อินโดนีเซียปล่อยตัว อูมาร์ ปาเต็ก หนึ่งในมือระเบิดที่เกาะบาหลีปี 2002 ภายใต้เงื่อนไขทัณฑ์บน
...
LATEST
Summary
- การก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียเกิดขึ้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2002 ที่เกาะบาหลี การระเบิดหลายจุดทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย จาก 21 ประเทศ
- อูมาร์ ปาเต็ก สมาชิกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เจมาห์ ลิสลามายาห์ (JI) หนึ่งในทีมมือวางระเบิดที่เกาะบาหลี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ ภายใต้เงื่อนไขประกันทัณฑ์บน
- อิสรภาพชั่วคราวของปาเต็กเป็นเรื่องใหญ่ของออสเตรเลีย ประเทศที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุด เพราะเหยื่อ 88 คนเป็นชาวออสเตรเลีย โดยรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่า ชาวออสเตรเลียรู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก
...
การก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียเกิดขึ้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2002 ที่เกาะบาหลี ทั้งการระเบิดฆ่าตัวตายและคาร์บอมบ์ ไม่ไกลจากแหล่งสถานบันเทิงในคูตา (Kuta) และสถานกงสุลสหรัฐฯ การระเบิดหลายจุดทำให้มีผู้เสียชีวิต 202 ราย จาก 21 ประเทศ เป็นชาวออสเตรเลีย 88 คน อินโดนีเซีย 38 คน และนักท่องเที่ยวอีกจำนวนมาก มีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 209 คน
ผ่านไป 20 ปีหลังเหตุการณ์ที่เกาะบาหลี หนึ่งในผู้วางระเบิดได้รับอิสรภาพ
อูมาร์ ปาเต็ก (Umar Patek) สมาชิกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง เจมาห์ ลิสลามายาห์ (Jemaah Islamiyah: JI) หนึ่งในมือวางระเบิด ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำอินโดนีเซีย ภายใต้เงื่อนไขประกันทัณฑ์บนที่ต้องกลับมารายงานตัวสม่ำเสมอ
หลังก่อเหตุปี 2002 ปาเต็ก ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย ถูกตั้งค่าหัว 1 ล้านดอลลาร์ ก่อนถูกจับกุมในปี 2011 ในเมืองอับบอตตาบัด เมืองที่ โอซามา บิน-ลาเดน ถูกสังหาร
ศาลแขวงจาการ์ตาตะวันตกสรุปว่า ปาเต็กมีส่วนสำคัญในการประกอบระเบิดคาร์บอมบ์ที่ Sari Club ในกูตา ไม่นานหลังจากมือระเบิดฆ่าตัวตายจุดชนวนระเบิดที่ซ่อนไว้ในกระเป๋าเป้ในร้าน Paddy's Bar ที่อยู่ใกล้เคียง
ในการพิจารณาคดี ปาเต็กยอมรับว่าเขาช่วยประกอบระเบิดจริง แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปใช้อย่างไร เขาได้รับการยกเว้นโทษประหารชีวิตหลังจากร่วมมือกับตำรวจและขอโทษครอบครัวของเหยื่อ
เร็วๆ นี้ ปาเต็กอ้างว่า เป็นความผิดพลาดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกาะบาหลีในปี 2002 และไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว เขากล่าวว่า “ผมไม่ได้มาอินโดนีเซียเพื่อเข้าร่วมกับการก่อเหตุวางระเบิด เมื่อผมรู้เรื่องนี้ ผมก็ไม่เห็นด้วย ผมถามคนอื่นๆ ในตอนนั้นว่าอะไรคือสาเหตุของแผนการนี้ มันไม่มีเหตุผลเลย”
อูมาร์ ปาเต็ก หรือชื่อจริง ฮิสยาม บิน อาลีซีน (Hisyam bin Alizein) ถูกศาลตัดสินในปี 2012 ให้จำคุก 20 ปี จากการมีส่วนร่วมในเหตุระเบิดไนต์คลับ 2 แห่งที่เกาะบาหลี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในสุราบายา ทางตะวันออกของเกาะชวา ช่วงเช้าวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2022 โดยได้รับการคุ้มกันอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากผู้ก่อการร้ายรายนี้ไม่มีครอบครัวมารอรับ
“เขามีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎของราชทัณฑ์ และต้องไม่กระทำความรุนแรงใดๆ เพื่อรักษาสถานะทัณฑ์บน” ริกา อาปรีอาตี (Rika Aprianti) โฆษกราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน กล่าว
ปาเต็กวัย 55 ปี ได้รับการลดโทษรวม 33 เดือน ในช่วงวันหยุดสำคัญ โดยล่าสุดเขาได้รับการลดโทษ 5 เดือนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันประกาศอิสรภาพของอินโดนีเซีย ราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่า ปาเต็กเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการปล่อยตัวภายใต้ทัณฑ์บน เนื่อจากเขาได้รับโทษไป 2 ใน 3 แล้ว
เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เชื่อว่า ปาเต็ก อดีตสมาชิกระดับแกนนำของ JI แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หลังจากผ่านโครงการลดความรุนแรง “ที่สำคัญที่สุด เขาได้ให้คำมั่นว่าจะจงรักภักดีต่อสาธารณรัฐอินโดนีเซีย” อาปรีอาตีกล่าว
โฆษกราชทัณฑ์ยังเพิ่มเติมว่า ปาเต็กต้องไปรายงานตัวที่โครงการให้คำปรึกษาของสำนักราชทัณฑ์ ช่วงแรกสัปดาห์ละครั้ง และหลังจากนั้นจะปรับความถี่เป็นเดือนละครั้ง อย่างไรก็ตาม ทัณฑ์บนของเขาเป็นการปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อรอลงอาญาจนถึงปี 2030 และหากไม่ไปรายงานตัวตามกฎหมาย หรือผิดเงื่อนไขใดๆ ทัณฑ์บนของปาเต็กจะถูกยกเลิกทันที
อิสรภาพชั่วคราวของปาเต็กเป็นเรื่องใหญ่ของออสเตรเลีย ประเทศที่ได้รับความสูญเสียมากที่สุดจากเหตุระเบิดที่บาหลี โดยรัฐบาลออสเตรเลียกล่าวว่า ชาวออสเตรเลียรู้สึกเจ็บปวดอย่างมากจากการปล่อยตัวปาเต็ก พร้อมเสริมว่า “ขอให้รัฐบาลอินโดนีเซียรับรองว่าปาเต็กจะต้องได้รับการดูแลและติดตามอย่างต่อเนื่อง”
รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในของออสเตรเลีย แคลร์ โอนีล (Clare O'Neil) ซึ่งเดินทางเยือนอินโดนีเซียเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวว่า มันเป็นวันที่ "น่าสยดสยอง" สำหรับครอบครัวของเหยื่อ และพูดถึงการกระทำของปาเต็กว่า "ไม่สามารถให้อภัยได้"
แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า การปล่อยตัวปาเต็กก่อนกำหนด จะสร้างความบอบช้ำให้ครอบครัวของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายอีกครั้ง
อ้างอิง: abc.net.au, aljazeera.com, theguardian.com
