Humberger Menu

13 ปี สลายการชุมนุม 10 เมษายน 53 รำลึก ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Politics

10 เม.ย. 66

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • การชุมนุมของ นปช. คนเสื้อแดง ปี 2553 เริ่มต้นเมื่อ 12 มีนาคม ‘12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์’ ด้วยข้อเรียกร้องหลักคือ ยุบสภาฯ ขับไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
  • รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งหน่วยงานพิเศษ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. ขึ้นมา โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ
  • การ ‘ขอคืนพื้นที่’ หรือปฏิบัติการสลายการชุมนุมภายใต้คำสั่งของ ศอฉ. ทำให้มีผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทั้งหมด 20 กว่าราย และศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่า กระสุนมาจากฝั่งทหาร

...


ครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เมษายน 2553 ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ บริเวณสะพานผ่านฟ้าถึงสี่แยกคอกวัว 


ย้อนเหตุการณ์สลายการชุมนุม

การชุมนุมของ นปช. คนเสื้อแดง ปี 2553 เริ่มต้นเมื่อ 12 มีนาคม ‘12 มีนา 12 นาฬิกา ลั่นกลองศึกเขย่าขวัญอำมาตย์’ ด้วยข้อเรียกร้องหลักคือ ยุบสภาฯ ขับไล่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2551 หลังการยุบพรรคพลังประชาชน และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มคนเสื้อแดง เพราะเป็นอีกครั้งที่พรรคที่ได้เสียงข้างมากในสภาฯ ถูกทำให้หายไปจากกระดานการเมือง เหมือนที่เคยเกิดกับไทยรักไทยไปก่อนหน้า ตามมาด้วยการยึดทรัพย์ ทักษิณ ชินวัตร 

ช่วงการชุมนุมอยู่ในสถานการณ์ตึงเครียด รัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งหน่วยงานพิเศษ ‘ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน’ หรือ ศอฉ. ขึ้นมาในวันที่ 7 เมษายน 2553 เพื่อรับมือกับการชุมนุมที่ยืดเยื้อในกรุงเทพฯ โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ



เหตุการณ์สำคัญก่อนถึงวันที่ 10 เมษายน คือ การบุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคม จังหวัดปทุมธานี โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ในวันที่ 8 เมษายน และพยายามตัดสัญญาณพีเพิลแชนเนล (People Channel) ที่ถ่ายทอดการปราศรัยและการชุมนุมของ นปช. ด้วยเหตุผลจากรัฐบาลว่า ดำเนินการขัดต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคง จนเกิดการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ 

คืนวันที่ 9 เมษายน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงว่าผู้ชุมนุมแสดงออกถึงความเหิมเกริม และรัฐบาลจะขอทำหน้าที่รักษากฎหมาย ซึ่งคาดการณ์กันว่า รัฐบาลพยายามจะขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมให้ได้ก่อนสงกรานต์ 

และปฏิบัติการที่รัฐบาลเรียกว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ ก็เกิดขึ้นในหนึ่งวันถัดมา โดยคาดว่า ปฏิบัติการจะกินเวลาไม่เกินเย็นวันที่ 10 เมษายน และจากที่ประเมินกันว่า การสลายการชุมนุมจะเกิดขึ้นที่ราชประสงค์ แต่เวทีสะพานผ่านฟ้ากลับเป็นพื้นที่แรกที่ถูกขอคืน โดยไม่มีคำเตือนล่วงหน้า



ปฏิบัติการขอพื้นที่คืนเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่าย ตั้งแต่พื้นที่ชุมนุมสะพานผ่านฟ้ามาถึงแยกคอกวัว ฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารโปรยแก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการใช้กระสุนความเร็วสูง ทั้งยิงศีรษะและลำตัว ช่วงค่ำ มีภาพปรากฏว่ามีกลุ่มชายชุดดำเป็นผู้โจมตีทหาร ส่วนฝั่งทหารก็ทำการซุ่มยิงผู้ชุมนุมจากที่สูง 

สำหรับผู้เสียชีวิตวันที่ 10 เมษายน ศาลมีคำสั่งในหลายคดีว่ากระสุนมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ เช่น กรณี เกรียงไกร คำน้อย ถูกยิงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จรูญ ฉายแม้น และ สยาม วัฒนนุกูล ถูกยิงหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ส่วนคดีชายชุดดำ ได้มีการยกฟ้องจำเลยในปี 2564 

การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ทำให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกฟ้องจากการสลายการชุมนุม แต่คดีมีทั้งถูกตีตกและยกคำร้อง จนทำให้ฝั่ง นปช. และญาติผู้เสียชีวิต ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของ ศอฉ. หลายคนคือผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ทำให้คดีความต่างๆ ล่าช้าตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 

ข้อมูลจาก ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหาร จากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ไว้ดังนี้

1. เกรียงไกร คำน้อย

2. อนันท์ ชินสงคราม

3. มนต์ชัย แซ่จอง

4. ธวัฒนะชัย กลัดสุข

5. ไพรศล ทิพย์ลม

6. อำพน ตติยรัตน์

7. อนันต์ สิริกุลวาณิชย์

8. เทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์

9. สวาท วางาม

10. บุญธรรม ทองผุย

11. สมิง แตงเพชร

12. สมศักดิ์ แก้วสาร

13. นภพล เผ่าพนัส

14. บุญจันทร์ ไหมประเสริฐ

15. ยุทธนา ทองเจริญพูลพร

16. วสันต์ ภู่ทอง 

17. สยาม วัฒนนุกุล 

18. จรูญ ฉายแม้น 

19. ฮิโรยูกิ มูราโมโต้ 

20. ทศชัย เมฆงามฟ้า 

21. คนึง ฉัตรเท

22. มานะ อาจราญ 

23. พันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม

24. พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์

25. พลทหารอนุพงษ์ เมืองรำพัน

26. พลทหารสิงหา อ่อนทรง

27. พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี


รำลึก 13 ปี เมษา-พฤษภา 53 คณะประชาชนทวงความยุติธรรม


กลุ่มคนเสื้อแดง และคณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 ร่วมกันจัดงานรำลึก ‘13 ปี เมษา พฤษภา 53’ โดยมีพิธีสงฆ์ วางพวงหรีดดอกไม้ โดยมีแกนนำ นปช. และตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมงาน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช. กล่าวถึงวาระครบรอบ 13 ปี ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ว่า

“เป็นครั้งแรกที่วาระครบรอบ 10 เมษา 53 เกิดขึ้นในช่วงโค้งสำคัญของการเลือกตั้งใหญ่ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประชาชน คนส่วนใหญ่ของประเทศจะใช้การลงคะแนนเอาชนะรัฐบาลการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และผลักดันรัฐบาลทหารออกจากอำนาจด้วยวิธีสันติ”



“งานรำลึก 10 เมษา 53 ปีนี้อธิบายสัจธรรมชีวิตมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ทุกสรรพสิ่งในโลก ไม่มีใดๆ ที่ไม่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ทุ่มเทสรรพกำลัง งบประมาณ วิทยาการต่างๆ เพื่อศึกษาทุกเรื่อง และพบว่าไม่มีอะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลง”

“ประสาอะไรกับขบวนการต่อสู้ที่ถูกเรียกว่าคนเสื้อแดง ก็มีความเปลี่ยนแปลง มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ มาวันที่เรายืนอยู่ด้วยกันตรงนี้ แล้วเราอธิบายตัวเองไม่ได้ว่าเรามากันถึงวันนี้ได้อย่างไร วันที่หลายคนกระจัดพลัดพราย วันที่หลายคนตามหากันไม่เจอ ทั้งในชีวิตจริงและโลกแห่งความคิด วันที่มือที่เคยจับ จับคอเคียงกัน กลับกลายเป็นมือที่ไม่สามารถจะควานหามิตรภาพในวันเก่าๆ กันไปได้”

“ผมว่านี่ไม่ใช่ความรู้สึกของคนใดคนหนึ่ง แต่ความรู้สึกเหล่านี้นั้นวิ่งแล่นอยู่ในใจและความคิดแทบจะทุกคนในกระบวนการ ขอให้เข้าใจว่าทุกคนต่างมีทางเลือก ทางเดินของตัวเอง”

ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมาเมื่อ 13 ปีที่แล้วนั้นถูกต้องและชอบธรรม ก็ขอให้รักษาจิตวิญญาณการต่อสู้ในชีวิตของเราต่อไป

share

“สำหรับผมแล้ว อะไรที่จะทำแล้วเป็นคุณูปการในการต่อสู้ สิ่งที่ผมทำอยู่นี้เป็นหน้าที่ แต่ความเป็นคนเสื้อแดงเป็นชีวิต เมื่อผมมีหน้าที่ผมก็จะทุ่มเทสุดกำลัง เพื่อให้หน้าที่ที่ผมทำอยู่บรรลุเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นชีวิต มีความสำคัญและความหมายมากกว่า แต่ตราบจนสิ้นชีวิต ความเป็นคนเสื้อแดงจะยังอยู่ และเป็นหน้าที่ที่เราต้องทวงถามความยุติธรรมให้กับพี่น้องที่สูญเสียต่อไป”

“คนเสื้อแดงพร้อมจะยกมือไหว้คนทุกคน คนเสื้อแดงบางคนรวยเป็นร้อยล้านพันล้านมาไหว้คนเสื้อแดงที่ทำงานแบกหาม เพราะเขาช่วยกัน แต่คนเสื้อแดงไม่เคยก้มหัวให้ใคร เพียงเพราะเขามีอำนาจ แต่ขาดความชอบธรรมเด็ดขาด”

“ช่วงนี้หลายคนไมเกรนขึ้น เพราะพรรคอีกฝ่ายที่เขาปราศรัยหาเสียงพูดจาไม่เข้าหูเสื้อแดง เริ่มคว้าตีนตบแล้ว ไม่ต้อง เตรียมปากกาไว้เท่านั้น เลือกให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้ เลือกเอาฝ่ายประชาธิปไตยไปตั้งรัฐบาล”


ธิดา ถาวรเศรษฐ 

 

ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า

“ถ้าคุณรักประชาธิปไตย และรักความยุติธรรม คุณก็คือคนเสื้อแดง แต่ถ้าคุณเป็นคนใส่เสื้อแดง และคนเลิกรักประชาธิปไตย ไปรักคนที่สืบทอดอำนาจ อย่างนั้นคุณไม่ใช่คนเสื้อแดงจริงอีกต่อไป”

ด้าน นายแพทย์เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ยังต้องทวงถามหาความยุติธรรมต่อไป

“มีพี่น้องจำนวนมากเป็นห่วงว่าสุดท้ายวีรชนของเราจะตายฟรี ผมกราบเรียนทุกท่านว่าคณะประชาชนทวงความยุติธรรมจะเดินหน้าทวงความยุติธรรม จนกว่าจะปรากฏเป็นจริง หรือไม่พวกผมก็ตายไป หรือพวกผมจะตายไปก็มีคนรุ่นใหม่เยอะแยะ ผมเชื่อว่าในช่วงชีวิตของผมถ้ายังไม่เห็นความยุติธรรม รุ่นมิลเลนเนียลก็จะทวงถามความยุติธรรมและประชาธิปไตยให้กับเรื่องนี้ต่อไป

"ผมมาวันนี้ด้วยความดีใจมาก ปีติยินดีอย่างสูง เพราะว่าโอกาสเปิดสำหรับพวกเราแล้ว เราต้องได้รับความยุติธรรมอย่างแน่นอน เรากำลังจะมีเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม ปี 66 พวกเราฝ่ายประชาธิปไตยจะเลือกพรรคการเมืองฝั่งประชาธิปไตยเข้าไปให้ถล่มทลาย" 

จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย หนึ่งในตัวแทนจากพรรคการเมือง กล่าวในประเด็นความยุติธรรมเช่นกัน โดยย้ำว่า

“ถ้าจะให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม มีทางเดียวคือจะต้องให้ประเทศนี้ เป็นประชาธิปไตยให้ได้ ความยุติธรรมได้ถูกทำลายไปจากการปกครองแบบเผด็จการ”





Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

ไม่ว่าเราจะอยู่ตรงไหนของ ‘พฤษภา 53’ เราต่างมีบางอย่างให้จดจำ

14 ปี สลายการชุมนุม 10 เมษา 53 รัฐใช้ปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ คนเสื้อแดงต้องขอความยุติธรรมคืนจากใคร

ครบ 14 ปีสลายชุมนุมคนเสื้อแดง คนที่ ‘สู้เพื่อทักษิณ’ จะได้รับความยุติธรรมตอนไหน?

ถ้าปูตินมาไทยจริง ความหวังลงนาม ICC คืนความเป็นธรรมคนเสื้อแดง อาจแทบไม่มีเหลือ

ลงนาม ICC เพื่อคืนความยุติธรรมเสื้อแดง ไม่ใช่สลายความคุ้มกันประมุขรัฐ

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat