4 ปี บังคับสูญหาย สยาม ธีรวุฒิ เส้นทางความยุติธรรม และแนวทางใหม่ใต้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ
...
LATEST
Summary
- สยาม ธีรวุฒิ หรือสหายข้าวเหนียวมะม่วง หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีหมายจับข้อหามาตรา 112 จากการแสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ โดยถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2562 พร้อมกับ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด
- ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มีการวินิจฉัย พ.ร.บ.อุ้มหาย ว่าการออก พ.ร.ก. เลื่อนการบังคับใช้บางมาตราใช้เพราะตำรวจไม่พร้อม ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้ พ.ร.บ.อุ้มหาย บังคับใช้แล้วทั้งฉบับ
- ‘4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ: เส้นทางการตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้ พ.ร.บ. ทรมาน-อุ้มหาย’ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
...
ภาพ: มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
8 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบ 4 ปีของการหายตัวไปของ สยาม ธีรวุฒิ หรือ สหายข้าวเหนียวมะม่วง หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีหมายจับข้อหามาตรา 112 จากการแสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ โดยถูกบังคับสูญหายไปพร้อมกับ ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง และกฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด
จากวันแรกที่ทราบข่าวจนถึงวันนี้ ครอบครัวของสยามได้เดินหน้าทวงถามข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและความเป็นไปกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
เป็นที่มาของเสวนา ‘4 ปี การบังคับสูญหายสยาม ธีรวุฒิ: เส้นทางการตามหาความยุติธรรมและแนวทางใหม่ใต้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย’ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ที่ปีนี้ดูมีความหวังกว่าที่เคย
ร่วมพูดคุยโดย กัญญา ธีรวุฒิ มารดาของสยาม ธีรวุฒิ, มนทนา ดวงประภา ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และรณกรณ์ บุญมี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินรายการโดย ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
เป็นโอกาสดีหลังจากคนไทยทราบผลการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ตามด้วยการประกาศ MOU จากพรรคร่วมรัฐบาลทั้งแปดในวันครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร รวมถึงเมื่อ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากในการวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (พ.ร.บ.อุ้มหาย) พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ พ.ร.บ.อุ้มหาย มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เสียงจากแม่ผู้ลี้ภัย 112 ที่หายตัวไป 4 ปี
“ในเมื่อเขาต้องการตามล่าขนาดนี้ แสดงว่าหนูไปเล่นละคร ไปฆ่าตัวเอกเขาตายหรืออย่างไร หนูถึงต้องโดนถึงขนาดนี้”
“ตัวเอกนั้นแม่ก็ไม่รู้ว่าเขาคือใคร แต่ที่แน่ๆ คนที่ออกหมายจับคงต้องการไม่ให้หนูแสดงอะไรที่ขัดใจหรือขัดลูกนัยน์ตาเขาเป็นแน่ เพราะฉะนั้นก็หนีไปเถอะ แม่ทำใจได้” กัญญา ธีรวุฒิ กล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน การที่คนไทยจะสามารถพูดถึงปัญหาของสถาบันกษัตริย์ในที่สาธารณะนั้นเป็นไปได้ยาก การถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ณ พ.ศ. นั้น เป็นเรื่องไม่พึงประสงค์สำหรับนักกิจกรรมการเมืองหลายคน
การหลบหนีออกนอกประเทศกลายเป็นทางเลือกแรกซึ่งนักกิจกรรมที่ไม่ต้องการสู้ในกระบวนการยุติธรรมที่พวกเขากังขา ตัดสินใจโดยไม่ลังเลว่ายอมลำบากในต่างแดนดีกว่าตกเป็นผู้ต้องหา และประหนึ่งถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดตั้งแต่ยังไม่ขึ้นศาล
แต่การต้องอยู่อย่างหลบซ่อนก็มีความเสี่ยง หลังจากกัญญาและครอบครัวคนอื่นๆ ได้ไปพบสยามครั้งสุดท้ายที่ประเทศลาวเมื่อปลายปี 2559 ต้นปี 2562 อาจเป็นการติดต่อกันครั้งท้ายๆ ระหว่างน้องของสยามและตัวเขา เพราะจากนั้นในเดือนพฤษภาคม ครอบครัวของ สยาม ธีรวุฒิ ก็ทราบข่าวว่าเขาและเพื่อนถูกจับกุมที่เวียดนามและส่งตัวให้ทางการไทย และนั่นคือครั้งสุดท้ายที่ครอบครัวได้ข่าวเกี่ยวกับสยาม
“ลูกของแม่หายไป 4 ปีแล้ว ไม่ทราบว่าใครจะช่วยและเรียกร้องให้เราพบความสำเร็จ ปีหน้าก็จะครบ 5 ปีแล้ว มีแต่น้ำตาที่ให้คำตอบ คงไม่เจอ หายไปจากชีวิตแม่จริงๆ เจ็บปวดนะ ถ้าเกิดแบบนี้กับใคร คงต้องเสียใจเหมือนแม่”
ลำดับเหตุการณ์กรณีสยาม ธีรวุฒิ
14 ตุลาคม 2556 สยาม ธีรวุฒิ ร่วมเล่นละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ในงานรำลึก 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
22 พฤษภาคม 2557 คสช. ทำรัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
9 พฤษภาคม 2562 ครอบครัว สยาม ธีรวุฒิ ทราบข่าวการจับกุมตัวสยามและพวกโดยทางการเวียดนามและส่งให้ทางการไทย
10 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามเดินทางไปกองบังคับการปราบปรามที่เป็นต้นสังกัดของพนักงานสอบสวนผู้ขอออกหมายจับ เพื่อยืนยันและตรวจสอบว่ามีการจับกุมตัวสยามกลับมาหรือไม่
13 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามยื่นเรื่องต่อสถานทูตเวียดนามเรียกร้องให้ตรวจสอบกรณีการจับกุมสยามและพวก
14 พฤษภาคม 2562 ครอบครัวสยามเข้าให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการหายตัวของสยามต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เพื่อให้ติดตามกรณีนี้
8 ธันวาคม 2565 กัญญา ธีรวุฒิ ขอใช้สิทธิความเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
กุมภาพันธ์ 2566 คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายยกคำขอ ให้เหตุผลว่า กัญญาหรือสยามไม่ใช่ผู้เสียหายตาม พ.ร.บ. นี้ เพราะไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสยามถึงแก่ชีวิตหรืออาจมีอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ
24 มีนาคม 2566 ครอบครัวสยามยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการฯ
ยูเอ็นห่วง ความร่วมมืออุ้มหายระดับอาเซียน
จากบริบทในประเทศไทยที่มีรัฐประหารเมื่อปี 2557 ทำให้เกิดการเคลื่อนของการอพยพลี้ภัย เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าหลังรัฐประหาร มีคนกว่า 100 คนเคลื่อนตัวเองออกจากประเทศไทย
กรณีของสยาม รวมถึงอีก 5-6 คน กรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายเกิดขึ้นหลังจากเกิดรัฐประหาร
ขณะเดียวกัน บริบทในระดับภูมิภาค มนทนา ดวงประภา ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงรายงานของสหประชาชาติโดยผู้เชี่ยวชาญที่ออกหนังสือมาถึงรัฐบาลของประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามว่า การบังคับบุคคลให้สูญหายที่เกิดจากการลี้ภัยเกิดขึ้นเพราะความร่วมมือระหว่างรัฐ มนทนา ให้ข้อมูลว่า
ในรายงานบอกว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐอาจจะเกิดขึ้นจากการประสานงานกัน การช่วยเหลือกัน หรือจากการอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลย เพื่อให้เกิดการลักพาตัวหรือนำตัวบุคคลเป้าหมายของประเทศตนเองออกไปจากประเทศ หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งบนพื้นดินของประเทศนั้นๆ เอง
กรณีของ ป้าน้อย-ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ครอบครัวของสุรชัย หรือกรณีสยาม ก็เป็นเคสที่สหประชาชาติแสดงความห่วงใยมาถึงประเทศไทยว่า ควรมีการสืบสวนสอบสวนเกิดขึ้น
“ในรายงานเขียนไว้ชัดเจนว่า ในปี 2561 ไทยกับลาวเผยแพร่การลงนาม MoU ด้านความมั่นคงว่าจะไม่ให้บุคคลทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล หรือก่อความไม่สงบในประเทศหนึ่งเคลื่อนย้ายไปในแต่ละประเทศเพื่อทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลประเทศตนเอง หรือต่อต้านประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตนเอง” มนทนา กล่าว
ถ้ามีคนถูกบังคับให้สูญหาย ครอบครัวของบุคคลนั้นควรมีสิทธิดังต่อไปนี้
- สิทธิที่จะได้รู้ข้อเท็จจริง (right to know the truth) ชะตากรรม รวมถึงที่อยู่ของคนในครอบครัวที่ถูกบังคับให้สูญหาย ซึ่งรัฐมีหน้าที่แจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวแก่ครอบครัว และอย่างน้อยก็ต้องยื่นมือเข้าไปช่วย
- สิทธิในการได้รับการเยียวยาและชดเชยความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิ (right to remedy and reparation)
- เบาะแส กรณีของสยาม เบาะแสคือมีการจับกุมตัวที่เวียดนามในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และการจับกุมตัวเกี่ยวข้องกับการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งมนทนาตั้งข้อสังเกตว่า ความผิดดังกล่าวต้องมีบันทึกว่าได้คุมขังไว้ที่เรือนจำหรือสถานกักกันใด ถ้าทราบข้อมูลนี้ก็น่าจะช่วยให้ความกระจ่างได้มาก
“ด้วยแนวโน้ม ความถี่ และสัญญาณเตือนถึงความไม่ปลอดภัยของสยาม ศูนย์ทนายฯ เห็นว่า ครอบครัวของสยามควรเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับค่าตอบแทนตาม พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ อยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่า ควรพิจารณาบริบทและปรับการใช้งานเพื่อให้สามารถเยียวยาผู้เสียหายได้”
หนังสือร้องทุกข์ที่เพิ่มทุกข์ให้ผู้ร้อง
พรพิมล มุกขุนทด ทนายความ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกัญญาและป้าน้อยได้ไปยื่นเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษ ณ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย (ศป.ทส.) ที่ตลิ่งชัน
สิ่งที่ต้องทำคือหนังสือร้องทุกข์ ซึ่งจะกล่าวถึงเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรกับคุณสยาม เกิดอะไรกับคุณสุรชัยบ้าง ใส่รายละเอียดเรื่องข้อหา รวมถึงผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดลงในหนังสือร้องทุกข์นั้น
“เมื่อยื่นหนังสือเสร็จ วันแรกจะทำการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ข้อหนึ่งที่เจ้าหน้าที่จะถามเป็นหลักการสำคัญเลยคือ ใครเป็นผู้กระทำความผิด หรือใครเป็นผู้ต้องสงสัยในการกระทำความผิดครั้งนี้” พรพิมล ให้ข้อมูล
แน่นอนว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่าหรืออุ้มหาย การจะทราบว่าใครเป็นผู้อุ้มหรือเป็นผู้กระทำความผิดเป็นเรื่องยากมาก ซึ่งการกระทำเหล่านี้มักมีการกระทำเป็นกระบวนการ หรือเป็นการจ้างวานด้วยซ้ำ การกล่าวหาหรือระบุตัวผู้กระทำความผิดลงในแบบฟอร์มของอัยการจึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก
พรพิมลกล่าวว่า ได้มีการโต้แย้งและพูดคุยกับอัยการว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และไม่ได้อยู่ในช่วงของการจับกุม จึงขอให้อัยการใส่มูลเหตุจูงใจของบุคคลที่ถูกอุ้มหาย โดยระบุเพิ่มเติมว่า ใครบ้างที่เป็นคู่ขัดแย้งกับสยามและสุรชัย และพยายามใส่ข้อเท็จจริงส่วนนี้ให้ได้มากที่สุด
ความคืบหน้าล่าสุดตอนนี้พรพิมลกล่าวว่า อัยการได้เรียกป้าน้อยไปให้การเพิ่มเติมแล้ว ส่วนกัญญาอัยการจะมีหนังสือเรียกไปให้การเพิ่มเติมอีกครั้ง
“อีกข้อที่พนักงานอัยการจะสอบสวนหรือเก็บข้อมูลไว้ก็คือ เรื่องความเสียหายหรือพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดเหตุอุ้มหาย เขาจะเก็บรวบรวมหลักฐานไว้ ความเสียหายที่ป้าน้อยกับกัญญาได้รับจะเก็บรวบรวมไว้เพื่อวันหนึ่งถ้ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจริงๆ จะได้มีการเรียกค่าเสียหายในอนาคต” พรพิมล กล่าว
อนาคตหลังรัฐบาลชุดใหม่ และ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง?
กรณีการอุ้มหาย รณกรณ์ บุญมี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้มองแยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คดีสิทธิมนุษยชน คดีอาญา และคดีแพ่ง
“คดีแพ่ง คือการเรียกร้องค่าเสียหาย ส่วนคดีอาญาและคดีสิทธิมนุษยชนจะไปติดล็อกใหญ่คือ คุณไม่รู้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยคือใคร ซึ่งเป็นปัญหาของคดีด้านสิทธิมนุษยชนอย่างมาก ฉะนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำได้เลยโดยอาจไม่จำเป็นต้องรอศาล ก็คือการดำเนินการเยียวยาด้านสิทธิมนุษยชน” รณกรณ์ กล่าว
เขายกตัวอย่างกรณีความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลในอดีตเคยตั้งกองทุนและเยียวยา ขณะที่การสืบสวนข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องหาว่าใครเป็นคนกระทำผิด แต่ต้องมีการเยียวยาเกิดขึ้น โดยเฉพาะกรณีการอุ้มหาย ซึ่งเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐ
“รัฐบาลจะต้องมีความจริงใจและเจตจำนงทางการเมืองอันแข็งแรงที่ทำให้แม้มีความเห็นต่างทางการเมือง หรือเห็นต่างในประเด็นใดๆ ก็ตาม ไม่ควรทำให้คนเกิดความหวาดกลัวที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนต้องหลบหนีออกไปต่างประเทศ จนต้องมีการอุ้มหายและการทรมานเกิดขึ้น เรื่องนี้รัฐบาลที่เข้ามาจะต้องเยียวยาและทำให้เกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และการใช้ชีวิตในประเทศนี้อีกครั้ง” รณกรณ์ กล่าว
ส่วนคำว่า ‘อุ้มหาย’ ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย ไม่ได้แปลว่าอุ้มแล้วหายไปเลย สมมติว่าถูกจับตัวไปวันนี้ ไม่ว่าจับไปโดยชอบหรือไม่ มีหมายจับหรือไม่ เมื่อถูกจับแล้วญาติไปถาม เกิดการปฏิเสธ จับเช้าปฏิเสธบ่าย ความผิดสำเร็จทันที แม้วันรุ่งขึ้นจะได้รับการปล่อยตัวก็ตาม พูดง่ายๆ คือไม่จำเป็นต้องหายไปถาวร แม้หายไปชั่วคราวก็ถือว่าผิด
นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีอาญา แม้ผู้กระทำความผิดเป็นทหาร ก็ไม่ต้องขึ้นศาลทหารอีกต่อไป ทุกอย่างจะผลักมาที่ศาลพลเรือน
“กรณีของสยามที่บอกว่าถูกจับกุมที่เวียดนาม เราไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วการอุ้มเกิดที่เวียดนาม หรือเวียดนามทำถูกต้อง ส่งมาที่ไทยแล้วเกิดการอุ้มที่ไทย ไม่ต้องกังวล ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นที่ไหนในโลก ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไหนก็ตาม เราสามารถดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยได้ ถ้าเรามีพยานหลักฐาน” รณกรณ์ กล่าว
พ.ร.บ.อุ้มหาย อนุญาตให้ไทยเป็นฮับในการดำเนินคดี ไม่ว่าการอุ้มหายเกิดที่ไหนก็ตาม ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดไม่ว่าเป็นคนต่างชาติหรือเป็นคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศก็สามารถส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนได้ ไม่ติดเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น
มากไปกว่านั้น การอุ้มหายซึ่งเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ รณกรณ์ระบุว่า พ.ร.บ.อุ้มหาย มาตรา 43 เขียนชัดเจนว่า “การอุ้มหายไม่ว่าเกิดขึ้นก่อนหรือหลัง พ.ร.บ. นี้ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องสืบสวนจนพบชะตากรรมและผู้กระทำความผิด”
พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังขยายให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น ไม่ว่าญาติจะเป็นผู้อุปการะ ผู้ดูแล ผู้รับอุปการะ เป็นผู้เกี่ยวข้อง สามารถฟ้องได้หมด กรณีที่เคยติดปัญหาอย่างคดีบิลลี่ ที่มึนอ ภรรยาที่ไม่ได้สมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และยังขยายไปลงโทษผู้บังคับบัญชาด้วย
“ส่วนหนึ่งของการเยียวยา คงเป็นการทราบข้อมูลว่าใครเป็นคนทำ และเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ให้ดีกว่านั้นคือเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ คำถามคือ แล้วความผิดที่กระทำขึ้นก่อน 22 กุมภาพันธ์ จะสามารถเอากฎหมายมาใช้ได้ไหม” รณกรณ์ ตั้งคำถามชวนคิด พร้อมอ้างอิงว่า หากศาลยึดติดกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2489 ซึ่งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกฟ้องด้วยข้อหาอาชญากรสงคราม กรณีเช่นนี้กฎหมายจะไม่ใช้ย้อนหลัง
“ศาลตอนนั้นบอกว่า กฎหมายออกภายหลังการกระทำความผิด เพราะฉะนั้นลงโทษจอมพล ป. ไม่ได้ ขณะเดียวกัน ปีเดียวกัน ศาลที่นูเรมเบิร์ก (เยอรมนี) ลงโทษนาซี ศาลที่โตเกียวประหารชีวิตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ข้อหาเดียวกัน แม้เป็นกฎหมายที่มาหลังการกระทำความผิด ก็บอกว่าใช้ได้” รณกรณ์ ให้ข้อมูล
“เรื่องนี้ศาลยุโรปก็ดี คณะทำงานของสหประชาชาติก็ดี ตัดสินและแนะนำชัดเจนว่า กรณีอุ้มหายเป็นความผิดต่อเนื่อง เขียนไว้ในมาตรา 7 วรรค 2 ถ้าเราค่อยๆ ให้ความรู้ ทนายความลองต่อสู้ดู ศาลน่าจะสามารถนำกฎหมายที่ออกมาทีหลังมาใช้กับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนได้” รณกรณ์ กล่าว
ถ้ามีรัฐบาลใหม่ สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงและเยียวยา ไม่จำเป็นต้องเป็นการสอบสวนอาญา ดำเนินการทางสิทธิมนุษยชน เน้นค้นหาความจริงและเยียวยาผู้เสียหาย และสอง เข้าร่วมมาตรา 31 และ 32 ของอนุสัญญาอุ้มหาย (CED) ของสหประชาชาติให้เร็วที่สุด
อ้างอิง: timeline สยาม ธีรวุฒิ https://www.amnesty.or.th/latest/blog/871/
