‘ยื่น หยุด ขัง’ กับสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ยังถูกปฏิเสธ
...
LATEST
Summary
- กลุ่มผู้ทำกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นำโดย ไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และกลุ่มทะลุฟ้า ไปทำกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ
- การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองยังคงไม่ประสบความสำเร็จ หลังศาลอาญายังคงไม่ให้ประกัน 9 ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ชั้นสอบสวน-พิจารณา และอีก 3 คนจากคดีมาตรา 112
- ระหว่างกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ ที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ ไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม เป็นลมล้มหมดสติ จนต้องมีการปฐมพยาบาล และนำส่งโรงพยาบาลราชวิถี ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
...
การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองยังคงไม่ประสบความสำเร็จ หลังศาลอาญายังคงไม่ให้ประกัน 9 ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ชั้นสอบสวน-พิจารณา และอีก 3 คนจากคดีมาตรา 112 ขณะที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ อดอาหารและน้ำเข้าสู่วันที่ 10 เช่นเดียวกับ สิทธิโชค เศรษฐเศวต ที่ประกาศอดอาหารด้วยเช่นกัน
จาก ‘ยืน หยุด ขัง’ สู่ ‘ยื่น หยุด ขัง’
เช้าวันที่ 29 มกราคม 2566 กลุ่มผู้ทำกิจกรรม ‘ยืนหยุดขัง’ หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นำโดย ไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และกลุ่มทะลุฟ้า เดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS ไปยังเมเจอร์รัชโยธิน ก่อนเดินเท้าไปทำกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ ที่ศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อยื่นประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีทางการเมือง 12 คน คือ
อาร์ม-วัชรพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ซ ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณแยกดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 13 มิถุนายน 2565
ต้อม-จตุพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ซ ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณแยกดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 16 มิถุนายน 2565
แบงค์-ณัฐพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ซ ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณแยกดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565
เก่ง-พลพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ซ ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมในกิจกรรม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 บริเวณแยกดินแดง ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 มิถุนายน 2565
แน็ก-ทัตพงศ์ เขียวขาว ถูกจับกุมจากม็อบช่วงประชุม APEC ตามหมายจับของศาลอาญา จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มทะลุแก๊ซที่ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 ถูกคุมขังตั้งแต่ 17 พฤศจิกายน 2565
คทาธร และคงเพชร (สงวนนามสกุล) ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2565 ข้อหาพบวัตถุระเบิดในครอบครอง
พรพจน์ แจ้งกระจ่าง ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2565 ถูกกล่าวหาว่า เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1
เอก (นามสมมติ) ถูกกล่าวหาว่า แชร์โพสต์จากเพจ KTUK – คนไทยยูเค ถูกคุมขังตั้งแต่ 22 ธันวาคม 2565
รวมทั้งสามผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 สมบัติ ทองย้อย, อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล และ สิทธิโชค เศรษฐเศวต ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว อยู่ระหว่างอุทธรณ์
ส่วนอีก 4 คน ตะวัน แบม ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ และเก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ทนายความให้เหตุผลถึงการยังไม่ยื่นประกันตัวว่า ทั้งสี่คนไม่ประสงค์ให้ใครยื่นประกันตัว เพราะต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองทุกคนไปก่อน และขอเน้นย้ำว่าสิทธินี้เป็นสิทธิตามกฎหมายที่ทุกคนควรจะได้รับเพื่อให้สังคมและผู้พิพากษาได้ตระหนักถึงเรื่องนี้
ที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ มีการแถลงการณ์ของกลุ่ม ดังนี้
แถลงการณ์ประชาชน ‘ยื่น หยุด ขัง’
เรียกร้องขอให้ศาลพิจารณาคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง
ในวันที่ 29 มกราคม 2566 นับเป็นเวลากว่า 10 วันแล้วที่ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เคลื่อนไหวโดยการอดอาหารและน้ำ จนร่างกายเข้าขั้นวิกฤติ และต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล อีกทั้งยังมี สิทธิโชค เศรษฐเศวต ผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ที่กำลังเริ่มต้นการอดอาหารและอดน้ำด้วยเช่นกัน
โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ทำให้ทั้งสามคนตัดสินใจอดข้าวอดน้ำ คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง หรือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เนื่องจากมีผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวทั้งก่อนและระหว่างพิจารณาในชั้นศาลไม่น้อยกว่า 16 คน
พวกเรา ประชาชนผู้ทำกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ เห็นว่า สิทธิในการประกันตัว หรือสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้ โดยบัญญัติไว้ว่า
“ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” และ “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลย ให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
อีกทั้งในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ยังกำหนดว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเพียงข้อยกเว้นและต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ดังนั้น ในการพิจารณาสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวของศาลจึงต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายและปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดแจ้งว่ามีเหตุที่ศาลจะสามารถสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้
ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนที่ทำกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ จึงขอเรียกร้องไปยังผู้พิพากษาเจ้าของคดี อธิบดีศาลอาญา และผู้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ขอให้ศาลพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองทุกคดีตามหลักกฎหมาย เพื่อธำรงไว้ซึ่งนิติรัฐและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญและกติกาสากลให้การรับรอง โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญา
2. ขอให้ศาลพิจารณายกเลิกกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว เช่น การใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อติดตามตัว การห้ามออกนอกเคหสถาน ในลักษณะที่เงื่อนไขกลายเป็นข้อจำกัดในการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิต จนขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน
พวกเราประชาชนผู้ทำกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ ขอเรียนต่อศาลว่า การทำกิจกรรมในครั้งนี้มิได้เป็นการกดดัน การปฏิบัติหน้าที่ของศาลหรือกระทำการอันเป็นการแทรกแซงการพิจารณาคดีที่ต้องเป็นอิสระและเป็นธรรมของศาล แต่เป็นการหาทางออกให้กับประเทศท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย้งและตึงเครียด ด้วยมีความเชื่อมั่นว่าสถาบันตุลาการจะเป็นเสาหลัก นำพาความยุติธรรม ทำให้ความขัดแย้งเบาบางลง
เราเชื่อว่า หากสถาบันตุลาการธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักกฎหมาย หลักนิติรัฐ หลักสิทธิมนุษยชน สถาบันตุลาการย่อมสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข
ด้วยความเชื่อมั่นในนิติรัฐและประชาธิปไตย
หลัง ไผ่-จตุภัทร์ อ่านแถลงการณ์จบ จึงยุติการชุมนุมหน้าศาลอาญา และกล่าวว่า เวลา 17.30 น. จะรอติดตามสถานการณ์การประกันตัวในวันนี้ที่หน้าหอศิลป์ฯ และจะกำหนดถึงแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป
หนึ่งในมวลชนผู้ร่วมชุมนุม ‘ยื่น หยุด ขัง’ เสียชีวิต
ระหว่างกิจกรรม ‘ยื่น หยุด ขัง’ ที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรม เป็นลมล้มหมดสติ จนต้องมีการปฐมพยาบาล และนำส่งโรงพยาบาลราชวิถี ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
เฟซบุ๊กเพจ กลุ่มทะลุฟ้า ได้โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยว่า
ลุงไพโรจน์ โชติศรีพันธ์พร ซึ่งเสียชีวิตลงในวันนี้ คุณลุงไพโรจน์มาร่วมยื่นประกันตัวนักโทษทางการเมือง คืนสิทธิประกันตัว ขณะที่อยู่หน้าศาลฯ คุณลุงได้ล้มลงหมดสติ เบื้องต้นตอนนี้ทราบว่าคุณลุงได้เสียชีวิต ด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน
ลุงไพโรจน์ เป็นประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และเข้าร่วมในการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอดอย่างสม่ำเสมอ ในวันนี้ก็เช่นกัน ขอแสดงความเสียใจและขอแสดงความนับถือคุณลุงไพโรจน์ ด้วยจิตคารวะ แด่ผู้ที่ถูกกดขี่ และลุกขึ้นมาต่อสู้ จนวาระสุดท้าย
ด้วยจิตคารวะ
ทั้งนี้ ทางกลุ่มทะลุฟ้า และผู้ทำกิจกรรม ยืนหยุดขัง จะทำการไว้อาลัยที่หน้าหอศิลป์ฯ ในการทำกิจกรรมช่วงเย็นวันนี้
ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก ทะลุฟ้า
