Humberger Menu

เจาะนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคการเมืองไหน แก้ฝุ่น PM 2.5 ได้บ้าง?

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Environment

14 เม.ย. 66

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • นโยบายแต่ละพรรคที่ชูขึ้นมาเพื่อเอาใจประชาชนนอกจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องแล้ว หนึ่งในนั้นคือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจมากขึ้น จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่เชียงใหม่มีคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับ 1 ของโลก
  • ด้วยต้นตอของฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ทางการเกษตรเป็นสาเหตุหลัก รวมไปถึงหมอกควันข้ามพรมแดนจากเพื่อนบ้านด้วย ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด รวมไปถึงรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการและแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน
  • ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งผลอย่างชัดเจนมากขึ้น นโยบายในการแก้ปัญหาที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอต่างมีวิธีที่คล้ายและต่างกันออกไป เราจึงจะพามาเทียบให้เห็นกันชัดๆ โดยคัดเลือกมาทั้งหมด 10 พรรคว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรบ้าง และดูมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน

...


เข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว ที่ปักหมุดวันตัดสินแล้วในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ นโยบายแต่ละพรรคที่ชูขึ้นมาเพื่อเอาใจประชาชนนอกจากเรื่องเศรษฐกิจปากท้องแล้ว หนึ่งในนั้นคือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจมากขึ้น จากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะทางภาคเหนือที่เชียงใหม่มีคุณภาพอากาศแย่ติดอันดับ 1 ของโลก 

ด้วยต้นตอของฝุ่นที่มาจากการเผาไหม้ทางการเกษตรเป็นสาเหตุหลัก ที่ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศ แต่รวมไปถึงหมอกควันข้ามพรมแดนจากเพื่อนบ้านด้วย ทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรที่ต้องลดต้นทุนการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ผลผลิตทางเกษตร รวมไปถึงรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการ และแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน 

เมื่อหันกลับมามองปัญหาฝุ่น PM 2.5 และสิ่งแวดล้อมเริ่มส่งผลอย่างชัดเจนมากขึ้น นโยบายในการแก้ปัญหาที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอต่างมีวิธีที่คล้ายและต่างกันออกไป เราจึงจะพามาเทียบให้เห็นกันชัดๆ โดยคัดเลือกมาทั้งหมด 10 พรรคว่าแต่ละพรรคมีนโยบายอะไรบ้าง และมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน


รวมไทยสร้างชาติ

พรรคที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นแคนดิเดตนายกฯ อาจจะยังไม่เห็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนนัก แต่เมื่อวันที่ 3 เมษายน จากรายการพิเศษ เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ ตอน ตัวเต็ง ของช่อง 3 

โดยมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ และหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ออกมาพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่อง ฝุ่น PM 2.5 ว่า ปัญหา PM 2.5 ปัญหาหลักมาจากควันของรถยนต์และการเผา 2 เรื่อง แต่ที่เป็นปัญหาหนักคือการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน คิดว่าอำนาจหน้าที่หลักหน่วยงานที่มีเกี่ยวข้องนั้นมีอำนาจตามกฎหมายอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ต้องบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งมากขึ้น 

"ส่วนที่ทำแล้ว คือ พลเอกประยุทธ์เริ่มเจรจากับเพื่อนบ้านแล้ว ในเรื่องพวกนี้ต้องขอความร่วมมือที่จะร่วมมือกัน เพราะส่งผลกระทบทุกภูมิภาค ส่วนจำเป็นที่สุดคิดว่าฝุ่นอยู่ในอากาศทางเดียวที่จะให้ลงมาคือฝน เพราะนั้นในทางปฏิบัติ เรื่องอำนาจหน้าที่หรือเรื่องการเจรจา จะต้องเร่งให้มีการจัดทำฝนเทียม เพื่อให้มีการชะล้าง"

พีระพันธุ์เล่าอีกว่า ในช่วงหนึ่งที่จะมีการนำน้ำไปพ่นในช่วงที่เกิดสถานการณ์แรกๆ นั้นคือการดำเนินการ ซึ่งไม่สามารถนำเครื่องพ่นน้ำเหล่านี้ไปดำเนินการได้หมด เพราะฉะนั้นจะต้องทำให้ฝุ่นละอองมาลงดิน 

ในบางเรื่องยอมรับว่ากลไกรัฐมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้อำนาจทางกฎหมายด้วย แค่ไม่ใช่แค่ทำตรงนี้แล้วจบ ต้องมีการประสานความร่วมมือและเจรจาด้วย 


ไม่ใช่นึกจะทำ แล้วทำเลย สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบทุกเรื่อง และต้องคำนึงถึงเหตุจำเป็นในการห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรที่ผ่านการเผาด้วย
share


ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พลเอกประยุทธ์ ได้เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายระหว่าง สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีลาว และ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำพม่า เรื่องการจัดการปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนผ่านระบบ video conference 

โดยสรุปว่ามีการทำแผนมาตรการระยะยาว ปี 2567-2570 เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษในระดับทวิภาคี และไทยจะเสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ให้ผู้นำอาเซียนพิจารณาสั่งการ เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมละรอบด้าน และได้เสนอให้ทั้ง 3 ประเทศรวมถึงอาเซียน ร่วมมือแก้ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน โดยยังคงเน้นไปที่การร่วมลดจุดความร้อน ใช้กลไกทุกระดับ และแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายของแต่ละประเทศเพื่อควบคุมต้นตอ และช่วยเหลือเกษตรกร



พลังประชารัฐ

จากเวทีปราศรัย “พลังใหม่ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ" สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ได้ประกาศเอาไว้แล้วว่า หากได้เข้ามาเป็นรัฐบาลปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะต้องได้รับการแก้ไขทั้งพื้นที่กรุงเทพฯ และทั่วประเทศ

ส่วนนโยบายที่โดดเด่นของ พรรคพลังประชารัฐ คือนโยบาย ‘มีเรา ไม่มีแล้ง มีน้ำ ไม่มีจน’ และ ‘มีเรา มีที่ทำกิน มีที่ดิน ไม่มีจน’ เป็นนโยบายบริหารจัดการน้ำ ที่ดินทำกิน ซึ่งพลเอกประวิตรทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มาเนิ่นนาน เรียกว่าเป็นส่วนที่ดูแลอยู่แล้วก็ว่าได้

โดยนโยบายการบริหารจัดการน้ำ มีทั้งเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุน การกักเก็บน้ำ เพิ่มแหล่งน้ำสำรอง และแหล่งน้ำทางเลือก โดยพลเอกประวิตรมอบเป็นภารกิจให้ทุกคนในพรรคนำไปสู้กับภัยแล้ง น้ำท่วม และจัดการเรื่องที่ดิน ให้ประชาชนมีที่ดินเป็นของตนเอง และเข้าไปใช้ทำกินได้ เพื่อมีความเป็นอยู่ที่ดี 

ส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น นโยบายเมืองอัจฉริยะสีเขียว สิทธิที่ดินทำกิน โดยเฉพาะเกษตรกร และการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว ครอบคลุมถึงการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงาน และการท่องเที่ยว


ภูมิใจไทย

พรรคภูมิใจไทยมีนโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชน 2 ข้อหลักคือ

1. ฟรี โซลาร์เซลล์ หลังคาบ้าน ลดค่าไฟฟ้า หลังคาเรือนละ 450 บาท

2. รับสิทธิซื้อ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ราคา 6,000 บาท ผ่อนจ่ายเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 งวด

นอกจากนี้เมื่อ 9 เมษายน 2566 ที่จังหวัดเชียงราย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ต้องตั้งทีมไปพูดคุยกันอย่างจริงจัง และต้องคิดไปไกล มองว่าถ้าเขาไม่หยุด ต้องเล่นไม้แข็ง

"เรื่องฝุ่นแบบนี้ ผมจะไปคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เผาข้าวโพด เผานู่นเผานี่ ถ้ายังจะทำ ก็ไม่ต้องมาขายเรา ปัญหาที่เกิดขึ้น มันไม่ได้อยู่ที่ประเทศไทย เราเผากันน้อย มีความรับผิดชอบ แต่เขาเผากันมาก ถ้าเล่นไม้แข็ง อย่างไร เขาต้องฟังเรา ส่วนคนไทย ที่ไปจ้างเขาทำเกษตรกรรม ไปให้เขาเผา ถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็ไม่ต้องไปซื้อของเขา เราพูดได้ เพราะเราไม่ใช่ทาสพ่อค้า เรารับใช้ประชาชน"


ประชาธิปัตย์

มีนโยบายครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน กฎหมายสิ่งแวดล้อมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการขยะ การจัดการคุณภาพอากาศ และป่าไม้และสัตว์ป่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการส่งเสริมภาคเกษตรกรเพื่อลดการก่อมลพิษ โดยมีนโยบายที่สำคัญคือ

  • โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภาคประชาชน เพื่อให้ทุกครัวเรือน สามารถผลิตและส่งขายไฟฟ้าให้รัฐได้ 
  • ทบทวนกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม และบทลงโทษ ที่ต้องชดใช้ความเสียหายสอดคล้องกับผลกระทบที่เกิด
  • มีสารวัตรสิ่งแวดล้อมทั้งจากภาครัฐและเอกชน ทั้งโดยอาสาสมัครหรือเป็นเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่คอยสอดส่องดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม
  • ใช้มาตรการจูงใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เช่น ลดการใช้พลาสติก และจัดเก็บภาษีขวดและถุงพลาสติกเพื่อเพิ่มรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น และจัดการขยะอุตสาหกรรมผ่านนโยบายภาษี เป็นต้น
  • สนับสนุนให้มีการฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม 
  • ผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในกระบวนการจัดเก็บ และขนส่งขยะ กำหนดให้มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์เมื่อหมดอายุการใช้งาน ภายใต้หลักการความรับผิดชอบเป็นของผู้ผลิต
  • กำหนดมาตรการและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพัฒนาการแก้ข่าวสาร เปิดช่องทางรับฟังข้อคิดเห็นต่อปัญหาภาวะมลพิษทางอากาศ
  • เร่งรัดมาตรการลดการเผาไร่ ตอซังข้าว โดยมีการรณรงค์ ส่งเสริม และมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อจูงใจให้ลดและเลิกการเผา 
  • เร่งเพิ่มพื้นที่ป่าให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 160 ล้านไร่ 


ชาติไทยพัฒนา

มาถึงพรรคโลโก้ประเทศไทยสีชมพู โดยมี วราวุธ ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ที่พรรคได้ออกนโยบายสิ่งแวดล้อมออกมาเพื่อก้าวสู่ ‘ประเทศที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทย’ ดังนี้

1. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy): การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของประเทศในอนาคต และทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ และเติบโตพร้อมกับความยั่งยืนของโลก

2. พลังงานสะอาด: พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด เป็นพลังงานหลักของประเทศ ภายใน ค.ศ. 2030

3. เมืองสีเขียว: การพัฒนาทุกจังหวัดให้น่าอยู่ น่าเที่ยว ประชาชนมีความสุขทั้งกายและใจ และมีสวนสาธารณะที่มีคุณภาพ

4. สิ่งแวดล้อมสีเขียว: การพัฒนาให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่ดี มีป่าไม้ แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

5. ท่องเที่ยวยั่งยืน: พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดูแลสภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

6. อาหารแห่งอนาคต: พัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอาหารคุณภาพ และอาหารสุขภาพ ในราคาที่จับต้องได้

7. เกษตรสีเขียว: ยกระดับเกษตรกรด้วยนวัตกรรมสีเขียว พัฒนาผลผลิตที่ดีควบคู่ความยั่งยืนของชุมชนและสภาพแวดล้อม รวมถึงถ่ายทอดภูมิปัญญาผ่านปราชญ์ชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการเกษตร


ชาติพัฒนากล้า

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้ชูนโยบายยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี หนึ่งในนั้นคือ นโยบาย ‘พันธบัตรป่าไม้’ ในการเพิ่มพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ หรือ 26 ล้านไร่ มูลค่า 65,000 ล้านบาท รวมถึงสร้างรายได้เกษตรกรโดยปลูกป่าไม้เศรษฐกิจทดแทนการปลูกข้าวโพดของเกษตรกร   

ทั้งนี้ พันธบัตรป่าไม้ เป็นกลไกทางการคลังรูปแบบใหม่ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงปัจจัยการผลิตเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ป่าและระบบนิเวศป่าไม้อย่างยั่งยืน ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน เงินทุน และความต้องการใช้ไม้เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การแก้ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยการระดมทุนและทรัพยากรจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เนื่องจากการปลูกป่าเศรษฐกิจเป็นการดำเนินธุรกิจที่มี ผลกำไรจึงทำให้การปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรเพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว



เพื่อไทย

นโยบายสิ่งแวดล้อมที่พรรคเพื่อไทยมุ่งเน้นเรื่องการทวงคืนอากาศสะอาดและแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ทุกต้นตอ โดยระบุว่าปัญหาฝุ่นกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ต้องเร่งแก้ไขปัญหาทันที ทั้งยังเคยยื่นร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ฉบับของพรรคเพื่อไทยแต่เนื่องจากถูกพิจารณาเป็นกฎหมายการเงินทำให้ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลก่อน ส่งผลให้กฎหมายนี้ไม่ได้เข้าสภาผู้แทนราษฎร

นพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ปัญหาค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เห็นว่าเรื่องนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดทั้งระยะสั้น กลาง และระยะยาว หากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ปัญหาโดย 

1. เข้มงวดห้ามเผาป่า เผาไร่ เช่น อ้อย ข้าวโพด และของเหลือจากผลิตผลทางการเกษตรอย่างเคร่งครัด พร้อมกับดำเนินนโยบายปลูกป่าเศรษฐกิจขนานใหญ่ ได้ทั้งการแก้ปัญหาโลกร้อนและซับฝุ่น PM 2.5

2. เร่งแก้ไขปัญหาฝุ่นไร้พรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเจรจากับมิตรประเทศ เพื่อร่วมมือกันกำจัดฝุ่นที่ต้นตอ ไม่ให้มีปัญหาเผาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวโพด อ้อย พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีนำซากผลผลิตทางการเกษตรมาทำปุ๋ยหรือพลังงาน

3. เปลี่ยนรถโดยสารประจำทางเครื่องยนต์ดีเซลในกรุงเทพมหานครที่มีประมาณ 7,000-8,000 คัน เป็นรถ EV ตั้งเป้าภายใน 4 ปี หากทำได้จะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เบาบางลงอย่างมาก รวมทั้งตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานในจังหวัดรายล้อมกรุงเทพฯ อย่างเข้มงวด เข้มงวดหน่วยงานก่อสร้าง

4. สร้างรายได้จากอุตสาหกรรมใหม่ หรืออุตสาหกรรมสีเขียว โดยเร่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตรถไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ เช่น ผลิตชิ้นส่วน แบตเตอรี่ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงรถไฟฟ้าในราคาสมเหตุสมผล ลดการใช้รถสันดาปภายใน และจะแก้ไขปัญหาขีดความสามารถของประเทศ และยังช่วยลดแหล่งกำเนิด PM 2.5 ได้อย่างเป็นระบบ

5. ผลักดันร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล เพื่อวางโครงสร้างทางกฎหมายเพื่ออากาศสะอาดของประชาชน เพราะอากาศสะอาดเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ในการพัฒนาและสนับสนุนเกษตรกร เช่น อุปกรณ์การเก็บเกี่ยว และการเพิ่มรายได้หรือลดต้นทุน ส่วนด้านประมง จะมีการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลรวมถึงเศรษฐกิจประมง และการเจรจาข้อตกลงต่างๆ กับต่างชาติ 


ก้าวไกล

ด้านพรรคก้าวไกล เปิดนโยบาย ‘สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า’ด้วยการตั้งโพเดียมให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนแถลงกลางน้ำเชิงสัญลักษณ์ เพื่อสื่อสารว่าปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน โดยมีนโยบายดังนี้


  1. เร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

  • ด้านการผลิตไฟฟ้า: เปิดตลาดเสรี ส่งเสริมไฟฟ้าสะอาดพลังงาน
  • ด้านการเกษตร: ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้
  • ด้านอุตสาหกรรม: จำกัดการปล่อยมลพิษอุตสาหกรรม
  • ด้านการขนส่ง: ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด
  1. รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี

  • ‘วันขนส่งฟรี’ รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว
  • เปลี่ยนรถไฟดีเซลเก่าเป็นไฟฟ้า
  • ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี ปีละครั้ง
  • ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง
  1. ด้านขยะอาหาร: Zero Food Waste กำจัดขยะอาหารเหลือทิ้ง

  • เพิ่มค่าขยะอาหารในห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ-เก็บข้อมูล-ทำบัญชีขยะอาหาร
  • อาหารเหลือทิ้งแลกสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมให้ชุมชนทำปุ๋ยจากอาหารเหลือทิ้ง เพื่อเป็นคูปองซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ ขยะเหลือทิ้ง 1 กิโลกรัม แลกได้ 1 บาท
  1. ด้านพื้นที่สีเขียว: ป่าแลกเงิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว

  • ต้นไม้ปลดหนี้ รัฐจ่ายหนี้ค้างให้เกษตรกร ในฐานะค่าเช่า แลกกับใช้ที่ดินของเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้น
  • ต้นไม้บำนาญ คนปลูกได้รับรายได้เป็นรายเดือน 1,200 บาท/ไร่/เดือน เป็นเวลา 20 ปี
  • ต้นไม้ทุนรัฐบาล อุดหนุนงบเกษตรกรปลูกป่า 4,000 บาท/ไร่ ในช่วงเวลา 3 ปี
  • ต้นไม้ชุมชน อุดหนุนปลูกป่าชุมชน 4,000 บาท/ไร่/ปี จำนวน 1,000 ชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยการเพิ่มงบท้องถิ่น ผ่านนโยบายทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า
  1. ช่วยประชาชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นแล้ว

  • กองทุนปรับตัวรับมือภัยพิบัติ-น้ำท่วม
  • เตือนภัยทั่วถึง ครอบคลุมทุกท้องถิ่น 
  • ทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดรายลุ่มน้ำ
  • ศูนย์พักพิง-อพยพมีมาตรฐาน ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณ
  • ชดเชยเป็นธรรมและทันควัน
  • ประกันภัยพืชผลฟรี ในทุกพื้นที่รับน้ำ

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังมีนโยบายสิ่งแวดล้อมในมิติอื่นๆ ที่จะเปิดอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดการขยะ ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ปัญหาช้างป่า ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหามลพิษทางแสง

 

ไทยสร้างไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เสนอมาตรการเร่งด่วน ที่ต้องทำทันที ทั้งในต่างจังหวัด และในกรุงเทพ คือ 

1. ระดมหน่วยงานรัฐเอาจริงกับการจัดการไฟป่า

2. สนับสนุนให้งบประมาณ และเครื่องมือในการดับไฟกับอาสาสมัครภาคประชาชนดับไฟป่าอย่างเต็มที่

3. ในช่วงที่มีฝุ่นพิษมากในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานควรเร่งทำฝนหลวงหรือฝนเทียมเพื่อชะล้างบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ แทนการมาฉีดน้ำเป็นจุดๆ

4. เร่งเจรจาและสร้างความร่วมมือร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษด้วยกันอย่างจริงจัง

5. เร่งวางแผนดำเนินการรวมกลุ่มเกษตรกร และสนับสนุนจัดหาเครื่องมือทางการเกษตร เพื่อลดการเผาอย่างจริงจัง ทั้งรถไถ เครื่องมือ เก็บเกี่ยว และเครื่องมือที่มีความจำเป็น รวมทั้งสนับสนุนให้เอกชนซื้อเศษซากผลิตผลทางการเกษตร จากเกษตรกร เพื่อนำไปทำพลาสติกชีวภาพ (bioplastic) 

สำหรับมาตรการเร่งด่วนในเขตเมือง

1. ต้องจับรถควันดำ ปรับทันทีที่เข้ามาวิ่งอย่างจริงจัง 

2. ต้องควบคุมการก่อสร้างรถไฟฟ้าอาคารใหญ่ให้เอาเศษผงปูนและวัสดุที่ทำให้เกิดฝุ่นออกจากพื้นที่ก่อสร้างในเมืองทันที

3. สลับเวลาเหลื่อมเวลาการทำงานและการเรียน รวมทั้งออกมาตรการขอความร่วมมือ อย่างจริงจัง ให้สถานที่ทำงานและโรงเรียนที่มีความพร้อมทำ work from home หรือ learn from home ในช่วงที่มีค่าฝุ่นพิษสูง

4. เร่งวางมาตรการให้เปลี่ยนรถสาธารณะทั้งหมดให้ใช้เครื่องยนต์อีวี ทำได้ทั้งการเปลี่ยนเครื่องยนต์ ให้รถเก่า รวมทั้งลดภาษีรถยนต์ EV ที่ผลิตภายในประเทศสูงสุด 250,000 บาท และผลิตภายนอกประเทศสูงสุด 150,000 บาท 

5. ยกเลิกการเก็บภาษีหน้ากาก N95 และให้รัฐอุดหนุนเพื่อให้คนซื้อหน้ากากในราคาถูกสำหรับผู้ที่มีฐานะยากจนให้แจกฟรี

6. การปลูก ต้นไม้ในเมือง และปลูกป่ารอบกรุงเทพฯ ที่สำคัญต้องเร่งพระราชบัญญัติอากาศสะอาดออกมาให้เร็วที่สุด

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 คุณหญิงสุดารัตน์ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย สุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย ได้หารือถึงปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชนในลาว และไทย กับ เพชร พรมภิทักษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ลาว ซึ่งเห็นปัญหาตรงกันว่าเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขร่วมกัน 


เสรีรวมไทย

พรรคเสรีรวมไทย ให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้าราคาถูกสำหรับประชาชน รวมถึงมีนโยบายเกี่ยวกับการใช้พลังงานสะอาด และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ส่วนด้านเกษตรมีแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมอย่างยั่งยืน 


อ้างอิง : springnews.co.th, thaipost.net, tdri.or.th



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

เปิดตัว ‘พรรคประชาชน’ พรรคส้มร่างที่สาม วางเป้าตั้งรัฐบาลพรรคเดียว 2570

สรุปคดีสำคัญการเมืองไทย 18 มิ.ย. คดีไหนยังไม่จบ คืบหน้าถึงไหนแล้วบ้าง

มาตรา 112 บนถนนสายก้าวไกล อวสานพรรคส้ม?

5 ปรากฏการณ์สำคัญ 365 วัน หลังเลือกตั้ง 66 การเมืองไทยไปข้างหน้า หรือวนอยู่ที่เดิม

ก้าวเดินต่อบนหลักการ ในเส้นทางการเมืองที่ระบุสีไม่ได้ของ ‘กุ้ง-ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์’

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat