Humberger Menu

สถาบันเกอเธ่ฯ จัดแคมป์เยาวชน คัดนักเรียนจาก 6 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกิจกรรมเรียนภาษา และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Environment

25 ส.ค. 65

creator
สุพัตรา สุขสวัสดิ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังทวีความรุนแรงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภาวะโลกร้อนขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือฝกตกหนักแบบสุดขั้วเพิ่มขึ้น โดยล่าสุด คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนว่า หากทุกประเทศไม่เร่งด่วนหาทางแก้ไข ในไม่ช้า มนุษย์จะต้องเผชิญกับหายนะเกินกว่าคาดคิดจากภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวอย่างแน่นอน
  • เยอรมนี เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก เนื่องจากอดีตเคยได้รับผลกระทบของกัมมันตภาพรังสี จากเหตุการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ‘เชอร์โนบิล’ ระเบิดที่ประเทศยูเครน ทำให้รัฐบาลและประชาชนต่างเห็นชอบในการชูประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสหลักตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา จนจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมฝังอยู่ในดีเอ็นเอของทุกคน และมีการขนานนามจิตสำนึกนี้ว่า ‘ต่อมสำนึกเยอรมนี’
  • เยาวชนเป็นความหวังของอนาคต รัฐบาลเยอรมนีจึงมักสนับสนุนการแสดงออกด้านสิ่งแวดล้อมของเด็กและเยาวชน เช่น การออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวต้านโลกร้อนของ เกรียตา ทุนแบร์ย เยาวชนวัย 16 ปี (ขณะนั้น) จากประเทศสวีเดน โดยอดีตนายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล จนสร้างกระแสไปทั่วโลก
  • นอกจากสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย แผนกภาษา ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเยอรมัน ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมัน เพื่อส่งต่อความรู้ข้ามพรมแดนแล้ว ยังมีภารกิจในการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะการให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมกับเยาวชนด้วย

...


ท่ามกลางความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกต่างส่งสัญญาณเตือนให้ประชาชนร่วมกันเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อน ฝนตกหนักแบบสุดขั้ว น้ำท่วมฉับพลัน ขยะล้นเมือง และสภาพอากาศเป็นพิษ เนื่องจากในปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเราไม่หันมาใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเลวร้ายเกินกว่าคาดคิด ซึ่งสาเหตุหลักของปัญหา ก็มักมาจากการกระทำของมนุษย์นี่เอง 

ดังนั้น การปลูกจิตสำนึกและสร้างเสริมความรู้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน จึงควรต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กๆ เพราะเด็กหรือเยาวชนเป็นเมล็ดพันธุ์ที่พร้อมจะซึมซับทุกอย่างได้อย่างรวดเร็วและซึมลึกยาวนาน


แคมป์เยาวชน 6 ประเทศ ในโครงการ Netzwerk Klima ของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย

 

สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) ซึ่งเป็นสถาบันทางด้านวัฒนธรรมของเยอรมนี ประเทศที่ได้ชื่อว่าให้ความสำคัญกับการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก จึงริเริ่มโครงการ Netzwerk Klima หรือ ‘เครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมสำหรับเยาวชน’ ขึ้น โดยแผนกภาษา เพื่อส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมันแบบสหวิทยาการ และให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน เพื่อนำไปสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาควบคู่กันไป ด้วยการจัดแคมป์เยาวชนอายุ 16-18 ปี ที่คัดเลือกจากนักเรียนในโรงเรียนมัธยมศึกษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เมียนมา และเวียดนาม จำนวนทั้งสิ้น 24 คน มาร่วมเข้าชั้นเรียนภาษาเยอรมัน และทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียน ที่เขาหลัก อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา 

จึงนับว่า โครงการนี้มีประโยชน์กับเยาวชนทั้งในด้านของการพัฒนาภาษาเยอรมัน และการสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกต่อไปในอนาคตได้   


เยิร์ก คลินเนอร์

 มาร์คุส ชติเชล

 

โดยทั้งนี้ เยิร์ก คลินเนอร์ (Jorg Klinner) รองผู้อำนวยการแผนกภาษาเยอรมัน และ มาร์คุส ชติเชล (Markus Stichel) ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนความร่วมมือแห่งอนาคต (PASCH) ของสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมกันเปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นและสาระสำคัญของการจัดแคมป์เยาวชนครั้งนี้ ตามโครงการ Netzwerk Klima ไว้อย่างน่าสนใจ          


                                                                     

การจัดแคมป์เน้นเป้าหมายหลัก 3 ประการ : ส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมัน-ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน-ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เยิร์กอธิบายว่า “สถาบันเกอเธ่ฯ เป็นสถาบันทางด้านวัฒนธรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน แบ่งเป็น 2 แผนก คือ แผนกวัฒนธรรม และแผนกภาษา สำหรับแผนกภาษานั้น จะทำหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่การเรียนภาษาเยอรมันในประเทศต่างๆ ซึ่งก็จะมีภารกิจในการสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในระดับภูมิภาคด้วย 

“โดยเน้นเป้าหมายหลัก 3 ประการ หนึ่ง-ส่งเสริมการเรียนภาษาเยอรมัน, สอง-ให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชน เพราะเป็นประเด็นที่ทั่วโลก รวมทั้งเยอรมนี วิตกกังวลอย่างมาก และสาม-ทำให้เยาวชนได้มาพบปะกันแล้วเกิดความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

“นอกจากนั้น แผนกภาษาอยากทำให้การเรียนภาษาเยอรมันเป็นเรื่องง่ายและสนุก ก็เลยมีการนำเอาความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมาผสมผสานเป็นการเรียนแบบสหวิทยาการด้วย จนเกิดเป็นโครงการ Netzwerk Klima หรือเครือข่ายพิทักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพื่อคัดเลือกเด็กนักเรียนเอกภาษาเยอรมันจากโรงเรียนต่างๆ มาเข้าร่วมแคมป์เป็นเวลา 9 วัน โดยสถาบันเกอเธ่ฯ เป็นผู้ออกทุนให้ทั้งหมด ครั้งแรกจัดเมื่อปี 2563 แต่ปีที่แล้วไม่ได้จัด เนื่องจากสถานการณ์โควิด 


เยาวชนในแคมป์ร่วมชมการทำสวนในพื้นที่เมือง

 

“ส่วนในปีนี้ สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทางแผนกภาษาจึงจัดแคมป์ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้จะพิเศษกว่าครั้งแรก เนื่องจากเยาวชนที่มาร่วมโครงการไม่ได้เป็นเยาวชนจากประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังมีเยาวชนจากประเทศอื่นๆ อีก 5 ประเทศ รวมเป็น 6 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 24 คน ประกอบด้วย ไทย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, เมียนมา และเวียดนาม เข้าร่วมด้วย ซึ่งทุกคนที่ได้รับเลือกเข้ามา จะเป็นเยาวชนที่ส่งคลิปผลงานเกี่ยวกับปัญหาและวิธีแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศของตนเองมานำเสนอสถาบันเกอเธ่ฯ อย่างน่าสนใจ เช่น ปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด, ปัญหามลพิษในเมืองที่เกิดจากการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม หรือปัญหาน้ำเสียในโรงเรียนที่เกิดจากเศษอาหารต่างๆ ไม่มีการแยกทิ้ง

“ดังนั้น ทางสถาบันเกอเธ่ฯ จึงเชื่อว่า การจัดแคมป์เยาวชนนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยปลูกจิตสำนึกในการดูแลและปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกให้กับพวกเขาได้ไม่มากก็น้อย”


ชุมชนบ้านท่าดินแดงที่มีสภาพป่าชายเลนสมบูรณ์อย่างมาก

 

เหตุผลที่เลือกจัดแคมป์ที่เขาหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับความเสียหายจากคลื่นสึนามิถล่ม แต่ชาวบ้านได้ช่วยกันฟื้นฟูจนสภาพแวดล้อมสมบูรณ์ขึ้น จึงเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม

เยิร์กกล่าวเพิ่มเติมว่า “ส่วนเหตุผลที่เลือกจัดแคมป์ที่เขาหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เคยได้รับความเสียหายอย่างหนักจากคลื่นสึนามิถล่ม เมื่อ 18 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันชาวบ้านได้ช่วยกันฟื้นฟู จนสภาพสิ่งแวดล้อมกลับมาสวยงามและสมบูรณ์ขึ้น จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นสถานที่ที่เยาวชนจะได้มาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเรียนภาษาเยอรมันอย่างยิ่ง 

“ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนในพื้นที่เมือง, การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษในชุมชนบ้านท่าดินแดง, การอนุรักษ์ป่าชายเลนในคลองดินแดงเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ, การสัมผัสกับความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกลำปี, การอนุรักษ์เต่าในศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ฐานทัพเรือพังงา หรือการอนุรักษ์ทะเลด้วยการรณรงค์เก็บขยะและนำขยะกลับมารีไซเคิลใช้ใหม่ ซึ่งก็จะช่วยปลูกฝังและกระตุ้นให้เยาวชนที่มาร่วมแคมป์ในโครงการเกิดจิตสำนึกในการร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว”        


 เหล่าเยาวชนร่วมกันเก็บขยะริมทะเล หนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อม แล้วนำกลับมาคัดแยกและรีไซเคิลใหม่ เป็นกระถางปลูกต้นไม้ขนาดเล็ก

 

เยาวชนแบ่งปันความรู้กันอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโลกเดียวกัน แม้มาจากคนละประเทศ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก 

ส่วนมาร์คุสก็เปิดเผยถึงบรรยากาศในแคมป์ว่า “เด็กๆ สนุกสนานมาก มั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออก และอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เฉพาะในเนื้อหาอย่างเดียว แต่พร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านแลกเปลี่ยนภาษาและแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน รวมทั้งกระตือรือร้นในการเรียนรู้ศัพท์ใหม่ๆ จากการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รู้จักปรับตัวเข้าหากัน และช่วยเหลือกันในกิจกรรมที่ต้องปีนเขาเข้าป่า 

“นอกจากนั้น พวกเขายังมีการแบ่งปันความรู้กันอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโลกเดียวกัน แม้มาจากคนละประเทศ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก การได้แลกเปลี่ยนปัญหาซึ่งกันและกัน ก็จะช่วยเปิดมุมมองให้เด็กๆ คิดหาทางแก้ไขที่เป็นประโยชน์ได้”


เยาวชนร่วมชมวิธีปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ และสัมผัสความหลากหลายทางชีวภาพในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกลำปี

 

คาดหวังว่า เยาวชนจะได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันสนุกขึ้น พร้อมกับได้รับประสบการณ์จากการสัมผัสพื้นที่ที่มีการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม แล้วนำไปวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสรรค์วิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป

มาร์คุสได้กล่าวสรุปสั้นๆ ว่า “การจัดแคมป์เยาวชนครั้งนี้ ทางสถาบันเกอเธ่ฯ คาดหวังว่า เด็กๆ เยาวชนจะได้เรียนรู้ภาษาเยอรมันสนุกขึ้น พร้อมกับได้รับประสบการณ์จริงจากการสัมผัสพื้นที่ต่างๆ ที่มีการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม แล้วเกิดแรงบันดาลใจในการนำความรู้หรือประสบการณ์เหล่านั้นไปวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างสรรค์เป็นความคิดใหม่ๆ สำหรับแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไป ซึ่งเราก็มีการบ้านให้เด็กๆ ทำหลังจบแคมป์ด้วย คือให้นำเสนอวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของเขาส่งกลับมายังโครงการ เพื่อพวกเขาจะได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตอนนี้เลย”



ส่วนนักเรียนที่เข้าร่วมแคมป์เยาวชน ตามโครงการ Netzwerk Klima ครั้งนี้ จากการสังเกตการณ์ ทุกคนต่างมีความกระตือรือร้นในการเรียนภาษาเยอรมัน และสนุกกับการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยนักเรียนส่วนหนึ่งได้สะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศของเขา และความตั้งใจในการนำประสบการณ์จากในแคมป์กลับไปหาทางแก้ปัญหาอย่างน่าทึ่งทีเดียว เช่น พริมา มีลา จากโรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่, สตีเวน โพงน์ ตัน จ่อ (Steven Phone Than Kyaw) จากเมียนมา และ ลินตัง นีรมาละซารี (Lintang Nirmalasari G.M.) จากอินโดนีเซีย



เริ่มจากพริมาแสดงความคิดเห็นว่า “การมาเข้าแคมป์ครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้เห็นการฟื้นฟูและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่เขาหลักหลายอย่าง อย่างเช่น ที่ชุมชนบ้านท่าดินแดงมีการทำสวนผักไฮโดรโปนิกส์ปลอดสารพิษ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดินที่ถูกทำลายจากสึนามิ, การล่องเรือชมป่าชายเลนในคลองดินแดงที่ช่วยรักษาความสมดุลในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล หรือการช่วยกันเก็บขยะตามชายหาด เพื่อนำไปรีไซเคิลใช้ใหม่ ซึ่งสามารถจะนำไปปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนได้ โดยเฉพาะปัญหาขยะที่เกิดจากเศษอาหารไม่มีการแยกทิ้ง หรือการปล่อยน้ำล้างจานกับน้ำถูพื้นที่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ลงไปในท่อเดียวกัน ก็จะพยายามหาวิธีแก้ไขเพื่อนำไปเสนอกับโรงเรียนต่อไป”



ส่วนสตีเวนกล่าวถึงมุมมองของเขาว่า “ได้เรียนรู้หลายอย่างจากแคมป์นี้ สิ่งแรกเลยคือ เพิ่งรู้ว่าเราสามารถปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ ที่ไม่ต้องใช้ดินแต่ใช้น้ำแทนได้ แล้วก็รู้ว่ามีขยะหลายอย่างเอามารีไซเคิลใช้ใหม่ได้ ซึ่งคิดว่าจะนำเอาความรู้ที่ได้รับเหล่านี้ไปคิดหาทางต่อยอดแก้ปัญหาในเมียนมาดู อย่างเช่น เรื่องของการรีไซเคิลขยะ เพราะตอนนี้ที่เมียนมายังไม่มีโรงงานสำหรับรีไซเคิลเลย หรือการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมและร้านค้าต่างๆ แต่คงต้องเริ่มด้วยหน่วยเล็กๆ จากตัวเองหรือที่โรงเรียนก่อน เช่น การรณรงค์ไม่ทิ้งขยะ หรือแยกขยะก่อนนำไปทิ้ง”



และลินตังปิดท้ายความคิดเห็นว่า “ได้รับประสบการณ์หลากหลายจากการเข้าแคมป์ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ได้ไปเห็นตัวอย่างของชาวบ้านปลูกผักปลอดสารพิษเป็นอาชีพ ก็ทำให้อยากเอาไปทำที่บ้านบ้าง หรือนำไปเผยแพร่ในโรงเรียน นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมว่ามีความเชื่อมโยงกัน เช่น ถ้าเราดูแลรักษาป่าชายเลนให้ดี สิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความคิดในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนเหล่านี้ จะสามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่โครงการ Netzwerk Klima ทำให้พวกเขาได้ก้าวข้ามพรมแดนของภาษา ไปสู่การเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ เพื่อดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยศักยภาพตามวัย ก่อนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างเป็นรูปธรรม





Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat