ครม. เศรษฐา 1 เพื่อไทยเสียกระทรวงสำคัญให้พรรคร่วม จะพลิกเกมอย่างไร
...
LATEST
Summary
- รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 1 พรรคเพื่อไทยเสียหลายกระทรวงที่มีความหมายไปให้พรรคร่วมรัฐบาลหลายกระทรวงที่มีความหมายไป รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องไปให้พรรคร่วมรัฐบาล
- พรรคเพื่อไทย แม้เป็นแกนนำ แต่มี สส. 141 คน ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ มี สส. รวมกันถึง 173 คน ซึ่งมากกว่า สส.พรรคเพื่อไทย ฉะนั้น อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยจึงมีไม่มาก และต้องแบ่งกระทรวงก่อนวันโหวตนายกฯ
- แต่สิ่งที่เพื่อไทยได้คือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะแพ้เลือกตั้งต่อพรรคก้าวไกล ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับบ้าน และพรรคเพื่อไทยน่าจะบริหารงานได้ราบรื่นขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ได้รับความยุติธรรมสองมาตรฐานอีก อาทิ การถูกยุบพรรค เพราะข้ามขั้วไปจับมือกับอนุรักษนิยมแล้ว
...
รัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน 1 ถือกำเนิดอย่างเป็นทางแล้ว เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา หลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยเสียหลายกระทรวงที่มีความหมายไปให้พรรคร่วมรัฐบาลหลายกระทรวง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน
แต่เมื่อความต้องการตรงกันคือ พรรคเพื่อไทยต้องการเป็นรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยากกลับบ้าน ฝ่ายอนุรักษนิยมต้องการรักษาอำนาจต่อไป และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสื่อมความนิยมลงไปมาก การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วจึงเกิดขึ้น และความบาดหมางจึงถูกวางลงก่อน
คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีรัฐมนตรี 33 คน เหลือตำแหน่งรัฐมนตรีว่างอีก 2 คน เหมือนพรรคเพื่อไทยรอปรับคณะรัฐมนตรีในไม่ช้า หรือรอ สส.ประชาธิปัตย์เข้ามาเสียบ
การเสียกระทรวงที่มีความหมายไป สะท้อนภาพเหตุการณ์จัดตั้งรัฐบาลเมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา นั่นคือ ท่าทีไม่จริงใจที่พรรคเพื่อไทยมีต่อพรรคก้าวไกล เหมือนไม่ใช่ผู้ที่ต้องการร่วมงานกัน เมื่อครั้งยังอยู่ในฐานะ 8 พรรคจัดตั้งรัฐบาล เป็นอย่างไร มาบัดนี้พรรคเพื่อไทยได้รับสิ่งเหล่านั้นกลับคืนมาหมดจากพรรคฝั่งรัฐบาลเดิมที่ได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 314 เสียง โดยพรรคร่วมรัฐบาลทำราวกับว่าพรรคเพื่อไทยเป็นแค่เรือจ้าง
แม้พรรคเพื่อไทยจะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล และ สส. มากกว่าใครในซีกรัฐบาล แต่สิ่งนี้แทบไม่มีความหมาย และไม่มีความเกรงอกเกรงใจกัน เพราะพรรคแกนนำต้องเสียกระทรวงสำคัญ รวมถึงกระทรวงเศรษฐกิจที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องไปให้พรรคร่วมรัฐบาล จึงน่าสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และพรรคเพื่อไทยจะพลิกสถานการณ์สูญเสียอำนาจต่อรอง และมีความนิยมติดลบจากการตระบัดสัตย์ ได้ด้วยวิธีไหน
แม้พรรคสีแดงจะต้องเสียคำพูด เสียความนิยม และเสียเก้าอี้สำคัญ ไปแล้ว แต่พรรคเพื่อไทยก็ได้สิ่งที่ปรารถนาเช่นกัน นั่นคือ
- ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แม้จะแพ้เลือกตั้งต่อพรรคก้าวไกล
- ทักษิณ ชินวัตร บิดา แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้กลับประเทศไทยมารับโทษจากคดีความ 3 คดี รวมโทษจำคุก 8 ปี แต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการพระราชทานอภัยลดโทษให้ทักษิณ เหลือโทษจำคุกแค่ 1 ปี และอดีตนายกรัฐมนตรีไม่ต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว เพราะพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ
- พรรคเพื่อไทยน่าจะบริหารงานได้ราบรื่นขึ้นกว่าเดิม โดยไม่ได้รับความยุติธรรมสองมาตรฐานอีก อาทิ การถูกยุบพรรค เพราะขณะนี้พรรคสีแดงได้รวมตัวกับพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมแล้ว
ถ้ามองมุมนี้อาจจะถือว่าพรรคสีแดงได้กำไรไปแล้วถึงสามต่อ
ถ้ารัฐบาลไม่ประคองแรงต้านที่จะตามมาไว้ให้ดี การได้กลับบ้านของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 อาจเป็นทุกขลาภ และแปรเปลี่ยนเป็นความสูญเสียได้ในภายหลัง ทั้งของพรรคเพื่อไทย และของประชาชน
สำหรับรัฐบาลเศรษฐา 1 จริงอยู่ การเสียกระทรวงสำคัญเป็นเรื่องเสียหายต่อการทำงานของพรรคเพื่อไทย แต่มองอีกมุม การจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ก็มาจากข้อจำกัดหลายประการ
- ข้อจำกัดแรกเกิดจากตัวพรรคแกนนำเองที่มี สส. 141 คน แต่พรรคร่วมรัฐบาลมี สส. รวมกันถึง 173 คน ซึ่งมากกว่า สส.พรรคเพื่อไทย ฉะนั้น อำนาจต่อรองของพรรคเพื่อไทยจึงมีไม่มาก อีกทั้งเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยวางเอาไว้ก่อนวันโหวตนายกรัฐมนตรีคือ ให้ทุกพรรคโหวตให้เศรษฐาไปก่อนแล้วค่อยมาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีในภายหลังถูกตีแตก โดยพรรคเพื่อไทยต้องยอมแถลงข่าวกับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนวันโหวตหนึ่งวันว่าจะแบ่งโควตาให้แต่ละพรรค พรรคละกี่เก้าอี้
- ข้อจำกัดประการต่อมาคือ พรรคอันดับสองสูญเสียความนิยมและภาพลักษณ์ที่ดีไปเกือบหมดสิ้นในการเสียสัจจะทิ้งก้าวไกลเพื่อมาจับมือกับพรรคฝั่งรัฐบาลเดิมที่อยู่คนละขั้วกันมาก่อน ฉะนั้น กระทรวงที่มีความหมายจึงต้องถูกนำแลกไปเพื่อให้พรรคอื่นมายกมือสนับสนุน
แต่ข้อจำกัดทั้งสองประการ พรรคเพื่อไทยที่อยู่ในสนามการเมืองมายาวนาน น่าจะคาดเดาสถานการณ์ได้ แต่ก็ยังฝืนมาตั้งรัฐบาลเอง ซึ่งมีความเสี่ยงสูง
เดินหน้าประเทศ หรือเป็นแค่ข้ออ้าง
ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคมปีนี้ เมื่อครั้งที่มีข้อเสนอให้รอ 10 เดือนเพื่อให้ สว. หมดวาระ แล้วค่อยเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ นับเฉพาะเสียงของ สส. เท่านั้น พรรคเพื่อไทยกลับไม่เห็นด้วย เพราะกลัวโรคแทรกซ้อน ต้องการให้ประเทศเดินหน้า มีการกล่าวอ้างถึงปัญหาเศรษฐกิจ และต้องการให้มีรัฐบาลชุดใหม่มาเริ่มต้นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่
อีกทั้งขณะพรรคอันดับสองประกาศแยกทางจากพรรคอันดับหนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยบอกว่า ต้องการหาทางออกให้ประเทศ และจะเร่งแก้วิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน
มีการมองว่า พรรคเพื่อไทยเล่นใหญ่เกินเบอร์ เพราะพรรคเพื่อไทยมีแค่ 141 เสียง ไม่สามารถเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่สามารถสร้างผลงานได้เช่นในอดีต เมื่อเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี และมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ กลับกลายเป็นหนังคนละม้วนจริงๆ
เหตุผลที่พรรคเพื่อไทยใช้ตีจากพรรคก้าวไกลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว โดยเฉพาะเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยกลับไม่จริงจัง และยอมปล่อยกระทรวงเศรษฐกิจไปให้พรรคร่วมรัฐบาลหลายกระทรวง ซึ่งน่าจะทำให้การทำงานด้านเศรษฐกิจมีรอยต่อ
หากพรรคเพื่อไทยจริงจังต่อการแก้ไขปัญหาปากท้อง พรรคเพื่อไทยก็ควรควบรวมกระทรวงเศรษฐกิจเอาไว้ที่ตนเอง แล้วปล่อยกระทรวงด้านอื่นไปให้พรรคร่วมรัฐบาลดูแล
เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ สิ่งที่จะได้เห็นต่อไป คือ หน้าที่หลักในการทำงาน การชี้แจง และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จ จะเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และแกนนำพรรคเพื่อไทย ส่วนรัฐมนตรีและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอื่น คงจะเน้นผลักดันแต่วาระของตัวเอง
สังเกตได้จากเหตุการณ์สภาผู้แทนราษฎรล่ม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพราะมี สส. แสดงตนเข้าร่วมประชุมสภาฯ แค่ 98 คน จาก 498 คน หน้าที่ในการชี้แจงและตอบโต้ตกอยู่ที่พรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียว พรรคร่วมรัฐบาลอื่นไม่ได้มาช่วยอธิบายด้วย ทั้งที่การทำหน้าที่ให้สภาครบองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ตามที่พรรคเพื่อไทยได้อธิบายเมื่อสมัยเป็นฝ่ายค้านในการประชุมสภาชุดที่แล้ว ระหว่างปี 2562-2566
กรณีหากการบริหารงานมีปัญหาหรือเกิดเรื่องอื้อฉาว พรรคเพื่อไทยน่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเองทั้งหมด ในฐานะเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นพรรคเดียวในฝั่งรัฐบาลที่ประชาชนยังอาจฝากความหวังเอาไว้ได้
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นน่าจะลอยตัวเหนือปัญหาได้อีกครั้ง เหมือนที่พวกเขาปฏิบัติมาตลอดเวลา 4 ปีที่ผ่านมาที่เป็นรัฐบาล อาทิ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่มีปัญหาการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารกระทรวงคมนาคมถูกร้องเรียนจนต้องถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ หรือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐไม่สามารถทำตามนโยบายช่วงหาเสียงได้ เช่น ค่าแรง 425 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท และลดภาษีประเภทต่างๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนจะฝากความหวังอะไรจากรัฐบาลผสมได้อีก และการที่พรรคอันดับสองบอกว่าจะเดินหน้าประเทศ คงต้องถามว่าจะเดินไปทางไหน
ตัวอย่างเช่น โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ต้องนำงบประมาณส่วนหนึ่งมาจาก การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท หรือการตัดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ มาโปะโครงการเงิน 10,000 บาท พรรคเพื่อไทยจะไปตัดงบประมาณมาจากกระทรวงไหน และพรรคร่วมรัฐบาลจะยอมให้ตัดงบประมาณในกระทรวงที่พรรคร่วมรัฐบาลรับผิดชอบหรือไม่ หรือพรรคเพื่อไทยจะต้องตัดงบประมาณเฉพาะจากกระทรวงที่ตนเองดูแล หรือสุดท้ายต้องกู้เงินมาแจกชาวบ้าน
การเป็นรัฐบาลโดยไม่มีความพร้อมเต็มที่ แต่ให้ความหวังกับประชาชนเต็มเปี่ยม ถือเป็นการลงทุนจะมีความเสี่ยงมาก เพราะเป็นลงทุนหลักหมื่น แต่ได้โอกาสทำงานแค่หลักร้อยหลักพัน หรือความรับผิดชอบทั้งหมดเป็นราคาที่พรรคเพื่อไทย และประชาชนต้องจ่าย
ความไม่ชัดเจนในการทำตามนโยบายเริ่มแสดงออกให้เห็นแล้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เศรษฐา กล่าวถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายว่า “ต้องขอไปพิจารณาก่อน แม้จะบอกว่าเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย แต่เราไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียว เรามีพรรคร่วมรัฐบาลอีก 10 พรรค ฉะนั้นจึงต้องไปพิจารณานโยบายโดยรวมก่อน”
เพื่อไทยจะพลิกสถานการณ์อย่างไร
การได้เป็นรัฐบาลย่อมมีโอกาสร้างผลงานได้มากกว่าเป็นฝ่ายค้าน จึงมีเหตุผลอันสมควรที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะเป็นรัฐบาลให้ได้ พร้อมดันให้พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน เพราะต้องไม่ลืมว่าการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง และต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรคเพื่อไทยเลือกที่จะร่วมหัวจมท้ายกับพรรคก้าวไกลโดยเป็นแค่รัฐบาลร่วมกัน โอกาสในการเลือกตั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า ย่อมเป็นของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำมากกว่าพรรคเพื่อไทย
เพราะฉะนั้น จึงไม่ผิดที่พรรคเพื่อไทยจะใช้โอกาสที่พรรคก้าวไกลส่งไม้ให้ ดันแคนดิเดตของพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีให้ได้ เพื่อเป็นพรรคแกนนำ โดยมีพรรคก้าวไกลเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจะไม่เสียจุดยืนที่ให้ไว้กับประชาชน และจะมีโอกาสให้พรรคเพื่อไทยพลิกกลับมาชนะเลือกตั้งในปี 2570
แต่พรรคเพื่อไทยเลือกทำเกินงาม ด้วยการถีบพรรคก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน แล้วไปร่วมรัฐบาลกับพรรครัฐบาลเดิม โดยเฉพาะพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ที่พรรคสีแดงประกาศว่าจะไม่จับมือด้วย พร้อมอ้างว่าต้องการ ‘สลายขั้ว’ ขึ้นมาแบบปัจจุบันทันด่วน ทำให้พรรคเพื่อไทย ที่แม้จะได้ครองเก้าอี้ผู้นำประเทศ แต่กลับติดลบด้านความนิยมตั้งแต่เศรษฐายังไม่ขนของเข้าทำเนียบรัฐบาล
แต่ถ้าพรรคอันดับสองสามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้อย่างเห็นผล และสามารถรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน พรรคเพื่อไทยก็ยังจะมีโอกาสพลิกสถานการณ์เนื่องจากจะเกิดกระแสสนับสนุนจากประชาชนและสังคม ซึ่งจะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเกิดความเกรงใจ โดยสิ่งที่พรรคสีแดงควรทำให้สำเร็จคือ ทำเรื่องที่ประกาศเอาไว้เอง ได้แก่
- ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากมติคณะรัฐมนตรีในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่
- ผลักดันเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ฯลฯ ผลักดันการกระจายอำนาจ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม
แต่ถ้าพิจารณาจากการให้สัมภาษณ์ของ เศรษฐา ทวีสิน และแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกลูกประนีประนอมแล้ว ยังไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะทำภารกิจสำคัญได้หรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ปฏิรูปกองทัพ และยกเลิกเกณฑ์ทหาร
ในเรื่องปฏิรูปกองทัพที่เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย เศรษฐาตอบว่า พรรคเพื่อไทยจะพัฒนาไปร่วมกันกับกองทัพ โดยจะต้องดูกันตามความเหมาะสม และต้องพูดคุยกับผู้นำเหล่าทัพทั้งหมด
เมื่อคืนวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา เศรษฐาเผยแพร่ภาพถ่ายร่วมกันนักธุรกิจระดับเจ้าสัวที่มาแสดงความยินดี ณ ห้องอาหารแห่งหนึ่ง โดยเขียนข้อความว่ามารับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจ
ประเด็นนี้เป็นดาบสองคมขึ้นมาทันที เพราะนอกจากการพบปะนักธุรกิจเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสามารถทำได้แล้ว ยังทำให้คนส่วนหนึ่งเกิดความระแวงว่า จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งแม้วันต่อมานายกรัฐมนตรีจะปฏิเสธ แต่ก็ต้องเผชิญกับคำถามที่ตอบยาก เช่น ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพที่ออกมาขัดกับนโยบายพรรคเพื่อไทยที่จะลดการผูกขาดของกลุ่มทุนหรือไม่ เศรษฐากล่าวว่า “ผมไม่ขอตอบคำถามนี้ เพราะมันไม่เป็นธรรมกับผมและบุคคลในภาพสักเท่าไร”
เมื่อเศรษฐาตอบเช่นนี้ จึงสร้างข้อสงสัยว่า นโยบายทลายทุนผูกขาดและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมของพรรคเพื่อไทย จะได้รับการปฏิบัติจริงหรือไม่ ด้วยวิธีไหน
แต่ก็มีหลายนโยบายที่ไม่สามารถทำได้โดยง่าย อาทิ กระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ยังไม่ชัดเจนหลายเรื่อง เช่น เงินที่จะตัดจากงบประมาณมาโปะ มาจากกระทรวงไหน นโยบายค่ารถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย จะทำได้จริงเมื่อไหร่ และนโยบายลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า แก๊ส ทันที จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าราคาลดลงแล้วได้อย่างไร ในสภาวะที่ค่าพลังงานพุ่งขึ้นรายวันเช่นนี้ อีกทั้งเก้าอี้รัฐมนตรีพลังงานก็ตกเป็นของ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติไปแล้ว
ทุกอย่างจึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขนาดมองถึงการทำงานของรัฐบาลตามปกติก็แทบเข็นไม่ขึ้นแล้ว ยังไม่นับปัญหาแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึง อย่างภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งของประชาชน สถานการณ์ต่างประเทศ ฯลฯ
หลายความเสี่ยงถาโถมรัฐบาลเศรษฐา
การพลิกสถานการณ์ด้วยการสร้างผลงานเสมือนเหรียญสองด้าน เพราะถ้าทำได้ก็จะได้รับคะแนนนิยมไปเต็มที่และเสริมสร้างความมั่นคงให้รัฐบาลเพื่อไทยได้ แต่ถ้าทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ ก็จะส่งผลในทางตรงข้ามทันที เมื่อบวกกับต้นทุนติดลบเดิมพรรคเพื่อไทยต้องจ่ายเพื่อให้ได้เก้าอี้นายกรัฐมนตรีแล้ว จุดจบของรัฐบาลเศรษฐาอาจจะมาเร็วกว่าที่คาดคิดก็เป็นได้
อดีตผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทย บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรม คาดการณ์ว่า โหวตเตอร์ของพรรคเพื่อไทยสูญเสียไป ร้อยละ 30-50 จากสถานการณ์ที่ผ่านมา
ถ้าสิ่งที่ บก.ลายจุดคาดคะเนใกล้เคียงความจริง และต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยยังไม่ฟื้นจากวิกฤติศรัทธา มีโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะได้ สส. ลดลงเกินกว่าครึ่ง และผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยจะไหลไปอยู่กับพรรคก้าวไกลเป็นส่วนใหญ่ อาจทำให้โอกาสแลนด์สไลด์ตกเป็นของพรรคสีส้ม
ส่วนพรรคสีแดงทำงานเต็มที่ ก็จะไม่เจ็บตัว เพราะถ้าคิดว่า แก้ปัญหาปากท้องให้มีผลงาน แล้วหวังว่าประชาชนจะกลับมาเลือกอีกก็เป็นไปได้ แต่ไม่ทั้งหมด เพราะขนาดการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยเปิดนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท ประชาชนยังไม่เลือกเข้าเป้า แต่เทใจให้พรรคก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง
ปัจจัยความเสี่ยงที่รัฐบาลเศรษฐามองข้ามไม่ได้คือ แม้พรรคการเมืองต่างขั้วจะมาประสานผลประโยชน์ลงเรือลำเดียวกันแล้ว แต่ประชาชนที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองและไม่พอใจ ‘ระบอบทักษิณ’ ในอดีตยังมีอยู่ คนเหล่านี้ได้ปรากฏตัวอีกครั้งเพื่อแสดงออกเพื่อตรวจสอบและต่อต้านทักษิณ อาทิ เรื่องการปฏิบัติต่อทักษิณให้มีมาตรฐานเดียวกับผู้ต้องขังคนอื่นที่ต้องอยู่ในเรือนจำ และการเร่งรัดให้ดำเนินคดี มาตรา 112 ค้างเก่า ช่วงนี้อาจดูว่ามีประชาชนจำนวนไม่มากที่ออกมาต่อต้าน อีกทั้งโทษจำคุกของทักษิณก็เหลือแค่ 1 ปี แต่ถ้าปล่อยให้มีความสงสัยเรื่องการใช้อภิสิทธิ์เกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ก็เป็นไปได้ว่า สักวันอาจเกิดความขัดแย้งรุนแรง
“ผู้ปกครองเหมือนกับเรือ ประชาชนเหมือนกับน้ำ น้ำทำให้เรือลอยได้ แต่น้ำก็ทำให้เรือจมได้เช่นกัน” ประโยคอมตะของ ถังไท่จง แห่งราชวงศ์ถัง
เศรษฐา ทวีสิน ควรรับรู้สัจธรรมข้างต้นให้จงเหมาะว่า ความอดทนของประชาชนมีขีดจำกัด และพรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจเป็นมิตรที่ไว้ได้ วันใดที่ประชาชนออกมาต่อต้านจำนวนมาก หรือรัฐบาลทำผิดพลาดร้ายแรง ถ้าไปไม่ไหวอย่าฝืนไปต่อ มีทางออกอยู่แล้ว 2 ประการ คือ ยุบสภา หรือไม่ก็ ลาออก
