Humberger Menu

ครบ 90 ปี ปรีดี พนมยงค์ ถูกเนรเทศ เพราะข้อกล่าวหาเป็นคอมมิวนิสต์

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Politics

12 เม.ย. 66

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ครบรอบ 90 ปี ในวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่ ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ พร้อม ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ไปที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476
  • สาเหตุเริ่มต้นจาก เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ร่างโดย ปรีดี เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ในวันที่ 10 มีนาคม 2476 ถูกทัดทานอย่างหนัก และถูกให้ร้าย จากฝั่งอนุรักษนิยมว่า ปรีดีเป็นผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์
  • พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้กระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 โดยให้เหตุผลว่าการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดที่ไม่สามารถจะลงรอยกันได้
  • ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจคืนจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำอำนาจกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยและราษฎรไทย

...


ครบรอบ 90 ปี ในวันที่ 12 เมษายน 2566 ที่ ปรีดี พนมยงค์ หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ พร้อมท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ ไปที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476

ด้วยสาเหตุที่เริ่มต้นจาก เค้าโครงการเศรษฐกิจ หรือ ‘สมุดปกเหลือง’ ร่างโดย ปรีดี เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อใช้เป็นนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ในวันที่ 10 มีนาคม 2476 ซึ่งถูกทัดทานอย่างหนักและถูกให้ร้าย จากฝั่งอนุรักษนิยมว่า ปรีดีเป็นผู้ฝักใฝ่ในคอมมิวนิสต์ ทำให้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้กระทำรัฐประหารครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยให้เหตุผลว่าการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดที่ไม่สามารถจะลงรอยกันได้ โดยมีคำแถลงการณ์ว่า

“ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้ เกิดการแตกแยกเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถจะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้น ปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้น เป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบประเพณีชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้น จักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎร และเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ” 

จากการใช้พระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ ยังส่งผลให้มีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา 

“ตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ยังไม่ได้เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรใหม่นั้น และยังไม่ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีตามความในรัฐธรรมนูญแล้วให้รอใช้บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งขัดกับพระราชกฤษฎีกานี้เสีย”


ต่อมาเมื่อวันที่ 10 เมษายน รัฐบาลออกหนังสือเพื่อรับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมต่อรัฐบาลทั่วโลก 

เมื่อเข้าสู่วันใหม่ 12 เมษายน ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่ที่ท่าเรือ บี.ไอ. ที่มีเรือโกลาทอดสมออยู่ ต่างคลาคล่ำไปด้วยมวลราษฎรที่มารอส่งและร่ำลาปรีดี 

หลังร่ำลามิตรสหายมากหน้าหลายตา จนท้ายสุดมาสิ้นสุดที่ พันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) หรือ จอมพล ป.  

“ใบหน้าของ ดร.ปรีดี แช่มชื่นขึ้น จนเห็นได้ถนัด ในขณะเดียวกันที่น้ำใสคลออยู่ในเบ้าตาของนักรบหนุ่ม มิตรผู้เป็นทหารยื่นมือออกมาเพื่อรับการสัมผัส แต่ด้วยความเต็มตื้นอาลัยที่จะต้องจากกัน ทำให้นักปฏิวัติหนุ่มทั้งสองโผเข้ากอดกันแน่น

ภาพนั้น, ในบัดนี้ เราถือว่าเป็นภาพแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งตรึงใจพลเมืองไทยยิ่งนัก”

แล้วเมื่อเวลา 16.30 น. โดยประมาณ เรือโกลาก็แล่นออกจากท่าเรือ


ภายหลังในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ทำการยึดอำนาจคืนจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำอำนาจกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยและราษฎรไทย เพื่อให้การปกครองยังคงดำเนินไปตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งการอภิวัฒน์

จากนั้นเมื่อ 1 กันยายน 2476 รัฐบาลที่มีพระยาพหลพยุหเสนาเป็นรัฐมนตรี ได้เชิญปรีดีเดินทางกลับสยามเพื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยปรีดีขอให้รัฐบาลกราบบังคมทูลพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เสียก่อน จึงยินดีที่กลับสยาม

“เวลานี้ข้าพเจ้าถูกเชิญตัวให้กลับ และเป็นการกลับชนิดที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ด้วย”

ต่อมา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2476 สภาได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้น เพื่อพิจารณาว่าปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์จริงหรือไม่ โดยแต่งตั้งกรรมการวิสามัญ และผู้ชำนาญการต่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการลงมติเอกฉันท์ว่า ปรีดีไม่มีมลทินเป็นคอมมิวนิสต์

แม้สุดท้ายแล้วเค้าโครงการเศรษฐกิจจะถูกปัดตกไป และไม่ได้ถูกกลับมานำเสนอใหม่อีก แต่ในเวลาต่อมา หัวใจสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจได้ถูกศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติมในนโยบายของรัฐบาลต่อๆ มา


จากนั้น เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ในวันที่ 2 มีนาคม 2478 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร จึงเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ในขณะที่มีพระชนมายุ 9 พรรษา ขณะนั้นประทับที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์บริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าพระองค์จะบรรลุนิติภาวะ ซึ่งปรีดีได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงที่ไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

ต่อมาเมื่อเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ พระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2488 ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ซึ่งปรีดี นอกจากเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในขณะเดียวกันยังคงต้องทำขบวนการเสรีไทยไปด้วย ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นแกนนำคนสำคัญ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในอังกฤษ เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในทางลับอีกด้วย 

นอกจากนี้ ภายหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ปรีดีเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2489 และพยายามให้มีการผลักดันให้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 ที่ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ในหลวงรัชกาลที่ 8 ทรงลงพระปรมาภิไธย  

วันที่ 3 มิถุนายน 2489 ภายหลังที่ได้เปิดการประชุมรัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญฉบับพฤษภาคม 2489 แล้ว ปรีดีได้พิจารณาว่าแม้รัฐธรรมนูญมิได้มีบทบังคับว่าถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นเมื่อใด รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่ปรีดีเห็นว่าตามมารยาทนั้นรัฐบาลควรลาออกเพื่อเป็นแบบฉบับสำหรับรัฐบาลต่อไป ฉะนั้นปรีดีจึงอาสาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อในหลวงรัชกาลที่ 8 จะได้ทรงพิจารณาแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ต่อไป


แต่หลังจากนั้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน รัชกาลที่ 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคตในพระที่นั่งบรมพิมาน ค่ำวันเดียวกัน รัฐสภามีมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญรัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ แต่ตอนนั้นยังทรงไม่บรรลุนิติภาวะ ก็ต้องมีการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้นมา

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ส.ส.พระนคร ได้ใส่ความปรีดี ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐว่า ปรีดีมีส่วนเกี่ยวข้องในการลอบปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 แต่เมื่อคดีขึ้นศาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จึงได้ขอประนีประนอมยอมความและยอมขอขมาปรีดี คดีจึงเป็นอันที่สิ้นสุด

“ข้าพเจ้ารู้ว่ามีพวกที่แกล้งท่านต่างๆ นานา โดยให้มหาชนเข้าใจผิดและสำหรับในหลวงพระองค์นี้ ทุกคนที่ใจเป็นธรรม ก็จะรู้ว่าข้าพเจ้าได้เสียสละและทุกอย่างที่จะโปรเต็คท์ (protect) ราชบัลลังก์ให้แก่พระองค์ในยามคริติกอลโมเม้น (critical moment) ตลอดมา” ปรีดี กล่าวในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2489


จากนั้นเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2489 กรมตำรวจ แถลงการณ์ผลสอบสวนเป็นการยืนยันแถลงการณ์ผลการสืบสวนเป็นการยืนยันแถลงการณ์ฉบับแรกของสำนักพระราชวัง สรุปว่า “การสวรรคตเป็นโดยอุบัติเหตุ ไม่มีทางแสดงว่าปลงพระชนม์เอง”

แม้จะมีบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับและเกิดเหตุการณ์ ที่มีคนไปตะโกนว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ที่โรงหนังเฉลิมกรุง ในขณะที่ไฟดับ ซึ่งจากคำอธิบายในการปราศรัยครั้งหนึ่งของ วีระ มุสิกพงษ์ อดีตแกนนำของขบวนการคนเสื้อแดง ได้อ้างอิงจากประสบการณ์ที่เคยทำงานใกล้ชิดกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ และ เลียง ไชยกาล ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ รู้ดีว่าใครเป็นคนตะโกนในโรงหนังเฉลิมกรุง หลังจากนั้นไม่นาน พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจึงหันไปร่วมกับทหาร จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ อันหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าเป็นรัฐบาลหลังรัฐประหาร 2490 

ซึ่งในวันรัฐประหาร เมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจรัฐ นำโดยนายทหารได้แก่ พลโทผิน ชุณหะวัณ, พันเอกกาจ กาจสงคราม, พันเอกเผ่า ศรียานนท์, พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในภายหลัง ใช้กำลังทหารประกอบด้วยรถรบและอาวุธทันสมัยยิงระดมทำเนียบท่าช้างวังหน้า (ซึ่งเป็นทำเนียบที่รัฐบาลให้ปรีดีกับครอบครัวอาศัยอยู่นั้น) แล้วบุกเข้าไปในทำเนียบเพื่อจับปรีดี แต่ปรีดีได้หลบหนีไปได้โดยอาศัยตามบ้านเพื่อนที่ไว้วางใจ และไปอาศัยที่กรมนาวิกโยธินที่สัตหีบ

ต่อมา หลังจากการรัฐประหารที่ พลตำรวจโทพระพินิจชนคดี เข้ารับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนกรณีสวรรคต โดยการแต่งตั้งของควง อภัยวงศ์ ซึ่งมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีสำคัญร่วมคณะ และรวบรวมพยานมาได้จำนวนมาก ซึ่งสำนวนคดีมุ่งไปที่ปรีดี ว่าเป็นผู้วางแผนปลงพระชนม์ และมี ร้อยเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ราชนาวี (รน.) เป็นมือปืน โดยมีเฉลียว ปทุมรส อดีตราชเลขานุการในพระองค์ ชิต สิงหเสนี และ บุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องบรรทมในรัชกาลที่ 8 เป็นผู้รู้เห็น และให้ความร่วมมือช่วยเหลือ

จากนั้นกรมตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการดำเนินการฟ้องร้อง ซึ่งอัยการได้ทำสำนวนฟ้องร้อง โดยมี เฉลียว ปทุมรส, ชิต สิงหเสนี และ บุศย์ ปัทมศริน เป็นจำเลย และสุดท้ายถูกประหารชีวิต


เมื่อปรีดีพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหารได้ ปรีดีจึงเดินทางไปอาศัยอยู่ที่สิงคโปร์ชั่วคราว แล้วเดินทางไปอาศัยอยู่ในประเทศจีนขณะนั้น ซึ่ง เจียงไคเช็ค ยังมีอำนาจปกครองแผ่นดินส่วนใหญ่ของจีน และพยายามรวบรวมกำลังเพื่อรอจังหวะยึดอำนาจคืนอีกครั้ง ขณะที่คณะรัฐประหาร 2490 ได้เตรียมความพร้อมรับมือการรัฐประหารซ้อนอย่างแข็งขัน โดยอ้างว่ามีผู้เตรียมนำรถถังออกมายึดอำนาจพวกตน จึงได้ประกาศกฎอัยการศึกในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2492 และได้มีการซ้อมรบหลายครั้ง

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 ระหว่างการซ้อมรบของกองทัพบกและกองทัพเรือ ฝ่ายของปรีดีได้บุกยึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการ และอีกส่วนได้บุกยึดสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ออกประกาศปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม จากทุกตำแหน่ง และให้ ดิเรก ชัยนาม นักการทูตคนสนิทของปรีดี รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ลูกน้องอีกส่วนของปรีดีก็ได้เข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และเตรียมการต่อสู้กับกองทัพบก

แต่แผนการที่จะก่อให้เกิดจลาจลในจังหวัดต่างๆ เพื่อเรียกให้กองทัพเรือจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ ต้องล้มเหลว เมื่อผู้นำเสรีไทยส่วนใหญ่ในภาคอีสานถูกกองทัพบกจับตัวไว้ได้ก่อน

ในขณะเดียวกัน พลโทสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้ปราบกบฏ ซึ่งสฤษดิ์ทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วเฉียบขาด เขาสั่งให้รถถังปิดล้อมพวกของปรีดี ซึ่งยึดพระราชวังอยู่ และใช้กำลังทหารบุกเข้าตีกลุ่มกบฏแตกพ่ายไป ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกเรียกขานกันว่าเป็น ‘กบฏวังหลวง’

จากนั้นปรีดีได้หลบอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา ประมาณ 6 เดือน เดินทางทางเรือไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของวิลันดา และเดินทางต่อมายังสิงคโปร์ได้ และจากสิงคโปร์ไปฮ่องกง แล้วเดินทางจากฮ่องกงไปขอลี้ภัยอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเวลาประมาณ 21 ปี จนถึงปี 2513 จึงเดินทางจากประเทศจีนมาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส 

ภายหลังปรีดีฟ้องผู้ใส่ความและชนะทุกคดี ได้รับเงินบำนาญตามกฎหมาย และได้รับสิทธิ์หนังสือเดินทางของไทยกลับคืน และ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2526 ปรีดีเสียชีวิตอย่างสงบบนโต๊ะทำงานที่บ้านพักประเทศฝรั่งเศส สิริอายุ 82 ปี





Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

จดหมายปรีดี 2024 เราจะรู้ไปทำไมว่าอะไรอยู่ในนั้น

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat