการเคลื่อนย้ายของผู้คนก็ไม่ได้หมายความว่าเราเพิกเฉยที่จะป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายนะครับ เรามีความพยายามจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายรวมถึงผู้นำพามาดำเนินคดีมาโดยตลอด” พลตำรวจตรีอาชยนกล่าว

โฆษก สตม. ระบุว่า เหตุผลด้านเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การข้ามพรมแดนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เมื่อมาตรการการควบคุมการระบาดมีความผ่อนคลายลง ก็ทำให้การเข้าเมืองในช่องทางที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีผู้เดินทางข้ามพรมแดนจำนวนมาก

“ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เราสามารถบันทึกเข้าระบบได้ชัดเจน แต่สำหรับคนที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้อง เราก็มีความเข้มงวดในการปราบปรามและจับกุม ขยายผลไปสู่นายหน้าหรือคนที่นำพาข้ามพรมแดน เราก็ยังทำงานอย่างเข้มงวดครับ” พลตำรวจตรีอาชยน กล่าว 

นอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านลักลอบข้ามพรมแดนเข้าประเทศไทย ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ผลักดันให้ผู้คนข้ามพรมแดนเข้ามา Friends Without Borders Foundation ระบุว่า ผู้คนมหาศาลที่ถูกจับในฐานะแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง จึงอาจเป็นใครก็ได้ เขาอาจเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่า หรืออาจเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่บ้านช่องถูกทำลาย พื้นที่บางแห่งในพม่ายังมีการบังคับเกณฑ์ลูกหาบ เกณฑ์ทหาร และจับผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามไปสอบสวนทรมาน

“การที่คนในวัยใช้แรงงานลักลอบข้ามแดนจึงอาจไม่ใช่การแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจในทุกกรณี” รายงานดังกล่าว ระบุ

พลตำรวจตรีอาชยน เผยว่า “การสู้รบที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านเป็นเหตุเฉพาะหน้าที่ทำให้ผู้คนหนีภัยเข้ามาหาที่พึ่งพิงปลอดภัยตามแนวพรมแดน ซึ่งฝ่ายความมั่นคง ทหาร มหาดไทย ตำรวจ ต่างเฝ้าดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด แต่เมื่อเหตุการณ์สงบ พวกเขาก็ข้ามกลับเข้าไปยังเขตแดนของตนเอง อันนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าของการสู้รบ ส่วนเหตุไม่สงบทางการเมืองก็เป็นอีกเหตุหนึ่งนะครับ แต่ทั้งสองเหตุนี้ เราต้องยึดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 รวมถึงกฎหมายอาญาต่างๆ เราไม่สามารถผ่อนผันให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายในประเทศได้ เราก็ต้องดำเนินการจับกุมดำเนินคดีหากเกิดการเดินทางลักลอบเข้าเมืองเข้าในพื้นที่ชั้นใน” รอง ผบช.สตม. ระบุ

 

การคัดกรองและให้ความคุ้มครอง

รวีพร ดอกไม้ แห่งมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เผยว่า กลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองส่วนหนึ่งต้องการเข้ามาหางานทำ บางส่วนใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศมาเลเซีย ในกรณีหลังพบว่าเป็นผู้อพยพชาวโรฮีนจา พวกเขาเปลี่ยนเส้นทางจากทางน้ำเป็นทางบก เริ่มต้นจากรัฐยะไข่ไปยังเมียวดี ก่อนจะข้ามพรมแดนมาทางอำเภอแม่สอดหรืออำเภอพบพระ การเลือกใช้ช่องทางเข้าประเทศไทยขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์ของนายหน้า ผู้ลักลอบเข้าเมืองยังประกอบด้วยกลุ่มผู้หนีภัยประหัตประหารจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในพม่า

จากการทำงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและผู้ประสบภัยทางการเมือง ทำให้รวีพรพบว่า รัฐไทยไม่มีแนวทางและขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน บางกรณีแรงงานจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง บางกรณีถูกส่งไปยังสถานกักตัวคนต่างด้าว

“ขณะที่แนวทางในการพิจารณาคดีลักลอบเข้าเมืองอยู่ภายใต้การนิยามของกลุ่มแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จะผลักดันกลับประเทศต้นทาง แต่ในความเป็นจริง ความไม่สงบในพม่าทำให้เกิดความหลากหลายในการนิยามผู้เคลื่อนย้ายถิ่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการจัดการและให้การคุ้มครองผู้อพยพแต่ละกลุ่ม” ผู้ประสานงานคลินิกกฎหมายแรงงานแม่สอด กล่าว

รวีพรเสนอว่า รัฐบาลไทยควรเปิดพื้นที่ในการคัดกรองผู้ประสบภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า โดยให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สถานทูตฯ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาคัดกรอง ให้ความคุ้มครอง ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม มีการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมือง โดยพิจารณาตามความหลากหลายและซับซ้อน เพื่อที่จะระบุสถานะให้ผู้อพยพเข้าถึงการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน

“เป็นสิทธิเบื้องต้นที่ผู้อพยพควรได้รับในระหว่างดำเนินการเรื่องสถานะและการตัดสินใจในชีวิต กระบวนการคัดกรองที่ว่าจะต้องครอบคลุมนำมาใช้กับกลุ่มคนที่ถูกจับกุมในข้อหาลักลอบเข้าเมืองด้วย UNHCR ควรประกาศให้ชัดเจนถึงแนวทางการให้ความคุ้มครองและพิจารณาสถานะ และในระหว่างรอไปประเทศที่สามหรือรอสถานการณ์ในพม่าทุเลา รัฐควรเปิดให้องค์การระหว่างประเทศเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเบื้องต้น และควรมีการพิจารณาหลักเกณฑ์อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยทำงานเลี้ยงตนเองได้” รวีพร กล่าว


พืชประจำถิ่นบางชนิดเคยเป็นพืชพลัดถิ่นมาก่อน

กระเป๋าคาดอกสีดำใบนั้นแขวนอยู่บนที่จับมุ้งลวดในห้องเช่าขนาด 23 ตารางเมตร พี่สาวของเขายังไม่กลับจากที่ทำงาน จายแลงใสใช้เวลาหลังเลิกงานอยู่ในห้องพัก หลังพิงกำแพงนั่งก้มหน้า ผมทรงทูบล็อกยาวปรกดวงตา แสงสว่างจากจอสมาร์ทโฟนเผยให้เห็นใบหน้าของเขา

เชียงใหม่เป็นเมืองศิวิไลซ์สำหรับเด็กหนุ่มวัย 17 แต่ “ผมยังไม่ค่อยได้ออกไปสำรวจเมืองเท่าไรครับ ผมกลัวถูกเจ้าหน้าที่ตรวจบัตร ผมทำงานตั้งแต่เช้า พอเลิกงานก็กลับห้อง” เด็กหนุ่มเล่าเรื่องราวของชีวิตไปพลางก้มหน้าเล่นเกมในสมาร์ทโฟนไปพลาง เขาจากบ้านเกิดมาเป็นแรงงานก่อสร้าง สร้างบ้านให้คนอื่น ตอนนี้บ้านของเขาคือห้องเช่าชานเมือง ไม่ไกลจากที่อยู่อาศัย ชุมชนชาวไทใหญ่ผู้พลัดถิ่นมาก่อนตั้งรกรากราวกับที่นี่คือแผ่นดินเกิด แรงงานเหล่านี้ใช้พื้นที่รกร้างบริเวณที่พักปลูกพืชสวนครัวอย่างต้นพริก มะละกอ กวางตุ้ง กะเพรา คะน้า ฯลฯ ภาพนี้ชวนให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์การเดินทางของต้นพริก ต้นมะละกอ ใช่หรือไม่ว่าพืชประจำถิ่นบางชนิดเคยเป็นพืชพลัดถิ่นมาก่อน

ในยามค่ำคืน เขาปูเสื่อรองด้วยผ้าห่มนวมนอนอยู่บนพื้นข้างเตียงนอนของพี่สาวและพี่ชาย เด็กหนุ่มหัวเราะเมื่อถูกถามว่าตอนนี้มีเสื้อผ้ากี่ชุด ก่อนจะชี้ไปที่ตะกร้าผ้าสำหรับเตรียมซัก ในนั้นเต็มไปด้วยเสื้อผ้าของเขา 

ในตอนเช้า จายแลงใสเดินไปขึ้นรถกระบะที่จอดรวบรวมคนงานอยู่ที่ชุมชนห้องเช่าชาวไทใหญ่เพื่อไปทำงาน

“ญาติพี่น้องมีความสำคัญมากครับสำหรับผู้อพยพข้ามพรมแดน” จ๋ายจอมแลง เล่าถึงประสบการณ์ของผู้อพยพข้ามพรมแดนที่เกิดขึ้นกับตัวเขาเอง น้องชายของคนรัก และในฐานะคนทำงานช่วยเหลือเเรงงานข้ามชาติเกี่ยวกับสิทธิแรงงาน

สำหรับผู้อพยพข้ามพรมแดนที่ไม่มีญาติพี่น้องรออยู่ในเมืองไทย การเข้าไปทำงานในไร่บนดอยสูงก็ดูจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้น พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกขูดรีดเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง กระทั่งอาจตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

หลังการรัฐประหารในพม่า คลื่นผู้คนที่อพยพข้ามพรมแดนเข้ามาราวกับขบวนคาราวาน ทำให้จ๋ายจอมแลงมองเห็นปัญหาที่ซับซ้อนของการอพยพข้ามพรมแดนหลังรัฐประหารในพม่า จ๋ายจอมแลง บอกว่า

คนที่ลักลอบเข้าเมืองส่วนใหญ่จะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม 7 ถึง 10 วัน นายหน้าที่พาเข้ามาก็จะรอเวลาเพื่อพาผู้อพยพกลับเข้ามาอีก บางคนเข้ามาแล้วโดนจับสองสามครั้ง ผมเคยคุยกับนักศึกษาจบปริญญาตรีจากพม่า สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าทำให้เขาตัดสินใจเข้ามาหางานทำฝั่งไทย เขาถูกจับ 3 รอบ นายหน้ารอรับ รอเวลาแล้วก็พาเข้ามาใหม่ ในที่สุดนายหน้าก็พาเข้ามาจนได้

share

 

ผู้ลักลอบ / ผู้ลี้ภัย / ผู้ได้รับความคุ้มครอง

กลไกการคัดกรองระดับชาติได้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อปี 2560 เพื่อจําแนกผู้ลี้ภัยออกจากผู้เข้าเมืองด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และสนับสนุนการดําเนินงานตามหลักการไม่ส่งกลับ กระทั่งเกิดเป็นกลไกที่ใช้จัดการผู้ลี้ภัยในปี 2562 ภายใต้ ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ.2562’

พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐไทยเคยใช้มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นกลไกในการจัดพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่ง ไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปประเทศต้นทาง แต่มาตรา 54 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้กับผู้อพยพในเขตเมือง (Urban refugee) ซึ่งเป็นรูปแบบการย้ายถิ่นในปัจจุบัน

“ก็ทำให้ผู้อพยพในเขตเมืองบางส่วนไม่ต้องไปอยู่ในห้องกัก บางส่วนต้องอยู่ในห้องกัก ขณะที่บางส่วนถูกส่งกลับไปต้นทาง ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาหลักที่นำมาสู่พัฒนาการของผู้ลี้ภัยในปัจจุบัน”

อาจารย์พวงรัฐ กล่าวว่า รัฐไทยพยายามสร้างกลไกและกฎหมายว่าด้วยการจัดการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ก็ปรากฏความเห็นกฤษฎีกาที่พยายามจะชี้ว่า การคัดกรองผู้ลี้ภัยสมควรที่จะใช้มาตรา 54 และมาตรา 17 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522

ขณะที่ “มติคณะรัฐมนตรีปี 2560 ก็ออกมารับไอเดียนี้ของกฤษฎีกา แปลว่ากลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยควรจะอิงกับ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ไม่มาตราใดมาตราหนึ่งตามความเห็นของกฤษฎีกา” อาจารย์พวงรัตน์ กล่าว

ขณะที่ ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562’ ก็ถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของประเทศไทย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่สามารถปรับปรุงเพื่อให้เกิดพัฒนาของการจัดการผู้ลี้ภัย

ใน ระเบียบฯ ปี 62 นี้ไม่ได้ใช้คำว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ แต่ใช้คำว่า ‘ผู้ได้รับความคุ้มครอง’ ซึ่งเราต้องตีความว่า ‘ผู้ได้รับความคุ้มครอง’ หมายถึง ‘ผู้ลี้ภัย’ หรือเปล่า แต่อยากจะตีความในเชิงบวก คำว่า ‘ผู้ได้รับความคุ้มครอง’ เปิดโอกาสให้เราตีความได้กว้างกว่าอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย 1951 (The 1951 Refugee Convention) ซึ่งเป็นลักษณะของกฎหมายผู้ลี้ภัยสมัยใหม่ที่ประเทศอื่นมีการใช้กัน

share

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

บางประเทศในยุโรปมีระบบการจัดการผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่มีองค์ประกอบไม่เข้านิยามที่จะเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ 1951 ด้วยการให้ความคุ้มครองภายใต้หลักการกำหนดให้ต้องให้ความคุ้มครองลำดับรอง (subsidiary protection) ซึ่งเป็นการคุ้มครองนอกเหนือจากอนุสัญญาฯ 1951

“ดังนั้นพอกลับมาพูดเรื่องผู้ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระเบียบฯปี 62 ของไทย แปลว่ามันเปิดโอกาสให้เราใช้ตัวอย่างของประเทศอื่นในการตีความให้ครอบคลุมถึงผู้ลี้ภัยที่เราตั้งใจจะคุ้มครองได้” อาจารย์พวงรัตน์ กล่าว

อาจารย์พวงรัตน์ ยกตัวอย่าง ระบบกฎหมายว่าด้วยการจัดการผู้ลี้ภัยของสหภาพยุโรป ว่าเป็นระบบกฎหมายที่เชื่อมโยงคนเข้าเมืองทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน

“ระบบกฎหมายของเขามองเห็นคนต่างด้าว และคนเข้าเมืองทุกกลุ่มภายใต้ระบบกฎหมายคนเข้าเมือง เขาเชื่อมโยงภาพนี้เข้าด้วยกัน ถ้าเรามองเห็นว่าผู้ลี้ภัยสมควรที่จะได้รับการปรับสถานะเป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมาย มันจะทำให้พัฒนาการในการเข้าไปจัดการสิทธิของเขาต่อยอดไปได้ตามกฎหมายไทยในส่วนอื่นๆ”  อาจารย์พวงรัตน์ กล่าว

 

เวทมนตร์ คาถาของสงคราม

เดือนหน้า จายแลงใส จะพาตัวเองเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนแรงงานตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่อนปรนให้คนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม สามารถยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (name list) ต่อกรมการจัดหางาน                

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า หลังดำเนินการตามขั้นตอน แรงงานกลุ่มนี้สามารถทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อ ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด แรงงานจะได้รับอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

ระหว่างทำงานในฐานะแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ชีวิตของเด็กหนุ่มวัย 17 ไม่ได้แตกต่างไปจากคนวัยเดียวกัน เขาฟังเพลงฮิปฮอปของ ILLSLICK เล่นเกมในสมาร์ทโฟน สิ่งที่แตกต่างคือความไม่ปกติในบ้านเกิด การเมืองเนรเทศเขาออกมาจากบ้านราวกับเจ้าชายในเทพนิยาย เวทมนตร์คาถาของสงครามเสกให้เขากลายเป็นเด็กหนุ่มอายุ 17 ไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่มีคนรัก อย่างน้อยก็ในเวลานี้

ที่บ้านของเขายังคงมีพ่อ แม่ พี่ชาย น้องสาว และหลาน อาศัยอยู่บ้านที่มีแต่โครงสร้าง ไม่มีผนัง หน้าต่าง ประตู เป็นบ้านที่กำลังสร้าง ไม่มีกำหนดเสร็จสิ้น

“บ้านของเขาเป็นบ้านที่ไม่เคยสร้างเสร็จเลยครับ” จ๋ายจอมแลง เล่าถึงบ้านของน้องชายที่เมืองกึ๋ง ค้นหารูปบ้านหลังนี้ในสมาร์ทโฟน ยื่นให้ดู “ระหว่างสร้างบ้านหลังนี้ พวกเขานอนในโรงครัว บ้านของพวกเขาไม่เคยถูกสร้างให้เป็นที่อยู่ถาวร เป็นบ้านที่พร้อมจะจากไปได้ตลอดครับ”

  

หมายเหตุ:

  • ต้องเนรเทศ มาจากชื่อหนังสือเล่มสุดท้ายของ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนผู้มีผลงานทั้งนวนิยาย สารคดี บทกวี และบทเพลง หลังจากการรัฐประหารในปี 2557 ชื่อของวัฒน์เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ คสช.ออกคำสั่งเรียกให้ไปรายงานตัว แต่เขาเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ ก่อนจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยพำนักที่ประเทศฝรั่งเศส วัฒน์เสียชีวิตที่ดินแดนอันห่างไกลจากบ้านของตนเอง
  • ข้อเขียนชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Thomson Reuters Foundation

 

เอกสารประกอบการเขียน:

  • ศิรดา เขมานิฎฐาไท. (2564). สถานการณ์แรงงานข้ามชาติและการข้ามพรมแดนในช่วงการระบาดของโควิด-19, 56.
  • รวีพร ดอกไม้. (2565). 'เพื่อนข้างบ้าน' เสวนาโต๊ะกลมวันผู้ลี้ภัยโลก 2565. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565, 
  • พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์. Development of Thai Mechanisms to Manage Migrants and Refugees by Puangrat Patomsirirak. สืบค้นเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565


Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

BIMSTEC คืออะไร ทำไมใครๆ ไม่อยากให้ มิน อ่อง หลาย ผู้นำพม่าเข้าร่วม?

แผ่นดินไหวพม่าอาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของวิกฤติสงครามกลางเมือง

ประชากรเกาหลีใต้อาจเหลือครึ่งเดียวในอีก 60 ปี? เกาหลีใต้วางแผนรับผู้อพยพพม่า เพื่อแก้ปัญหาประชากรลด

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ในพม่า ของขวัญเล็กๆ จากมหามิตรรัสเซีย ที่อาจสั่นสะเทือนแผนพลังงานทั้งภูมิภาค

จากเล่าก์ก่ายถึง ชเว โก๊กโก่ แผนจัดระเบียบชายแดนพม่า ‘สันติภาพที่จัดการได้’ ตามแบบฉบับจีน

LATEST

+
morebutton read more

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat