เบื้องหลังถังดับเพลิง กทม. ระเบิด มีอะไรมากกว่าแค่เจ้าหน้าที่ประมาท
...
LATEST
Summary
- เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถังดับเพลิงของ กทม. ที่แจกจ่ายให้กับประชาชนเกิดระเบิดขึ้นมาแล้วใน 5 เขต รวม 10 ครั้ง ในสมัยของผู้ว่าฯ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เท่ากับว่า กทม. มีประวัติความไม่ปลอดภัยจากกรณีถังดับเพลิงมาแล้ว โดยครั้งนั้นคือถังประเภทสารเคมีแห้ง
- เมื่อมีการเกิดเหตุ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จะเข้ามาร่วมตรวจสอบ เพราะถังดับเพลิงจะมีมาตรฐานกำหนดไว้ ซึ่งกรณีถังดับเพลิงที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม เป็นถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก.
- ถังดับเพลิงประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ ตามกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีการทดสอบความแข็งแรงของถังให้ทนแรงดันให้ได้อย่างน้อย 1.5 เท่า แต่กฎหมายนี้บังคับเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ไม่บังคับครอบคลุมถึงหน่วยงานทั่วไป และบ้านเรือนประชาชน
...
ผ่านไป 1 สัปดาห์แล้ว ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น หลังเกิดกรณีถังดับเพลิงระเบิด ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม ขณะเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยสามเสน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังสาธิตการดับเพลิงให้แก่นักเรียนและครู ส่งผลให้นักเรียน ชั้น ม.6 เสียชีวิต 1 ศพ และมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บอีกนับสิบคน
ถังดับเพลิงที่ระเบิดคือ ถังสีแดง บรรจุสาร คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เหตุเกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าสลดใจ เพราะโรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน แต่นักเรียนต้องมาเสียชีวิตในโรงเรียนจากกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้นเพื่อซักซ้อมความปลอดภัย โดยหน่วยงานด้านความปลอดภัยของ กทม.
สำหรับกระบวนการทางกฎหมาย ตำรวจแจ้งข้อหาเจ้าหน้าที่สาธิตซ้อมดับเพลิง 3 คน ข้อหากระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
คำร้องฝากขังบรรยายว่า ผู้ต้องหากับพวกได้นำถังดับเพลิงที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มีสภาพเก่า มีการเวียนนำมาใช้งานช้ำ เพื่อใช้ในการสาธิตอบรมภาคปฏิบัติ และนำไปวางไว้บริเวณลานที่โล่งแจ้ง ซึ่งขณะทำการสาธิตมีสภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดส่องที่ตัวถังดับเพลิงโดยตรง ทำให้ถังดับเพลิงซึ่งเป็นวัสดุโลหะที่ไม่ได้คุณภาพ มีอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากแสงแดด เกิดความร้อนในภาวะจำกัด แต่ผู้ต้องหาไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ในการจัดสถานการณ์ในขณะที่ทำการสาธิตภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอ
ประเด็นที่ควรพิจารณาจึงอยู่ที่ว่า สาเหตุที่ถังดับเพลิงระเบิดเป็นความรับผิดชอบจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ 3 คน หรือเป็นเรื่องที่นอกเหนือไปกว่านั้น อาทิ เป็นเรื่องของอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ หรือเป็นเรื่องของหน่วยงานในระดับเหนือขึ้นไป เนื่องจากก่อนออกไปสาธิตดับไฟ ควรต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ การอนุมัติจากผู้บังคับคับบัญชา แผนปฏิบัติงาน แผนความปลอดภัยมีงบประมาณเพียงพอ และมีอุปกรณ์ที่พร้อม
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ถังดับเพลิงที่ระเบิดเป็นถังคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งมีความดันสูงก็คือ 800-1,200 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (pound per square inch: PSI) ซึ่งแตกต่างจากถังดับเพลิงเคมีปกติในชุมชนที่มีความดันเพียง 100 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่เวลาซ้อมดับเพลิงจะใช้ถังแบบคาร์บอนไดออกไซด์เพราะไม่ฟุ้งกระจายมาก ฉีดแล้วจะระเหยทันที ไม่ใช่เป็นสารเคมีที่ปกติฉีดแล้วเป็นควันขาวฟุ้งกระจายเต็มไปหมด
ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า เบื้องต้นถังที่ระเบิด ตำรวจแจ้งว่ามีอายุประมาณ 6 ปี ได้เติมคาร์บอนไดออกไซด์มาจากบริเวณพัฒนาการ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา และถังดังกล่าวไม่มีเกจวัดความดัน เพราะว่าเป็นถังที่มีความเย็นมาก การเติมครั้งล่าสุดไม่ถึงกับเต็มความจุ ส่วนสาเหตุว่าทำไมถึงระเบิด ระเบิดรูปแบบไหน ต้องรอการพิสูจน์หลักฐานอย่างชัดเจนก่อน
"ถังเป็นของใคร จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือบางส่วนผู้ฝึกอบรมนำมาเอง และบางส่วนเป็นของส่วนกลาง ซึ่งขอไปตรวจสอบให้ชัดเจน"
ชัชชาติกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมี 2 จุดที่ต้องตรวจสอบ คือ หนึ่ง-มาตรฐานของอุปกรณ์ เนื่องจากไม่ควรจะมีการระเบิดขึ้น สอง-คือการจัดวางอุปกรณ์ก่อนฝึก แต่เท่าที่ทราบมาในประวัติศาสตร์ กทม. ไม่เคยระเบิด นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่มีการระเบิด ซึ่งต้องไปหาสาเหตุอย่างจริงจัง
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. เผยว่า กทม. สั่งซื้อถังดับเพลิงแบบใหม่ที่จะแจกชุมชนประมาณเกือบ 10,000 ถัง ซึ่งเป็นคนละแบบกับที่ระเบิด (ถังบรรจุสารเคมี) เป็นถังพิเศษและมีแรงดันต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้อยู่ในสถานที่ราชการ จึงไม่ต้องตื่นตระหนก
สุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ยืนยันว่า ถังดับเพลิงที่ระเบิดเป็นถังที่เจ้าหน้าที่เตรียมสำรองไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นคนละถังกับที่ให้เด็กใช้ซ้อมดับไฟ ซึ่งสารที่เติมในถังดังกล่าวเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนสาเหตุการระเบิดยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม โดยถังดับเพลิงมีมาตรฐาน มีการดูแลบำรุงรักษาวาล์ว หัวฉีดให้พร้อมใช้งาน หากเกิดเหตุฉุกเฉิน
มีข้อมูลที่ไม่ตรงกันคือ ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า เวลาซ้อมดับเพลิงจะใช้ถังแบบคาร์บอนไดออกไซด์ แต่รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันฯ กล่าวว่า ถังดับเพลิงที่ระเบิดเป็นถังที่เจ้าหน้าที่เตรียมสำรองไว้กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
เรื่องที่น่าฉงนคือ ถังที่ระเบิดเป็นของใคร ระหว่างผู้ฝึกอบรมนำมาเอง กับเป็นของส่วนกลาง และถ้าผู้อบรมนำถังมาเองจะนำมาเพื่ออะไร ทั้งที่มีของส่วนกลางให้ใช้ นอกจากนี้ มีขั้นตอนการทำงานและแผนการความปลอดภัยอย่างไรบ้าง
มีความเข้าใจผิดเรื่องหนึ่งคือ ชัชชาติเผยว่า "เท่าที่ทราบมาในประวัติศาสตร์ กทม. ไม่เคยระเบิด" เนื่องจากพบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ถังดับเพลิงของ กทม. ที่แจกจ่ายให้กับประชาชนเกิดระเบิดขึ้นมาแล้ว
เรื่องที่ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ต้องการให้ประชาชนตื่นตระหนก ก็มีเหตุผลด้านจิตวิทยา แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาก็มีบทเรียนมาไม่น้อย
ปี 2556 กมธ. สอบถังดับเพลิง กทม. หลังระเบิด 10 ครั้ง ใน 5 เขต
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 พลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ ประธานคณะกรรมการกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญผู้อำนวยการกองทะเบียนทรัพย์สินและพัสดุ สำนักการคลัง และ พันตำรวจเอกพิชัย เกรียงวัฒนา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เข้าชี้แจงรายละเอียดการจัดซื้อถังดับเพลิง 95,797 ถัง งบประมาณ 124 ล้านบาท ที่ กทม. จัดซื้อ เพราะเกิดเหตุระเบิดขึ้นใน 5 เขต รวม 10 ครั้ง
ผู้แทน กทม. ได้ชี้แจงขั้นตอนการจัดซื้อถังดับเพลิงดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในรายการงบประมาณปี 2554 หลังจากเกิดเหตุระเบิด ปลัด กทม. ได้แจ้งวิทยุด่วนให้เก็บถังดับเพลิงในล็อตที่มีปัญหาทั้งหมด โดยให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขตนำไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย และได้แจ้งให้ทางบริษัทฯ คู่สัญญา มาตรวจสอบถัง พร้อมทั้งลดแรงดันในถังให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย รวมทั้งส่งตัวอย่างถังไปยังสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) เข้าตรวจสอบ และส่งสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจร่วมเข้าตรวจสอบด้วย
พลตำรวจโทวิโรจน์ กล่าวว่า ถังดับเพลิงในล็อตนี้ไม่น่าจะเกิดความปลอดภัยหรือใช้ต่อได้ เพราะไม่ทราบว่าถังใบไหนจะปลอดภัย กทม. ใช้งบประมาณไปกว่า 124 ล้านบาท แต่กลับได้ของไม่มีคุณภาพ กทม.ควรต้องพิจารณายกเลิกสัญญาหรือฟ้องเรียกค่าเสียหาย
ในที่ประชุมกรรมาธิการ ป.ป.ช. ตั้งข้อสังเกตการตั้งงบประมาณจัดซื้อไว้ก่อน แล้วมาสอบถามสำนักงานเขตทีหลังว่า เขตไหนต้องการถังเท่าไหร่ มีข้อเสนอให้ กทม.ดำเนินการกับบริษัทฯ คู่สัญญา ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย ที่เกิดเหตุถังดับเพลิงระเบิดครั้งนี้ รวมทั้งในการสอบถาม กทม. ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการระเบิดได้
ต่อมา 25 เมษายน 2556 นินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม. เปิดเผยว่า เตรียมตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณีถังดับเพลิง 10 ถังระเบิด ภายหลังผู้ว่าฯ กทม. มีคำสั่งให้สำนักงานเขตเรียกถังคืนตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2556 แต่ยังเก็บมาไม่หมด จึงแจ้งให้สำนักงานเขตเก็บกลับถังมาให้หมด
วันที่ 12 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร สุธา นิติภานนท์ ส.ก.เขตภาษีเจริญ ตั้งกระทู้ถามสดเพื่อขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบการระเบิดของถังดับเพลิงยก เพื่อสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยแก่ประชาชน
หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ขณะนั้น กล่าวว่า ยังไม่มีผลการตรวจสอบจากสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดังนั้น กทม. จึงขอความร่วมมือไปยังสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ มีข้อสรุปเบื้องต้นเมื่อ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า การระเบิดอาจเกิดจากแรงกระแทก
ปีต่อมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 กฤษฎา กลันทานนท์ รองปลัด กทม. กล่าวถึงกรณีถึงดับเพลิง ที่กทม.จัดซื้อในปี 2555 เกิดระเบิดขึ้น ว่า จากที่กทม.ได้สุ่มนำถังดับเพลิงในล็อตการจัดซื้อที่เป็นปัญหาส่งไปให้ สมอ. ตรวจสอบนั้น ผลการตรวจสอบนั้น สมอ. ยังไม่ได้แจ้งอย่างเป็นทางการ โดยบอกแต่เพียงว่าเกิดจากการกระแทก ทำให้ถังระเบิดขึ้น ซึ่งคุณสมบัติของถังดับเพลิงจากการที่ สมอ. ตรวจสอบก็พบว่าถูกต้องตาม คุณสมบัติตามที่ กทม. กำหนด
ส่วนกรณีเกิดเหตุถังดับเพลิงระเบิดขึ้นที่เขตภาษีเจริญนั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเป็นถังในการจัดซื้อรอบเดียวกันเมื่อปี 2555 ซึ่งหลุดลอดไปจากการเปลี่ยนถังใหม่จากผู้จำหน่าย
สรุปคือ ถังดับเพลิงของ กทม. ที่แจกจ่ายให้ประชาชนในชุมชนต่างๆ เกิดระเบิดขึ้น 10 ครั้ง ในช่วง 10 กว่าปีก่อน และ กทม. ยังไม่ได้รับผลตรวจสอบสาเหตุของการระเบิดอย่างเป็นทางการ จาก สมอ. เท่ากับว่า กทม. มีประวัติความไม่ปลอดภัยจากกรณีถังดับเพลิงมาแล้ว โดยครั้งนั้นคือถังประเภทสารเคมีแห้ง
ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นต่อการระเบิด
กลับมาที่การระเบิดที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่ผ่านมา สุรเชษฐ์ สีนาม ประธานสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องความร้อนว่า ถังคาร์บอนไดออกไซด์ตากแดดได้หรือไม่ว่า แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้น แต่จะมีเซฟตี้วาล์ว เป็นตัวช่วยระบายความดันออกจากถังไม่ให้เกิดการระเบิด ถ้าเกิดอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส แรงดันจะขึ้นไปถึง 1,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แรงดันจะทำให้เกิดการขยายตัว จึงต้องมีเซฟตี้วาล์วด้านท้าย ห้ามให้รูนี้อุดตัน
สำหรับถังดับเพลิงประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ ตามกฎหมายกำหนดว่า ต้องมีการทดสอบความแข็งแรงของถังให้ทนแรงดันให้ได้อย่างน้อย 1.5 เท่า แต่กฎหมายนี้บังคับเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ไม่บังคับครอบคลุมถึงหน่วยงานทั่วไป และบ้านเรือนประชาชน
บุษกร แสนสุข ประธานสาขาวิศวกรรมป้องกันอัคคีภัย วสท. กล่าวว่า ถังดับเพลิงคาร์บอนไดออกไซด์ต้องตรวจและทดสอบเมื่อมีการใช้งานครบ 5 ปีว่า ตัวถังและอุปกรณ์ยังรับแรงดันได้หรือไม่ น่าจะเกิดจากถังสภาพเก่า ไม่ได้ตรวจสอบดูแล ตามมาตรฐานกำหนด
ถ้านำความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณากรณีถังดับเพลิง กทม. ที่ระเบิด จะพบข้อน่าสังเกต 3 ประการ
1. เซฟตี้วาล์วของถังดับเพลิงใช้งานได้หรือไม่ เพราะถ้าใช้งานได้เมื่อเกิดความร้อนแรงดันก๊าซก็ควรถูกระบายออกมา และไม่ควรระเบิด
2. มีการทดสอบความแข็งแรงของถังดับเพลิง ให้ทนแรงดันให้ได้อย่างน้อย 1.5 เท่าหรือยัง
3. ถังดังกล่าวได้มีการตรวจสอบเมื่อครบอายุการใช้งาน 5 ปีหรือไม่ เนื่องจากตามข่าวระบุว่าถังใช้งานมาแล้ว 6 ปี
กทม. จัดซื้อถังดับเพลิงเคมีแห้งแจกกว่าหมื่นถัง
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2566 ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. ขอทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ไม่มีถังดับเพลิงประเภทคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ตามชุมชน กทม. มีการสั่งถังดับเพลิงใหม่มาเพิ่ม 9,979 ถัง ซึ่งจะได้มาในปีงบประมาณนี้ โดยจะนำไปแทนถังเก่าที่จะถูกนำกลับมา และติดตั้งในพื้นที่ว่าง ถังจำนวน 9,979 ถัง คำนวณจากความเสี่ยงของชุมชนที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม หากเปลี่ยนในรอบนี้เสร็จ ก็จะเหลือพื้นที่สีส้มและพื้นที่สีเหลือง อีกประมาณ 30,000 กว่าถัง ที่จะต้องนำถังไปติดตั้งอีก
และวัน 1 กรกฎาคม รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้เปิดเผยว่า ทำการตรวจสอบถังดับเพลิงไปได้ 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่บางเขตต้องใช้เวลา เพราะเข้าถึงพื้นที่ชุมชนนั้นซอกแซก คาดว่าจะครบ 2,000 ชุมชนภายในสัปดาห์หน้า และจะเก็บถังที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานกลับทั้งหมด ส่วนถังที่ใช้งานได้จะทำการปักหมุดลงพิกัดในแผนที่ พร้อมติดสติกเกอร์ QR code แสดงอายุของถังและประวัติการตรวจสอบถังให้ชัดเจน
เมื่อไปตรวจสอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2566 ในส่วนของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า ตั้งงบประมาณไว้ทั้งหมด 61,439,640 บาท เป็นส่วนของเครื่องดับเพลิงยกหิ้ว ชนิดผงเคมีแห้ง ขนาดไม่ต่ำกว่า 6.8 กิโลกรัม จำนวน 9,979 ถัง เมื่อตีราคาต่อหน่วย พบว่า ถังดับเพลิงราคาถังละ 1,658 บาท
เมื่อเทียบขนาดถังดับเพลิงที่ กทม. จะสั่งซื้อคือ 6.8 กิโลกรัม กับถังดับเพลิงในท้องตลาด พบว่า เป็นถังขนาด 15 ปอนด์ โดยราคาถังละ 1,658 บาทต่อถัง สามารถซื้อถังในรุ่นที่มี fire rating 10A40B ได้ตามราคาท้องตลาด
fire rating คือประสิทธิภาพของถังดับเพลิง เพจ นิปปอน เคมิคอล ให้ข้อมูลว่า fire rating 10A40B คือถังรุ่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เหมาะสำหรับอาคารสำนักงานโรงแรม โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า ฯลฯ
แต่ไม่ทันที่ กทม. จะไปเปลี่ยนถังดับเพลิงที่นำไปแจกจ่ายประชาชน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุถังดับเพลิงบรรจุสารเคมีแห้งพุ่งออกมาจากถัง ภายในบ้านพักหลังหนึ่งที่เขตทวีวัฒนา เจ้าหน้าที่กู้ภัยพบถังดับเพลิงขนาด 7 กิโลกรัม สีแดง ตั้งในลักษณะคว่ำด้านในถัง พบควันสีขาวที่เกิดจากสารเคมีในถังดับเพลิงกระจายเต็มห้อง ถังดับเพลิงดังกล่าวเป็นถังที่เขตทวีวัฒนานำมาแจกตั้งแต่ ปี 2552 และพบว่าสลักวาล์วถังหลุดออก อาจเป็นสาเหตุให้สารเคมีพุ่งออกมา
ลูกสาวเจ้าของบ้านเล่าว่า ได้จับถังพลิกกลับตั้งสลับด้าน เพื่อให้สารเคมีไม่เกาะตัวและเสื่อม ขณะกำลังวางถังลงในกล่องกระดาษ สารเคมีได้พุ่งออกมา
เมื่อ 7 ปีก่อน เกิดเหตุทำนองนี้มาแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เกิดเหตุหลังคาและฝ้าหลังคาทะลุเป็นรู กิตติ ลักษณวิศิษฏ์ เจ้าของบ้าน เล่าว่า ได้ยินเสียงดังคล้ายระเบิดที่หลังบ้าน จึงรีบวิ่งไปดู พบมีควันสีขาวคลุ้งไปทั่วบ้าน เมื่อกลุ่มควันเริ่มจางลงพบว่าฝ้าและหลังคาทะลุ คาดว่าน่าจะเป็นถังดับเพลิงที่ทางกรรมการหมู่บ้านเคยนำมาแจกเมื่อช่วงน้ำท่วมปี 2554 ระเบิด เนื่องจากพบชิ้นส่วนท่อนล่างของถังดับเพลิงตกอยู่
จากทั้งสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ กทม. ควรสั่งการให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้แจกจ่ายถังดับเพลิงให้แก่ประชาชนไปแล้วจำนวนเท่าไหร่ และมีกี่ถังที่หมดอายุการใช้งานแล้ว กทม. ได้ออกไปเรียกเก็บกลับคืนมาหรือไม่ หรือแจ้งให้ผู้รับแจกถัง นำถังไปทิ้งทำลายหรือไม่
วัวหายล้อมคอก สมอ. ไม่บังคับมาตรฐานถัง CO2
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 บรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า สมอ. ได้ประกาศใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถังดับเพลิงแล้วจำนวน 3 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานภาคบังคับจำนวน 2 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐาน มอก. 882-2532 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดโฟม และ มอก. 332-2537 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วชนิดผงเคมีแห้ง ผู้ประกอบการผลิตและนำเข้าต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน และผู้จำหน่ายจะต้องขายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐาน หากฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย
เลขาธิการ สมอ. เผยว่า อีก 1 มาตรฐาน เป็นมาตรฐานภาคสมัครใจ ได้แก่ มอก. 881-2532 เครื่องดับเพลิงยกหิ้วคาร์บอนไดออกไซด์ ปัจจุบันไม่มีผู้ประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตจาก สมอ.
สำหรับกรณีถังดับเพลิง ที่โรงเรียนราชวินิต มัธยม พบว่า เป็นถังดับเพลิงชนิดบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. โดยหลังจากนี้ สมอ. จะทบทวนมาตรฐานถังบรรจุก๊าซทุกชนิด รวมถึงถังดับเพลิงด้วย เพื่อประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน
เมื่อ สมอ. ออกมายอมรับว่า ถังดับเพลิงรุ่นที่ระเบิดคือถังคาร์บอนไดออกไซด์ยังไม่มีผู้มาขอมาตรฐาน มอก. จึงเกิดคำถามว่า กทม. จะไปตรวจสอบกรณีถังดับเพลิงระเบิด และถังดับเพลิง CO2 ที่มีอยู่อย่างไร ใช้มาตรฐานใดในการตรวจสอบ นอกจากตรวจสอบทางกายภาพของถึงแบบทั่วไป เช่น ผุกร่อน ฯลฯ โดยเฉพาะการวางถังตากแดดที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่ กทม. ว่า เป็นสาเหตุให้ถังระเบิด จะพิสูจน์ด้วยวิธีไหน เนื่องจากยังไม่มีข้อกำหนดการใช้งานถัง CO2
ส่วนการทำหน้าที่ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. สามารถพิจารณาจาก งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ซึ่งสำนักป้องกันฯ ได้งบประมาณตามโครงสร้างผลผลิต 196,524,000 บาท
แบ่งเป็นแผนงานบริหารงานกรุงเทพมหานคร ผลผลิตอำนวยการและบริหารสำนัก 62,560,760 บาท ซึ่งในส่วนของค่าวัสดุมีงบ 20,128,070 บาท
มีคำอธิบายว่า ส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุบำรุงรักษารถดับเพลิงและกู้ภัย ค่าเรื่องอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ค่าวัสดุสารเคมีและเชื้อเพลิงในการอบรมดับเพลิง ค่าวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ค่าวัสดุสำนักงาน ฯลฯ
จึงเห็นได้ว่า มีงบฯ ค่าวัสดุสารเคมีและเชื้อเพลิงในการอบรมดับเพลิงอยู่ในส่วนของงบค่าวัสดุ ซึ่ง กทม. ควรออกมาชี้แจงว่า งบประมาณตัวนี้รวมถึงการซ่อมบำรุง และตรวจสอบความสมบูรณ์ของถังดับเพลิงหรือไม่ มีแผนความปลอดภัยในส่วนนี้หรือเปล่า
และเป็นที่น่าสังเกตว่า ในงบฯ ปี 2566 ของสำนักป้องกันฯ ไม่มีการตั้งงบจัดซื้อถังดับเพลิงทดแทนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นถังแบบเคมีแห้ง หรือถังแบบ CO2 ซึ่งนำไปสู่คำถามที่ว่า ถ้าถังดับเพลิงหมดอายุหรือชำรุด ระหว่างปีงบประมาณ กทม. จะออกไปสาธิตดับเพลิง และต่อสู้กับเหตุอัคคีภัยด้วยวิธีไหน
ทั้งหมดได้นำไปสู่ประเด็นที่ว่า ใครกันแน่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ระบบทำงานที่ผ่านมาสอดคล้องกับหลักความปลอดภัยแค่ไหน และจะเหมาว่าการระเบิดเกิดจากความประมาทส่วนบุคคลได้หรือไม่
