ไทยยังไม่ซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก สะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้าง
...
LATEST
Summary
- การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ World Cup 2022 ที่ประเทศกาตาร์ใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว แต่บรรยากาศในประเทศไทยไม่คึกคักเหมือนฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ และประเทศไทยไม่มีเอกชนรายไหนซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก
- ฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาใหญ่ของโลก ซึ่งไทยมีกฎ ‘Must Have’ ของ กสทช. กำหนดว่า การแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬารายการสำคัญที่ต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ชมฟรี เมื่อไม่มีเอกชนยื่นประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด จึงตกเป็นหน้าที่ของ กสทช.เองที่จะต้องเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด
- การที่ไทยยังไม่มีผู้ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก และบทสนทนาเรื่องนี้ในสังคม สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี, กฎของ กสทช. เป็นเหตุที่เอกชนกลัวทำกำไรไม่ได้, กฎของ กสทช. มีส่วนทำให้ค่าลิขสิทธิ์แพง และมีคนกำลังจะทำคะแนนด้วยภาษีประชาชน?
...
การแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ World Cup 2022 ที่ประเทศกาตาร์ใกล้จะเริ่มขึ้นแล้ว แต่บรรยากาศในประเทศไทยไม่คึกคักเหมือนฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ และประเทศไทยไม่มีเอกชนรายไหนซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจากสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA)
การที่ประเทศไทยยังไม่มีผู้ซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นเรื่องใหญ่ เพราะฟุตบอลโลกเป็นมหกรรมกีฬาใหญ่ของโลก ซึ่งไทยมีกฎ ‘Must Have’ ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งกำหนดว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นหนึ่งในการแข่งขันกีฬารายการสำคัญที่ต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้ชมฟรี
เมื่อไม่มีเอกชนสนใจ จึงตกเป็นหน้าที่ของ กสทช.เองที่จะต้องเป็นผู้ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาให้ประชาชนได้ดู ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) สั่งให้ใช้งบประมาณของ กสทช. ซื้อลิขสิทธิ์ แต่ขณะเดียวกัน กกท.ก็ยังเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนได้ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ
ความคืบหน้าถึงตอนนี้ (6 พฤศจิกายน 2565) ยังไม่ชัดเจนว่า กสทช. จะตอบรับคำขอของ กกท. (ภายใต้คำสั่งของพลเอกประวิตร) อย่างไร หรือในที่สุดแล้วรัฐจะไปชวนเอกชนมาร่วมลงขันได้ ตามข่าวบอกว่าจะต้องรอความชัดเจนจากการพิจารณาของ กสทช. ในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
บทสนทนาในสังคมเรื่องที่ไทยยังไม่มีผู้ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก สะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้าง ขอชวนคิดไปด้วยกัน
1. เศรษฐกิจไทยยังไม่ดี
ถ้านึกย้อนหรือย้อนไปดูข่าวฟุตบอลโลกครั้งก่อนๆ จะเห็นว่าบรรยากาศคึกคักอย่างมาก เอกชนอยากได้สิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เพราะเล็งเห็นโอกาสในการทำกำไร แต่นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นมา เอกชนตระหนักดีว่าสภาพเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง เอกชนจึงไม่เสี่ยงทุ่มทุนไปกับการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ใหญ่เหมือนเคย
อย่างฟุตบอลยูโร 2020 (ที่เลื่อนมาจัดในปี 2021) ก็ไม่มีผู้ยื่นประมูลสิทธิ์ จนกระทั่ง บริษัท ซัมมิท ฟุตแวร์ จำกัด หรือรองเท้า Aerosoft ของโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เข้ามาซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดการแข่งขัน
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ แม้ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของบางประเทศฟื้นตัวแล้ว บรรยากาศน่าจะดีขึ้นกว่าฟุตบอลยูโร แต่สำหรับประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เศรษฐกิจเรายังฟื้นช้าๆ กำลังซื้อของชาวไทยยังไม่ดี จึงสันนิษฐานว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีเอกชนเจ้าไหนอยากได้สิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ แม้จะเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ที่สุดในโลกก็ตาม
ขณะเดียวกัน การทำการตลาดผ่านฟุตบอลโลกที่หลายๆ ธุรกิจเคยทำเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย ก็มีให้เห็นไม่มาก ไม่คึกคักเหมือนที่เคย
2. กฎของ กสทช. เป็นเหตุที่เอกชนกลัวทำกำไรไม่ได้
นอกจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว เหตุผลสำคัญที่ทำให้เอกชนกลัวจะทำกำไรไม่ได้ก็คือ การเกิดขึ้นมาของกฎ Must Have และกฎ Must Carry ในปี 2555 ที่ทำให้เอกชนไม่สามารถทำกำไรจากการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้มากเหมือนก่อนหน้านั้น
ในอดีตก่อนจะมีกฎ Must Have บริษัทที่ซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดมาจะมีสิทธิ์ในการออกแบบช่องทางการเผยแพร่ได้เองว่าจะถ่ายทอดสดผ่านช่องทางไหน จะเป็นพันธมิตรกับช่องไหนบ้าง และสามารถเก็บค่าสิทธิ์การถ่ายทอดสดจากร้านอาหาร ผับ บาร์ ต่างๆ ได้ด้วย
แต่การเกิดขึ้นมาของกฎ Must Have ทำให้บริษัทผู้ซื้อสิทธิ์ต้องนำสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ซื้อมาไปถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวีทุกช่อง ดังนั้น ช่องทางทำรายได้ของเอกชนที่เป็นผู้ถือสิทธิ์การถ่ายทอดสดจึงเหลือเพียงทางเดียวคือ โฆษณา
ขณะที่กฎ Must Carry กำหนดว่า ผู้ให้บริการทีวีทุกประเภทต้องนำสัญญาณของช่องทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ด้วย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทีวีดิจิทัลที่เป็นฟรีทีวีได้ ไม่ว่าประชาชนจะดูผ่านช่องทางใดก็ตาม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพคือ บางบ้านดูผ่านกล่อง AIS Playbox ก็จะต้องมีช่องทีวีดิจิทัลในนั้นด้วย
เมื่อมีกฎ Must Carry ที่จะต้องนำสัญญาณทีวีดิจิทัลไปเผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ด้วย ผู้ที่จะซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกจาก FIFA ต้องซื้อให้ครอบคลุมรูปแบบการเผยแพร่ทั้งทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือด้วย ไม่สามารถซื้อได้แค่ช่องทางโทรทัศน์ทั่วไป จึงกลายเป็นต้นทุนค่าสิทธิ์ที่สูงไปด้วย
ฟุตบอลโลก 2014 เมื่อ พ.ศ. 2557 เป็นครั้งแรกที่ได้รับผลของกฎทั้งสองนี้ ซึ่งตอนนั้นบริษัทอาร์เอส ของ ‘เฮียฮ้อ’ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ เป็นผู้คว้าสิทธิ์การถ่ายทอดสดมาก่อนที่จะมีการประกาศกฎ Must Have อาร์เอสวางแผนไว้ว่าจะถ่ายทอดสดให้ดูฟรีเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนแมตช์แข่งขัน ส่วนอีก 2 ใน 3 จะถ่ายทอดสดผ่านทางกล่องของอาร์เอสเท่านั้น ถ้าอยากดูครบก็จะต้องซื้อกล่อง แต่หลังจากมีกฎ Must Have ออกมา เป็นอุปสรรคให้อาร์เอสไม่สามารถดำเนินตามแผนธุรกิจที่วางไว้ได้ อาร์เอสจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลตัดสินว่าอาร์เอสเป็นฝ่ายชนะ เพราะได้สิทธิ์มาก่อนจะมีกฎ Must Have
หลังจากฟุตบอลโลกครั้งนั้นจบลงไม่นาน ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์เฮียฮ้อแห่งอาร์เอส จำได้ว่าเฮียฮ้อพูดอย่างชัดเจนว่า จะไม่ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลอีกแล้ว รวมถึงฟุตบอลลีกดังๆ ของยุโรปด้วย เพราะค่าสิทธิ์การถ่ายทอดสดแพงขึ้นมากเกินไปจนยากที่จะทำกำไรได้
เมื่อกฎออกมาแบบนั้นแล้ว การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จึงไม่มีเอกชนรายใดรายหนึ่งกล้าซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสด รัฐบาลจึงเจรจาให้เอกชนหลายรายลงขันกันซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพื่อให้เป็นไปตามกฎที่ตั้งขึ้นมา
แล้วถัดมาถึงคราวของฟุตบอลยูโร 2020 ก็ไม่มีผู้ยื่นซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดอีกเช่นกัน จนเกือบถึงวันเริ่มเปิดสนาม บริษัทรองเท้า Aerosoft ของโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ที่เป็นเครือข่ายการเมืองกลุ่มสามมิตร จึงเข้ามาทำคะแนนจากคอบอล ดังที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว
3. ค่าซื้อสิทธิ์สูง เพราะไทยเป็นประเทศที่ค่อนข้างรวย จริงไหม?
ได้ยินข่าวในทีวีเมื่อเร็วๆ นี้ว่าปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อค่าสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดของประเทศต่างๆ ก็คือ ฐานะของประเทศนั้นๆ ถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ร่ำรวยแล้ว ค่าสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดก็จะสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่ยังยากจน และมีการเปรียบเทียบกันว่า ไทยต้องจ่ายแพงกว่าหลายประเทศในอาเซียน เพราะไทยรวยกว่า ขณะที่ประเทศที่จ่ายแพงที่สุดคือสหรัฐอเมริกา
แล้วมันจริงไหมว่าประเทศไทยค่อนข้างมีฐานะ?
ถ้าดูในภาพรวมของประเทศก็คงจริงตามนั้น เพราะหากดูขนาดเศรษฐกิจแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 26 ของโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าประชาชนคนไทยมีรายได้สูงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยกำหนดค่าสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดที่ทราบแน่ชัดคือ ฟีฟ่าแบ่งสิทธิ์การถ่ายทอดสดออกเป็น 4 รูปแบบช่องทางการเผยแพร่ ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ โทรศัพท์มือถือ/อุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile) และอินเทอร์เน็ต ซึ่งการซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดมีหลายแพ็กเกจให้เลือก บางประเทศอาจจะซื้อไม่ครบทุกช่องทางการเผยแพร่ บางประเทศอาจจะซื้อครบทุกช่องทางการเผยแพร่ บางประเทศอาจจะซื้อไม่ครบทุกแมตช์ ราคาที่ต้องจ่ายก็จะมาก-น้อยตามแพ็กเกจที่เลือก ซึ่งผู้ซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดในช่องทางต่างๆ ของบางประเทศอาจจะเป็นคนละบริษัทกัน
และดังที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้านี้เรื่องกฎ Must Carry ที่กำหนดว่าผู้ให้บริการทีวีรูปแบบต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. (เช่น กล่องต่างๆ ที่ต้องจ่ายตังค์) ต้องนำสัญญาณฟรีทีวีไปออกอากาศด้วย ดังนั้น สำหรับประเทศไทย ผู้ที่จะซื้อสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกก็ต้องซื้อให้ครอบคลุมรูปแบบการออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินตามกฎ Must Carry ของ กสทช. ได้โดยไม่ผิดสัญญากับฟีฟ่า ดังนั้นมันจึงกลายเป็นต้นทุนค่าสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่สูงขึ้น
4. มีคนทำคะแนนด้วยภาษีประชาชน?
ตามข่าวเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของตนเองที่จะต้องทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลโลก 2022 ให้ได้ โดยสั่งให้ใช้งบประมาณของ กสทช. ในการซื้อสิทธิ์ ซึ่งทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ตั้งกรอบวงเงินค่าสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดไว้ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท
“เป็นของ กสทช. หน่วยงานเดียว และเป็นงบที่ทำเพื่อประชาชน” พลเอกประวิตรกล่าว
จากการตอบคำถามนักข่าวของพลเอกประวิตร ก็ชวนให้คิดว่า พลเอกประวิตรกำลังทำคะแนนกับประชาชนโดยงบประมาณของ กสทช.ที่มาจากภาษีประชาชน หรือหาก กกท. สามารถเจรจาหาเอกชนมาร่วมซื้อสิทธิ์ได้ ความดีความชอบก็คงจะตกที่พลเอกประวิตรที่เป็นประธาน กกท.อีกเช่นกัน
อ้างอิง : ไทยรัฐ (1), ไทยรัฐ (2), กสทช., Main Stand, ไทยรัฐ (3), TV Digital Watch, FIFA
