สองจิตสองใจ โลกของนักจิตเวช
...
LATEST
Summary
- สองจิตสองใจ คืองานเขียนของ ทันยา มารี ลูฮร์มันน์ วิพากษ์วิจารณ์โลกของนักจิตเวชซึ่งลากเส้นแบ่งระหว่างจิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์ และจิตบำบัด ให้แยกออกจากกัน
- จิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์ คือ การอธิบายความเจ็บปวดทางจิตใจไม่ต่างจากร่างกาย นำไปสู่การใช้ยารักษา ส่วนจิตบำบัดมองความทุกข์เจ็บปวดใจ พลวัตความเปลี่ยนแปลงทางจิต เป็นความซับซ้อนมากกว่านั้น
- ลูฮร์มันน์ให้ความสนใจกับวิถีอันขัดแย้ง และแตกต่างที่หล่อหลอมให้นักเรียนจิตเวชได้กลายเป็นนักจิตเวช
...
หลายปีที่ผ่านมา ผมตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นการค้นคว้าของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่ง อยู่ในอาณาบริเวณของการทำความเข้าใจกับสภาวะทางจิตใจของมนุษย์มากขึ้น สภาวะซึมเศร้า ความโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคม ความเหงา รวมไปถึงสภาวะบอบช้ำทางจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หัวข้อทั้งหมดนี้ได้ประกายขึ้นมาราวกับแสงสว่างที่ถูกจุดขึ้นจากความหม่นเศร้าและเจ็บปวดทางใจ
ผมไม่คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่อง ‘อินเทรนด์’ ที่นักศึกษาหยิบยกขึ้นมายามที่คิดหัวข้อไม่ออก ในทางกลับกัน มันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่และตัวตนของเขาและเธอ มีอิทธิพลมากจนต้องค้นหาการทำความเข้าใจเพื่อถนอมชีวิตเอาไว้ให้มากที่สุด
ทุกครั้งที่นักศึกษามานั่งเล่าสภาวะและอาการให้ฟัง ผมสัมผัสได้ถึงบรรยากาศอันอึดอัดและอึมครึมทางอารมณ์ เรื่องราวเหล่านั้นเป็นประสบการณ์ตรง หลายคนเข้าไปพบหมอจิตเวชในโรงพยาบาล และตั้งข้อสังเกตว่าหมอมักปฏิบัติกับคนไข้แบบเป็นปัจเจกและให้ความเป็นส่วนตัว แต่จะมีเวลาพูดคุยกับหมอเพียงชั่วครู่
ประโยคหลักๆ ที่คุณหมอเริ่มจะวางบนพื้นฐานของประเภทยาที่ใช้ ความสม่ำเสมอในการทานยา และผลหรืออาการข้างเคียงจากการทานยา ทั้งที่จริงพวกเธออยากบอกเล่าอาการและความรู้สึกเจ็บปวดที่มี แต่มันถูกจำกัดด้วยการเดินทางของเข็มยาวนาฬิกาผ่านช่องเล็กๆ เพียงห้าถึงสิบช่องเท่านั้น ประสบการณ์อันทุกข์ทนถูกแปลและเปลี่ยนเป็นปริมาณยา และซองพลาสติกบรรจุยาที่สะสมอยู่ภายในบ้าน จนหลายคนอยากจะสร้างงานประติมากรรมจากยาที่เหลืออยู่มากมาย
หมอจิตเวชนี่ยังไง? เขาจะมองเราเป็นคนมากกว่าคนไข้หรือผู้ป่วยได้ไหม? หมอจิตเวชมีการรักษาในรูปแบบอื่นบ้างไหมนอกจากการคุยชั่วครู่ และจ่ายยา? ผมมักได้ยินเสียงของความขัดเคืองเหล่านี้เป็นประจำหลังจากให้เวลากับพวกเธอเล่าเรื่อง คำถามเรียบๆ แต่สะท้อนถึงข้อจำกัดบางประการในการรักษาทางจิตเวช
คำถามชุดเดียวกันนี้ สร้างแรงกระเพื่อมทางปัญญาอย่างที่ไม่ควรมองข้าม งานเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ของ ทันยา มารี ลูฮร์มันน์ (Tanya Marie Luhrmann) เรื่อง สองจิตสองใจ หรือ Of Two Minds (2000) ได้ตอบโจทย์ในลักษณะที่ใกล้เคียงกับคำถามของนักศึกษา เธอทำการวิพากษ์วิจารณ์โลกของนักจิตเวชซึ่งลากเส้นแบ่งระหว่างจิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์ (biomedical psychiatry) และจิตบำบัด (psychotherapy) ให้แยกออกจากกัน วิธีการรักษาผู้ป่วยซึ่งมีปัญหาทางจิตทั้งสองประเภทนี้เป็นเสมือนโลกสองใบที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน และก่อรูปขึ้นมากลายเป็นตัวตนทางวิชาชีพของหมอจิตเวช
สองจิตสองใจ เป็นงานที่โดดเด่นและมีเสน่ห์ชวนอ่านเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ยืนอยู่บนฝั่งของสังคมศาสตร์ และวิพากษ์กระบวนการทำงานทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ผู้เขียนใช้วิธีการเข้านอกออกใน เรียนรู้วิธีคิด ภาษา และการทำงานทางจิตเวชศาสตร์อย่างช่ำชอง หนังสือเล่มนี้จึงได้รับรางวัลมากมาย รวมไปถึงรางวัล วิกเตอร์ เทอร์เนอร์ (Victer Turner Prize) ด้านการเขียนงานเชิงชาติพันธุ์นิพนธ์ และรางวัลโบเยอร์ (Boyer Prize) สำหรับการศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยาในปี 2001
ลูฮร์มันน์เริ่มต้นเล่าเรื่องราวในหนังสือไว้อย่างน่าสนใจว่า ในปี 1989 เธอเข้าทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ในภาควิชามานุษยวิทยา ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นสำนักที่มีความโดดเด่นในการศึกษามานุษยวิทยาจิตวิทยา (psychological anthropology)
ในเวลานั้น เพื่อนร่วมงานแนะนำให้เธอเข้าไปร่วมฟังบรรยายในการอบรมนักจิตเวชของมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นประโยชน์กับการสอน ลูฮร์มันน์ซึ่งมีความสนใจในจิตเวชศาสตร์เป็นทุนเดิม จึงเริ่มต้นเข้าไปในชั้นเรียนของเช้าวันพฤหัสบดี เธอตั้งใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับสภาวะความผิดปกติทางจิตและสภาวะซึมเศร้าเป็นพิเศษ ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะพ่อของเธอเป็นหมอจิตเวช ทำให้มีความคุ้นเคยและสงสัยในเรื่องนี้มาแต่วัยเยาว์
ส่วนอีกด้าน จิตเวชศาสตร์มีความน่าพิศวงและดึงดูดอย่างยิ่งสำหรับลูฮร์มันน์ มันเป็นวิชาที่เปลี่ยนวิธีการเข้าใจในประสบการณ์ของมนุษย์ไปตลอดกาล เป็นวิชาซึ่งอนุญาตให้การหลับใหลเป็นช่องทางหนึ่งในการค้นพบกับความจริงอันแสนแปลกประหลาดในความรู้สึกของมนุษย์ผ่านความฝัน และเป็นวิชาที่ทำให้มนุษย์ค้นพบว่าการแสดงออกอย่างไร้เหตุผลนั้นคือแก่นสารประการหนึ่งในการดำรงอยู่
ลูฮร์มันน์ใช้เวลามากกว่า 4 ปีกับการนั่งเรียนและมีส่วนร่วมกับกระบวนการต่างๆ ภายในช่วงเวลานั้น เธอใช้เวลากว่า 16 เดือนกับการจุ่มตนเข้าไปในประสบการณ์ของหมอจิตเวช ผ่านการนั่งฟังการบรรยาย การมีส่วนร่วมในโรงพยาบาลท้องถิ่น การออกไปสังสรรค์กับนักวิชาการอาคันตุกะและผู้มาอบรมด้านจิตเวชของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในงานพบปะระหว่างบุคลากรทางการแพทย์
เมื่อการเรียนในห้องผ่านไปได้สักระยะ เช้าวันหนึ่ง เพื่อนนักจิตเวชร่วมชั้นได้ถามลูฮร์มันน์ว่าทำไมเธอจึงไม่เขียนเรื่องราวของนักจิตเวช ทั้งที่มันคืองานของนักมานุษยวิทยา เธอจึงย้อนคิดถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตว่าเหตุใดจึงเลือกเรียนมานุษยวิทยามากกว่าจิตเวช ลูฮร์มันน์ค้นพบว่า เธออยากเป็นคนเขียนหนังสือมากกว่าหมอรักษาผู้ป่วย
โดยทั่วไปแล้ว มานุษยวิทยาถูกรับรู้เสมอว่าเป็นวิชาซึ่งให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางวัฒนธรรม และมักข้ามพรมแดนแห่งความต่างไปสู่การศึกษาคนอื่นและความเป็นอื่นอยู่เสมอ คำถามเชิงเชื้อเชิญจากเพื่อนของเธอสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่ว่า มานุษยวิทยาและจิตเวชศาสตร์มีเส้นแบ่งอันชัดเจนพอที่จะทำให้ลูฮร์มันน์ข้ามไปมาระหว่างได้ โลกที่เคลื่อนไหวภายในจิตเวชศาสตร์จึงถูกเฝ้าสังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในรายละเอียดต่างๆ โดยนักมานุษยวิทยานับแต่นั้น
โลกของนักจิตเวชไม่ได้มีลักษณะแบนราบ และไม่อาจเข้าใจได้ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งอย่างตายตัว ลูฮร์มันน์สังเกตว่าบางวันของการบรรยาย พวกเขา (ส่วนมากนักจิตเวชจะเป็นผู้ชาย - ในบริบทการศึกษาของเธอ) จะสวมใส่เสื้อกาวน์สีขาว และนั่งถกเถียงกันในเรื่องสารสื่อประสาท (neurotransmitters) สารแคททีโคลามีน (catecholamines) รวมไปถึงการนั่งวาดแผนผังว่าด้วยการทำงานของปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของชีวการแพทย์ (biochemical interactions) บนกระดาน
ดังนั้น ความเจ็บป่วยทางจิต อาทิ โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ จึงเป็นเรื่องของความผิดปกติทางชีววิทยา และการรักษาที่ดีควรดำเนินไปในแนวทางเภสัชวิทยา (pharmacologically)
สำหรับเธอ นักจิตเวชในมาดนี้กำลังใช้ภาษาที่เธอแทบไม่เคยได้ยินนับตั้งแต่พ้นจากชั้นเรียนวิทยาศาสตร์มัธยมปลาย
ขณะที่บางวันนักจิตเวชจะปรากฏกายด้วยเสื้อแจ็กเกตขนสัตว์และสวมแว่นตา พวกเขานั่งลง พับมือเข้าหากันพร้อมกับเริ่มต้นบทสนทนาว่าด้วยการสูญเสีย ความโศกาอาดูร และสภาวะของจุดที่ต่ำที่สุดในชีวิต ตามกระบวนการรักษาแบบจิตบำบัดหรือจิตอายุรเวท (psychotherapy) ประหนึ่งว่าพวกเขากำลังวาดภูมิทัศน์ของชีวิตขึ้นมาใหม่ในโลกของจิตใจ
นอกจากนี้ ลูฮร์มันน์ยังได้ฟังการบรรยายว่าด้วยสภาวะของคนติดสุราเรื้อรัง, การถูกคุกคามทางเพศ, ประสบการณ์ว่าด้วยสภาวะผิดปกติของการหลับ, โรคลมบ้าหมู รวมไปถึงการใช้ยาบำบัดเพื่อรักษาอาการทางจิตเวช
สำหรับเธอ นักจิตเวชมีสององค์ประกอบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่หลอมรวมอยู่ในคนเดียว นักจิตเวชคือวิชาชีพที่ได้รับมรดกทางความคิดแบบทวิสภาวะ (dualism) ซึ่งเชื่อว่าจิตใจเป็นสิ่งที่สามารถแยกออกได้จากร่างกาย และไม่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงต่อร่างกายได้
บางครั้งนักจิตเวชพูดถึงความเจ็บปวดและร้าวรานในจิตใจของคนราวกับเป็นโรคชนิดหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้ จากนั้นก็ตามด้วยการให้คำแนะนำว่าด้วยการพักผ่อน แนะนำวิธีการการชีวิตอย่างถูกต้อง และการทานยาอย่างสม่ำเสมอ ในแง่มุมนี้ งานนักจิตเวชจึงประหนึ่งการพยายามวาดสภาวะความเจ็บป่วยทางจิตและสภาวะซึมเศร้าของมนุษย์ให้อยู่บนเรือนกาย การบำบัดผู้ป่วยในลักษณะนี้ถูกเรียกว่าจิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์ ซึ่งถือว่าการเจ็บป่วยทางจิตเป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับโรคทางกายอย่างอื่นไม่มากก็น้อย
ขณะที่บางครั้ง นักจิตเวชเองก็จะอธิบายว่าความทุกข์ทนต่อความเจ็บปวดทางจิตนั้นเป็นสิ่งที่ซับซ้อน มันอาจเกี่ยวข้องกับตัวตนที่ผู้ป่วยคาดหวังที่จะเป็น เจตนารมณ์ในชีวิตของผู้ป่วย รวมไปถึงความรัก ความเกลียดชัง และอดีตอันซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของผู้ป่วย สไตล์การรักษาเช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากจิตวิเคราะห์ ซึ่งให้ความสำคัญกับกลไกการทำงานของจิตไร้สำนึก การให้ความสำคัญกับความประสบการณ์ของมนุษย์เช่นนี้ได้กลายมาเป็นแนวทางของจิตบำบัดในเวลาต่อมา โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับพลวัตความเปลี่ยนแปลงทางจิต (psychodynamic) ของผู้คนเพื่อค้นหาการบำบัดที่เหมาะสม ภายใต้มุมมองนี้ การเจ็บป่วยทางจิตจึงนับว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจ และปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่แสดงออกต่อผู้อื่น
เป็นที่น่าสนใจว่าโลกอันขัดแย้งแต่หล่อหลอมร่วมกันของนักจิตเวชวางอยู่บนพื้นฐานทางภูมิปัญญาของตะวันตก ซึ่งแยกร่างกายกับจิตใจออกจากกัน และสังคมอเมริกันได้เองได้รองรับความคิดนี้ไว้ ควบคู่กับการเกิดขึ้นของถกเถียงอย่างไม่จบสิ้น
ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการยืนยันที่ว่าการทำงานของต่อมไพเนียล (pineal gland) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อในบริเวณกึ่งกลางของสมองส่วนซีรีบรัม มีความสำคัญในการเชื่อมโยงร่างกายกับจิตใจให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะการหลังสารเซโรตินินที่ทำให้ร่างกายตื่นขึ้นจากการหลับใหล และการหลังสารเมลาโทนินที่ทำให้รู้สึกง่วงนอน
กระนั้น ลูฮร์มันน์ยังมีความเห็นว่า คู่ตรงข้ามระหว่างจิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์กับจิตบำบัด ยังคงดำรงอยู่ในกระบวนการเรียนการสอนเพื่อสร้างนักจิตเวช ทั้งนี้ บรรดากลุ่มนักจิตเวชที่เธอใกล้ชิดด้วยต่างก็เห็นร่วมกันประการหนึ่งว่าพวกเขาต่างเรียนรู้ในวิถีที่ขัดกันและควบคู่กัน เพื่อที่จะทำความเข้าใจ เพื่อระบุประเภทของความเจ็บป่วย และเพื่อที่จะสนองตอบต่ออาการเจ็บปวดทางจิตใจของผู้ป่วย
นักจิตเวชรุ่นเยาว์ได้รับการสนับสนุนให้สามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้ดีทั้งการรักษาโดยการพูดคุยและการจ่ายยา ขณะที่สมาคมนักจิตเวชอเมริกันเอง (American Psychiatric Association) ก็บูรณาการหลักการเดียวกันนี้จนกลายเป็นโปรแกรมการฝึกอบรม
ในฐานะนักมานุษยวิทยา ลูฮร์มันน์เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาไม่ได้ต้องการจะค้นหาคำตอบว่าการรักษาแบบไหนดีกว่ากัน แต่คู่ตรงข้ามของมุมมองสองแบบนี้ต่างหากคือวัฒนธรรมที่ทำงานในนักจิตเวชศาสตร์ และวิถีซึ่งพวกเขาปฏิบัติต่อผู้ป่วย โลกของนักจิตเวชในงานเขียนของเธอจึงมุ่งให้ความสนใจกับวิถีอันขัดแย้งและแตกต่างที่หล่อหลอมให้นักเรียนจิตเวชได้กลายเป็นนักจิตเวช ทั้งการปรับเปลี่ยนเชิงมโนทัศน์ในการมอง ‘โลก’ ของความเจ็บป่วยไปสู่ระบบการใช้ภาษาเฉพาะทางการแพทย์เพื่ออธิบายอาการและวินิจฉัย ‘โรค’ กระบวนทัศน์ที่ขัดแย้งกันทั้งสองนี้สอนให้นักเรียนจิตเวชมองคนอย่างแตกต่างกัน เป็นมุมมองที่มีจุดแข็งและจุดอ่อนในตัวของมันเอง กระบวนทัศน์แต่ละชุดมีส่วนในการปรับเปลี่ยนมุมมองของหมอที่มีต่อคนไข้ ปรับเปลี่ยนการรับรู้ของสังคมที่มีต่อผู้ป่วย รวมไปถึงการรับรู้สภาวะการดำรงอยู่ของตนเองของผู้ป่วย
วัฒนธรรมสองจิตสองใจเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกของหมอจิตเวช ความพยายามโอบอุ้มและแบกรับสองแนวทางที่ขัดแย้งกันได้ก่อรูปขึ้นมาจนเป็นสิ่งละเอียดอ่อนและไม่ง่ายนักที่จะตำหนิหมอว่าไม่สนใจผู้ป่วย ทั้งที่เราอาจเล็งเห็นว่าหมอจิตเวชมักให้ความสำคัญกับการจ่ายยาเมื่อเทียบกับกระบวนการและเวลาของการรักษาทั้งหมด
ผมเคยบอกกับนักศึกษาหลายครั้งว่า ในฐานะมนุษย์ หมอจิตเวชเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่พูดคุยกับสภาวะความเจ็บป่วยทางจิตใจของผู้คนมากที่สุด การต้องอยู่ร่วม รับฟัง และครุ่นคิดถึงปัญหาอันหนักหน่วงมากมาย มีส่วนสำคัญทำให้เขาและเธอเหล่านั้นได้รับผลกระทบไปด้วยไม่มากก็น้อย การยึดถือในเครื่องมือและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อาจไม่ได้มีส่วนในรักษาผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว แต่มีส่วนทำให้ผู้ให้การรักษามีเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และช่วยประคับประคองให้อยู่ในสภาวะที่มั่นคง
การรักษาในเชิงจิตเวชศาสตร์ชีวการแพทย์จึงเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อันอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับการควบคุมและปลดปล่อยสภาวะทางอารมณ์อันหลากหลาย ขณะเดียวกัน การลดรูปอาการเจ็บป่วยให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสารเคมีและตัวยาประเภทต่างๆ ก็เป็นการป้องกันความสัมพันธ์ในฐานะมนุษย์อันเปราะบางระหว่างหมอกับคนไข้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะหมอจิตเวช เขาและเธอผู้สวมเสื้อกาวน์ ได้อาศัยความคิดใดมาตัดสินการรับฟังประสบการณ์ความเจ็บป่วยและทนทุกข์ของผู้คน
โลกของนักจิตเวชมิได้ดำเนินในวิถีทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ทว่าอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมที่เต็มไปด้วยอคติทางการเมืองและการครอบงำเชิงอุดมการณ์ทางวัฒนธรรมมากมาย หากหมอจิตเวชปราศจากความคิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ผลวินิจฉัยทางการแพทย์ก็อาจมีแนวโน้มถูกนำไปใช้และให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างในสังคม กระบวนการเยียวยาแบบจิตบำบัดจึงมิได้หมายถึงการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ทางสังคมของผู้ป่วยคนเพียงอย่างเดียว มันยังสามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการตัดสินคุณค่าและชีวิตของผู้อื่นได้โดยที่หมอจิตเวชยังมิทันตระหนักถึง
วัฒนธรรม ‘สองจิตสองใจ’ ของหมอจิตเวชจึงมีส่วนผลักดันให้เขาและเธอเลือกที่จะปฏิบัติกับคนไข้เสมือนวัตถุ หรือภาชนะรองรับยาไปพร้อมๆ กับเจตนารมณ์ที่มีต่อพันธกิจเยียวยาผู้ป่วยในฐานะก็เป็นคนที่มีเลือดเนื้อและความทุกข์ทนในชีวิต สภาวะอันย้อนแย้งเช่นนี้ ไม่เพียงดำรงอยู่ในตัวตนของหมอจิตเวช แต่ยังมีผลในการก่อร่างสร้างความเป็นคนไข้ของผู้ป่วยให้ตกอยู่ในวัฒนธรรมสองจิตสองใจเช่นเดียวกัน
