การเลือกตั้งในกัมพูชา และภาวะไม่มั่นคงของ ฮุน เซน
...
LATEST
Summary
- การเลือกตั้งกัมพูชาที่จะมาถึงในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน ไร้คู่แข่งที่เข้มแข็ง น่าจะเอาชนะสบายๆ โดยไร้ผู้ต่อต้าน แต่มีหลายปัจจัยทำให้ ฮุน เซน รู้สึกว่าสถานการณ์ไม่มั่นคง
- ปัจจัยแรกคือ นักการเมือง มีทั้งส่วนที่ถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ ไล่ล่าจนหนีออกนอกประเทศ เป็นผู้ลี้ภัยในต่างแดน และโดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์สีหนุ
- ต่อมาคือ ภาคประชาสังคม เป็นกลุ่มก้อนที่เข้มแข็ง วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐ แต่ก็มักถูกคุกคาม ถูกตั้งข้อหากระด้างกระเดื่องต่อรัฐ และยุยงส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรม
- และสุดท้าย ก๊วนและมุ้งต่างๆ ในพรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน เอง ที่อาจไม่ได้ต้องการสนับสนุนให้ ฮุน มาเนต บุตรชาย ฮุน เซน เป็นทายาททางการเมือง
...
ทันทีที่การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมล้มเหลว ปรากฏว่าผู้ที่ส่งข้อความเยาะเย้ยถากถางกลับไม่ใช่ลิ่วล้อของรัฐบาลรักษาการอย่างเคย หากแต่เป็น สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชังกันมานานแสนนานนั่นเอง
ข้อความในทวิตเตอร์ซึ่งมีการลบทิ้งในภายหลังเป็นความพยายามของ ฮุน เซน ที่จะกระทบกระเทียบและข่มขู่ฝ่ายค้านของกัมพูชาในโอกาสที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าหมายต่อ สม รังสี ที่เคยให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า ถ้าฝ่ายประชาธิปไตยของไทยได้เป็นรัฐบาล เขาจะขออาศัยประเทศไทยเป็นทางผ่านเข้าไปเคลื่อนไหวทางการเมืองในกัมพูชา
แต่ชั่วข้ามคืน ฮุน เซน ก็ต้องทวีตข้อความใหม่เพื่อแก้ไขข้อความเก่าว่า เขาไม่ได้มีเจตนาจะต่อต้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และไม่มีเจตนาแทรกแซงกิจการภายในของไทยแต่อย่างใด เขาเคารพการตัดสินใจของประชาชนไทย และพร้อมจะทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ของไทย เพียงแต่อยากจะเตือนกลุ่มที่เขาเรียกว่า ‘กลุ่มสุดโต่ง’ ที่ต้องการอาศัยชื่อของพิธาและแผ่นดินไทยเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขา
แม้ว่านี่จะเป็นอุปนิสัยส่วนตัวของบุรุษเหล็กแห่งกัมพูชาที่พยายามอาศัยสถานการณ์การเมืองของไทยเพื่อตีกันฝ่ายค้านของกัมพูชาเองอยู่บ่อยๆ ก็ตาม แต่การทำเช่นนี้ในขณะที่พรรคประชาชนกัมพูชาของเขาน่าจะเอาชนะการเลือกตั้งที่จะมาถึงได้อย่างสบายๆ เพราะไร้คู่แข่งที่เข้มแข็งเช่นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า ฮุน เซน เกิดสภาวะไร้ความมั่นคงในจิตใจมากถึงขนาดนี้เชียวหรือ
หากจะลองวิเคราะห์กลุ่มพลังที่ทำให้ผู้แข็งแกร่งอย่าง ฮุน เซน เกิดความหวาดหวั่นก็พบว่า น่าจะมีส่วนอยู่ไม่น้อย ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรกคือ นักการเมือง แม้ว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านคือ พรรคแสงเทียน (Candlelight Party) หรือเพลิงเทียน จะถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่นักการเมืองที่สังกัดพรรคนี้และพันธมิตรยังคงแตกกระสานซ่านเซ็นหนีออกนอกประเทศ หรือไปกบดานตามที่ต่างๆ เพื่อรอคอยโอกาสที่จะกลับมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ฮุน เซน อยู่ โดยถูกไล่ล่าตามจับได้บ้างไม่ได้บ้าง
ในจำนวนนั้น ได้แก่ สม รังสี ซึ่งลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศสและคอยใช้สื่อเขย่า ฮุน เซน ตลอดเวลา ติตเฮีย สุม (Tithia Sum) สมาชิกพรรคแสงเทียน ผู้ถือสัญชาติสหรัฐฯ หนีออกประเทศได้อย่างหวุดหวิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม หลังจากถูกออกหมายจับข้อหาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กหมิ่นกษัตริย์นโรดม สีหมุนี
ทอล ซัมนาง (Thol Samnang) สมาชิกพรรคแสงเทียนอีกคนหนึ่ง ถูกตำรวจไทยจับได้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ขณะมาติดต่อขอลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติในกรุงเทพฯ รัฐบาลพนมเปญกำลังทำเรื่องขอให้รัฐบาลไทยส่งตัวเขากลับไปรับโทษในกัมพูชา
เข็ม มนีโกศล (Khem Monykosal) สมาชิกพรรคแสงเทียน หนีจากเมืองไพลิน เพราะคนของพรรคประชาชนมาข่มขู่ให้แปรพักตร์หลายครั้งไม่เช่นนั้นจะโดนจับ ไม่มีรายงานชัดเจนนักว่าเขาหนีไปที่ใด แต่เมืองไพลินนั้นอยู่ใกล้ชายแดนไทยด้านจังหวัดจันทบุรี
กลุ่มที่สองคือ นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางสังคม แม้ว่า ฮุน เซน จะบริหารประเทศในแบบอำนาจนิยมมานาน แต่กัมพูชาก็ยังมีภาคประชาสังคมเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจนและเข้มแข็งพอจะท้าทายอำนาจรัฐได้ นักกิจกรรมทางสังคมจำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ฮุน เซน อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นไม้เบื่อไม้เมากันก็มาก คนเหล่านี้ถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่เนืองๆ เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในที่ดิน เช่น เท้ง สาเวิน (Theng Savoeun) ประธานเครือข่ายชุมชนเกษตรกรและสมาชิกคนสำคัญอย่าง ญีล เพียบ (Nhil Pheap) และถั่น ฮัค (Than Hach) ถูกดำเนินคดีเมื่อเดือนพฤษภาคม ในข้อหากระด้างกระเดื่องต่อรัฐ และยุยงส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรม
การจับกุมคุมขังหรือคุกคามนักกิจกรรมหลายครั้งทำให้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากนานาชาติได้ เช่น กรณีการดำเนินคดี เทียรี่ เซง (Theary Seng) นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนอเมริกัน-กัมพูชา ซึ่งถูกศาลพิพากษาเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ให้จำคุกเวลา 6 ปี ฐานกบฏ เพราะพยายามจะช่วยให้ สม รังสี เดินทางกลับเข้ากัมพูชา นั่นทำให้ผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติต้องลงมือสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า การดำเนินคดีดังกล่าวนั้นเป็นไปโดยชอบแค่ไหนเพียงใด
ในทำนองเดียวกัน การจับกุมนักการเมืองหรือนักกิจกรรมเหล่านี้ กลับก่อปัญหาให้รัฐบาล ฮุน เซน เพิ่มเติม เพราะบรรดาญาติพี่น้องและสมาชิกครอบครัวของพวกเขารวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรม มีรายงานว่า บรรดาแม่และภรรยาของคนเหล่านี้รวมตัวกันหน้าศาลในกรุงพนมเปญทุกสัปดาห์ เพื่อเรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวสมาชิกครอบครัว ซึ่งบางคนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาเลี้ยงครอบครัว การเรียกร้องสิทธิและความเป็นธรรมอย่างนี้ในอีกนัยหนึ่งคือการเรียกร้องให้กัมพูชามีประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นเอง
กลุ่มที่สามคือ กลุ่มก๊วนและก๊กเหล่าในพรรคประชาชนกัมพูชาของ ฮุน เซน เอง สถานการณ์ที่ล่อแหลมและอ่อนไหวสำหรับ ฮุน เซน คือเขาอาจจะไม่มั่นใจนักว่า แกนนำในพรรคจะสนับสนุนให้ ฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของเขาสืบทอดอำนาจทางการเมืองได้อย่างราบรื่นหรือไม่ เพราะมีข่าวซึ่งอาจจะมีมูลความจริงหรืออาจจะเจือปนไปด้วยข่าวลือก็ไม่น้อยชวนให้สงสัยว่า เตีย บัณห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ซอ เค็ง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย ผู้กุมอำนาจทางด้านทหารและอำนาจการปกครอง ทั้งสองคนจะยังให้ความจงรักภักดีต่อ ฮุน มาเนต เหมือนดังที่เคยภักดีกับ ฮุน เซน หรือไม่ เพราะทั้งสองต่างก็มีลูกชายรุ่นราวคราวเดียวกันที่อาจจะอยากหมายมั่นปั้นมือให้สืบทอดอำนาจแทนพวกเขาเหมือนกัน
ทั้งนี้ ยังไม่นับแรงกดดันอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ที่เสมือนหนึ่งว่า โลกประชาธิปไตยที่นำโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกกำลังเพิ่มแรงกดดันให้อีกโลกหนึ่งของกลุ่มอัตตาธิปไตย ที่มีจีนและรัสเซียเป็นหัวขบวนมากขึ้นเรื่อยๆ การเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยและในพม่าที่ก็กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ คงมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้ ฮุน เซน อดห่วงไม่ได้ว่าลูกชายของเขาจะอยู่ในอำนาจไปได้สักกี่น้ำ
