คนไทยเกี่ยวอะไรกับเทศกาลหนังโลก? : มอง ‘ภาพ’ สะท้อนผ่าน Cannes Film Festival และวัฒนธรรมภาพยนตร์บ้านเรา
...
LATEST
Summary
- Moving Frame เป็นคอลัมน์ความเรียงว่าด้วยมุมมอง-ความรู้สึกที่ เฟรม ธีพิสิฐ บรรณาธิการไลฟ์สไตล์และวัฒนธรรมของไทยรัฐพลัส มีต่อ ‘ภาพ’ ของเหตุการณ์รอบข้างที่กำลังเคลื่อนไหวในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์และสื่อบันเทิงที่เขาได้สัมผัสมาตลอดชีวิต
- โดยในสัปดาห์นี้ เฟรมชวนย้อนมอง ‘ภาพ’ ของ Cannes Film Festival หรือ ‘เทศกาลหนังเมืองคานส์’ ที่กำลังจัดขึ้น ซึ่งคนทั่วไปมักมีภาพจำเกี่ยวกับการร่วมเดินพรมแดงของดาราบ้านเรา มากกว่าการจัดฉายหนังจากทั่วโลกในสายประกวด อีกทั้งยังมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไกลตัว จนไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับคนไทยอย่างเรา – ว่าแต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
...
Cannes Film Festival หรือที่คนบ้านเราเรียกกันติดปากว่า ‘เทศกาลหนังเมืองคานส์’ เพิ่งกลับมาจัดเป็นครั้งที่ 76 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะยิงยาวไปจนถึงวันที่ 27 นี้
แน่นอนว่า หากลองสอดส่องไปตามหน้าข่าวของสื่อไทย สิ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป คงหนีไม่พ้น ‘ภาพ’ การร่วมเดินพรมแดงของดาราดังบ้านเราอย่าง ชมพู่-อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ขาประจำ’ ทุกปีของงานนี้ โดยมีไฮไลต์อยู่ตรงชุดสุดอลังการที่เธอสวมใส่ไปประชันกับนักแสดงระดับโลกจากประเทศต่างๆ
และก็เป็นข่าวแฟชั่นการร่วมเดินพรมแดงของเธอนี่เอง ที่กลบข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับตัวงานไปเสียหมด จนทำให้หลายคนเกือบลืมไปแล้วว่า แก่นสารที่แท้จริงของ Cannes Film Festival คือการมีสถานะเป็น ‘เทศกาลหนังนานาชาติ’ และ ‘เวทีการประกวดภาพยนตร์ระดับโลก’ ของทั้งคนทำหนังและคนดูหนัง
ที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะสิ่งที่คนไทยอย่างเราน่าจะรู้สึก ‘เชื่อมโยง’ ด้วยได้มากที่สุด ก็คือการปรากฏตัวบนพรมแดงของดาราสาวท่านนั้นท่านนี้จากบ้านเรา (แม้ว่าพวกเธอจะไม่เคยมีผลงานหนังไปเข้าร่วมในเทศกาลแบบนักแสดงบ้านอื่นเลยก็ตาม) หาใช่การจัดฉายหรือการช่วงชิงรางวัลสายภาพยนตร์ในงานนี้ ที่ล้วนมีแต่ชาวต่างชาติยึดครองพื้นที่เป็นหลัก
และนี่ก็น่าจะเป็นความรู้สึก ‘เหินห่าง’ แบบเดียวกับที่คนไทยมีต่อเทศกาลหนังยักษ์ใหญ่อื่นๆ อย่างเทศกาลหนังเวนิซ (Venice Film Festival) ที่ประเทศอิตาลี และเทศการหนังนานาชาติเบอร์ลิน (Berlin International Film Festival) ที่ประเทศเยอรมนี
โดยคำถามหนึ่งที่น่าจะผุดขึ้นมาในหัวของเรา เวลาที่ได้เห็นข่าวเทศกาลหรือเวทีประกวดหนังของบ้านเมืองอื่น ก็คือ ทำไมเราถึงต้องรับรู้หรือสนใจในกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่ ‘ไกลตัว’ เหล่านี้ด้วยเล่า?
แล้วเทศกาลหนังโลกพวกนี้มันมาเกี่ยวพันอะไรกับชีวิตของคนไทยอย่างเราด้วย?
ข่าวแฟชั่นการร่วมเดินพรมแดงของเธอนี่เอง ที่กลบข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับตัวงานไปเสียหมด จนทำให้หลายคนเกือบลืมไปแล้วว่า แก่นสารที่แท้จริงของ Cannes Film Festival คือการมีสถานะเป็น ‘เทศกาลหนังนานาชาติ’ และ ‘เวทีการประกวดภาพยนตร์ระดับโลก’ ของทั้งคนทำหนังและคนดูหนัง
หากให้ตอบคำถามนี้อย่างตรงไปตรงมา – เทศกาลหนังเมืองคานส์นั้นเกี่ยวพันกับเราตรงที่ ‘คนทำหนังไทย’ จำนวนหนึ่งได้เคยเข้าไปมีบทบาท และถึงขั้นชนะรางวัลใหญ่ในเทศกาลหนังเมืองคานส์กันมาแล้วด้วยซ้ำ
นับจากการได้เข้าไปฉายโชว์ของหนังไทยบางเรื่องในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น หนังเก่าจากยุค 50 ที่ถูกค้นพบและได้รับการบูรณะอย่าง ‘สันติ-วีณา’ (Santi-Vina) ในปี 2016 และกลุ่มหนังสั้นสี่เรื่องที่สะท้อนภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่าง Ten Years Thailand ในปี 2018
การได้เข้าชิง (และชนะ) รางวัลในสายประกวด Un Certain Regard ของหนังไทยหลายเรื่อง ทั้ง ‘ฟ้าทะลายโจร’ (Tears of the Black Tiger) โดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ซึ่งถือเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าสายประกวดนี้ในปี 2001, ‘สุดเสน่หา’ (Blissfully Yours) โดย เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่สามารถคว้ารางวัลไปได้ด้วยในปี 2002 และ ‘นางไม้’ (Nymph) โดย เป็นเอก รัตนเรือง ที่มีโอกาสได้เข้าไปชิงชัยในปี 2009
ไปจนถึงการคว้ารางวัลใหญ่สุดในเทศกาลปี 2010 อย่าง ‘ปาล์มทอง’ (Palme d’Or) ของ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) โดยอภิชาติพงศ์ ผู้เคยเข้าชิงในสายประกวดหลักจาก ‘สัตว์ประหลาด!’ (Tropical Malady) มาแล้วเมื่อปี 2004 โดยชนะรางวัล Jury Prize และกลายมาเป็นคนทำหนังสัญชาติไทยที่ยังคงได้รับการยกย่องจากคนในแวดวงหนังโลกมาจนถึงปัจจุบัน สืบเนื่องด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการบอกเล่าเรื่องราวเหนือจริง ที่ผสมผสานระหว่างบรรยากาศเรื่องเล่าแบบไทยๆ กับประเด็นคำถามต่อชีวิตและความเป็นมนุษย์อันเป็นสากลในหนังของเขา
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เทศกาลหนังเมืองคานส์มีความเกี่ยวข้องกับเราชาวไทยมาไม่น้อย และไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่ใครคิด
แต่หลายคนก็อาจยังมีคำถามถัดมาอีกว่า ในเมื่อทุกวันนี้ หนังไทยของเราแทบไม่สามารถฟันฝ่าไปเฉิดฉายอยู่บนเวทีแห่งนี้ได้เหมือนเมื่อในทศวรรษก่อน แล้วเหตุใดเราถึงยังต้องใส่ใจเทศกาลโลกเหล่านี้อยู่อีก?
คำตอบก็คือ เพราะคนทำหนังไทยยังคง ‘ทำหนัง’ กันต่อไปอย่างไม่เคยหยุดยั้ง เช่นเดียวกับคนทำหนังในบ้านเมืองอื่น ฉะนั้น การให้ความสนใจกับเทศกาลหนังระดับโลกอย่างคานส์ จึงยังมีความสำคัญต่อพวกเขา เนื่องจากมันเป็นกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมระดับโลก ที่ช่วยให้คนทำหนังบ้านเราได้เห็นว่า คนทำหนังบ้านอื่นเขา ‘ไปถึงไหนต่อไหน’ กันแล้วบ้าง
ทั้งในแง่ของศิลปะการเล่าเรื่องอันหลากหลาย และประเด็นทางสังคมที่คนในแต่ละพื้นที่ของโลกกำลังสนใจ ตั้งคำถาม และต้องการที่จะแบ่งปันเพื่อให้คนดู -ในฐานะพลเมืองโลก- มาร่วมกันสร้างบทสนทนาเพื่อหาคำตอบ
การได้ทำความรู้จักหนังที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้อันเปิดกว้างเหล่านี้ จะช่วยให้เราได้ย้อนกลับมามองวัฒนธรรมการดูหนัง หรือกระทั่งปัญหาต่างๆ ในสังคมของบ้านเราเอง ว่าพลเมืองอย่างเรา -ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังหรือคนดูหนัง- จะสามารถช่วยกันค้นหาหนทางแก้ไข เปลี่ยนแปลง และผลักดันให้เกิดทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตหรือระบบสังคมที่อาจดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไรบ้าง
และก็แน่นอนว่า ไม่เฉพาะ ‘คนทำหนัง’ เท่านั้น แต่เทศกาลเหล่านี้ก็ยังมีความสำคัญต่อ ‘คนดูหนัง’ ด้วยเช่นกัน
เพราะหากคนดูในบ้านเรา เอาแต่สนใจรับชมแค่หนังเพียงไม่กี่แนว หรือหนังที่เป็นไปตามสูตรสำเร็จเท่านั้น เราก็คงจะไม่มีวันได้สัมผัสและตระหนักรู้เลยว่า ‘ความเป็นไปได้ใหม่ๆ’ ในการเล่าเรื่องด้วยสื่อภาพยนตร์ มันสามารถขยับขยายไปได้อย่างกว้างขวางมากแค่ไหน และผู้คนในประเทศโลกอื่นเขากำลังพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงเรื่องอะไรผ่านสื่อศิลปะอย่าง ‘ภาพยนตร์’ กันอยู่บ้าง
การได้ทำความรู้จักหนังที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้อันเปิดกว้างเหล่านี้ จะช่วยให้เราได้ย้อนกลับมามองวัฒนธรรมการดูหนัง หรือกระทั่งปัญหาต่างๆ ในสังคมของบ้านเราเอง ว่าพลเมืองอย่างเรา -ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังหรือคนดูหนัง- จะสามารถช่วยกันค้นหาหนทางแก้ไข เปลี่ยนแปลง และผลักดันให้เกิดทางเลือกอื่นๆ ในชีวิตหรือระบบสังคมที่อาจดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ได้อย่างไรบ้าง
ดังนั้น การใส่ใจกับความเป็นไปของ ‘ภาพยนตร์’ ในเทศกาลหนังโลกแต่ละปี จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตของมนุษย์เราในมิติต่างๆ อย่างที่เราอาจไม่เคยตระหนักรู้มาก่อน
และเผลอๆ การได้ตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว ก็อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต -ทั้งภายในและภายนอกตัวเอง- ยิ่งกว่าการเสพข่าวการเดินพรมแดงของดาราท่านนั้นท่านนี้เป็นไหนๆ
