จดหมายจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
...
LATEST
Summary
- กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับประชาชนจึงรวบรวมรายชื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องสิทธิประกันตัว เพื่อให้แบมและตะวันได้รับการรักษาพยาบาล และยุติการอดอาหาร
- ผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจากการอดอาหารและน้ำนั้น อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การขาดสมดุลเกลือแร่ ภาวะขาดน้ำ ภาวะไตบาดเจ็บ ภาวะเลือดเป็นกรด และอาการซึ่งเกิดจากการได้รับสารอาหารหลังจากการขาดอาหารเป็นเวลานาน
...
มีความพยายามอีกครั้งในการรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังจากคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ซึ่งทั้งสองถอนประกันตัวเอง อดอาหารและน้ำมาตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม และอาการล่าสุดจากการเข้าเยี่ยมของทนายไม่สู้ดีนัก
กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ร่วมกับประชาชนจึงรวบรวมรายชื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องสิทธิประกันตัว เพื่อให้แบมและตะวันได้รับการรักษาพยาบาล และยุติการอดอาหาร
เรียน ประธานศาลฎีกา
เรื่อง ขอเรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองเพื่อให้ได้รับการรักษาทางร่างกายและจิตใจ
สืบเนื่องจากกรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกดำเนินคดีและจำคุก โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และจากเหตุการณ์ศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกัน เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, ใบปอ-ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ กลุ่มทะลุวัง รวมไปถึงคำสั่งพิพากษาจำคุก สิทธิโชค เศรษฐเศวตผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่งผลให้ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อถอนประกันตนเอง
ต่อมา ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ ได้ประกาศอดอาหารและน้ำเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 และสิทธิโชค เศรษฐเศวต เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2566 และเพิ่มการยกระดับโดยการอดอาหารและน้ำตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2566 แล้วนั้น
Nurses Connect, หมอไม่ทน, และภาคีบุคลากรสาธารณสุข ในฐานะภาคีเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในสายงานสาธารณสุข และในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ มีความวิตกกังวลต่อสภาวะสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสิทธิโชค ที่ได้มีการประกาศอดอาหาร ทานตะวันและแบม ที่ประกาศอดอาหารและน้ำ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อภาวะสุขภาพในระยะสั้น และระยะยาว โดยผลกระทบต่อภาวะสุขภาพจากการอดอาหารและน้ำนั้น อาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อภาวะสุขภาพดังนี้
1. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia)
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) หรือภาวะกลูโคสในเลือดต่ำ (Low Blood Glucose) เกิดขึ้นเมื่อระดับกลูโคสในเลือดลดลงต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในคนปกติ หรือต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดชิลิตรในกรณีของผู้ป่วยเบาหวาน
การอดอาหาร จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงต่ำเกินไป ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอาจเกิดขึ้นได้ขณะหลับ หรือไม่ได้รับประทานอาหารเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำและส่งผลให้มีอันตรายถึงหมดสติได้ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดภาวะ Hypoglycemic Coma ได้หากร่างกายขาดน้ำตาลเพื่อใช้เป็นพลังงานเป็นเวลานาน ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
2. การขาดสมดุลเกลือแร่ (Electrolyte Imbalance)
อิเล็กโทรไลต์ คือแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายที่ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ประกอบไปด้วย โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม, แมกนีเซียม และคลอไรด์ แร่ธาตุที่จำเป็นทั้งหมดนี้จะทำงานร่วมกันในการควบคุมการหดตัวของกล้ามเนื้อ ลำเลียงสารอาหารไปยังเซลล์ ช่วยควบคุมสมดุลน้ำในร่างกาย ไปจนถึงจังหวะการเต้นของหัวใจ การขาดสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ เป็นการขาดเกลือแร่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง และภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบกล้ามเนื้อ
3. ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
โดยปกติร่างกายมนุษย์จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 60 เปอร์เซ็นต์ เพื่อควบคุมสมดุลการไหลเวียนต่างๆ ในร่างกาย ภาวะขาดน้ำ คือ ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต สมอง ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อ เป็นต้น อาการของภาวะขาดน้ำขึ้นกับความรุนแรง ช่วงต้นจะมีอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหาย อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน หากขาดน้ำมากขึ้นจะเริ่มกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต เช่น ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเบาเร็ว ซึมลง หรือความดันโลหิตต่ำ ซึ่งความรุนแรงที่มากจะส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไตวายเฉียบพลัน หรืออาจถึงแก่ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
4. ภาวะไตบาดเจ็บ (Acute Kidney Injury)
ภาวะไตวายเฉียบพลัน คือภาวะที่ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ทำให้ไตสูญเสียหน้าที่ในการทำงานอย่างเฉียบพลัน โดยผลกระทบจะส่งผลให้การกรอง การดูดกลับสารน้ำและเกลือแร่ และการขับออกของไตลดลง จนเกิดภาวะไม่สมดุลของสารน้ำ เกลือแร่ และมีของเสียคั่งในร่างกาย โดยเฉพาะภาวะยูเรียและไนโตรเจนคั่งในกระแสเลือด และมีโอกาสกลายเป็นโรคไตเรื้อรังจนถึงขั้นต้องฟอกไต
5. ภาวะเลือดเป็นกรด (Ketoacidosis)
ภาวะ Ketoacidosis หรือเลือดเป็นกรด คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับคีโตนสูงผิดปกติซึ่งเกิดมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ ตับจึงทำหน้าที่เผาผลาญไขมัน เพื่อให้เกิดพลังงานขึ้นทดแทน โดยพลังงานเหล่านั้นเรียกว่า คีโตน (Ketone) และร่างกายจะปล่อยคีโตนที่ได้เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงาน หากไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังจะแดงและแห้ง มีอาการเหม่อลอย ไม่ได้สติ ไม่รู้สึกตัว ช็อกหมดสติ และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
6. กลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการได้รับสารอาหาร หลังจากการขาดอาหารเป็นเวลานาน (Refeeding Syndrome)
กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นหลังจากให้สารอาหารทดแทนภายหลังจากการขาดสารอาหารรุนแรง หรืออดอาหารเป็นเวลานาน เป็นความผิดปกติทางเมตาบอลิกที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของแร่ธาตุที่สำคัญเข้าสู่เซลล์อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะเสียสมดุลของอิเล็กโทรไลต์ โดยเฉพาะฟอสเฟต แมกนีเซียม และโพแทสเซียมในเลือดต่ำ รวมไปถึงการขาดวิตามินบี 1 ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติและเสียชีวิตได้ในที่สุด
นอกจากอันตรายที่เกิดกับร่างกาย ยังมีความกังวลด้านสุขภาพจิต จากกรณีที่มีการพยายามทำร้ายร่างกายตนเอง และมีการพยายามฆ่าตัวตาย (suicidal attempt) ของผู้ต้องหาจากกลุ่มทะลุแก๊ซก่อนหน้านี้นั้น สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบต่อสภาวะสุขภาพจิตของผู้ต้องหา ทั้งภาวะวิตกกังวล (anxiety) และภาวะซึมเศร้า (depression)
ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข ร่วมกับกลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect มีความกังวลในสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากการอดอาหารและน้ำเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก ทำให้มีโอกาสทุพพลภาพหรือเสียชีวิตได้ในทุกขณะเวลา และถึงแม้ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ และสิทธิโชค เศรษฐเศวต จะได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ทั้ง 3 คน ยังยึดมั่นที่จะปฏิเสธการรักษาด้วยยา และสารน้ำทุกกรณี
ในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ เราทราบดีว่ามีภาวะแทรกซ้อนอันตรายใดบ้าง ที่อาจเกิดขึ้นจากการอดอาหารและน้ำ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านั้น ล้วนเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบถึงแก่ชีวิตได้ทันทีหากไม่ได้รับการแก้ไข และภาคีบุคลากรสาธารณสุข หมอไม่ทน และ Nurses connect มีความเชื่อมั่นว่า ภาวะสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกชนชั้น ทุกความแตกต่างทางความคิด เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อเราในฐานะบุคลากรทางการแพทย์
ด้วยความเป็นห่วงในสุขภาพของ ตะวัน-ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แบม-อรวรรณ ภู่พงษ์ และสิทธิโชค เศรษฐเศวต และผู้ต้องขังรายอื่นเป็นอย่างยิ่ง ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข, กลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect จึงขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง เพื่อให้ทั้งหมดได้รับบริการทางสุขภาพทั้งทางกายและทางใจตามมาตรฐานบริการ ที่สมควรได้รับในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ทั้งนี้ ทางภาคีบุคลากรสาธารณสุข, กลุ่มหมอไม่ทน และ Nurses connect จึงได้แนบรายชื่อบุคลากรทางการแพทย์ ที่เห็นด้วยกับการปล่อยผู้ต้องหาทางการเมืองทันทีแบบไม่มีเงื่อนไข จำนวน 339 รายชื่อ อันประกอบไปด้วยสหสาขาวิชาชีพ พร้อมทั้งรายชื่อประชาชน ที่เห็นด้วยกับการปล่อยผู้ต้องหาทางการเมือง จำนวน 500 รายชื่อ มาในจดหมายฉบับนี้ด้วย
