อาเซียน คือฐานการลงทุนใหม่ เมื่อไต้หวันหวังลดการพึ่งพาจีน
...
LATEST
Summary
- นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน พยายามจะลดการพึ่งพาจีนลง และพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลไต้หวันจึงมีนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ที่เป็นโครงการส่งเสริมให้เอกชนหาแหล่งลงทุนใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่นๆ นอกจากจีน พร้อมกันนั้นยังส่งเสริมให้เอกชนที่ลงทุนในจีนถอนฐานการลงทุนย้ายกลับประเทศ และมีนโยบายช่วยเหลือบริษัทในด้านต่างๆ
- ข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ล่าสุดยืนยันได้ว่า ไต้หวันลดการพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมถอนทุนกลับประเทศ และหาฐานการผลิตใหม่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจ หรือมากกว่า 3 ใน 4 เห็นว่า ไต้หวันจำเป็นต้อง ‘ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่’ ในขณะที่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และมากกว่าครึ่งกำลังพิจารณาจะย้ายฐานการผลิตออกจากแผ่นดินใหญ่ และยังพบว่า มากกว่า 1 ใน 4 หรือราว 25.7% ของบริษัทที่ตอบแบบสำรวจได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว
...
ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สร้างความกังวลและความกดดันให้กับทั่วโลก ทั้งในแง่การเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในหลายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการขนส่งที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก
แม้จะมีความขัดแย้งระหว่างกันมาอย่างยาวนาน แต่ข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ได้ว่าทั้งจีน และไต้หวันก็ยังคงทำการค้าระหว่างกัน พึ่งพากันทางเศรษฐกิจ และการลงทุนเรื่อยมา
นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมาที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ของไต้หวัน พยายามจะลดการพึ่งพาจีนลง และพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลไต้หวันจึงมีนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ที่เป็นโครงการส่งเสริมให้เอกชนหาแหล่งลงทุนใหม่ และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนของไต้หวันกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่นๆ นอกจากจีน
พร้อมกันนั้นยังส่งเสริมให้เอกชนที่ลงทุนในจีนถอนฐานการลงทุนย้ายกลับประเทศ และมีนโยบายช่วยเหลือบริษัทในด้านต่างๆ
การค้าระหว่างจีน (ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง) และไต้หวัน
- ปี 2021 มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 273,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกไปจีนคิดเป็น 42.3% ของการส่งออกของไต้หวัน
- ปี 2021 การลงทุนของไต้หวันสะสมในจีนมีมูลค่าเกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปี 2020 มีชาวไต้หวันประมาณ 240,000 คนทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่
จนถึงตอนนี้ทิศทางแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตการลงทุนออกจากจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และข้อมูลจากการสำรวจของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ล่าสุดนี้ยืนยันได้ว่า ไต้หวันลดการพึ่งพาจีนมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมถอนทุนกลับประเทศ และหาฐานการผลิตใหม่ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ทำการสำรวจบริษัทไต้หวันจำนวน 525 แห่ง ในช่วงวันที่ 25 กรกฎาคม - 1 สิงหาคม 2565 ก่อนที่ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไต้หวันเมื่อต้นเดือนสิงหาคม และก่อนที่จะมีการฝึกทหารโดยกองทัพปลดแอกประชาชนของจีนที่เข้าใกล้ไต้หวันมากขึ้น ผลการสำรวจปรากฏว่า
76% ของผู้ตอบแบบสำรวจ หรือมากกว่า 3 ใน 4 เห็นว่า ไต้หวันจำเป็นต้อง ‘ลดการพึ่งพาเศรษฐกิจในจีนแผ่นดินใหญ่’ ในขณะที่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย และมากกว่าครึ่งของธุรกิจทั้งหมดที่ตอบแบบสำรวจกำลังพิจารณาในการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่
และยังพบว่า มากกว่า 1 ใน 4 หรือราว 25.7% ของบริษัทที่ทำการสำรวจที่มีธุรกิจในจีนได้ย้ายฐานการผลิตออกจากจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว
นอกจากต้องการลดการพึ่งพาจีนแล้ว สาเหตุหลักๆ มาจากความกังวลเรื่องผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจจากความตึงเครียดของทั้งจีน-ไต้หวัน และจีน-สหรัฐฯ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า อีกทั้งยังรวมถึงนโยบาย Zero-Covid ของจีนที่ยังคงความเข้มข้นจนถึงตอนนี้
เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามดังกล่าวระบุว่า นโยบายปลอดโควิดของจีนแผ่นดินใหญ่มีผลกระทบค่อนข้างแย่ หรือเชิงลบมากต่อรายได้ของบริษัท มีเพียง 15% เท่านั้นที่บอกว่ามีผลดี และ 39% บอกว่าไม่มีผล
ขณะที่สิ่งที่จะทำให้ไต้หวันได้เปรียบจีนแผ่นดินใหญ่คือ การรักษาความได้เปรียบทางเทคโนโลยีไว้เหนือจีนแผ่นดินใหญ่เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการทำการวิจัยและพัฒนา (R&D) ภายในไต้หวันให้มากขึ้น
และแม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และได้รับประโยชน์จากการลงทุนสะสมของไต้หวันในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่เมื่อให้จัดลำดับความสำคัญ บริษัทไต้หวันให้ความเป็น ‘หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ’ กับจีนน้อยกว่าชาติอื่นๆ และปัจจุบันไต้หวันให้ความสำคัญกับการลงทุน การค้าที่หลากหลายผ่านข้อตกลงในระดับภูมิภาคมากขึ้น
ที่น่าสนใจไปกว่าการถอนการลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่ คือ ฐานการลงทุนแห่งใหม่ที่บริษัทไต้หวันเลือกที่ใด
คำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากทั้งกว่า 500 บริษัทที่สำรวจนั้น พบว่า กว่าครึ่งเลือกย้ายธุรกิจกลับประเทศ และ 63.1% เลือกย้านฐานการลงทุนไปยังในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลสำรวจจะพบว่าหลายบริษัทของไต้หวันให้ความสนใจต่อนโยบายระดับภูมิภาคที่มีส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ
สอดคล้องกับที่ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน กล่าวใบนเวที Yushan Forum ที่เน้นย้ำว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) จะมีบทบาทสำคัญในการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวันและประเทศในเอเชีย และยังบอกอีกว่าบริษัทไต้หวันได้เพิ่มการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอัตราที่มหาศาล ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2022 การลงทุนจากไต้หวันผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่ใน 18 ประเทศ มีมูลค่าเกิน 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 43.9% ของการลงทุนภายนอกประเทศทั้งหมดของไต้หวัน
ที่น่าสนใจไม่น้อยต่อจากนี้คือกรอบความร่วมมือทางการค้าระดับภูมิภาคอย่าง Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และ Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ที่บริษัทไต้หวันเลือกให้เป็นท็อปของนโยบายที่มีความสำคัญต่อไต้หวันในอนาคต
