Humberger Menu

วิทยาศาสตร์ของลมแดด : ทำไม ‘ฮีตสโตรก’ ถึงเกี่ยวข้องกับโรคไต

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Science & Tech

12 เม.ย. 66

creator
โตมร ศุขปรีชา
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • Small Science เป็นคอลัมน์ชวนอ่านฆ่าเวลาของ โตมร ศุขปรีชา ว่าด้วยเกร็ดความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในทุกสรรพสิ่งรอบตัวเรา จากสสาร สิ่งประดิษฐ์ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตในกิจวัตรประจำวันของมนุษย์
  • สำหรับสัปดาห์นี้ โตมรเล่าถึงวิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง ‘ฮีตสโตรก’ (Heat Stroke) หรือ ‘ลมแดด’ ที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงเวลาที่อากาศร้อน ซึ่งอาจส่งผลเสียทำให้ร่างกายของเราเสียหายถาวรได้ โดยเฉพาะกับไตและสมองของเรา หรือถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี

...


Illustration: Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn


หลายคนอาจไม่ได้คิดว่า ‘ฮีตสโตรก’ (Heat Stroke) หรือที่เราเรียกแบบไทยๆ ว่า ‘ลมแดด’ นั้น เป็นเรื่องร้ายแรงถึงแก่ชีวิตได้ และต่อให้ไม่ถึงแก่ชีวิตในทันที ก็อาจส่งผลเสียทำให้ร่างกายของเราเสียหายถาวรได้เลย โดยเฉพาะกับไตและสมองของเรา

แต่อาการ ‘เป็นลมแดด’ หรือ ‘ฮีตสโตรก’ ร้ายกาจได้ถึงขนาดนั้นจริงๆ!

ที่น่าเป็นกังวลก็คือ คนจำนวนมากมองว่าคนที่เป็น ‘ลมแดด’ นั้น เป็นพวกอ่อนแอ โดนลมโดนแดดนิดเดียวก็ไม่ไหวแล้ว ไม่เหมือนตัวฉันซึ่งแข็งแกร่งกล้ามล่ำบึ้ก ฉันไม่มีทางเป็นลมแดดได้หรอก

แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์

ฮีตสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าสุขภาพร่างกายหรือความฟิตปั๋งของคุณจะมีมากหรือน้อยแค่ไหนก็ตาม การเกิดฮีตสโตรกเป็นเรื่องซับซ้อน มีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยหลายอย่าง ไม่ใช่แค่เรื่องอุณหภูมิสูงเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับเรื่องของความชื้น อายุ การใช้ยาบางอย่าง หรือการทำกิจกรรมทางกายด้วย 

ยิ่งคนที่คิดว่าตัวเองแข็งแรง ต้องบอกว่าอาจยิ่งอันตรายก็ได้ เพราะคนที่คิดแบบนี้มักจะตั้งมั่นในความประมาท ทำให้คนเหล่านี้มักจะ ‘ผลักดันตัวเอง’ ให้ทำอะไรต่อมิอะไรแบบสุดขั้ว ออกกำลังกลางแจ้งก็ทำไป จนร่างกายทนไม่ได้ แต่ไม่รู้ตัว จึงยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อฮีตสโตรกเข้าไปอีก

จริงอยู่ ความแข็งแรงทางกาย ช่วยให้เราอดทนต่อความร้อนได้ดีขึ้น แต่นั่นไม่ได้แปลว่าจะปลอดจากฮีตสโตรกอย่างถาวร คนเหล่านี้มักมองข้าม ‘อาการ’ เล็กๆ น้อยๆ เช่น อาการล้าของกล้ามเนื้อ, อาการกระหายน้ำ หรือบางคนต่อให้เริ่มเป็นตะคริว ก็ยังฝืนตัวเองต่อไปโดยไม่รู้เลยว่า การละเลยสัญญาณทางกายแบบนี้ อาจนำไปสู่สภาวะที่ร้ายแรงอย่างมากได้

สภาวะที่ว่า เรียกเป็นภาษาไทยว่า - ภาวะกล้ามเนื้อสลาย หรือ Rhabdomyolysis


ยิ่งคนที่คิดว่าตัวเองแข็งแรง ต้องบอกว่าอาจยิ่งอันตรายก็ได้ เพราะคนที่คิดแบบนี้มักจะตั้งมั่นในความประมาท ทำให้คนเหล่านี้มักจะ ‘ผลักดันตัวเอง’ ให้ทำอะไรต่อมิอะไรแบบสุดขั้ว ออกกำลังกลางแจ้งก็ทำไป จนร่างกายทนไม่ได้ แต่ไม่รู้ตัว จึงยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อฮีตสโตรกเข้าไปอีก

share


แต่ก่อนจะไปถึงสภาวะที่ว่านี้ ต้องบอกคุณก่อนว่า ฮีตสโตรกนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดเวลาอากาศร้อนจัดๆ เสมอไปนะครับ อากาศไม่ได้ร้อนขนาดปรอทแตก เราก็สามารถเป็นฮีตสโตรกได้ เพราะมันเกี่ยวพันกับสภาวะทางร่างกายของเรา และเกี่ยวข้องกับความชื้นด้วย ถ้าอากาศไม่ร้อนนัก เราจึงอาจประมาทได้ แต่เคยมีรายงานว่า กระทั่งอยู่ในห้องติดแอร์ ก็ยังเกิดฮีตสโตรกได้เหมือนกัน ถ้าหากว่าแอร์ทำงานผิดปกติ และเราแต่งตัวไม่เหมาะสม เช่น ใส่เสื้อผ้าพอกหนามากเกินไป เป็นต้น

แน่นอน เด็กและสัตว์เลี้ยงนั้นอ่อนไหวต่อฮีตสโตรกมากเป็นพิเศษ เราน่าจะได้ข่าวบ่อยๆ ว่าเด็กหรือสัตว์ที่ติดหรือถูกขังอยู่ในรถกลางแจ้งนั้น มีอาการฮีตสโตรกถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ต่อให้เป็นผู้ใหญ่ ถ้ามีการใช้ยาบางชนิดก็ทำให้เราอ่อนไหวต่อฮีตสโตรกได้เหมือนกัน โดยเฉพาะยากลุ่มด้านอาการซึมเศร้า หรือยาแก้แพ้บางตัว ซึ่งไปส่งผลรบกวนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย 

ฮีตสโตรกนั้นเกิดขึ้นได้เมื่ออุณหภูมิภายในร่างกายของเราเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติ โดยสามารถแบ่งฮีตสโตรกออกได้เป็นสองแบบ คือแบบคลาสสิก (Classical Heat Stroke) ซึ่งก็คือโรคลมแดดแบบที่ไม่ได้ออกกำลังกายหนัก กับโรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลังกายหนัก (Exertional Heat Stroke)



ฮีตสโตรกแบบแรกนั้น ชื่อก็บอกแล้วว่า ไม่ได้ต้องไปหักโหมออกกำลังกายอะไร มักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัยหรือคนที่ใช้บางอย่างที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรคลมแดดได้ ฮีตสโตรกแบบนี้มักจะค่อยๆ เกิดข้ึนทีละน้อย โดยต้องอยู่ในที่ที่อุณหภูมิและความชื้นสูงเป็นเวลานานๆ ซึ่งอาจนานหลายวัน จนร่างกายจะเกิดความบกพร่องในการควบคุมอุณหภูมิ เช่น บางคนเหงื่อไม่ออกเลย หรือระบบหมุนเวียนโลหิตบกพร่อง ทำให้การดึงความร้อนออกจากร่างกายเป็นไปได้ไม่ดี ร่างกายภายในจึงค่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เชื่อกันว่า กระบวนการที่ว่านี้เกิดขึ้นเนื่องจากสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายเกิดความเสียหาย

ส่วนฮีตสโตรกแบบที่สอง อาจเรียกได้ว่าเป็นแบบ ‘เฉียบพลัน’ ก็ว่าได้ โดยคนที่เป็นฮีตสโตรกแบบนี้จะต้องทำกิจกรรมทางกายในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและชื้น อาการมักจะเกิดขึ้นภายในเวลาสั้นๆ เช่นแค่ไม่กี่ชั่วโมง เกิดขึ้นเพราะร่างกายถ่ายเทระบายความร้อนออกไปไม่ทัน เพราะขณะออกกำลังกายหรือใช้แรง ร่างกายจะสร้างความร้อนขึ้นมา ซึ่งปกติความร้อนจะระบายออกไปผ่านเหงื่อ หรือการหมุนเวียนของเลือดที่พาความร้อนมายังบริเวณผิวหนัง แต่ในกรณีที่เกิดฮีตสโตรกนี้ ร่างกายจะระบายความร้อนไม่ได้ ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสียหายได้

โดยอวัยวะส่วนที่อาจเสียหายได้อย่างที่คิดไม่ถึง ก็คือ สมองและไต

ฮีตสโตรกสามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ แม้เราจะฟื้นจากอาการฮีตสโตรกแล้วก็ตาม โดยมันสามารถสร้างความเสียหายให้กับไตได้ เพราะมันอาจก่อให้เกิดอาการที่เรียกว่า ‘ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย’ หรือ Rhaydomyolysis โดยเฉพาะฮีตสโตรกในแบบที่สอง ที่เกิดจากการออกกำลังกาย 

เวลาที่ร่างกายของเราร้อนจัด กล้ามเนื้อของเรา (โดยเฉพาะกล้ามเนื้อลาย หรือกล้ามเนื้อที่เราควบคุมมันได้ เช่น กล้ามเนื้อแขนขา ฯลฯ) จะสลายตัว และเมื่อเซลล์กล้ามเนื้อพวกนี้สลายตัว มันจะปล่อยโปรตีนที่เรียกว่า ไมโอโกลบิน (Myoglobin) เข้าสู่กระแสเลือด เจ้าไมโอโกลบินนั้นส่งผลเสียต่อไต โดยเฉพาะท่อไต (Tubule) ซึ่งเป็นส่วนที่ทำหน้าที่คอยกรองของเสียออกจากเลือด

ไมโอโกลบินนั้น ถ้าเกิดขึ้นเยอะๆ มันจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย ทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ‘ไมโอโกลบินูเรีย’ (Myoglobinuria) ซึ่งจะสังเกตได้เลยว่า ปัสสาวะของเราจะมีสีเข้มเหมือนกับสีของโคล่า นั่นคือสัญญาณแสดงว่า ไตนั้นเสียหายไปแล้ว และอาจทำให้เกิดภาวะ ‘ไตวาย’ ฉับพลันขึ้นมาได้

เวลาที่เราออกกำลังกายนานๆ เช่น วิ่งมาราธอน หรือปั่นจักรยานทางไกล จะมีคำสอนหนึ่งที่ผู้ฝึกบอกไว้เสมอ คือ ให้ ‘จิบน้ำก่อนกระหาย’ คือต้องจิบน้ำเข้าสู่ร่างกายเอาไว้เรื่อยๆ เพราะนอกจากน้ำจะช่วยระบายความร้อนแล้ว น้ำยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกล้ามเนื้อลายสลายด้วย การจิบน้ำระหว่างออกกำลังกายจึงจำเป็นมาก แต่หลายคนอาจละเลย เพราะไม่สะดวก หรือเห็นว่าเป็นเรื่องของคน ‘เรื่องมาก’ อะไรทำนองนั้น


ฮีตสโตรกยังทำให้เกลือแร่ในร่างกายของเราไม่สมดุลได้ด้วย ซึ่งก็ยิ่งไปเพิ่มภาระให้กับไต ยิ่งถ้าเราไม่จิบน้ำจนมีอาการขาดน้ำ (Dehydration) ก็จะยิ่งไปลดอัตราการไหลของเลือดไปยังไต ไตก็จะกรองของเสียได้ยากขึ้น ดังนั้น ฮีตสโตรกจึงนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ง่ายมาก แต่นอกจากไตวายแล้ว ก็ยังส่งผลต่อการรับรู้ของสมองได้ด้วย

share


นอกจากนี้ ฮีตสโตรกยังทำให้เกลือแร่ในร่างกายของเราไม่สมดุลได้ด้วย ซึ่งก็ยิ่งไปเพิ่มภาระให้กับไต ยิ่งถ้าเราไม่จิบน้ำจนมีอาการขาดน้ำ (Dehydration) ก็จะยิ่งไปลดอัตราการไหลของเลือดไปยังไต ไตก็จะกรองของเสียได้ยากขึ้น ดังนั้น ฮีตสโตรกจึงนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลันได้ง่ายมาก แต่นอกจากไตวายแล้ว ก็ยังส่งผลต่อการรับรู้ของสมองได้ด้วย

เวลาร่างกายของเราร้อนจัดนั้น มักจะเกิดอาการอักเสบ (Imflammation) และเกิดความเครียดในสมอง ทำให้เซลล์ประสาทถูกทำลาย เซลล์เหล่านี้จึงสื่อสารระหว่างกันได้ยากขึ้น ทำให้การรับรู้ (Cognition) ของเราบกพร่อง อาจจะมีอาการสับสน หลงทิศ สูญเสียความทรงจำ ยิ่งถ้าขาดน้ำก็จะทำให้เลือดไหลไปสมองได้น้อยลง ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปอีก ดังนั้น ฮีตสโตรกจึงเป็น ‘ภัยเงียบ’ ที่ต้องจับตาดูให้ดี โดยเฉพาะในฤดูร้อนของไทยที่ร้อนจัดเป็นพิเศษ

วิธีป้องกันฮีตสโตรคนั้นไม่ใช่เรื่องยาก อย่างแรกที่บอกไปแล้ว ก็คือ การจิบน้ำบ่อยๆ คือทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ ไม่ว่าคุณจะออกกำลังกายหรือไม่ก็ตาม, หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล คาเฟอีน และแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการขาดน้ำได้ แม้เราจะรู้สึกเหมือนได้ดับกระหายก็ตาม

นอกจากนี้ ยังควรใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้าที่หลวม เบา เย็นสบาย ใส่หมวกปีกกว้างและแว่นกันแดดด้วย หากต้องออกไปกลางแจ้ง ต้องพักบ่อยๆ ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ในร่ม ใต้ต้นไม้ใหญ่ (ซึ่งมักจะมีอุณหภูมิต่ำกว่ากลางแจ้งราว 4-5 องศา) หรือถ้าเป็นไปได้ ก็ให้แวะเข้าไปในสถานที่ที่ติดแอร์ไปเลย เพื่อช่วยให้ร่างกายเย็นลง และพยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ ในช่วงร้อนๆ ของวัน เช่น ถ้าไปทะเล ก็ไม่ควรไปเล่นน้ำทะเลตอนบ่าย หรืออะไรทำนองนั้น

ที่สำคัญก็คือ ต้องจับสังเกตร่างกายตัวเองด้วย ว่ามีอาการอ่อนล้าหรือเปล่า รู้สึกว่าร่างกายร้อนจัดไปไหม หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ผิดปกติหรือเปล่า หรือรู้สึกสับสนหลงทิศไหม และยิ่งถ้าหากอากาศร้อนมากๆ แต่เหงื่อไม่ไหลเลย ก็อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรบางอย่างได้ หากมีอาการเหล่านี้ ต้องรีบเข้าไปในที่เย็นๆ หรือหากเป็นไปได้ ก็รีบปรึกษาแพทย์ทันที

ขอให้มีความสุขกับฤดูร้อนอย่างปลอดภัยนะครับ



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat