อมร ทรัพย์ทวีกุล มองอนาคต EA และอนาคตประเทศไทย ในห้วงเวลาแห่งการช่วงชิงความเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า
...
LATEST
Summary
- ในวันที่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เป็นเทรนด์ เป็นจุดหมายปลายทางที่ทั้งโลกจะมุ่งไป ชื่อของ EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถูกสปอตไลท์ส่องในฐานะผู้นำบริษัทพลังงานสะอาด และผู้เล่นคนสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
- EA เร่ิมต้นจากการทำไบโอดีเซล ก่อนจะทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานลม ผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดนี้ EA เป็นเจ้าแรกๆ ที่เข้าไปทำในทุกธุรกิจ และตอนนี้เป็นบริษัทแรกที่ทำธุรกิจครบทั้งวงจรของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า
- ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย EA และอีกหลายๆ บริษัทในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าก็มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมาย ความฝัน ความหวังนี้ จะเป็นจริงได้อย่างไร มีอะไรเป็นจุดแข็ง มีอะไรเป็นจุดอ่อน ไทยรัฐพลัสชวน อมร ทรัพย์ทวีกุล รองซีอีโอของ EA มาให้ความเห็น และพาเรามองไปยังอนาคตอันไม่ไกลของ EA และประเทศไทย
...
ในวันที่ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี เป็นเทรนด์ เป็นจุดหมายปลายทางที่ทั้งโลกจะมุ่งไป ชื่อของ EA หรือ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ถูกสปอตไลท์ส่องในฐานะผู้นำของธุรกิจพลังงานสะอาด และผู้เล่นคนสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย
‘เทสลาเมืองไทย’ คือฉายาของ EA ในวันนี้
ขณะที่ สมโภชน์ อาหุนัย ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ถูกขนานนามว่าเป็น ‘อีลอน มัสก์ เมืองไทย’
ถ้าย้อนไปเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน เราอาจจะไม่คุ้นชื่อ และถึงคั้นก็อาจจะไม่ได้คิดว่าบริษัทผลิตไบโอดีเซลจะเติบโตและขยายธุรกิจออกไปมากมายขนาดนี้ แต่ถ้าได้ฟังเรื่องราวของ EA จะเห็นว่าพวกเขาค่อนข้างมั่นใจในทุกก้าวย่างที่เริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก่อนคนอื่น
EA เริ่มต้นจากการทำไบโอดีเซลในยุคที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันการนำไบโอดีเซลมาผสมในน้ำมันดีเซล พอเติบโตถึงจุดหนึ่ง ก็มีคู่แข่งเข้ามาเยอะ การแข่งขันสูงขึ้นในขณะที่ตลาดโตเต็มที่จนอิ่มตัวแล้ว
พวกเขาจึงหาทางกระจายความเสี่ยง เริ่มมองหาธุรกิจอื่นที่จะทำให้บริษัทโตขึ้นได้อีก และธุรกิจที่พวกเขามองเห็นคือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อทำแล้วเติบโตดี ก็มีคู่แข่งเข้ามาเป็นร้อยราย ทำให้การแข่งขันยากขึ้น
EA ต้องหนีตัวเองเพื่อหาทางเติบโตต่อ โดยการทำโรงไฟฟ้าพลังงานลม ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ที่ทำในยุคที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
ขณะที่กำลังรุ่งโรจน์กับธุรกิจโรงไฟฟ้า EA ก็พบจุดอ่อนว่า โรงไฟฟ้าที่ควรจะเสถียร กลับไม่เสถียร เพราะเมื่อผลิตไฟฟ้าเยอะ ส่งกระแสไฟฟ้าเยอะ ทำให้ระบบสายส่งเริ่มมีปัญหา ส่วนด้านการผลิตก็ไม่สามารถกะเกณฑ์ฝนฟ้าอากาศได้ ซึ่งนั่นจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตในระยะยาว EA จึงมองหาสิ่งที่จะมาแก้จุดอ่อนนี้ นั่นก็คือ energy storage หรือ แบตเตอรี่ โดยเข้าไปลงทุนในบริษัท อมิตา (Amita Technologies Inc.) ในไต้หวัน
ระหว่างศึกษาพัฒนาแบตเตอรี่ ก็พบว่าแบตเตอรี่ที่กำลังทำนั้นเป็นส่วนประกอบสำคัญในยานยนต์ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นเทรนด์แห่งอนาคต EA จึงทำแบตเตอรี่ทั้งสำหรับใช้กับโรงไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้า แล้วก็ไปถึงขั้นผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และทำสถานีชาร์จไฟฟ้า จนปัจจุบันกลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจครบทั้งวงจรของห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า
นั่นคือเส้นทางการเติบโตของ EA คร่าวๆ ที่ผู้บริหาร EA เล่าให้ไทยรัฐพลัสฟัง
ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของเอเชีย EA และอีกหลายๆ บริษัทในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าก็มองไปยังเป้าหมายเดียวกัน
เป้าหมาย ความฝัน ความหวังนี้ จะเป็นจริงได้อย่างไร ประเทศไทยมีอะไรเป็นจุดเด่นที่ทำให้เรามีโอกาส และมีอะไรเป็นความท้าทาย หรือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้เราอาจจะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไทยรัฐพลัสชวน อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มาพูดคุย ให้ความเห็น และพาเรามองไปยังอนาคตอันไม่ไกลของ EA และประเทศไทย
EA ทำอะไรก็เป็นสิ่งที่ใหม่กว่าตลาดตลอด มีปัญหาความยากในการหาเงินทุนไหม
โดยธรรมชาติเวลาเราทำอะไรที่ใหม่ ซึ่งมันยังไม่มีข้อมูลเชิงสถิติย้อนหลังยาวๆ เพื่อให้ผู้ปล่อยกู้เกิดความมั่นใจ การที่จะไปหาเงินกู้นั้นคุยยากแน่นอนเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนปล่อยกู้เขาไม่แน่ใจว่าตลาดจะเป็นอย่างไร ธุรกิจจะโตไหม เพียงแต่ว่า EA มีฐานธุรกิจเดิมที่ค่อนข้างแข็งแรง เรามีเงินที่เราสร้างได้ในแต่ละปีค่อนข้างเยอะ ซึ่งก็พอจะเป็นฐานทำให้สถาบันการเงินเชื่อในระดับหนึ่ง และกล้าที่จะปล่อยเงินออกมา
แต่ก็ต้องบอกว่า เวลาเราเริ่มอะไรใหม่ เราก็ไม่ได้ต้องการเงินทุนมากนัก อาจจะเป็นหลายร้อยล้านบาท หรืออาจจะแค่พันล้านบาท เพราะฉะนั้นเงินอาจจะยังไม่ได้เป็นจุดที่ทำให้เราเกิดความยากลำบาก แต่แน่นอน มันจะมีจังหวะที่เราต้องขยาย แต่ตลาดยังไม่พัฒนาเร็วพอ สถาบันการเงินอาจจะยังไม่เชื่อมั่นถึงจุดที่เขากล้าปล่อย ฉะนั้นเราต้องมีการวางแผนการเงินกันค่อนข้างดี และใช้เครื่องมือทางการเงินเข้ามาช่วยเพื่อประคองตัวไป รอจนเวลาที่ตลาดพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินมากพอ
EA ได้ประโยชน์จากนโยบายต่างๆ ของรัฐ แล้วการที่อิงกับนโยบายภาครัฐมาก มันมีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ธุรกิจที่อิงกับนโยบายรัฐ แน่นอนข้อดีของมันคือ พอรัฐประกาศนโยบายออกมา มันสร้างดีมานด์ขึ้นมาทันที โดยที่เราไม่ต้องไปพัฒนาตลาดเอง ประหยัดเวลา แต่ข้อเสียคือมันจะโตอยู่เท่านั้น เช่น นโยบายไบโอดีเซลผสม 10 เปอร์เซ็นต์ มันก็จะมีดีมานด์อยู่เท่านี้ วันนี้เราใช้ดีเซลสักประมาณ 60 ล้านลิตรต่อวัน แปลว่าก็จะมีความต้องการอยู่แค่นั้น เราไม่สามารถโปรโมตเพื่อทำให้ยอดขายไบโอดีเซลเกินวันละ 6 ล้านลิตรได้ มันมีข้อดีและข้อเสีย
รถยนต์ไฟฟ้าก็เหมือนกัน ถ้าเรายึดตัวเลข 30@30 ที่รัฐประกาศ คือภายในปี 2030 รัฐมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ ทุกคนก็มองเป็นโอกาสว่ามันมีดีมานด์อยู่เท่านี้ แต่ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ ยังมีตลาดต่างประเทศ ซึ่งเราสามารถไปทำมาร์เก็ตติง และไปเอามาร์เก็ตแชร์จากประเทศเหล่านั้นได้ ฉะนั้น สิ่งที่ EA ต้องรีบทำในวันนี้คือ พยายามจะมองหาโอกาสและตลาดที่มันเหมาะกับเรา แล้วรีบลงไปพัฒนา
การที่ EA ทำรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง เห็นโอกาสขนาดไหน หรือมองเป็นโชว์เคส
ตอนแรกเรามองโรงไฟฟ้าเป็นหลัก แต่พอเราเริ่มพัฒนาแบตเตอรี่ เราก็มองเห็นว่าตลาดรถยนต์มันมาเร็วกว่านั้น เราก็เริ่มคิดว่าในระหว่างที่รอให้ตลาดโรงไฟฟ้าพัฒนาไปให้คนยอมรับ เราก็สามารถเอาสินค้าของเราไปพัฒนาให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่งเรามองเห็นโอกาสว่ามันพอมีช่องว่างให้ผู้เล่นเล็กๆ อย่างเราได้แทรกตัวเข้าไป โดยเฉพาะตลาดรถยนต์เชิงพาณิชย์ ซึ่งยังไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจมากนัก เรามองเห็นว่าด้วยจุดแข็งของ EA คือเรามีแบตเตอรี่ที่สามารถชาร์จได้เร็ว มันเป็นจุดแข็งที่เหมาะกับรถเชิงพาณิชย์ เพราะรถที่ให้น้ำหนักและให้คุณค่ากับเรื่องการชาร์จเร็วจะเป็นรถเชิงพาณิชย์ที่ต้องวิ่งตลอดเวลา และระยะทางที่วิ่งค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นเราก็เลยมองเห็นโอกาสว่า ด้วยองค์ความรู้ที่เรามี ด้วยจุดแข็งของสินค้าของเรา มันน่าจะเหมาะกับตลาดที่เป็นเชิงพาณิชย์
เราก็เริ่มพัฒนาสินค้าของเรา ไม่ว่าจะเป็นรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเรือไฟฟ้า ซึ่งเราต่อยอดทำเรือไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ในเชิงเทคโนโลยีว่า เรือไฟฟ้าซึ่งใช้แบตเตอรี่เยอะมาก เราก็สามารถทำได้ เป็นที่มาที่เราเริ่มต่อยอดทำเรื่องโรงประกอบยานยนต์ไฟฟ้า ขยายสถานีชาร์จไฟฟ้า เพื่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร วันนี้ EA เป็นเบอร์ 1 เรื่องสถานีชาร์จ เราเป็นคนแรกที่ติดตั้งสถานีชาร์จในประเทศไทย วันนี้ก็เป็นเรื่องดีที่เริ่มมีบริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทกระโดดลงมาในอุตสาหกรรมนี้ เป็นการช่วยกันขยายเน็ตเวิร์กของสถานีชาร์จให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ขับไปที่ไหนก็สามารถหาสถานีชาร์จได้ เดี๋ยวพอเราสามารถทำแอปพลิเคชันที่รวบรวมเน็ตเวิร์กของทุกค่ายมารวมกันได้ มันจะทำให้ผู้บริโภคใช้งานง่ายขึ้น ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนก็เสิร์ชหาได้
พอมีหลายๆ คนเข้ามาแข่งขัน ผลประโยชน์ตกที่ผู้บริโภค และพอมันเกิดดีมานด์ ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป
สถานีชาร์จมีมาร์เก็ตแชร์มากถึง 70 เปอร์เซ็นต์?
วันนี้เรามีอยู่ประมาณ 500 จุดทั่วประเทศ ติดตั้งหัวชาร์จไปแล้วน่าจะ 2,000 กว่าหัว มาร์เก็ตแชร์ 70 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณครับ ด้วยความที่เราโหมทำก่อนคนอื่น แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา มีหลายๆ บริษัทให้ความสนใจและกระโดดลงมาในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่ดี สุดท้ายผมเชื่อว่ามาร์เก็ตแชร์ของเราจะน้อยลง แต่เรื่องที่ดีก็คือ มันจะทำให้เน็ตเวิร์กสถานีชาร์จของประเทศไทยเติบโตและแข็งแรงเร็วขึ้น ถ้าเราทำอยู่คนเดียวมันก็คงไปช้า แต่ถ้ามีหลายๆ คนมาช่วยกันทำ ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่มีเน็ตเวิร์กของสถานีชาร์จแข็งแรง และอาจจะล้ำหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
คุณมองบวกนะ บางบริษัทอาจจะมองว่าเป็นโอกาสที่ยังไม่มีคู่แข่งเข้ามาเยอะ
ผมมองว่าตลาดตรงนี้ค่อนข้างใหม่และใหญ่ การที่ EA ทำคนเดียวมันคงต้องใช้เวลานานมาก ซึ่งพอมันใช้เวลานาน กว่าที่เราจะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคได้ โอกาสมันเลยไปแล้ว ผมมองเป็นเรื่องดี ก็คือช่วยกันทำ พอระบบเน็ตเวิร์กของสถานีชาร์จในประเทศไทยแข็งแรง ผู้บริโภคก็เชื่อมั่น ความกล้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมากขึ้น มันจะทำให้ดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโตเร็วขึ้น พอดีมานด์มันโตเร็วขึ้น EA ซึ่งอยู่ในธุรกิจนี้ตั้งแต่แบตเตอรี่มาจนถึงโรงประกอบ เราจะได้อานิสงส์ในทุกๆ ห่วงโซ่ของตัวธุรกิจนี้ ผมก็เลยไม่เคยมองว่าการที่มีผู้เล่นรายอื่นเข้ามาทำสถานีชาร์จแข่งกับเรามันเป็นเรื่องเชิงลบกับเรา
ผมว่าพอมีหลายๆ คนเข้ามาแข่งขัน ผลประโยชน์ตกที่ผู้บริโภค และพอมันเกิดดีมานด์ ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็มีโอกาสที่จะยังอยู่ในประเทศไทยต่อไป อันนี้เป็นโจทย์หนึ่งซึ่งทั้งรัฐบาลและเอกชนให้ความสำคัญว่าจะทำยังไงให้ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังอยู่ในประเทศไทย เพราะอย่าลืมว่าที่ผ่านมาเราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันที่ใหญ่ประมาณอันดับ 10 อันดับ 11 ของโลก และในแต่ละปีเราสร้างรายได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งมันใหญ่มาก มีบริษัทมีคนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เยอะมาก บุคลากรอาจจะ 800,000-900,000 คน ลองนึกภาพว่าถ้าอุตสาหกรรมนี้ไม่อยู่ในประเทศไทย มันจะกระทบกับประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ถ้าเรายังรักษาตรงนี้ไว้ได้ มันก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในเรื่องการจ้างงาน มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อทดแทนธุรกิจเก่าๆ ที่ต้องหายไปบ้าง ซึ่งก็จะมีมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศเราในอนาคต
ที่ผ่านมาเราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันที่ใหญ่ประมาณอันดับ 10 อันดับ 11 ของโลก และในแต่ละปีเราสร้างรายได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ซึ่งมันใหญ่มาก มีบริษัทมีคนอยู่ในอุตสาหกรรมนี้เยอะมาก บุคลากรอาจจะ 800,000-900,000 คน ลองนึกภาพว่าถ้าอุตสาหกรรมนี้ไม่อยู่ในประเทศไทย มันจะกระทบกับประเทศไทยค่อนข้างเยอะ
ผมว่ารัฐบาลมองเห็นแล้วว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส คือ เป็นโอกาสที่เราจะต่อยอดอุตสาหกรรมของเรา แต่เป็นความท้าทายคือ ถ้าเราไม่สามารถรักษาให้มันอยู่ในประเทศไทยได้ ประเทศไทยก็จะลำบาก วันนี้เอกชนกับรัฐบาลมองเห็นร่วมกันแล้ว และพยายามจะขับเคลื่อนในการจะผลักดันนโยบายสนับสนุนต่างๆ ออกมาเพื่อจูงใจให้เกิดอุปสงค์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผลักดันให้เกิดโรงงานลิเธียมแบตเตอรี่ในประเทศไทย ผลักดันให้สถานีชาร์จในประเทศไทยมีมากพอและครอบคลุมทั่วประเทศ
นี่คือสิ่งที่รัฐบาลตั้งโจทย์และกำหนดเป้าหมายว่าเราจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 นี่เป็นเป้าที่ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาส ซึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นตัวเลขที่ใหญ่พอที่จะทำให้เกิดการลงทุนในระยะนี้ ซึ่งพอเอกชนมองเห็นความชัดเจนนี้ เอกชนก็จะเริ่มเกิดความมั่นใจ ทั้งค่ายรถที่เคยลงทุนในประเทศไทย และยังไม่เคยมาลงทุนในประเทศไทย ก็เริ่มมองเห็นประเทศไทยเป็นตัวเลือกหนึ่งที่เขาจะพิจารณาตัดสินใจว่าฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของเขาจะอยู่ที่ไหน
วันนี้ทั้งเอกชนและรัฐบาลต้องเร่งผลักดันเรื่องกฎระเบียบ หรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งแน่นอน มันเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพราะฉะนั้น กฎระเบียบที่เมื่อก่อนเราเคยสร้างขึ้นมาเพื่อรถยนต์แบบหนึ่ง วันนี้ต้องมีการเอามาปรับปรุง อาจไม่ถึงขนาดต้องรื้อใหม่ทั้งหมด แต่คงต้องพยายามปรับปรุงเพื่อให้มันสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไป เอกชนก็ต้องช่วยสะท้อนทั้งโอกาสและปัญหา ในฐานะที่เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้
ผมว่าวันนี้บรรยากาศค่อนข้างดี แต่แน่นอนทุกประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซียกับเวียดนาม เขาก็อยากจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ จะเห็นว่าเขาพยายามผลักดันหลายอย่าง อย่างอินโดนีเซีย เขาชูเรื่องที่เขามีเหมืองแร่นิเกิลค่อนข้างเยอะ ซึ่งแร่นิเกิลมันเป็นแร่ตัวหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ ส่วนเวียดนามก็มีนโยบายที่ค่อนข้าง aggressive ที่จะทำยังไงก็ได้ให้เขาสามารถที่จะแซงประเทศไทยได้
เราเป็นเบอร์ 1 มานาน 30-40 ปีมานี้เราคือเบอร์ 1 ของอาเซียนในเรื่องการผลิตรถยนต์ อินโดนีเซียกับเวียดนามเขาก็มองเราเป็นเป้าหมายที่เขาจะแซงให้ได้ ซึ่งเราเองก็ต้องวิ่งแข่งกับคนอื่น ไม่ใช่แค่ว่าเราทำตัวให้น่าสนใจในวันนี้ แต่เราต้องมองคู่แข่งด้วยว่าเขาทำอะไรอยู่ แล้วเราจะวิ่งเร็วกว่าเขาได้อย่างไร ผมว่าอันนี้เป็นความท้าทาย ซึ่งบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย เราก็ต้องพยายามช่วยกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
เราเป็นเบอร์ 1 มานาน 30-40 ปีมานี้เราคือเบอร์ 1 ของอาเซียนในเรื่องการผลิตรถยนต์ อินโดนีเซียกับเวียดนามเขาก็มองเราเป็นเป้าหมายที่เขาจะแซงให้ได้ ซึ่งเราเองก็ต้องวิ่งแข่งกับคนอื่น ไม่ใช่แค่ว่าเราทำตัวให้น่าสนใจในวันนี้ แต่เราต้องมองคู่แข่งด้วยว่าเขาทำอะไรอยู่ แล้วเราจะวิ่งเร็วกว่าเขาได้อย่างไร
ได้เสนออะไรไปแล้วบ้าง
มีการพูดกันหลายเรื่อง เป็นการตกผลึกร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับเอกชนที่อยากจะกระตุ้นดีมานด์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเร็ว จากนี้ไปคงมีนโยบายที่ออกมาส่งเสริมอีกสองเรื่องใหญ่ๆ ก็คือเรื่องโรงงานผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ กับสถานีชาร์จ
แบตเตอรี่เป็นชิ้นส่วนที่สำคัญที่สุดในรถยนต์ไฟฟ้า เพราะมันเป็นชิ้นส่วนที่มีมูลค่ามากที่สุด ในรถยนต์ไฟฟ้า 1 คัน มูลค่าประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์คือแบตเตอรี่ เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องทำยังไงก็ได้ให้เกิดโรงงานผลิตลิเธียมแบตเตอรี่ในประเทศไทยที่ใหญ่พอ ซึ่งวันนี้นอกจาก EA แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยก็มีการประกาศออกมาแล้วว่าจะทำโรงงานลิเธียมแบตเตอรี่ในประเทศไทย
ผมว่าถ้าเราสามารถทำให้ลิเธียมแบตเตอรี่อยู่ในประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางได้ มันจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมาเต็มเลย พอเรามี volume ที่ใหญ่พอแล้วเขาจะมาลงทุนในประเทศไทย มันจะเกิดการลงทุน เกิดการจ้างงาน อันนี้มันก็ดีกับจีดีพีของประเทศ ส่วนสถานีชาร์จมันเป็นเน็ตเวิร์กที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค รัฐบาลก็มีการมาศึกษาร่วมกับเอกชนแล้วว่าต้องเร่งการกระจายสถานีชาร์จให้มากขึ้น
จากมาตรการสนับสนุนที่ออกมา EA ได้รับอานิสงส์ มีบริษัทรถยนต์มาให้ผลิตแบตเตอรี่ให้เยอะไหม
ต้องเรียนว่าเพิ่งเป็นการเริ่มต้นพูดคุย ค่ายรถหลายแบรนด์ก็มาว่าจ้างอยากให้เราผลิตให้ เขาอาจจะมองว่าด้วยปริมาณการขายของเขาในช่วงสามสี่ปีนี้ อาจจะไม่ได้มี volume ใหญ่พอที่เขาจะคุ้มค่าที่จะมาสร้างโรงงานแบตเตอรี่เอง
เป้าหมายที่เคยบอกว่าจะทำโรงงาน energy storage ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ต้องใหญ่ขนาดไหน คืบหน้าอย่างไร
อาจจะไม่ได้บอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก แต่เป้าหมายของเราในวันที่เริ่มจะทำอุตสาหกรรมคือ เรามองว่าจะต้องไปให้ถึงสัก 50 GWh แต่คงไม่ใช่ซัพพลายที่จะป้อนตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว มีตลาดโรงไฟฟ้าด้วย เรามองว่าในอนาคต โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม ซึ่งมีการติดตั้ง energy storage เพื่อให้การจ่ายไฟเสถียรขึ้น มันน่าจะมีอัตราการเติบโตสูง ด้วยเหตุปัจจัยมาจากการที่ทั้งโลกให้ความสำคัญเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดคืออุตสาหกรรมพลังงาน
นั่นคือเหตุผลว่าทำไมวันนั้นเรามองที่ 50 GWh ซึ่งตอนที่เราประกาศมันใหญ่มาก มันดูเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ถ้าเราดูพัฒนาการที่ผ่านมาสามสี่ปี หลายๆ ประเทศที่เริ่มประกาศจะสร้างโรงงานลิเธียมแบตเตอรี่ ส่วนใหญ่ก็ขนาดประมาณนี้ เป็นเรื่องปกติแล้ว 50 GWh ไม่ได้ใหญ่ถ้าเทียบกับตลาดของโรงไฟฟ้า ซึ่งวันนี้ตลาดโรงไฟฟ้ายังไม่ได้พัฒนาไปจนถึงจุดที่โตมากนัก แต่เราต้องคาดการณ์อนาคต ถึงแม้สุดท้ายจะได้สร้างหรือไม่ได้สร้างก็ต้องเตรียมพื้นที่ไว้ก่อน ถ้าสุดท้ายตลาดมันโตอย่างที่เราคิดจริง แล้วประเทศไทยเราแข็งแรง ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เรายังมีการส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เป้าหมาย 50 GWh ก็เป็นไปได้
เป้าปีนี้ของ EA ตั้งไว้อย่างไรบ้าง
ปีนี้เราหวังว่าเราจะเติบโตจากรถยนต์ไฟฟ้า ปลายปีที่แล้วเราเริ่มส่งมอบรถยนต์รถบัสไฟฟ้าให้ลูกค้าได้ประมาณ 120 คัน ปีนี้เราหวังว่าจะสามารถส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รวมๆ 2,000 คัน แต่ถ้าเราสามารถเร่งให้ได้มากกว่านั้น เราก็คงพยายามจะเร่ง ตอนนี้เริ่มมียอดส่งมอบในไตรมาส 3 สัก 800-1,000 คัน
เราเชื่อว่าในโลกยุคปัจจุบัน ถ้าเราไม่สามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่ใส่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค มันก็ยากที่จะโต ซึ่ง EA เราชินแล้วกับการที่จะกระโดดไปทำอะไรใหม่ๆ ชินแล้วกับการที่จะมีนวัตกรรมเข้ามาในสินค้าและบริการ เราก็ปักธงว่าจะโตแบบนี้ต่อไป
เป้าหมายระยะไกลกับระยะใกล้ของ EA วางไว้อย่างไรบ้าง
ถ้าโดยรวม เป้าไกลหน่อยเรายังอยากเป็นบริษัทที่เติบโตด้วยนวัตกรรม จะเห็นว่าที่ผ่านมาทุกครั้งที่ EA โต เรามีเรื่องนวัตกรรมเข้ามาตลอด และเราเชื่อว่าในโลกยุคปัจจุบัน ถ้าเราไม่สามารถสร้างสินค้าหรือบริการที่ใส่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค มันก็ยากที่จะโต ซึ่ง EA เราชินแล้วกับการที่จะกระโดดไปทำอะไรใหม่ๆ ชินแล้วกับการที่จะมีนวัตกรรมเข้ามาในสินค้าและบริการ เราก็ปักธงว่าจะโตแบบนี้ต่อไป
นอกจากนั้น สิ่งหนึ่งที่เราอยากทำก็คือ อยากกลับมาสร้างโอกาสให้กับคนอื่นในสังคม เราเป็นบริษัทที่อยู่ในประเทศไทย ถ้าถึงวันหนึ่งเราโตจนแข็งแรงพอแล้ว มันเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องทำให้สังคมแข็งแรง เราอยากสร้างโอกาสหรือต่อยอดให้บริษัทต่างๆ ในประเทศไทย หรือหน่วยงานการวิจัยต่างๆ ที่จะผลิตหรือคิดค้นนวัตกรรมอะไรก็แล้วแต่มาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ผมว่ามันจะดีกับประเทศในระยะยาว และผมเชื่อว่า การที่เราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศนี้ ถ้าประเทศนี้โต ยังไงเราก็ได้ประโยชน์ เราคงไม่อยากเห็นตัวเองโตในขณะที่ประเทศไม่โต เพราะสุดท้ายในระยะยาวเราเองก็ไม่น่าจะอยู่ได้
แต่ถ้าถอยมานิดหนึ่ง เป็นภาพระยะกลาง เราต้องพยายาม deliver สิ่งที่เราสร้างหลายๆ โครงการให้ออกมาให้เป็นรูปธรรมให้ได้ โรงแบตเตอรี่เราก็มีเป้าหมายชัดเจน เราอยากจะขยายไปที่ 50 GWh อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เราก็ต้องการทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับและมีการใช้อย่างแพร่หลาย และเราจะเอาโมเดลนี้ขยายไปยังต่างประเทศ สินค้าหลายๆ ตัวของเราที่เราเพิ่งเริ่มพัฒนาและเริ่มสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าใหม่ๆ จากน้ำมันปาล์มก็มีอนาคต Biojet Fuel (น้ำมันเครื่องบินชีวภาพ) ก็เป็นตลาดหนึ่งที่มีโอกาสเติบโต ซึ่งประเทศไทยมีการปลูกปาล์มเยอะ เรามีต้นทุนที่ดี แล้วเราจะทำยังไงให้ต่อยอดเกิดเป็นเศรษฐกิจในประเทศไทย แล้วต่อยอดไปถึงการส่งออก ซึ่งถ้าเราสามารถเอาน้ำมันปาล์มมาผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ ได้ เราก็สามารถแบ่งปันผลประโยชน์บางส่วนกลับไปให้เกษตรกร กลับไปให้โรงหีบ เพื่อให้เขามีรายได้ มีกำไรที่ดีขึ้น นี่คือภาพของ EA ที่เราอยากจะเป็นในช่วงสักห้าปีขึ้นไป
ตั้งเป้าจะใหญ่ระดับโลกเลยไหม
แน่นอน เราต้องฝัน และในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ถ้าเราสามารถทำสิ่งที่เราวางไว้ให้บรรลุได้ดี ผมว่ามันมีโอกาส แต่ก็อยู่ที่ตัวเราด้วย และอยู่ที่จังหวะโอกาสด้วยว่าเราจะวิ่งเร็วพอไหม เราจะสามารถพัฒนาและต่อยอดสิ่งที่เรามีให้มันดีและเร็วพอที่จะเอาชนะคู่แข่งได้หรือเปล่า วันนี้ EA ก็เริ่มมองการออกนอกประเทศมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นระดับภูมิภาคอยู่แล้ว ในภูมิภาคอาเซียนเราส่งออกด้วยภาษี 0 เปอร์เซ็นต์
แล้วสำหรับประเทศไทย เรื่องเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คุณมองว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นจริงไหม มีความท้าทายอะไรบ้างที่เราต้องระมัดระวัง ต้องดูเป็นพิเศษ
ต้องบอกว่าด้วยโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทย ผมว่าเรามีความพร้อมอยู่แล้ว เรามีบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ เพราะว่าเราทำอุตสาหกรรมรถยนต์มายาวนาน เรามีองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น เรามีสิ่งอำนวยความสะดวก เรามีโรงงานในอุตสาหกรรมรถยนต์เต็มไปหมด ถึงแม้รถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์น้ำมันอาจจะมีองค์ประกอบที่ต่างกัน แต่มันไม่ได้ต่างกันทั้งหมด มันมีทั้งส่วนที่เหมือนกันกับส่วนที่ต่างกัน ฉะนั้นส่วนที่เหมือนกันเราก็มีพื้นฐานรองรับอยู่แล้ว เรามีประสบการณ์ เรามีเน็ตเวิร์กเกี่ยวกับอุตสาหกรรมนี้มายาวนานและมากพอ เรามีกำลังซื้อ ถ้าเทียบกับอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ต้องถือว่าเรายังมีกำลังซื้อที่ดีกว่าเขา
ประเทศไทยเรามีโครงสร้างพื้นฐานเรื่องระบบสายส่งไฟฟ้าที่ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน เรามีปริมาณไฟสำรองที่เหลืออยู่เยอะพอที่จะรองรับการเติบโตของการใช้ไฟจากอุตสาหกรรมจากรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุปัจจัยพวกนี้ มันบอกว่าเราพร้อมอยู่แล้วที่จะลงไปเป็นผู้ท้าชิงคนหนึ่ง แน่นอนแต่ละประเทศก็มีจุดแข็งของตัวเอง วันนี้ต้องบอกว่าเรามีองค์ประกอบที่ได้เปรียบคนอื่นเยอะ แต่คงไม่ใช่ทุกเรื่อง
ด้วยความที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์น้ำมันมาก่อน เพราะฉะนั้น บางทีมันก็จะมีแรงต้านว่าถ้าเราจะเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยเร็ว แล้วอุตสาหกรรมเดิมจะไปอย่างไร แน่นอน เราไม่อยากเห็นการล้มหายไปของอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่อการเกิดอุตสาหกรรมหนึ่ง ดีที่สุดที่เราอยากจะเห็นก็คือ อุตสาหกรรมหนึ่งค่อยๆ ชะลอตัวลง ในขณะที่อุตสาหกรรมหนึ่งก็เติบโตขึ้นมาเพื่อสอดรับ เพื่อทำให้ผลกระทบมันน้อยที่สุด
ถามว่าแล้วเราจะทำยังไง แล้วเรามีอุปสรรคอะไรในการที่เราจะก้าวขึ้นไปเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก็ต้องบอกว่าด้วยความที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์น้ำมันมาก่อน เพราะฉะนั้น บางทีมันก็จะมีแรงต้านว่าถ้าเราจะเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยเร็ว แล้วอุตสาหกรรมเดิมจะไปอย่างไร แน่นอน เราไม่อยากเห็นการล้มหายไปของอุตสาหกรรมหนึ่งเพื่อการเกิดอุตสาหกรรมหนึ่ง ดีที่สุดที่เราอยากจะเห็นก็คือ อุตสาหกรรมหนึ่งค่อยๆ ชะลอตัวลง ในขณะที่อุตสาหกรรมหนึ่งก็เติบโตขึ้นมาเพื่อสอดรับ เพื่อทำให้ผลกระทบมันน้อยที่สุด
อันนี้คือความยาก ในขณะที่ประเทศอื่นบางประเทศเขาอาจจะไม่มีโรงงานรถยนต์ด้วยซ้ำ เขาอาจจะง่ายกว่าเราในมุมนี้ ก็คือโปรโมตอย่างเดียวเลย ของไทยด้วยความที่เราเป็นฐานเดิมของรถยนต์น้ำมัน อยู่ดีๆ จะบอกว่าปิดประตูรถยนต์น้ำมัน ไม่ต้องผลิตเลย แล้วหันมาโปรโมตอีวีอย่างเดียว มันไม่ได้ เพราะว่าอุตสาหกรรมเดิมก็ยังสร้างรายได้ และยังสามารถจะเติบโตต่อไปได้ในตลาดส่งออกบางประเทศ ฉะนั้นเรายังต้อง maintain (ประคับประคอง) มันอยู่
ผมว่าเป็นความท้าทาย และเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราอาจจะพลาดได้ถ้าเราบริหารไม่ดีพอ ความหมายของคำว่าบริหารไม่ดีพอคือ เราอาจจะไม่สามารถสร้างสมดุลเพื่อทำให้อีวีโตได้เร็วพอ เพราะบางทีการที่เราประวิงบางนโยบาย มันอาจจะเป็นการไปดึงเพื่อชะลอการเติบโตของตลาด ซึ่งพอเราทำอย่างนี้ อาจจะมีตลาดอื่นที่โตแซงเรา ผู้ผลิตรถยนต์เขาอาจจะมองประเทศอื่นเป็นตัวเลือกมากกว่าเราได้ อันนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลและเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันค่อนข้างเยอะ เพื่อที่จะทำให้อุตสาหกรรมเดิมคือรถยนต์น้ำมัน ยังเดินต่อไปได้ แล้วอีวีก็ยังโต และโตในเวลาที่เหมาะสมด้วย
เรื่องนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาในธุรกิจแบตเตอรี่ของ EA ตอนนี้ใช้คนไทยเป็นสัดส่วนประมาณเท่าไร หรือส่วนใหญ่ยังเป็นคนไต้หวันที่มากับบริษัทอมิตา
ถ้าเฉพาะแบตเตอรี่ยังเป็นคนไต้หวัน โดยที่เราก็พยายามสร้างทีมคนไทยให้มีส่วนร่วมมากขึ้น เพราะเราต้องการที่จะให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้เหล่านี้ รวมไปถึงการสร้างบุคลากรในรุ่นถัดไป ก็คือเราไปร่วมมือกับภาคการศึกษาว่าเราจะปรับปรุงหลักสูตรการศึกษายังไง เพื่อให้สามารถสร้างคนที่มีองค์ความรู้พอที่จะมาทำงานในสายการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ อันนี้เราทำมาหลายปีแล้ว
ในส่วนผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม เราใช้สถาบันการวิจัยในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการวิจัย ก็มีการไปร่วมมือในหลายๆ หน่วยงานเพื่อผลักดันและต่อยอดว่าเราจะทำยังไงที่จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงจากน้ำมันปาล์มได้ อนาคตเราคงต่อยอดไปในสินค้าเกษตรตัวอื่น ผมคิดว่าประเทศไทยเรามีพืชเกษตรหลายตัวซึ่งมีศักยภาพที่จะต่อยอดได้ และเราก็คงค่อยๆ ขยายให้กว้างมากขึ้น
นโยบาย BCG ของรัฐบาลตอนนี้มีอุปสรรคอะไรที่ทำให้มันยังนิ่งๆ เป็นเรื่องสเกลยังไม่ได้ หรือว่าเรื่องอะไรบ้าง
ผมว่าสเกลก็เป็นตัวหนึ่งที่มันอาจจะยังไม่ใหญ่พอที่จะเกิด economy of scale (ความประหยัดจากขนาดหรือปริมาณการผลิตที่ใหญ่) แต่ผมว่าตัวหนึ่งที่มีผลเยอะและอาจจะทำให้ชะลอการเติบโตก็คือ เรื่องต้นทุน โดยส่วนใหญ่สินค้าหรือบริการที่อยู่ใน BCG ยังมีต้นทุนแพงกว่าสินค้าแบบดั้งเดิม แล้วเราจะจูงใจให้ผู้บริโภคใช้ได้อย่างไร ก็มีอยู่ทางเดียวคือรัฐต้องจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาให้ราคาของสินค้าหรือบริการถูกลง หรืออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับของเดิม
ที่ผ่านมา อาจจะด้วยจังหวะที่มีโควิด-19 เกิดขึ้น แล้วรัฐต้องหมุนเงินไปเรื่องสาธารณสุขค่อนข้างเยอะ และรายได้ของประเทศก็หายไปเยอะ เพราะฉะนั้นเม็ดเงินที่จะลงมาสนับสนุน BCG ยังไม่ได้เยอะพอ ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าเรื่อง BCG ส่วนใหญ่ก็จะเป็นบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีการพูดกัน แต่มันยังไม่ได้สร้างให้เกิดเป็นระบบนิเวศ BCG ที่ครบวงจร ซึ่งมันต้องใช้เวลา แต่ในจังหวะที่เราเริ่มก็เจอแรงกระแทกเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา
ผมคิดว่าโดยพื้นฐานประเทศไทยเราเหมาะอยู่แล้ว เพราะเราเป็นประเทศเกษตรกรรมเป็นหลัก เรามีโปรดักต์ มีวัตถุดิบพร้อมที่จะต่อยอด แต่ว่าเราจะต้องนำวัตถุดิบ หรือองค์ความรู้ หรืองานวิจัย มาทำให้เกิดเป็นธุรกิจได้จริงๆ และต้องขยายสเกลให้ได้ในเวลาที่เร็วพอ เพราะว่าความรู้มันไปเร็ว วันนี้เราอาจจะมีแต้มต่ออยู่ แต่ผ่านไปสักสองสามปีแต้มต่อนี้อาจจะหายไปแล้ว เพราะมันมีองค์ความรู้ใหม่ หรือมีคนที่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ที่เหมือนเราได้ แล้วเขาขยายสเกลได้ก่อน สิ่งที่ตามมาก็คือเขากลายเป็นฮับ ซัพพลายเชนทั้งหลายก็จะวิ่งไปอยู่ตรงนั้น เพราะแน่นอน ทุกคนดูว่าตรงไหนมีดีมานด์ ตรงไหนตลาดโต เขาก็ต้องวิ่งไปเพื่อลดต้นทุนการขนส่งของเขา พอมันโดนแย่งไปแล้ว การที่เราจะถีบตัวเองขึ้นมาเป็นฮับที่สองมันก็ยาก
