การประชุมสุดยอดเอเปก ในโลกแห่งความมุ่งหวังและทางที่เป็นจริง
...
LATEST
Summary
- ยุทธศาสตร์ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว’ (BCG) ในการประชุม APEC สะท้อนความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันแบบแผนทางเศรษฐกิจอันใหม่
- กระบวนการและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน 9 รายนั่งเป็นกรรมการ และในคณะอนุกรรมการทั้ง 11 ชุด ก็เต็มไปด้วยผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการขนาดใหญ่
- การประชุม APEC ก็น่าตั้งคำถามว่า ทั้งไทยและนานาชาติได้ประโยชน์อะไร เพราะลำพังสถานะ ขนาด และอำนาจของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ ไม่สามารถจะผลักดันวาระของการพัฒนาโลกได้มากมาย
...
การประชุมสุดยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ในกรุงเทพฯจะจบลงในวันที่ 19 พฤศจิกายน ด้วยเอกสารสำคัญที่เรียกว่า ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ เรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว’ (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อให้สะท้อนความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันแบบแผนทางเศรษฐกิจอันใหม่ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมให้เป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค
BCG นั้นริเริ่มจากชุมชนวิชาการแล้วเอาไปเสนอให้รัฐบาลทำเป็นแผนปฏิบัติการและตั้งกลไกเพื่อขับเคลื่อน มีคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหารบริษัทเอกชนร่วมเป็นกรรมการ อีกทั้งมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอีก 11 สาขาด้วยกัน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การดำเนินงานอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการ (2021-2027) ซึ่งเพิ่งจะออกมาสู่สาธารณะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้นี่เอง
อาจจะกล่าวได้ว่า BCG นั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนไทยดำเนินการกันอยู่แล้ว เพียงแต่บังเอิญประเทศไทยต้องรับหน้าที่เจ้าภาพการประชุมเอเปกในปีนี้จึงได้มีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ
ประการแรก ต้องการหาประเด็นใหม่ๆ มาทำให้การประชุมเอเปกในประเทศไทยมีความหมายพิเศษมากไปกว่าการประชุมประจำปี ที่ต้องการคุยกันตามแนวทางที่กำหนดเอาไว้แล้วในวิสัยทัศน์ระยะยาว ภายใต้ชื่อ ‘วิสัยทัศน์ปุตราจายา’ (Putrajaya Vision 2040) ซึ่งผ่านความเห็นชอบของผู้นำในปี 2020 เมื่อมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ ซึ่งนั่นจะทำให้ชื่อของเมืองศูนย์กลางราชการของมาเลเซียอยู่ในเอเปกไปอีกอย่างน้อย 18 ปี และเอกสารสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่ต้องเอามาดูซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการประชุมคือแผนปฏิบัติการโอแตโรอา (Aotearoa Plan of Action) ซึ่งผ่านความเห็นชอบเมื่อปีที่แล้วเมื่อนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ
ความจริง 4 สาขาหลักในเป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG นั้นก็ไม่ใช่สิ่งใหม่ หากแต่มีปรากฏอยู่ในวิสัยทัศน์ และแผนปฏิบัติการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อันได้แก่
- การจัดการปัญหาโลกร้อนรวมถึงการตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
- การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
- การบริหารการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- การบริหารจัดการของเสีย
ถึงกระนั้นก็ตาม รัฐบาลไทยก็ต้องการให้เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG เป็นส่วนหนึ่งของเอเปกให้ได้นานที่สุด เพื่อยกฐานะของไทยในเวทีระหว่างประเทศที่มีสมาชิกมากถึง 21 เขตเศรษฐกิจ จึงพยายามเสนอให้มีการสร้างกลไกในการติดตามเป้าหมายกรุงเทพฯว่าได้รับการปฏิบัติไปได้แค่ไหนเพียงใดแล้ว เพื่อว่าการประชุมในครั้งต่อๆ ไปจะได้มีการพูดเรื่องเป้าหมายกรุงเทพฯและ BCG กันอีก
แต่ต้องตระหนักความจริงประการหนึ่งว่า สิ่งที่มีการนำเสนอในเอเปกนั้นไม่ว่าจะเรียกวิสัยทัศน์ เป้าหมาย หรือแผนปฏิบัติการก็ตาม นั่นเป็นแต่เพียงความมุ่งหวัง ไม่มีภาระผูกพันใดๆ กับสมาชิกแน่นหนานัก การดำเนินการใดๆ ก็ตาม ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ เป็นไปโดยความสมัครใจ ไม่มีภาคบังคับ หากไม่ปฏิบัติก็ไม่มีการลงโทษอะไรกันทั้งสิ้น ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่คาดหวังได้ยากว่าจะมีเขตเศรษฐกิจใดสนใจนำเอาโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปประยุกต์ใช้มากน้อยแค่ไหน
ประการที่สอง รัฐบาลไทยต้องการใช้เวทีเอเปกในการสร้างความชอบธรรมให้กับแผนเศรษฐกิจ BCG ว่ามันเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลก ถึงขนาดที่ผู้เอเปกให้การยอมรับให้เป็นแผนงานและแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม
แต่ก็อีกนั่นแหละ โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG นี้ยังเป็นที่รับรู้กันในวงแคบ เฉพาะภาครัฐบางส่วนและบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่สนใจและมีเงินทุนและเทคโนโลยีเท่านั้นจึงจะสามารถประยุกต์ใช้แนวคิดและการดำเนินธุรกิจในแบบ BCG ได้
ที่สำคัญ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนและนักสิ่งแวดล้อม ว่าเป็นเพียงแบบแผนที่จะช่วยเหลือภาคธุรกิจให้สามารถสร้างกำไรจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพราะกระบวนการและกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG นั้นมีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน 9 รายนั่งเป็นกรรมการ และในคณะอนุกรรมการทั้ง 11 ชุดนั้นก็เต็มไปด้วยผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ เช่น คณะอนุกรรมการด้านนวัตกรรมนั้นประธานคือ อิสระ ว่องกุศลกิจ จากกลุ่มมิตรผลและองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการคนอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มาจากธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น เจริญโภคภัณฑ์ ไทยเบฟเวอเรจ ไทยยูเนียน และเบทาโกร เป็นต้น
คณะอนุกรรมการกลุ่มพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ นั้นประธานคือ เทวินทร์ วงศ์วานิช อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัทยักษ์ใหญ่พลังงานฟอสซิล อันเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นต้นตอสำคัญประการหนึ่งของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
การที่ผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เหล่านี้เข้ามาเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวที่นัยว่าเป็นแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่า นี่เป็นกระบวนการในการ ‘ฟอกเขียว’ คือทำให้บริษัทเหล่านี้มีภาพพจน์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม มากกว่าจะเป็นแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมกันที่สาเหตุ
หากมองในแง่นี้ การประชุมเอเปกจึงถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ภายในประเทศ (หลายคนคิดถึงการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง) มากกว่าจะเป็นเวทีสำหรับการผลักดันแนวทางในการพัฒนาใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพราะลำพังสถานะ ขนาด และอำนาจของประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพเอเปกนั้น ไม่สามารถจะผลักดันวาระของการพัฒนาโลกได้มากมายนัก เอเปกนั้นมักจะถูกครอบงำโดยเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง สหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น มากกว่า
อีกทั้งปัญหาในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ซึ่งก็เป็นสมาชิกเอเปกอยู่ด้วย ก็มักจะมีส่วนสำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งในที่ประชุมได้เสมอ เจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยรายหนึ่งยอมรับว่า สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การผลักดันเศรษฐกิจ BCG เข้าสู่การประชุมเอเปก หากแต่เป็นปัญหาการหาฉันทามติและแสวงจุดยืนร่วมกันในกรณีวิกฤตยูเครนมากกว่า
แต่เรื่องนี้จะโทษใครก็ไม่ได้ สมาชิกเอเปกทั้งหลาย รวมทั้งไทย เจ้าภาพ และประธานในที่ประชุม ก็มีจุดยืนเป็นของตัวเองด้วยกันทั้งนั้น สิ่งที่จะออกมาให้เห็นตอนจบการประชุมคือถ้อยคำที่ละมุนละไมที่สุด ในแถลงการณ์เพื่อกลบเกลื่อนความขัดแย้งนั่นเอง
