อาจสามารถโมเดล จากเรียลลิตี้แก้จนยุคทักษิณ สู่การทำน้ำประปาให้ดื่มได้ยุคคณะก้าวหน้า
...
LATEST
Summary
- พื้นที่ที่คณะก้าวหน้าเข้ามาร่วมพัฒนากับผู้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าง เทศบาลอาจสามารถ ได้พัฒนาจนน้ำประปาสามารถดื่มได้ อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการผลิตและประมวลผลน้ำประปาอีกด้วย
- งานคราฟต์ ครั้งแรกของเทศบาลอาจสามารถ มีการนำเอาคนในชุมชนที่มีความสามารถด้านศิลปะและวัฒนธรรมมาจัดบูธและเปิดเวิร์กช็อปให้เรียนรู้ งานนี้จัดเพื่อดึงศักยภาพชุมชน สืบสานวัฒนธรรมและชวนให้คนในชุมชนมีส่วรร่วมในการออกแบบงบประมาณที่จะพัฒนาพื้นที่
- ย้อนรอย 16 ปี เรียลลิตี้แก้จนยุครัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ทำการลงพื้นที่ อำเภออาจสามารถ เป็นเวลากว่า 5 วัน 5 คืน โดยการแก้ปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการเพิ่มงบประมาณให้แก่พื้นที่
...
เมื่อวันที่ 29-30 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … หรือ ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น แก้ไขหมวด 14 เพื่อกระจายอำนาจที่เสนอโดย คณะก้าวหน้า
ในรัฐสภา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าในฐานะผู้เสนอร่างได้ขึ้นอภิปราย โดยในตอนหนึ่งได้ยกตัวอย่างน้ำประปาของ อบต.ค้อใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ที่น้ำขุ่นเป็นสีนม ที่เป็นปัญหามานาน ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งได้เทียบกับกรุงเทพฯ ที่ไม่ว่าจะเปิดน้ำประปาเวลาไหนน้ำก็ใสตลอด
ธนาธรยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบถึงระบบสาธารณะพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงที่ไม่เท่าเทียมกัน แต่นี่ก็เป็นเพียงหนึ่งในพื้นที่จากทั่วประเทศที่ประสบปัญหา เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง เพราะไม่มีงบที่เพียงพอในการจัดการปัญหาพื้นฐานของชุมชน
แต่สุดท้ายร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่น ก็ไม่ผ่านวาระรับหลักการในรัฐสภา มี ส.ว. เห็นชอบเพียง 6 คน และเสียงในรัฐสภาไม่เกินกึ่งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแม้ในรัฐสภา ร่างฯ ปลดล็อกท้องถิ่นจะตกไป แต่คณะก้าวหน้ายืนยันว่า ยังคงดำเนินงานในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด คือพื้นที่ที่คณะก้าวหน้ายกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘อาจสามารถ’ ถูกพูดถึงในฐานะ อาจสามารถโมเดล หากย้อนไปราว 20 ปีก่อน อาจสามารถก็เป็นพื้นที่ที่นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ทักษิณ ชินวัตร ใช้เป็นฉากหลังการทำเรียลลิตี้แก้จน
อาจสามารถ ‘เรียลลิตี้แก้จน’ ยุครัฐบาลทักษิณ
การพัฒนาอาจสามารถไม่ได้เพิ่งเกิดตอนที่ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าชนะนั่งนายกเทศมนตรีเทศบาล แต่ก่อนหน้านี้พื้นที่แห่งนี้การเมืองใหญ่ก็ลงมาพยายามพัฒนาเช่นกัน
หากยังจำภาพ ทักษิณ ชินวัตร ขี่มอเตอร์ไซค์ได้ เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่อาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด
ย้อนกลับไปในปี 2549 ยุคที่ ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลงพัฒนาพื้นที่อำเภออาจสามารถ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน เรียกได้ว่าเป็น ‘อาจสามารถโมเดล’
การลงพื้นที่ครั้งนั้นเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมาก เพราะทักษิณทำให้การลงพื้นที่เป็นเรียลลิตี้ โดยถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง ตลอดการลงพื้นที่ 5 วัน 5 คืน ใช้ชีวิต กินนอนร่วมกับชาวบ้าน ผ่านช่อง UBC 16 ของบริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน
เนื่องจากนโยบายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของพรรคไทยรักไทย คือกองทุนหมู่บ้าน การลงพื้นที่ของทักษิณในช่วงเวลานั้น โจทย์คือการแก้ปัญหาความยากจนแบบเร่งด่วน แนวทางส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่เรื่องของเงิน เพราะทักษิณมองว่าพื้นที่ต่างจังหวัดขาดงบประมาณในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อเริ่มต้นลงทุน และต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ของตนเอง ทำให้บางสำนักข่าวซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองของทักษิณช่วงก่อนถูกรัฐประหาร เรียกวิธีการแก้ไขปัญหาที่อาจสามารถว่า ทักษิณไป ‘เติมเงิน’ ให้ชาวบ้าน
แนวทางที่ทักษิณคิดไว้คือ ต้องใช้เงินประมาณ 250 ล้านบาท จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ และคิดที่จะขยายแนวทางอาจสามารถโมเดลต่อไปยัง 800 อำเภอทั่วประเทศ โดยจะให้อำเภอละ 250 ล้านบาท รวมงบประมาณทั้งหมดจะอยู่ที่ราวๆ 200,000 ล้านบาท
แต่การแก้จนที่เริ่มต้นจากเรียลลิตี้ที่อาจสามารถไม่สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามโมเดลที่ทักษิณวางไว้ อาจเป็นเพราะหลังจากพยายามพัฒนาท้องถิ่น ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน ทำให้หลายนโยบายต้องถูกแช่แข็ง ถูกยกเลิก เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านขั้วอำนาจทางการเมือง
ความสัมพันธ์ของน้ำขุ่น น้ำใส และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
หลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ความหวังของการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นถูกแช่แข็ง ตัดตอน และรวบเข้าสู่ส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นไม่มีอำนาจบริหารงานในพื้นที่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
และผู้นำรัฐบาลชุดหลังๆ ก็ต่างจากยุค ทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่ได้เน้นการลงพื้นที่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการเมืองระดับชาติที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมากกว่า
นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่คณะก้าวหน้าเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อปลดล็อกท้องถิ่น
คณะก้าวหน้าทำงานท้องถิ่นโดยส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และอาจสามารถก็อยู่ในฐานะ ‘โมเดล’ อีกครั้ง โดยเป็นหนึ่งในท้องถิ่น 60 แห่งที่คณะก้าวหน้าเข้ามาแนะนำการพัฒนาเมืองและช่วยให้ความรู้
หากยุคทักษิณแก้ปัญหาท้องถิ่นด้วยการแก้จน แนวทางของคณะก้าวหน้าก็คือการพัฒนาการเมืองด้วยการเริ่มต้นที่โครงสร้างขั้นพื้นฐาน ในกรณีของอาจสามารถคือ ‘น้ำประปา’
ในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดล็อกท้องถิ่น เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ส.ว. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กล่าวว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานขณะก้าวหน้า พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะเห็นปัญหาในท้องถิ่น ที่น้ำประปามีสีขุ่นเป็นชา - ซึ่งก็อาจจะจริงตามนั้น เพราะปัจจัยต่างๆ ในท้องถิ่นมีจำกัด จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดู ‘พื้นๆ’ แบบนี้ได้ ดังนั้นการทำน้ำให้ใส ก็มีความสัมพันธ์กับการกระจายอำนาจไม่น้อย
ปัจจุบัน อาจสามารถ มี เทพพร จำปานวน เป็นนายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ ที่มาด้วยนโยบาย 99 วัน น้ำต้องใส
น้ำประปาของเทศบาลอาจสามารถเริ่มจากการสูบมาจากแม่น้ำชี ซึ่งแน่นอนสายน้ำที่ไหลมาจากที่ห่างไกลผ่านเรื่องราวและสิ่งต่างๆ มากมาย ทำให้มันไม่ได้ใสสะอาดพอที่เราจะนำมาประกอบอาหาร หรือดื่มกินได้ทันที
จุดที่น่าสนใจของการเข้ามาช่วยพัฒนาท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตน้ำประปา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการสูบน้ำ ได้มีการติดตั้ง สมาร์ทเกต ที่จะส่งสัญญาณแรงดันน้ำมายังตัวเก็บข้อมูลทุก 1 ชั่วโมง เมื่อแรงดันตก จะมีการแจ้งเตือนในระบบ ซึ่งจะทำให้ทราบว่ามีการรั่ว หรือท่อลำเลียงน้ำแตก
หลังจากการสูบน้ำ ก็จะไปสู่ระบบผลิตน้ำประปา ที่จะมีทั้งการผสมสารส้มเพื่อให้ตกตะกอน และการกรองเพื่อจำกัดตะกอน เมื่อผ่านกระบวนการเหล่านี้ จะทำให้น้ำมีความใสและสะอาดมากขึ้น จากนั้นน้ำที่ผ่านการกรองจะถูกฆ่าเชื้อโรคด้วยการใส่คลอรีนในอันตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งสัดส่วนการผสมสารต่างๆ ทางคณะก้าวหน้าได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ถึงสูตรการผสมสารเคมีและปรับช่วงเวลาการตรวจเช็กน้ำ เพื่อน้ำประปาที่ผลิตออกมาสามารถดื่มได้ ซึ่งในปัจจุบันน้ำประปาที่อาจสามารถสะอาดในระดับที่ดื่มได้แล้ว
ที่แรกในไทย ไม่ต้องใช้คนจดมิเตอร์
นอกจากจะมีการพัฒนากระบวนการผลิตน้ำแล้ว เทศบาลอาจสามารถยังเป็นที่แรกของประเทศที่จะมี มิเตอร์น้ำเป็นระบบดิจิตอล เดิมกว่าจะมาเป็นค่าน้ำที่เราทุกคนต้องไปจ่ายในทุกเดือน ต้องมีคนมาจดมิเตอร์และเอาไปลบกับของเดือนที่แล้วเพื่อออกเป็นค่าน้ำ
แต่ที่เทศบาลอาจสามารถ เทพพร จำปานวน เขียนโครงการระบบควบคุมคุณภาพน้ำประปาดื่มได้อัจฉริยะ ไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในตอนแรกของบไป 9.8 ล้านบาท แต่สุดท้ายได้มา 9.3 ล้านบาท เพื่อของบในการจัดซื้อมิเตอร์ตัวนี้มาติดให้กับบ้านทุกหลังในพื้นที่เทศบาลอาจสามารถ
มิเตอร์แบบใหม่นี้จะเชื่อมโยงเข้ากับระบบของเทศบาล เมื่อมีการเปิดใช้น้ำ ก็จะเก็บข้อมูลไว้ ทำให้ไม่ต้องมีคนเดินจดมิเตอร์น้ำอีกต่อไป และสามารถปรินต์บิลค่าน้ำออกมาอัตโนมัติ ทั้งยังตรวจสอบการใช้น้ำบ้านของตัวเองได้อีกด้วย ไม่ต้องมีการเขียนบิลอีกต่อไป
ปัจจุบัน เทศบาลอาจสามารถ มีบ้านที่อยู่อาศัย 1,320 หลังคาเรือน เปลี่ยนไปแล้ว 211 หลังคาเรือน ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วสามารถจ่ายค่าน้ำผ่านแอปพลิเคชันได้
จะเห็นได้ว่าการที่จะพัฒนาชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้าไม่เพียงต้องมีผู้นำเข้มแข็งแต่ยังคงต้องใช้งบประมาณอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการล้างถังเก็บน้ำเพื่อยังคงรักษาคุณภาพของน้ำ หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สูบน้ำขึ้นมา ล้วนมีค่าใช้จ่าย แต่หากงบยังคงไปกระจุกตัวอยู่กับส่วนกลาง ก็จะทำให้การพัฒนาท้องถิ่นช้าลง แม้ที่นี่จะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นแค่ระดับหนึ่ง เพราะหากจะให้เทียบเท่ากับพื้นที่อื่นอย่างกรุงเทพฯ คงต้องใช้เวลาอีกมาก เพราะต้องรองบประมาณแต่ละปีที่ได้มาไม่เพียงพอกับความต้องการพัฒนาชุมชนของคนในพื้นที่เอง
งานคราฟต์อาจสามารถ
นอกจากจะเรื่องของน้ำประปาแล้ว เทพพร จำปานวน นายกเทศมนตรีตำบลอาจสามารถ และคณะก้าวหน้า ยังจัดงานคราฟต์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนออกมาแสดงผลงานศิลปะและขายของพื้นถิ่นเป็นงานศิลปวัฒนธรรม เพื่อดึงศักยภาพของชุมชนอออกมา ใช้พื้นที่สาธารณะมากขึ้น และช่วยโปรโมตอาจสามารถ โดยตั้งเป้าให้คนนอกมาร่วมด้วย โดยครั้งนี้จัดขึ้นบริเวณสวนสาธารณะหนองหูลิง
งานคราฟต์จัดขึ้นในช่วงกลางคืน ก่อนที่ในวันรุ่งขึ้นจะเป็นงานวิ่ง อาจสามารถสะออน ฮาล์ฟมาราธอน 2022 ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนไปพร้อมกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ และให้ผู้คนภายนอกรู้จักกับเทศบาลอาจสามารถมากขึ้น
นอกจากการดึงศักยภาพของคนชุมชนออกมาแล้ว ภายในงานคราฟ์ยังมีการจัดให้คนในชุมชนมามีส่วนร่วมในการออกแบบงบประมาณว่าอยากใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างไรผ่านการโหวตอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความยากจนเปลี่ยนแปลงไปตามแนวความคิดของผู้นำ ทั้งการเมืองระดับประเทศ และการเมืองท้องถิ่น แต่ปัจจุบันท้องถิ่นยังคงต้องพึ่งคำสั่งของราชการส่วนภูมิภาค เพราะไม่ได้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหาอะไรมากนัก แต่การจะพยายามแก้ความยากจนในไทยนั้น ปัจจุบันนั้นเรียกว่าใกล้เคียง หรือหนีห่างความสำเร็จไปไกลอีกหรือไม่ คงต้องดูต่อไปว่า การแก้ปัญหาแบบใดที่จะสามารถทำให้ความยากจนหมดไปจากคนไทยได้อย่างแท้จริง
