Humberger Menu

พัฒนาการ ‘หมอลำ’ 5 ยุค จากการแสดงพื้นบ้าน สู่ยุคออนไลน์ที่มีแฟนคลับ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Culture

20 ส.ค. 65

creator
วิทย์ บุญ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • การระบาดของโควิด-19 ส่งผลรุนแรงกับคณะหมอลำ ต้องงดทำการแสดงในบางช่วง ทำให้คนในวงการหมอลำต้องตกงานจำนวนมาก
  • เริ่มมีการแสดงหมอลำออนไลน์ เพื่อสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ การสร้างกลุ่มปิด จำหน่ายบัตร และแสดงผ่านการไลฟ์สดทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็พบคณะหมอลำที่ไม่สามารถปรับตัวได้ต้องเลิกกิจการไปจำนวนมาก

...


จากรายงานฉบับสมบูรณ์ 'หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน' โดย 'ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง' และคณะ, ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0, สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), เมษายน 2565 ที่ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของหมอลำเรื่องต่อกลอน และผลกระทบทางเศรษฐกิจและการจ้างงานของธุรกิจหมอลำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้


พัฒนาการของหมอลำในแต่ละยุค


งานวิจัยชิ้นนี้แบ่งยุคของหมอลำได้ 5 ยุค 

ยุคแรก: พัฒนาจากหมอลำพื้นสู่หมอลำหมู่ ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 

“หมอลำพื้น” เป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสานประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม มีการแปรเปลี่ยนและปรับปรุงรูปแบบการแสดงมาอย่างต่อเนื่องนับจากอดีต มีรูปแบบต้นกำเนิดมาจากการเล่าเรื่องด้วยการยกเอานิทาน หรือตำนานวรรณกรรมพื้นบ้าน รวมถึงคติสอนใจทางศาสนาซึ่งให้ความหมาย และที่เรียกหมอลำประเภทนี้ว่า "ลำพื้น" ก็มาจากเนื้อหาของการลำที่เน้นถ่ายทอดเรื่องราวพื้นบ้าน ซึ่งมิใช่การแสดงบนพื้นบ้านหรือพื้นดินดังที่เข้าใจกัน 

รูปแบบการแสดงของหมอลำพื้นจะมีเอกลักษณ์เฉพาะคือมีหมอลำเพียง 1 คน และหมอแคน 1 คน แต่สามารถแสดงได้ทุกบทบาท ผู้ลำจะต้องมีความเชี่ยวชาญปฏิภาณไหวพริบ สามารถจดจำกลอนลำได้ทั้งเรื่องเพื่อใช้ลำ และสามารถใช้ท่วงทำนองลำและลีลาการแสดงสะกดผู้ฟังให้นั่งฟังได้ตลอดทั้งคืน 

ในสมัยก่อน หมอลำพื้นยังไม่มีรูปแบบการแสดงบนเวที หมอลำจำเป็นต้องแสดงบนพื้นดิน และอาศัยแสงสว่างจากการจุดขี้ไต้ หรือชาวอีสานเรียกขี้กะบอง และได้ถูกพัฒนามาเป็นตะเกียงและไฟแสงสีในปัจจุบัน โดยยังไม่มีรูปแบบการว่าจ้างและรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน 

สำหรับจุดกำเนิดของหมอลำพื้น ยังไม่ปรากฏยืนยันชัดเจนว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่จากข้อมูลที่ผู้ให้ข้อมูลหลักระบุไว้ ชี้ว่าหมอลำพื้นที่มีชื่อเสียงและเป็นสำนักครูหมอลำที่มีอายุยาวนานที่สุดนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 แล้ว


ยุคที่สอง: หมอลำหมู่ของชาวอีสาน ช่วงปี พ.ศ. 2500-2515 

เมื่อความนิยมและพฤติกรรมของผู้ฟังเปลี่ยนไปอันเกิดจากกระแสการพัฒนา และการเข้ามาของวิทยุและโทรทัศน์ในพื้นที่ภาคอีสาน ส่งผลให้หมอลำพื้นได้พัฒนาและปรับรูปแบบการแสดงใหม่และท่วงทำนองลำ โดยประยุกต์เอาดนตรีพื้นบ้านเข้ามาผสมผสานให้เกิดจังหวะสนุกสนานยิ่งขึ้น เช่น กลองยาว รำมะนา ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น

ในยุคนี้หมอลำเริ่มได้รับความนิยม เพราะส่วนหนึ่งเกิดจากในชุมชนชนบทของชาวอีสานยังไม่มีไฟฟ้าและยังไม่มีโทรทัศน์ใช้ ดังนั้นกิจกรรมบันเทิงที่ชาวบ้านตั้งตารอคอยในงานบุญประจำปีก็คือการแสดงหมอลำ มีการปรับรูปแบบการแสดงจากการลำเพียง 1 คน พัฒนาเพิ่มจำนวนคนมาเป็น 3-5 คน เพื่อให้เข้าถึงบทบาทการแสดงซึ่งประกอบไปด้วย ตัวพระ ตัวนาง ตัวร้ายหรือตัวโกง และตัวตลก แต่ก็ถือว่ายังไม่ครอบคลุมครบตามตัวละครในเรื่อง ทั้งนี้การแสดงหมอลำที่มีนักแสดงจำนวนมากขึ้น ชาวบ้านในชุมชนอีสานส่วนใหญ่จึงเรียกหมอลำในยุคปรับปรุงใหม่ว่า "หมอลำหมู่"

ส่วนรูปแบบการจ้างเป็นการจ้างมาทำการแสดงมหรสพในงานบุญประเพณี โดยกลุ่มผู้ชมส่วนใหญ่ จะเป็นคนในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง 

จุดเปลี่ยนของหมอลำในยุคนี้เกิดจากการพัฒนาองค์ประกอบ และการอำนวยความสะดวกของหมอลำ ผนวกกับการเริ่มมีการแข่งขันด้านการประกวดหมอลำรูปแบบต่างๆ ในภาคอีสาน จึงส่งผลให้กลุ่มนายทุนเล็งเห็นช่องทางในการเพิ่มฐานเศรษฐกิจที่เกิดจากทุนทางวัฒนธรรมทางด้านหมอลำในยุคถัดไป


ยุคที่สาม: กระแสและอิทธิพลกระบวนการพัฒนาของหมอลำหมู่ ช่วงปี พ.ศ. 2516-2535  

เมื่อหมอลำหมู่เริ่มได้รับความนิยมทำให้กลุ่มนายทุนเล็งเห็นช่องทางในการเพิ่มการประชาสัมพันธ์และการขายให้กับผลิตภัณฑ์สินค้า จึงมีการร่วมมือกันระหว่างวงหมอลำและกลุ่มนายทุนในรูปแบบที่กลุ่มนายทุนลงทุนในการจัดตั้งสำนักงานเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อประสานงานระหว่างเจ้าภาพผู้ว่าจ้างและวงหมอลำ 

การแสดงของหมอลำเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ในการขายผลิตภัณฑ์สินค้าเป็นการตอบแทน ผลิตภัณฑ์ในการประชาสัมพันธ์ยุคนั้น ส่วนมากเป็นยาสามัญประจำบ้าน ตัวอย่างเช่น ยาทัมใจ ยาอมโบตัน เป็นต้น

นอกจากนี้ การรับอิทธิพลของกระแสเพลงลูกทุ่งในยุคนี้ ทำให้วงหมอลำทบทวนและหาวิธีคิดในการพัฒนาวงหมอลำให้เท่าเทียมและเป็นที่ยอมรับเสมือนกับวงดนตรีลูกทุ่ง จึงมีการเต้นโชว์ การขับร้องโดยใช้เพลงลูกทุ่งระหว่างช่วงของการลำ เพิ่มจังหวะลำเดินในทำนองที่ใกล้เคียงกับเพลงลูกทุ่ง มีการนำเอาเครื่องดนตรีสากลเข้ามาประยุกต์ใช้ในการให้จังหวะ เช่น กลองชุด แซกโซโฟน คีย์บอร์ด เป็นต้น หมอลำจึงเริ่มมีรูปแบบในการแสดงอย่างเป็นระบบโดยแบ่งเป็นช่วง ทั้งช่วงการโชว์วง ช่วงการแสดงประกอบเพลงลูกทุ่ง ช่วงตลก ช่วงลำเรื่อง ช่วงลำและช่วงการเดินกลอนลำ ด้านเวทีเริ่มมีการรับเหมางานจ้างวงหมอลำที่ครบวงจรพร้อมกับไฟ เสียง สี และเครื่องปั่นไฟที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสมาชิกในวงที่มากขึ้น ส่วนด้านการเดินทางเพื่อไปทำการแสดง จึงจำเป็นต้องมีรถขนของ รถสำหรับเดินทางของนักแสดงเพิ่มขึ้นทำให้เพิ่มจำนวนทุนในการลงทุนของหมอลำเพิ่มมากขึ้น และเกิดมีธุรกิจทางด้านหมอลำที่ขยายตัวใหญ่ขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสู่การพัฒนาวงหมอลำในภาคอีสาน


ยุคที่สี่: ยุคอุตสาหกรรม และการพัฒนาทางด้านธุรกิจ ช่วงปี พ.ศ. 2535-2559 

ยุคนี้มีกลุ่มนายทุนเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนหมอลำ และตั้งเป็นสำนักงานหมอลำอย่างเต็มตัว มีช่องรายการทีวีให้แสดงออกอากาศ รวมไปถึงช่องทางวิทยุกระจายเสียงที่ช่วยทั้งในรูปแบบการประชาสัมพันธ์วงหมอลำ มีการสร้างเวทีปูนคอนกรีตและรวมกลุ่มของสมาชิกในวงหมอลำต่างๆ โดยให้มีครูที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านทักษะการแสดง (เต้น) มาสอนให้กับสมาชิกของวงหมอลำต่างๆ และรูปแบบการแสดงอื่นๆ ของวงหมอลำจนหมอลำเป็นที่นิยมอีกครั้ง รวมทั้งเริ่มมีการประกวดหมอลำในรายการทีวีและพื้นที่สื่อต่างๆ ทำให้ศิลปินหมอลำเป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เกิดพื้นที่นำเสนอหมอลำบนพื้นที่สื่อสารมวลชนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

นอกจากนี้ กระแสของหมอลำเรื่องต่อกลอนในยุคนี้เป็นที่นิยมของผู้ชม อันเนื่องมาจากรูปแบบการพัฒนาที่ยิ่งใหญ่อลังการ ทั้งด้านชุดนักแสดง เวที ไฟ แสง สี เสียง ทั้งแนวคิดในการสื่อสารทางวัฒนธรรมที่สื่อผ่านผลงานและรูปแบบการแสดงที่น่าสนใจ ผนวกกับการลำเรื่องต่อกลอนที่เข้าถึงบทบาทอย่างลึกซึ้ง เช่น บทลำโศก บทนางร้าย บทตัวโกง เป็นต้น ทั้งยังมีการนำเสนอวรรณกรรมนิทานพื้นบ้านที่ทั้งมีการแต่งขึ้นใหม่ตามบริบทของสังคมสมัยนั้น และการนำวรรณกรรมที่มีอยู่แล้วมาปรับประยุกต์เป็นกลอนลำเรื่องเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ มีการโชว์คอนเสิร์ตเพลงลูกทุ่ง และการเต้ย (ขับร้องคั่นช่วงลำเรื่องเมื่อเปลี่ยนฉากลำ) โดยใช้เพลงลูกทุ่งหมอลำ 

ในยุคนี้ กลุ่มบริษัทนายทุนเข้ามามีบทบาทในการขอซื้อลิขสิทธิ์และยื่นข้อเสนอให้เข้าร่วมสัญญากับบริษัทเพื่อให้บันทึกเทปวิดีโอและบันทึกเสียงลงแผ่นซีดีเพิ่มการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง ประกอบกับการยื่นข้อตกลงในการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาวง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดซื้อเครื่องเสียงมอบให้วงหมอลำ หรือแม้กระทั่งการอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนายทุนเพื่อแลกกับลิขสิทธิ์การแสดง ดังนั้นวิดีโอและเสียงของการแสดงที่ถูกบันทึกในยุคนี้จึงตกเป็นลิขสิทธิ์ของกลุ่มนายทุนที่สามารถนำไปสร้างรายได้ต่อๆ ไป


ยุคที่ห้า ยุคหมอลำออนไลน์และการปรับตัวในยุคการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงปี พ.ศ. 2560-2564

ยุคนี้หมอลำออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในทุกช่วงอายุโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงาน การนำเสนอรูปแบบการแสดงในยุคนี้เกิดการนำเอาอัตลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวงมาเป็นจุดเด่นเพื่อให้เป็นที่สนใจสำหรับผู้ชมทั้งด้านของทำนองลำ การแสดงโชว์ทางวัฒนธรรม รูปแบบของการเต้ย และนำเสนอผ่านองค์ประกอบอื่นๆ 

ในยุคนี้กลุ่มนายทุนให้ความสนใจในการสื่อสารด้านการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าผ่านวงหมอลำเป็นจำนวนมากขึ้น ทั้งรูปแบบการประชาสัมพันธ์ด้านการติดสติกเกอร์ด้านข้างรถของทางวงหมอลำ การแต่งเพลงโชว์ผลิตภัณฑ์สินค้า การขึ้นป้ายไฟด้านข้างเวที การขึ้นวิดีโอประชาสัมพันธ์ผ่านจอ LED ของทางวงหมอลำในขณะที่มีการแสดง ด้านกระแสตอบรับของผู้ชมพบว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากเกิดการตั้งกลุ่มแฟนคลับของวงหมอลำ แฟนคลับของศิลปินต่างๆ มีการมอบมาลัยในรูปแบบออนไลน์ กลุ่มแฟนคลับมีทั้งในและต่างประเทศ เกิดการสนับสนุนหมอลำในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านที่พัก ด้านอาหาร การแต่งหน้าทำผม รวมถึงการแต่งชุดหมอลำ ล้วนแล้วแต่มีแฟนคลับช่วยในการอำนวยความสะดวกให้กับหมอลำ

ปรากฏการณ์จากแฟนคลับหมอลำที่เป็นจุดเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ รวมถึงทางด้านความถี่ ส่งผลให้มีการเดินสายติดตามศิลปินหรือวงหมอลำของผู้ชมมีการรับงานการแสดงที่ต่างพื้นที่ และการเดินทางเพื่อไปแสดงในจังหวัดต่างๆ ที่ต่างวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ กลาง ตะวันออก ของประเทศไทย รวมถึงการจัดกลุ่มเดินทางแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและทำการแสดงในต่างประเทศ เกิดธุรกิจการจ้างงานปิดวิกล้อมประตูสังกะสีเก็บบัตรเข้างานเพื่อรับชมการแสดงการรับเหมาพื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าทั้งในบริเวณงานและบริเวณโดยรอบงาน การแสดงหมอลำเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของหมอลำอีกพื้นที่หนึ่ง


โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับทางคณะหมอลำ จนกระทั่งต้องงดทำการแสดงไปบางช่วง ส่งผลให้สมาชิกในวงต่างตกงานจากผลกระทบดังกล่าว ดังนั้น จึงได้มีแนวทางในการแสดง 'หมอลำออนไลน์'

share


การปรับตัวของหมอลำเพื่อความอยู่รอดในสภาวการณ์การแพร่รระบาดของโควิด-19


นับแต่ปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือ "โควิด-19" ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับทางคณะหมอลำ จนกระทั่งต้องงดทำการแสดงไปบางช่วง ส่งผลให้สมาชิกในวงต่างตกงานจากผลกระทบดังกล่าว ดังนั้น จึงได้มีแนวทางในการแสดงหมอลำออนไลน์ การนำเสนอวิถีชีวิตหมอลำในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ การสร้างกลุ่มปิดจำหน่ายบัตรและแสดงผ่านการไลฟ์สดทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่

งานศึกษาชิ้นนี้ยังพบว่า ในกระแสความรุนแรงของผลกระทบอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หมอลำหลายคณะต้องเผชิญกับความท้าทายที่จะเอาตัวรอด หมอลำบางคณะสามารถที่จะไต่และฝ่าวิกฤติโควิดไปได้ ขณะที่หลายคณะต้องเผชิญกับความท้าทาย และปัญหาอุปสรรคนานัปการจนไม่อาจดำเนินธุรกิจต่อไปได้กระทั่งปิดตัวไป โดยงานศึกษาชิ้นนี้ได้วิเคราะห์ลักษณะการตื่นตัวของคณะหมอลำช่วงโควิด-19 ได้ 4 ลักษณะ คือ 

กลุ่ม A เป็นหมอลำวงขนาดใหญ่ที่มีทุน (ชื่อเสียง/เงิน) มั่นคง ที่มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ มีแนวคิดเชิงรุก (proactive) มีการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ และให้ความสำคัญกับการนำเสนอผ่านช่องทางดิจิทัล

กลุ่ม B เป็นหมอลำวงขนาดใหญ่ที่มีทุนมั่นคงแต่มีท่าทีค่อนข้างนิ่ง มองสถานการณ์และตอบสนองต่อสถานการณ์แบบเชิงรับ (passive) มีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ค่อนข้างน้อยหรือไม่สม่ำเสมอ

กลุ่ม C เป็นหมอลำวงขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่พยายามปรับตัว ถึงแม้อาจจะประสบปัญหาด้านทุนและกระแสความนิยมของผู้ชม แต่ก็พยายามยกระดับตัวเองให้ก้าวทันการแปรเปลี่ยน และมีการพยายามนำเอาดิจิทัลแพลตฟอร์มเข้ามาในการแสดง

กลุ่ม D เป็นหมอลำวงขนาดเล็ก ที่อยู่ท่ามกลางความท้าทายและการพัฒนาเพื่อยกระดับตนเอง อาจยังไม่เต็มที่เท่าที่ควร บางคณะค่อนข้างตั้งรับ (passive) และรอคอยความหวังในการทำการแสดงในรูปแบบเดิม ขณะที่บางคณะไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยปัจจัยต่างๆ จนได้ยกเลิกการดำเนินธุรกิจไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม หมอลำที่มีลักษณะที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็มิใช่จะคงอยู่ในกลุ่มนั้นตลอดไป ยังมีหมอลำบางคณะที่พยายามพัฒนาตนเองที่จะไต่ขึ้นไปในระดับที่สูงขึ้น แต่ด้วยปัจจัยดังที่กล่าวมาแล้วตอนต้นทำให้บางคณะอาจไม่สามารถไปถึงจุดสูงสุดได้และปิดตัวไปในที่สุด


เสนอภาครัฐ-ธุรกิจ ผลักดัน "มหานครแห่งหมอลำ" (City of Morlum)


งานวิจัยชิ้นนี้ได้เสนอข้อเสนอเชิงนโยบายไว้ว่าควรยกระดับให้หมอลำสามารถเป็นกลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์เพื่อสังคมและสืบสานมรดกของชาติที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลอีกหนึ่งประเภท เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้ประกอบการให้หันมาพัฒนาธุรกิจด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่เข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้น, ควรเปิดโอกาสให้คณะหมอลำสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินของภาครัฐหรือเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (ดอกเบี้ยต่ำ) สำหรับผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อลดภาระที่ผู้ประกอบการต้องไปพึ่งเงินกู้นอกระบบ

ควรมีองค์กร หรือจัดตั้งศูนย์ หรือพื้นที่สำหรับส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ไม่จัดสรรกำไร และสามารถรับเงินอุดหนุนจากรัฐได้ ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นการถ่ายทอดและบ่มเพาะศิลปินหมอลำมืออาชีพ ส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมหมอลำบันเทิง และส่งเสริมธุรกิจการออกแบบและการจัดการธุรกิจหมอลำแบบครบวงจร รวมถึงเป็นศูนย์ในการ up-skill และ re-skill อาชีพในอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม, นอกจากนี้ภาครัฐควรจับมือกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหมอลำและเครือข่ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องประกาศให้เมืองที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมให้เป็น "มหานครแห่งหมอลำ" (City of Morlum) เช่น ขอนแก่น-มหานครแห่งหมอลำ เป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยว การลงทุน การสร้างอาชีพ การพัฒนานวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม.


……

บทความนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง Knowledge Portal by OKMD x Thairath Plus ติดตามข้อมูลดีๆ ได้ ที่นี่ 


ดาวน์โหลดงานวิจัยนี้ฉบับเต็มได้ที่:

'หมอลำกับเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของคนอีสาน' [เล่ม 1] [เล่ม 2] (ผศ.ดร.ศิวาพร ฟองทอง และคณะ, ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0, สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), เมษายน 2565)



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

หมู่เขาสิพาหมอลำไปจ้วดจ้าด The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีที่พาหมอลำไปม่วนมาทั่วโลก

‘หมอลำ’ ความบันเทิงมูลค่าพันล้าน ที่ครั้งหนึ่งเคยถูกรัฐสั่งห้ามไม่ให้แสดง

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat