Humberger Menu

อาชีพ ‘ช่างเสริมสวย’ ก็สามารถช่วยเหลือ ‘เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว’ ได้นะ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Human's Life

Social Issues

9 ส.ค. 66

creator
วิทย์ บุญ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ บังคับ หรือการพยายามควบคุมผู้อื่นในครอบครัว นอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างต้องเผชิญในแต่ละวัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั่วโลก เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ทั้งทางร่างกาย และ/หรือทางเพศ
  • ที่ออสเตรเลีย ก็มีการเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก จากสถิติชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 9 วัน จะมีผู้หญิงในออสเตรเลียเสียชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว 1 คน โดยความรุนแรงจากคู่รักเป็นสาเหตุการตาย ความพิการ และปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้หญิงในออสเตรเลียที่มีอายุ 25-44 ปี และผู้หญิง 1 ใน 4 ก็มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่อายุ 15 ปี
  • แต่ทั้งนี้ อาชีพ ‘ช่างเสริมสวย’ ในออสเตรเลีย สามารถช่วยเหลือ ‘เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว’ ได้ โดยผ่านการอบรมจากโครงการ HaiR-3Rs ที่ฝึกให้ช่างเสริมสวย สังเกตสัญญาณต่างๆ ของความรุนแรงในครอบครัวของลูกค้า เพื่อให้คำแนะนำ และส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่พวกเธอ

...



ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ บังคับ หรือการพยายามควบคุมผู้อื่นในครอบครัว นอกจากจะเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญแล้ว ยังถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างต้องเผชิญในแต่ละวัน โดยเฉพาะการกระทำความรุนแรงจากผู้ชาย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั่วโลก เคยตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทั้งทางร่างกาย และ/หรือทางเพศ โดย 27 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงอายุ 15-49 ปี เคยถูกคู่รักกระทำความรุนแรงทางร่างกาย และ/หรือทางเพศ ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว สามารถขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว หรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง ฯลฯ

แต่ที่ประเทศออสเตรเลีย ยังมีอีกอาชีพที่อาจสามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาชีพนั้นคือ ‘ช่างเสริมสวย’

‘ช่างเสริมสวย’ ในออสเตรเลีย สามารถช่วยเหลือ ‘เหยื่อความรุนแรงในครอบครัว’ ได้

ผู้หญิงในออสเตรเลียก็เผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จากสถิติชี้ว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 9 วัน จะมีผู้หญิงในออสเตรเลียเสียชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว 1 คน โดยความรุนแรงจากคู่รักเป็นสาเหตุการตาย ความพิการ และปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้หญิงในออสเตรเลียที่มีอายุ 25-44 ปี และผู้หญิง 1 ใน 4 ก็มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่อายุ 15 ปี

บ่อยครั้ง การสังเกตว่าผู้หญิงคนใดถูกกระทำรุนแรง อาจเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ มีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว แล้วจะแจ้งตำรวจหรือองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือ – สิ่งนี้จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการ HaiR-3Rs ที่ฝึกอบรมให้ ‘ช่างเสริมสวย’ สังเกตสัญญาณต่างๆ ของความรุนแรงในครอบครัวของลูกค้า เพื่อให้คำแนะนำ และส่งต่อความช่วยเหลือให้แก่พวกเธอ

HaiR-3Rs ดำเนินการภายใต้แนวคิดที่ว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะพูดคุยกับคนที่พวกเธอไว้วางใจ หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ซึ่งอาชีพช่างเสริมสวยในอุตสาหกรรมความงาม เช่น ช่างแต่งหน้าและทำผม (Hair and Makeup Artist), ช่างทำผม (Hairdresser) และนักบำบัดด้านความงาม (Beauty Therapist) ถือเป็นกลุ่มอาชีพที่ผู้หญิงผู้มาใช้บริการมักให้ความไว้วางใจ


โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกๆ 9 วัน จะมีผู้หญิงในออสเตรเลียเสียชีวิตจากความรุนแรงในครอบครัว 1 คน โดยความรุนแรงจากคู่รักเป็นสาเหตุการตาย ความพิการ และปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้หญิงในออสเตรเลียที่มีอายุ 25-44 ปี และผู้หญิง 1 ใน 4 ก็มีประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่อายุ 15 ปี

share


มีการวิจัยในออสเตรเลียชี้ว่า พนักงานร้านเสริมสวยได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว แต่กลับไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยให้คำแนะนำการจัดการกับความรุนแรงในครอบครัวแก่ลูกค้า โครงการ HaiR-3Rs มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดช่องว่างนี้ และป้องกันไม่ให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวต้องตกอยู่ในความเสี่ยง

HaiR-3Rs เริ่มขึ้นในปี 2016 ด้วยความช่วยเหลือของโครงการ Cut It Out Canada and Family Violence – It’s Not OK จากประเทศแคนาดา โครงการนำร่องเปิดตัวในร้านเสริมสวยในเมลเบิร์นเมื่อปี 2018 โดยมีคนทำงานร้านเสริมสวย 309 คน เข้ารับการฝึกอบรมในช่วงระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งแม้เงินช่วยเหลือจากแหล่งทุนจะหมดลงไป แต่ HaiR-3Rs ยังคงฝึกอบรมคนทำงานร้านเสริมสวยอย่างต่อเนื่อง 

ทั้งนี้มันถือเป็นโครงการฝึกอบรมการให้คำแนะนำเรื่องความรุนแรงในครอบครัวระดับชาติโครงการเดียว ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับความงามของออสเตรเลีย ซึ่งในปัจจุบัน มีคนทำงานร้านเสริมสวยที่ผ่านการฝึกอบรมมากกว่า 1,000 คน และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โครงการนี้มีจุดหมาย 3 ประการ คือ (1) ตระหนักถึงสัญญาณที่อาจเป็นความรุนแรงในครอบครัว (Recognize potential signs of family violence) (2) ตอบสนองต่อการเปิดเผยของลูกค้า (Respond to a client’s disclosure) และ (3) ส่งต่อไปยังบริการสังคมสงเคราะห์ที่เหมาะสม (Refer to an appropriate social service)

โดยหลักสูตรการฝึกอบรม ประกอบไปด้วย :

  • การรับรู้ถึงสัญญาณของความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงสัญญาณเฉพาะจากงานด้านการเสริมสวย
  • การตอบสนองต่อการเปิดเผยความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงการเริ่มพูดคุยกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน เกี่ยวกับสัญญาณของการล่วงละเมิดที่อาจเกิดขึ้น
  • เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงวิธีที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุน
  • การทำความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และความเหลื่อมล้ำทางเพศ
  • ความสามารถในการท้าทายทัศนคติที่เป็นอันตรายและแบบแผนทางเพศที่ทำให้เกิดความรุนแรงต่อผู้หญิง



เราไม่ใช่ที่ปรึกษา ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ แต่เราสามารถเป็น ‘คนที่คุณไว้ใจได้’

เมื่อช่วงปี 2021 หลังจากปิดทำการเป็นเวลา 11 สัปดาห์เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โซวี เอแวนส์ (Zowie Evans) เจ้าของร้านทำผมในเมลเบิร์น รอคอยที่จะได้ต้อนรับผู้คนกลับมาที่ร้านของเธอ สำหรับลูกค้าของเธอบางรายที่ประสบกับความรุนแรงในครอบครัว เธอรู้ว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะสามารถพูดคุยกับใครบางคน โดยไม่มีคู่รักของพวกเขาอยู่ด้วยในรอบหลายเดือน

“การทำผมมักจะเป็นบริการแบบตัวต่อตัว ซึ่งคู่รักมักจะปล่อยให้พวกเธอออกจากบ้านมาคนเดียวได้” เอแวนส์ กล่าว “เราไม่ใช่ที่ปรึกษา ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ แต่เราสามารถเป็นคนที่คุณไว้ใจได้”

ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น ออสเตรเลียถือเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการปิดเมืองล็อกดาวน์อย่างยาวนาน ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นมากในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน เอแวนส์ระบุว่า เธอมีบทสนทนาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าที่เคยเป็นมา ในอาชีพการทำงาน 30 ปีของเธอ

“เมื่อผู้คนถูกล็อกดาวน์ ก็ยิ่งไม่มีทางหนีรอดไปได้” เอแวนส์กล่าว "มีความวิตกกังวลในระดับที่สูงขึ้น และเราต้องรับมือกับการสนทนาถึงเรื่องนี้ (ความรุนแรงในครอบครัว) มากกว่าที่เคยเป็นมา"


ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดนั้น ออสเตรเลียถือเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้มาตรการปิดเมืองล็อกดาวน์อย่างยาวนาน ซึ่งความรุนแรงในครอบครัวก็เพิ่มขึ้นมากในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน เอแวนส์ระบุว่า เธอมีบทสนทนาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวมากกว่าที่เคยเป็นมา ในอาชีพการทำงาน 30 ปีของเธอ

share


เอแวนส์ยังคงถูกหลอกหลอนจากประสบการณ์ครั้งแรก ที่เธอมีต่อลูกค้าคนหนึ่ง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากคนในครอบครัว ลูกค้าคนนั้นเป็นผู้หญิงที่มีอาการประหม่าอย่างเห็นได้ชัด หลังจากจอดรถก่อนเวลานัดหมาย และทำท่าเก้ๆ กังๆ

“ฉันพยายามเข้าใจสถานการณ์… เธอมองฉันราวกับว่า ฉันเป็นตัวประหลาด” เอแวนส์เล่า “จากนั้น เธอก็พูดบางอย่างที่ชวนให้เกิดข้อสงสัย จนกระตุกต่อมคิดของช่างทำผม นั่นคือ ‘ได้โปรดอย่าตัดผมสั้นเกินไป เพราะคนรักของฉันไม่ชอบที่มันสั้นเกินไป’” โดยเอแวนส์ระบุต่อว่า “ฉันกลัวมาก ฉันคิดว่าเธอจะถูกทุบตีเมื่อเธอกลับบ้าน แต่ฉันไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ฉันจึงไม่ทำอะไรเลย”

ในวันนั้นเอแวนส์รู้สึกไร้เรี่ยวแรง ดังนั้น เมื่อเธอได้ยินเกี่ยวกับโครงการ HaiR-3Rs เธอจึงรีบคว้าโอกาสเข้าร่วม

“คุณจะต้องทึ่งกับสิ่งที่ลูกค้าคุยกับช่างเสริมสวยในประเด็นนี้” แมนดี ฮัดสัน (Mandy Hudson) หัวหน้าผู้ฝึกอบรมของ Hair 3-Rs กล่าวถึงการอบรมครึ่งวัน ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ช่างเสริมสวยสามารถเข้าแทรกแซงสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้า

“ฉันคิดว่าเป็นเพราะความสบายใจเมื่อช่างเสริมสวยสัมผัสตัวคุณ” ฮัดสันอธิบายต่อ “นั่นคือเหตุผลที่ผู้หญิงแบ่งปันเรื่องราวให้กับช่างเสริมสวย เรื่องที่พวกเธออาจไม่แบ่งปันกับคนอื่นได้ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว”



นิกกิ (Nikki) หนึ่งผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการ HaiR-3Rs กล่าวว่า “ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่า ถ้าลูกค้าเลี่ยงการถูกเนื้อต้องตัว หรือต้องแบ่งจ่ายค่าบริการด้วยบัตรเครดิตหลายๆ ใบ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าพวกเธอกำลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัวอยู่”

ช่างเสริมสวยที่ไม่ได้เข้าร่วมการอบรม มักจะตอบสนองต่อการเปิดเผยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธีนี้ – วิธีแรกคือการเปลี่ยนหัวข้อพูดคุย ส่วนวิธีต่อมาคือบอกลูกค้าว่า “คุณแค่ต้องหนีออกมา” ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

ดร.ฮันนาห์ แมกแคนน์ (Dr.Hannah McCann) ผู้ทำการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของพนักงานร้านเสริมสวยต่อชีวิตทางอารมณ์ของผู้มาใช้บริการ กล่าวว่า “หากมีคนเปิดเผยว่า คู่รักของพวกเธอใช้ความรุนแรง และช่างเสริมสวยสนับสนุนให้พวกเธอหนีออกมา นั่นเป็นสิ่งที่อันตรายจริงๆ สำหรับใครบางคนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ” เธอกล่าว

แม้ว่าช่างเสริมสวยอาจรับรู้โดยสัญชาตญาณว่า มีรอยฟกช้ำที่คอของลูกค้า หรือปอยผมที่หายไปจากหนังศีรษะ แต่ความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้มีสัญญาณบ่งบอกทางกายภาพเสมอไป

บริดเจต (Bridget) ผู้รอดชีวิตจากการถูกบังคับควบคุมในความสัมพันธ์ (Coercive Control)* เปิดใจกับช่างเสริมสวยเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอ หลังจากเห็นโปสเตอร์ HaiR-3Rs บนกระจกในร้านเสริมสวย

“คนมักจะไม่เข้าใจว่า ความรุนแรงทางจิตใจและอารมณ์นั้น รุนแรงพอๆ กับความรุนแรงทางร่างกาย” เธอว่า “มันเป็นเรื่องของการควบคุม การให้ใครสักคนทำ ลงมือทำ และคิดในแบบที่พวกเขาต้องการ”

“เมื่อช่างเสริมสวยยินดีที่จะรับฟัง นั่นเป็นเรื่องที่น่าประทับใจมาก คุณไม่ได้ขอให้พวกเขาแก้ไข คุณเพียงแค่ต้องการคนรับฟัง... มันทำให้ฉันรู้สึกว่าฉันจะไม่เป็นอะไร” บริดเจตเผยความรู้สึก 


ช่างเสริมสวยที่ไม่ได้เข้าร่วมการอบรม มักจะตอบสนองต่อการเปิดเผยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งจาก 2 วิธีนี้ – วิธีแรกคือการเปลี่ยนหัวข้อพูดคุย ส่วนวิธีต่อมาคือบอกลูกค้าว่า “คุณแค่ต้องหนีออกมา” ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น

share


เจนนี ทาร์แรนต์ (Jenni Tarrant) เจ้าของร้าน Bond Hair Religion ในกรุงแคนเบอร์รา ซึ่งเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก เมื่อเธอเรียนรู้เกี่ยวกับ HaiR-3Rs เธอก็ตัดสินใจเข้าร่วมลงทะเบียนเพื่อขอรับการฝึกอบรม

“เราไม่ได้คาดหวังให้ตัวเองกลายเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เรามีรายชื่อบุคคลสำหรับส่งต่อเพื่อไปเข้ารับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งอาจอาจพูดได้ว่า สิ่งที่เราทำ เราเพียงหวังว่า เมื่อส่งต่อใครสักคนไปยังคนทำงานสังคมสงเคราะห์ หรือที่พักพิงสำหรับผู้หญิง บริการเหล่านั้นจะช่วยเหลือพวกเธอได้จริงๆ และมั่นใจว่ามีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ”

ทีมผู้ฝึกอบรมของโครงการ HaiR-3Rs ได้เดินทางไปฝึกอบรมช่างเสริมสวยมากกว่า 1,000 คน จากช่างเสริมสวยทั้งหมดทั่วออสเตรเลีย ที่มีมากกว่า 70,000 คน ทั้งนี้ฮัดสันหวังว่าการฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้ถึงความรุนแรงในครอบครัว จะกลายเป็นข้อบังคับระดับชาติสำหรับอาชีพช่างเสริมสวยในออสเตรเลีย

“เราสามารถทำงานร่วมกับใครก็ได้ ในการออกแบบโครงการที่ใช้อาชีพที่พวกเขาทำอยู่เป็นฐาน เพื่อช่วยลดความรุนแรงในครอบครัวสำหรับผู้หญิงที่พวกเขาต้องพบเจอในแต่ละวัน เราสามารถทำงานร่วมกับทันตแพทย์ ตัวแทนด้านอสังหาริมทรัพย์ คนทำงานด้านสัตว์เลี้ยง เราทำงานกับอาชีพใดก็ได้” ทาร์แรนต์สรุป



* การบังคับควบคุม (Coercive Control) หมายถึงความรุนแรงในรูปแบบของพฤติกรรมที่ผู้กระทำ (Abuser) ใช้ในการควบคุม บงการชีวิต และจำกัดอิสรภาพของผู้ถูกกระทำ เช่น สอดส่อง ควบคุม จำกัดการสื่อสารกับคนรอบข้าง, ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว, การใช้เงิน และอาจรวมถึงการทำร้ายร่างกายและจิตใจด้วย 

อย่างไรก็ตาม การบังคับควบคุมนี้มีความซับซ้อน และยากต่อการสังเกตมากกว่าบาดแผลที่เกิดจากการทำร้ายร่างกาย และความรุนแรงรูปแบบนี้ มักจะเกิดในความสัมพันธ์ที่มีความใกล้ชิด เช่น คู่รัก ผู้ปกครองกับบุตร ฯลฯ

การบังคับควบคุมส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกกระทำ เช่น รู้สึกไม่มั่นคง ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และตกอยู่ในสภาวะที่ต้องพึ่งพิงผู้กระทำในการดำรงชีวิต – ซึ่ง ศาสตราจารย์ เอแวน สตาร์ก (Evan Stark) นักสังคมสงเคราะห์และผู้เขียนหนังสือ Coercive Control เทียบว่าการถูกบังคับควบคุมเปรียบเสมือนการถูกจับเป็นตัวประกัน เขากล่าวว่า เมื่อตกอยู่ในความสัมพันธ์รุนแรงรูปแบบนี้ “เหยื่อจะกลายเป็นเชลยในโลกจำลองซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้กระทำ ติดอยู่ในโลกแห่งความสับสน ความขัดแย้ง และความกลัว”

ที่มา : Shero Thailand


อ้างอิง :

Violence against women (WHO, 9 March 2021)



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat