จาก ‘ถุงแกงในมือชัชชาติ’ ถึง ‘การหายตัวนอกราชอาณาจักร’ ในวันเกิด วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
...
LATEST
Summary
- ‘รียูเนียนกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ความยุติธรรมต่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายและความคืบหน้า’ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม คือวันเกิดของวันเฉลิม หากเขายังอยู่ เขาจะมีอายุ 41 ปี
- สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ฝากประเด็นของวันเฉลิมไว้กับรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นว่า อย่าลืมประเด็นของผู้ลี้ภัย แล้วสาบสูญหรือตายไป โดยเฉพาะวันเฉลิม ที่เคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทย
- ก้าวต่อไปหลังไทยประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน-อุ้มหาย คือ ต้องลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (CED)
...
เป็นเวลากว่า 3 ปีที่ครอบครัว ‘สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ พยายามค้นหาความจริง หลังจาก วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หายสาบสูญระหว่างลี้ภัยในประเทศกัมพูชา แม้ว่า สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ จะมีหลักฐานยืนยันว่าน้องชายของเธอมีตัวตนอยู่ในประเทศกัมพูชาก่อนที่จะหายตัวไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 หลักฐานทั้งหมดถูกส่งไปยังหน่วยงานทั้งไทยและกัมพูชา แต่ไม่ได้ทำให้ครอบครัวของเธอเดินทางเข้าใกล้ความยุติธรรม
“ถ้าวันเฉลิมมีชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง ปีนี้เขาจะมีอายุ 41 ปี” สิตานันกล่าวถึงน้องชาย และเผยที่มาการจัดงานคล้ายวันเกิดให้น้องชาย
งานวันเกิดเป็นธรรมเนียมการเฉลิมฉลองให้ชีวิต แต่งานวันเกิดของวันเฉลิม ชะตากรรมของเขายังคงถูกปกปิดอำพราง
รียูเนียนกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ความยุติธรรมต่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายและความคืบหน้า
“เราไม่อยากให้เศร้า เราไม่อยากจะเศร้าอีกแล้ว เพราะต้าร์เป็นคนสนุกสนาน เราอยากจะจัดงานวันเกิดให้เขาโดยชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันรำลึกถึงต้าร์” สิตานัน บอกถึงที่มางาน ‘รียูเนียนกับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์: ความยุติธรรมต่อผู้ถูกบังคับให้สูญหายและความคืบหน้า’ ที่ถูกจัดขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม
“ตลอดเวลา 3 ปีมันสาหัสมากสำหรับเราที่เป็นประชาชนคนธรรมดา แล้วน้องเราหายไปในต่างประเทศ การแจ้งความเรายังแจ้งความไม่ได้เลย” สิตานันเล่าถึงความยากลำบากในการค้นหาความจริง
การบังคับบุคคลให้สูญหายได้รับความสนใจจากสังคมในวงกว้างตลอดการชุมนุมในปี 2563 ชื่อของวันเฉลิมได้ปรากฏบนป้ายข้อความของผู้ชุมนุมทางการเมือง รายชื่อและใบหน้าของผู้ถูกบังคับให้สูญหายในประวัติศาสตร์ความรุนแรงของรัฐไทยปรากฏขึ้นในภูมิทัศน์การเมืองร่วมสมัย
ถือเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย เมื่อ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย
แด่วันเฉลิมและทุกคน
กฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนแสงเทียนบนเค้กวันเกิด ส่องแสงสว่างภายในห้องที่ไฟดับมืด คงเหมือนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ผู้กล่าวเปิดงานวันเกิดวันเฉลิมกล่าวไว้ นี่ไม่ใช่เพียงงานรำลึกถึงวันเฉลิม แต่รวมถึงผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกนาม
“ผมมาในนามเพื่อนคนหนึ่งของต้าร์” ชัชชาติ กล่าว และบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับวันเฉลิม
“ต้าร์เป็นเพื่อนร่วมงานของผม เพราะในช่วงที่ทำงานอยู่กระทรวงคมนาคม ต้าร์เป็นคนรุ่นใหม่ที่อาสาเข้ามาช่วยทำโซเชียลมีเดีย เขาเป็นเด็กหนุ่มที่มีพลัง หน้าตายิ้มแย้ม ไม่เคยเห็นเขาโกรธใครเลย”
รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อาจเป็นหนึ่งในผลงานของวันเฉลิม ภาพลักษณ์ของชัชชาติดูเป็นมิตรกับผู้ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย สังคมเข้าถึงตัวตนของเขาได้ง่ายและอย่างมีอารมณ์ขัน สอดคล้องกับตัวตนของวันเฉลิม รวมถึงภาพถ่ายที่มักถูกนำไปทำเป็นมีมอย่างภาพของชัชชาติถือถุงแกง ก็เป็นภาพที่วันเฉลิมเป็นผู้ถ่าย
“รูปที่ผมถือถุงแกง มีคนบอกว่าต้าร์เป็นคนถ่าย แต่ผมไม่เคยถามเขานะ ผมก็เห็นหลังจากที่คนโพสต์ แต่มีคนบอกว่าต้าร์เป็นคนถ่าย ถ้าต้าร์เป็นคนถ่ายภาพนี้ก็ต้องขอบคุณต้าร์"
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมผู้นี้ ถูก คสช.ควบคุมตัวเป็นเวลา 7 วัน หลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้พบอดีตเพื่อนร่วมงานรุ่นน้องอีกเลย
“ผมก็เบี่ยงเส้นทางไปทำธุรกิจ ไม่ได้ยุ่งการเมือง ต้าร์ไปต่างประเทศ ได้ยินมาว่าเขาไปปลูกเมล่อน แต่หลังจากนั้นไม่ได้คุยกันอีกเลย ได้ยินข่าวอีกทีก็ใจหาย ผมคิดถึงต้าร์นะครับ วันนี้ก็เป็นวันเกิดของเขา ถ้าเขาอยู่ก็คงจะเป็นคนหนุ่มที่มีพลังช่วยกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น” ชัชชาติ กล่าว
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ไม่มีข้อกล่าวหาใดมีเหตุผลเพียงพอจะทำให้คนคนหนึ่งต้องถูกซ้อมทรมานหรือถูกบังคับให้สูญหาย นี่คือสารสำคัญจากอดีตเพื่อนร่วมงานวันเฉลิมผู้ซึ่งวันนี้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“นี่คือเรื่องที่เราต้องยืนยันนะครับ วันนี้นอกจากเราจะมาร่วมกันรำลึกถึงต้าร์ เรายังมาร่วมกันรำลึกถึงบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายไปอีกหลายคน ไม่ว่าเขาจะถูกกล่าวหาว่าเป็นเช่นใดก็ตาม ทุกคนมีโอกาสที่จะพิสูจน์ตัวเอง วันนี้เรามาร่วมกันรำลึกถึงต้าร์และผู้สูญหายคนอื่นๆ ด้วยครับ” เพื่อนคนหนึ่งของวันเฉลิมกล่าว
วันเฉลิมในภาพถ่ายของพี่สาว
สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวถึงตัวตนของน้องชายผ่านภาพถ่ายจำนวนหนึ่ง เธอนำเสนอภาพถ่ายตั้งแต่วันเฉลิมมีอายุเพียง 1 ขวบ เขายังเป็นเด็กทารกในอ้อมแขนของมารดา ส่วนเธอยังเป็นพี่สาววัย 7 ขวบ ภาพถ่ายแสดงพัฒนาการของเด็กคนหนึ่ง จากทารกกลายเป็นนักเรียนมัธยมที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน ภาพถ่ายของสิตานันเผยให้เห็นเส้นทางชีวิตของน้องชาย ภาพถ่ายเผยได้แม้กระทั่งความคิดและรสนิยมทางการเมือง
หลังเรียนจบมัธยม เขาเดินทางมาทำงาน และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มทำงานรณรงค์เรื่องสิทธิเสรีภาพ เขาเริ่มจากสิทธิเสรีภาพทางเพศ รณรงค์เรื่องเพศสัมพันธ์ปลอดภัย สิทธิในการทำแท้ง ความหลากหลายทางเพศ กระทั่งทำกิจกรรมด้านเด็กและเยาวชน กระทั่งได้เข้ามาทำงานให้พรรคการเมือง
“พรรคไทยรักไทยเริ่มสนใจเรื่องเด็กและเยาวชน เขาเลยชวนต้าร์เข้ามาทำงานในพรรค รณรงค์ประชาธิปไตยให้เยาวชน” สิตานัน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่งานในพรรคการเมืองของน้องชาย
ภาพถ่ายเริ่มเผยให้เห็นเส้นทางระหกระเหิน ชื่อของเขาปรากฏเป็นบุคคลที่ คสช.เรียกไปรายงานตัว แต่เขาไม่ยอมไปตามคำสั่ง หลังถูกไล่ล่าจึงตัดสินใจหนีไปประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสถานที่สุดท้ายที่พี่สาวของเขาทราบชะตากรรม
ภาพถ่ายของสิตานันเผยให้เห็นร่องรอยการมีอยู่ของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา และเผยหลักฐานการลักพาตัววันเฉลิม ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้น มันไม่ถูกยอมรับจากหน่วยงานรัฐทั้งสองประเทศ ภาพถ่ายของเธอเผยให้เห็นสายสัมพันธ์ของวันเฉลิมกับชายชาวกัมพูชาชื่อ 'ฮวด' ผู้เป็นนายกเทศมนตรีเขตจรอยจองวา กัมพูชา ที่มีความใกล้ชิดกับ ทักษิณ ชินวัตร รวมถึงสมเด็จฮุน เซน และอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภาพถ่ายเหล่านี้เป็นเหมือนจิ๊กซอว์ต่อภาพของคำถามที่พี่สาวอย่างเธอต้องการคำตอบ
“เราไม่ได้บอกว่าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเป็นของพรรคเพื่อไทย แต่เราอยากเชื่อมโยงให้เห็นการสืบสวนค้นหาความจริงที่จะนำไปสู่การคืนความยุติธรรมให้ครอบครัว” พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวถึงเหตุผลของภาพถ่ายเหล่านี้
“ตลอดเวลา 3 ปีมันสาหัสมากสำหรับเราที่เป็นประชาชนคนธรรมดา แล้วน้องเราหายต่างประเทศ การแจ้งความยังแจ้งความไม่ได้เลย” สิตานัน กล่าวถึงการหายตัวนอกราชอาณาจักรไทย และฝากความหวังไปยังรัฐบาลใหม่
“ตอนนี้เราผ่านการเลือกตั้ง เราหวังจะได้รัฐบาลที่ยึดหลักประชาธิปไตย รัฐบาลที่เห็นหัวประชาชน เราไม่รู้ว่าในตอนนี้คุณจะจับมือกับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยหรือจะสลายขั้วใดๆ ก็ช่าง คุณอย่าลืมประเด็นของวันเฉลิม อย่าลืมประเด็นของผู้ลี้ภัยที่ทำงานให้คุณแล้วสาบสูญหรือตายไป อันนี้ขอฝากพรรคเพื่อไทย กรุณามองให้เห็นหัวประชาชนตาดำๆ ด้วย” สิตานันกล่าวราวกับว่านี่คือคำขอพรในวันเกิดของตนเอง
“นี่คือความพยายามอย่างหนักหน่วงของครอบครัวสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับวันเฉลิม แต่ก็น่าเสียใจที่ยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องของคดี และดูเหมือนจะเอื้อมไปไม่ถึงสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรม” ซินเธีย เวลิโค (Cynthia Veliko) ผู้แทนระดับภูมิภาคสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวก่อนที่จะฉายภาพให้เห็นรูปแบบการบังคับบุคคลให้สูญหายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มันเริ่มจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในประเทศตนเองก่อนที่ผู้เห็นต่างไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติจนต้องลี้ภัยไปยังประเทศใกล้เคียง ก่อนที่การบังคับให้สูญหายข้ามประเทศจะเกิดจากการให้ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศที่ผู้อพยพลี้ภัยไปอาศัยอยู่ดำเนินการควบคุมตัวเพื่อประโยชน์ในการปราบปรามผู้เห็นต่างจากรัฐข้ามประเทศ
“สิ่งที่เป็นรูปแบบของการอุ้มข้ามชาติ บางครั้งก็เป็นการลอบสังหาร การควบคุมตัว รวมถึงการคุกคามทางดิจิทัล การข่มขู่กดดันต่างๆ โดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างที่อพยพไปอยู่ประเทศอื่น ซึ่งมันเกิดมากขึ้นทั่วโลก ทำให้สิทธิมนุษยชนที่ควรถูกคุ้มครองโดยหลักนิติรัฐถูกทำลาย” ซินเธีย กล่าว
อาชญากรรมกับการลงทัณฑ์
“นี่คือสิ่งเลวร้ายมากๆ เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายนอกจากจะสร้างความเจ็บปวดให้ครอบครัว อีกด้านมันทำให้สังคมของเราไม่มีความปลอดภัย” รังสิมันต์ โรม ผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล กล่าว ก่อนที่จะบอกว่าการบังคับใช้กฎหมายฯ เป็นหนทางสำคัญในการยุติเหตุการณ์นี้
“เพราะการบังคับบุคคลให้สูญหายไม่ใช่แค่การปกปิดชะตากรรมของผู้สูญหายเท่านั้น แต่ยังปกปิดใบหน้าของอาชญากรรมด้วย และเราไม่รู้เลยว่าในสังคมของเราจะอยู่กันอย่างปลอดภัยได้อย่างไร”
ผู้แทนราษฎรผู้นี้เล่าย้อนถึงบรรยากาศความตื่นตัวของสภาผู้แทนราษฎรในช่วงที่มีการพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเกิดคู่ขนานไปกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญ 2 เหตุการณ์ นั่นก็คือการหายสาบสูญของวันเฉลิมและกรณีถุงคลุมหัวของผู้กำกับโจ้ในการซ้อมทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติด
“สองกรณีนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทำให้สภาฯตื่นตัวครับ ทำให้เราต้องมีกฎหมายอะไรสักอย่างที่จะมาแก้ปัญหานี้ เราก็ร่วมกันผลักดันหลายอย่างที่เป็นความก้าวหน้าของการพัฒนาสิทธิมนุษยชน สุดท้ายมันก็ถูกบรรจุไว้ในกฎหมาย”
รังสิมันต์ โรม
หัวใจสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของกระบวนการยุติธรรม เช่น การจับและควบคุมตัวบุคคลต้องติดกล้องและแจ้งให้พนักงานอัยการและฝ่ายปกครองทราบ กฎหมายกำหนดให้การจับกุมและควบคุมตัวบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องติดกล้องบันทึกภาพและเสียงไว้ เพื่อสร้างความโปร่งใสในการทำหน้าที่จับกุมและควบคุมตัวบุคคล
นอกจากนี้ กฎหมายยังระบุถึงการห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน หรือจะถูกบังคับให้สูญหาย
ที่สำคัญ กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการกระทำผิดต่อเนื่อง รัฐมีหน้าที่สืบสวนจนกว่าจะทราบชะตากรรม และรู้ตัวผู้กระทำผิด แม้บุคคลนั้นๆ จะถูกกระทำให้สูญหายก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะการกระทำผิดยังคงดำเนินอยู่
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์
ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตราภรณ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงก้าวต่อไปหลังประเทศไทยมีกฎหมายภายในประเทศว่า ประเทศไทยต้องลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)
“ถ้าเราลงนามในภาคี CED เราสามารถไปร้องเรียนที่สหประชาชาติได้เลย ให้กรรมการสหประชาชาติสั่งรัฐโดยตรงในการค้นหาความจริงได้เลย แล้วรัฐต้องรายงานกลับสหประชาชาติ ไม่ต้องผ่านศาลในประเทศ 'ปฏิบัติการด่วน' (Urgent Action) นี้ไม่ต้องผ่านกลไกในประเทศ จี้ให้รัฐค้นหาความจริง คุ้มครองเหยื่อทันที” ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต กล่าว
การละเมิดสิทธิมนุษยชนเคียงคู่มากับภาวะลอยนวลพ้นผิด (impunity) มาโดยตลอด ราวกับเทียนที่ปักบนเนื้อเค้กวันเกิด มีผู้คนล้มตายและสูญหายจำนวนมากในช่วงการประกาศนโยบายสงครามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดน รวมถึงเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ การปราบปรามคนเสื้อแดง การสูญหายของผู้ลี้ภัยช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการง่ายที่รัฐจะจ่ายเงินเยียวยาแทนการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“สิ่งนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นสักครั้งเดียว ปัญหานี้ไม่สามารถคืนความยุติธรรมให้เหยื่อได้เพียงคุณจ่ายเงินเยียวยาอย่างเดียว แต่มันคือการนำผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งสนธิสัญญา CED คลุมทั้งสองกรณี” ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต กล่าว
