เคราะห์ซ้ำกรรมซัดผู้เลี้ยงหมู โรค ASF ไม่ทันหาย ต้นทุนแพงเข้ามาแทรก และยังมี ‘หมูเถื่อน’ มาซ้ำเติม
...
Summary
- เคราะห์ซ้ำกรรมซัด คนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย เจอกับโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) เสียหายไปแล้วคนละหลายแสนหลายล้านบาท และในขณะที่ยังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ก็เจอกับปัญหาต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้นอีก เพราะการที่รัสเซียบุกยูเครนส่งผลให้วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้น ขณะที่ราคาหมูหน้าฟาร์มถูกตรึงไว้
- ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีปัญหาการแอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศเข้ามาขายในราคาถูก ซึ่งคนในวงการหมู และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบเรื่องมาระยะหนึ่งแล้ว มีการพูดคุยหารือ และออกตรวจจับกันมาก่อนหน้านี้
- แต่ทางฝั่งผู้เลี้ยงหมูเห็นว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐควรจะจริงจังและรวดเร็วกว่านั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงระดมสมาชิกมาจัดแถลงข่าวเพื่อเรียกร้อง-ทวงถามให้รัฐดำเนินการกวาดล้างเนื้อหมูเถื่อนอย่างจริงจังและรวดเร็ว
...
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด คนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทย
เจอกับโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) มาเป็นเวลาราว 3 ปี เสียหายไปแล้วคนละหลายแสนหลายล้านบาท ซึ่งความจริงเรื่องโรคระบาดเพิ่งเปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
จากนั้นก็มีความพยายามจัดการแก้ปัญหากัน ซึ่งต้องมีต้นทุนในการเลี้ยงและการจัดการฟาร์มสูงขึ้นเพื่อทำให้ฟาร์มมีมาตรฐานที่จะป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด
แต่ในขณะที่ยังแก้ปัญหาโรคระบาดไม่ได้ ก็เจอกับปัญหาต้นทุนการเลี้ยงหมูสูงขึ้นอีก เพราะการที่รัสเซียบุกยูเครน ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมให้วัตถุดิบอาหารสัตว์แพงขึ้น ซึ่งแม้ต้นทุนการผลิตแพง แต่ราคาหมูหน้าฟาร์มนั้นถูกตรึงไว้ตลอด เพราะหมูเป็นสินค้าควบคุม จึงต้องมีการควบคุมราคากันตั้งแต่ราคาหมูมีชีวิตที่ขายออกจากฟาร์ม
ไม่เพียงแค่นั้น ในระหว่างที่เผชิญทั้งสองปัญหาอยู่นั้น ก็ปรากฏว่า มีการแอบนำเข้าหมูจากต่างประเทศเข้ามาขายในราคาถูก ส่วนต่างราคาหมูนำเข้ากับราคาหมูในประเทศต่างกันมากกว่า 50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคนในวงการหมู และหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทราบเรื่องมาระยะหนึ่งแล้ว มีการพูดคุยหารือ และออกตรวจจับกันมาก่อนหน้านี้
แต่ทางฝั่งผู้เลี้ยงหมูเห็นว่าการแก้ปัญหาของภาครัฐควรจะจริงจังและรวดเร็วกว่านั้น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจึงระดมสมาชิกมาจัดแถลงข่าวเพื่อเรียกร้อง-ทวงถามให้รัฐดำเนินการกวาดล้างเนื้อหมูเถื่อนอย่างจริงจังและรวดเร็ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น
สุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเฝ้าสังเกตการกระทำผิดมาสักระยะหนึ่ง เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพยายามหาเบาะแสมาตลอด ในช่วงแรก การลักลอบนำเนื้อและชิ้นส่วนหมูเข้ามาจำหน่ายในประเทศยังมีจำนวนไม่มาก แต่ทุกวันนี้มีการทำตลาดกันอย่างเปิดเผย ที่ผ่านมาสมาคมฯ ก็วางใจที่กรมปศุสัตว์ออกมาตรวจและกวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงต้องแถลงข่าวให้ชัดเจนว่าจะสามารถร่วมมือกันแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรบ้าง
สุรชัยบอกว่า ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาด ASF เริ่มกลับมาเลี้ยงหมูขุนใหม่แล้วเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านตัว ก่อนผลผลิตออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จะปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรแบบนี้ต่อไปไม่ได้
“ปัจจุบันสถานการณ์โรคระบาดในสุกรเริ่มคลี่คลาย เราจะให้ฟาร์มที่กลับมาใหม่ต้องมาแข่งกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูไม่ได้”
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสะท้อนปัญหาต้นทุนการผลิตอีกว่า ภาวะต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มีซัพพลายน้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565 อยู่ประมาณ 98-101 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มนั้นต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ
“ดังนั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยเลยก็ว่าได้ จึงต้องจัดแถลงข่าวเพื่อหาวิธีที่เข้มงวดจากภาครัฐและเอกชนในการกำจัดขบวนการดังกล่าว”
นิพัทธ์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรีกล่าวว่า การประกอบอาชีพเลี้ยงสุกรไม่ง่าย ต้องดูแลสุขภาพสุกรที่นับวันต้องเข้มงวดเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันโรคระบาดต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน การเลี้ยงสุกรในภาคตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานราชการด้วยดี
การลักลอบนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศ เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดูแลและฟื้นฟูการเลี้ยงหมูในประเทศ ถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังอาจเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในประเทศอีก เพราะไทยเริ่มคุม ASF ได้แล้ว แต่เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นเป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ซึ่งตามรายงานข่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่า มีการระบาดของ ASF ที่เยอรมนี ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่ประเทศต้นทางต้องการทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ
“หากปล่อยให้อยู่ในระบบ ก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้งซัพพลายส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อการแพร่เชื้อได้ตลอดเวลา จึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด”
“ผู้เลี้ยงรายกลางกับรายย่อยสูญเงินลงทุนไปแล้วระลอกหนึ่ง การจะกลับมาเลี้ยงอีกระลอกใหม่จะต้องมั่นใจว่าจะสามารถกลับมาได้ ประเมิน ณ เวลาที่ผ่านมา บางคนยังรอวัคซีนป้องกันโรค บางคนรอยารักษา บางคนกำลังป้องกันระบบการเลี้ยงใหม่ คาดว่าสิ้นปีนี้กราฟจะสูงขึ้น ถ้าไม่มีการลักลอบนำเนื้อหมูเข้ามาทำให้ตลาดเสียหายกว่านี้”
“ฝากไปถึงภาครัฐ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดในสายเศรษฐกิจการเกษตรให้ดูแล วันนี้เห็นภาพชัดเจนว่าหมูเถื่อนกระจายอยู่ทั่วประเทศ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ หมูลักลอบนำเข้าราคา 130 บาท กับหมูในประเทศราคา 180 บาท ส่วนต่าง 1 ตู้ 1 ล้านบาท 1 เดือน 1,000 ตู้ เป็น 1,000 ล้านบาท แล้วที่ผ่านมา 4-5 เดือน ส่วนต่าง 4,000-5,000 ล้านบาท อยู่ที่ใคร ผู้เลี้ยงเห็นจริง ประสบปัญหาจริง แล้วความมั่นใจของผู้เลี้ยงจะกลับมาหรือไม่ ถ้ายังมีการลักลอบและมีโรคระบาดเข้ามาเสริมมากขึ้น” นิพัทธ์กล่าว
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งข้อสังเกตว่าเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาต่ำกว่าราคาในบ้านเรามาก ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ในไทยแพงกว่าต่างประเทศอยู่เล็กน้อย โดยในไทยยังราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนในต่างประเทศ รวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ขณะที่ข้าวสาลีเริ่มราคาลดลงเล็กน้อย ดังนั้น เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้า หรือที่ตลาดเรียกหมูกล่องมีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ ASF ทั้งหมด
“หมูกล่องที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เป็นเสมือนระเบิดเวลาของประเทศที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหาร ก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลว่า ไวรัสไม่ติดต่อสู่คนมาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่อง เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”
สิทธิพันธุ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงตอนนี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร่วมกันจัดสัมมนาสัญจร ‘หลังเว้นวรรค…เตรียมความพร้อมอย่างไร?.. ให้ปลอดภัย ASF’ ใน 10 จังหวัด ตั้งแต่อีสานเหนือจนถึงอีสานใต้ มีผู้เลี้ยงหมูที่หยุดเลี้ยงและสนใจจะกลับมาเลี้ยงใหม่เข้าร่วมสัมมนาอย่างหนาแน่นทุกครั้ง ตอนนี้สามารถประเมินได้ว่ามีเกษตรกรที่หยุดเลี้ยงไปเพราะโรค ASF กลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ว่าภาระต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน
ส่วนปัญหาเนื้อหมูลักลอบนำเข้า พบว่าภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบนำเข้ามากเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายเชื้อในเนื้อหมูมากเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงระลอกใหม่
“สำหรับแนวทางแก้ไข ผมเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน การจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริงถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดง ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือกล่าว
สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือกล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัวต่อวัน และมีการนำเข้าซากสุกรเชือดแล้วจากพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 70-100 ตันต่อวัน แต่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการนำเข้าสุกรเข้ามาภาคเหนือเพิ่มขึ้น 160-170 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มขายออกจากฟาร์มช้าลง 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว
“มีผู้เลี้ยงกลับเข้ามาขุนหมูเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตยังไม่มาก ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอบริโภคในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อหมูลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ภาครัฐต้องรีบกำจัดเนื้อหมูผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด”
ด้านนายสัตวแพทย์ประภาส ภิญโญชีพ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่า ในกระบวนการปกติของกรมปศุสัตว์มีมาตรการการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ เช่น เนื้อโค สุกร สัตว์ปีก โดยดูว่าประเทศต้นทางที่จะนำเข้ามีการเกิดโรคระบาดที่กรมปศุสัตว์ห้ามและจะส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือไม่ ต้องมีการประเมินความเสี่ยงของประเทศที่จะนำเข้า และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบภายในประเทศ
กระบวนการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ตามกฎหมายจะต้องขออนุญาตจากกรมปศุสัตว์ทั้งหมด เมื่อกรมปศุสัตว์อนุญาตให้นำเข้าแล้วจึงผ่านกระบวนการศุลกากรซึ่งดูแลการนำเข้าสินค้าทั้งหมด
การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ตามปกติ กรมปศุสัตว์มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมวิชาการเกษตรที่มีด่านกักกันพืช กรมประมงที่มีด่านกักกันสัตว์น้ำ กรมปศุสัตว์ที่มีด่านกักกันสัตว์ รวมถึงประสานข้ามหน่วยงานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่มีด่านกักกันสัตว์ป่า และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่มีกองด่านอาหารและยา
กรณีปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่พบนั้น เป็นการอาศัยช่องโหว่ในการหลบเลี่ยงกฎหมาย โดยการสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ต้องผ่านการตรวจและการอนุญาตของกรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานกำกับดูแลใดๆ แล้วเข้าสู่กระบวนการศุลกากรได้เลย เมื่อสำแดงเป็นสินค้าที่ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรง จึงอาจจะเล็ดลอดผ่านการสุ่มตรวจของศุลกากรเข้ามาได้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาหลังจากนี้ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์บอกว่า กรมปศุสัตว์และกรมศุลกากร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ว่าสินค้าจากประเทศไหนเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยง จะต้องวางมาตรการใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม จากเดิมที่มีการสุ่มตรวจก็อาจจะต้องเปิดตรวจทุกตู้
ส่วนการตรวจและจับกุมเนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาสำเร็จแล้ว กรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสหกรณ์แห่งชาติได้ทำงานประสานกันมาตลด ทางสมาคมฯ ได้ส่งข้อมูลให้กรม ส่วนกรมปศุสัตว์มีชุดเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาทำงานเพื่อป้องกันการลักลอบโดยเฉพาะ มีการสืบค้นทางโซเชียลมีเดียเพื่อหาแหล่งจำหน่าย และมีการจับกุม ซึ่งจะดำเนินการต่อไป
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- เปิดหลักฐานยืนยัน หมูตายด้วยโรค ‘อหิวาต์แอฟริกาในสุกร’ กับข้อสงสัยกรมปศุสัตว์ปกปิดความจริง
- รู้จัก ‘อุตสาหกรรมหมูไทย’ ในวันที่หมูแพ้งแพง หรือต้องเปิดทางให้ ‘หมูโลก’ เข้ามา?
- เหตุผล 2 ข้อ ปิดข่าวหมูป่วย ASF เพื่ออะไร พบข้อมูล บริษัทใหญ่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ไทยไม่เปิดความจริง
- 7 วันหลังเปิดหลักฐานหมูติดเชื้อ ASF กรมปศุสัตว์-ภาครัฐ แถลงอะไรออกมาแล้วบ้าง
- ASF กระทบการส่งออกหมูมากแค่ไหน อีกกี่ปีไทยจะพ้นสถานภาพ ‘ประเทศโรคระบาด’
- เหตุผลที่เราไม่สามารถ “สร้างหมูใหม่ขึ้นมา” ได้ง่ายๆ อย่างที่นายกฯ บอก
- ลุยตรวจห้องเย็น รายงานสต๊อกหมูเยอะๆ หน่วย ‘กิโลกรัม’ สะท้อนเจตนาเบี่ยงเบนสาเหตุหมูแพง
- หมูถูกลงเพราะรัฐบีบให้ระบายสต๊อก เมื่อขายออกหมดห้องเย็น ราคาจะแพงอีก หรือจะ (แอบ) นำเข้า ซ้ำเติมคนเลี้ยง?
- ผู้เลี้ยงหมูจะฟื้นกลับมาได้ไหม? โรค ASF ไม่ทันหาย เจออาหารสัตว์แพงซ้ำเติม
