Humberger Menu

SMS Emergency Alert จะมากี่โมง? ความปลอดภัยชีวิตเราจะเป็นอย่างไรต่อ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Current Issues

Social Issues

4 ต.ค. 66

creator
ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่เยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนกล็อก 9 มม. ยิงผู้คนที่สยามพารากอน โดยมีสรุปยอดผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งเหยื่อเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและพนักงานชาวพม่า
  • บทเรียนที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้อย่างชัดเจนคือการกระจายข่าวสารที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ของภาครัฐ โดยเฉพาะการเตือนภัยสำคัญที่หลายประเทศใช้คือ Emergency Alert System (EAS) หรือการเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความ ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น SMS Emergency Alert
  • เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนเรื่องการแจ้งข้อมูลฉุกเฉินแก่ประชาชนแล้ว
  • ไทยรัฐพลัสจึงได้รวบรวมแนวทางการผลักดันเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาครัฐในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงระบบต่างๆ ที่ต่างประเทศมีการพัฒนา เช่น มีการแจ้งเตือนการก่อการร้าย โรคระบาด รวมไปถึงอุบัติเหตุร้ายแรง

...


กลายเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญ จากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่เยาวชนอายุ 14 ปี ใช้อาวุธปืนกล็อก 9 มม. ยิงผู้คนที่สยามพารากอน โดยมีสรุปยอดผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ซึ่งเหยื่อเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนและพนักงานชาวพม่า 

กระแสในโซเชียลมีเดียต่างโพสต์เตือนภัยกันอย่างอุตลุด จากการคลิปที่ได้ยินเสียงปืน และมวลชนที่อพยพหนีออกมาจากห้างกันจ้าละหวั่น บทเรียนที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้อย่างชัดเจนคือการกระจายข่าวสารที่ไม่ทันต่อสถานการณ์ของภาครัฐ โดยเฉพาะการเตือนภัยสำคัญที่หลายประเทศใช้คือ Emergency Alert System (EAS) หรือการเตือนภัยฉุกเฉินผ่านข้อความ ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น SMS Emergency Alert 

เหตุการณ์ที่เป็นบทเรียนในสังคมไทยมาหลากหลายกรณี แต่ยังคงไม่สามารถสร้างระบบที่จำเป็นต่อชีวิตของประชาชนได้ จนกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ซึ่ง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนเรื่องการแจ้งข้อมูลฉุกเฉินแก่ประชาชนแล้ว 

ไทยรัฐพลัสจึงได้รวบรวมแนวทางการผลักดันเรื่องนี้ โดยเฉพาะภาครัฐในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบ รวมถึงระบบต่างๆ ที่ต่างประเทศมีการพัฒนา เช่น มีการแจ้งเตือนการก่อการร้าย โรคระบาด รวมไปถึงอุบัติเหตุร้ายแรง



รัฐไทยจะทำได้ไหม? 

ในปี 2023 ที่ประเทศไทยมีรัฐบาลใหม่ของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว ที่มีเสียงเรียกร้องมากมายให้ผลักดันในเรื่องนี้ ซึ่งเศรษฐาได้ออกมาให้คำตอบว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้ และเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ เพื่อวางแผนเรื่องการแจ้งข้อมูลฉุกเฉินแก่ประชาชน หลังเกิดเหตุยิงกลางสยามพารากอน

พชร นริพทะพันธุ์ โฆษกประจำประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) ได้ให้ กสทช.เตรียมข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม  

โดย กสทช.พร้อมเชื่อมต่อการแจ้งเตือนกับค่ายมือถือหรือโอเปอเรเตอร์ทุกราย แต่อำนาจและข้อมูล ข้อความในการเตือนภัยในขณะนี้ อยู่ที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลกลางทางด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ และควบคุมสั่งการในภาวะวิกฤติ รวมถึงแจ้งเตือนภัยพิบัติทุกประเภท ดังนั้น หากรัฐบาลสั่งการออกระเบียบให้ศูนย์เตือนภัยฯ มีการแจ้งข้อมูล และประสานมายัง กสทช. ทาง กสทช.ก็จะแจ้งโอเปอเรเตอร์ เพื่อเตือนภัยได้ทันที 

พชร เสริมว่า ขณะนี้ กสทช.ได้จัดไทม์ไลน์ในการดำเนินการ ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้การทำงานในลักษณะ Emergency Alert System (EAS) ระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินและข้อความแจ้งเตือนจากรัฐบาล ซึ่งได้มีการใช้งานเป็นระบบเตือนภัยสาธารณะแห่งชาติ ดำเนินการได้อย่างสมบูรณ์รวดเร็ว เช่น การเลือกใช้เทคโนโลยีค่ายสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่น ใช้รูปแบบอนาล็อกหรือดิจิทัล 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยน่าจะใช้รูปแบบดิจิทัลแจ้งผ่านมือถือ และสามารถใช้ตาม ประเภทของอุปกรณ์ในมือถือนั้นๆ สามารถแปลงได้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ  เตือนทั้งคนไทยและต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักลงทุน และอื่นๆ

“ศูนย์เตือนพิภัยแห่งชาติเคยสังกัดกระทรวงดีอี แต่ภายหลังได้ย้ายสังกัดไปกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนี้หากมีระเบียบชัดเจนให้ ศูนย์เตือนพิภัยแห่งชาติจัดทำข้อมูล ข้อความเตือนภัยทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุด่วนเหตุร้าย ปัญหา PM 2.5 หรืออื่นๆ ซึ่งเรื่องข้อความข้อมูลก็ต้องไม่สร้างความตื่นตระหนกจนเกินไป ในขณะที่การเลือกเทคโนโลยีนั้นก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว” 



ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเรื่องนี้ผ่านไลฟ์เฟซบุ๊กว่า ส่วนหนึ่งที่ กทม.ต้องทำคือทำระบบแจ้งเตือนภัย ซึ่ง กทม.มีคือระบบ Line Alert แต่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพราะฉะนั้นจะไปคุยกับทาง Line เราจะเพิ่มรูปแบบได้หรือไม่ เป็นระบบแจ้งเตือนทุกคนที่สมัคร Line Alert หรือผ่าน Traffy Fondue

อีกเรื่องคือต้องคุยกับ กสทช.ในการพัฒนาระบบจากฐานที่ตั้ง (location-based) ที่ต้องหาความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะว่าเคยคุยกับ กสทช. และผู้ประกอบการโดยรอบ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายคณะ ตรงนี้ต้องคุยกับภาพใหญ่ของรัฐบาลด้วย เพราะอาจไม่ได้เกี่ยวกับ กทม.ฝ่ายเดียว แต่อาจเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่น

นอกจากนี้ ในการประชุมสภาวันนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอระบบ Cell Broadcasting ซึ่งเป็นระบบที่ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.พรรคก้าวไกล เคยเสนอเมื่อปี 2565 ช่วงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเทคโนโลยี Cell Broadcasting ใช้ในส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยพิบัติถึงโทรศัพท์มือถือประชาชนโดยตรง 



การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินของต่างประเทศเป็นอย่างไร?

การแจ้งเตือนภัยในแต่ละประเทศ มีความคล้ายคลึงและแตกต่างกันออกไป โดยเน้นการส่งข้อมูลไปให้ถึงประชาชนถูกคนโดยตรงอย่างเร็วที่สุด ในบางประเทศได้พัฒนาการแจ้งเตือนในสถานการณ์อันตรายอื่นๆ มากขึ้น นอกจากแค่ภัยพิบัติธรรมชาติ โดยได้ยกมาทั้งหมด 7 ประเทศ ดังนี้

1. สหรัฐอเมริกา ใช้ระบบที่เรียกว่า Wireless Emergency Alerts เหมือนกับสหราชอาณาจักร ที่ส่งข้อความที่มีการแจ้งเตือน ทั้งเสียงและสั่น ผ่านทางเสาสัญญาณมือถือ โดยมีข้อความความยาวเพียง 360 ตัวอักษร รวมถึงรายละเอียด เช่น ประเภทของเหตุการณ์ฉุกเฉิน และส่ิงที่ควรปฏิบัติ ส่งไปยังอุปกรณ์สื่อสารโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย

2.ญี่ปุ่น ใช้ระบบที่เรียกว่า J-ALERT ออกอากาศคำเตือนทางทีวี ลำโพงกลางแจ้ง วิทยุ และทางอีเมลด้วย การแจ้งเตือนจะถูกส่งผ่านการแจ้งเตือนแบบพุชไปยังโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องที่ใช้ซิมการ์ดจากเครือข่ายของญี่ปุ่น แต่ก็มีแอปฯ เฉพาะที่รองรับ J-ALERT หากเป็นชาวต่างชาติ เช่น NERV (แอปฯ ป้องกันภัยพิบัติ) และแอปฯ ข่าว NHK World TV 

3.ออสเตรเลีย แจ้งโดยจะส่งข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้านและส่งข้อความไปยังโทรศัพท์มือถือ โดยจะใช้เบอร์ +61 444 444 444 ในการแจ้ง




4.นิวซีแลนด์ ระบบทำงานคล้ายกับสหรัฐอเมริกามากกว่าในออสเตรเลีย โดยมีการแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์ที่รองรับผ่านเสาสัญญาณ แต่ยังมีปัญหาในการส่งถึงมือถือรุ่นเก่า รัฐบาลระบุรายชื่อรุ่นที่รองรับทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ โดยการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินของนิวซีแลนด์ได้ผลดีในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่จะใช้เมื่อมีภัยคุกคามร้ายแรงต่อชีวิต สุขภาพ หรือทรัพย์สินเท่านั้น

5.แคนาดา ใช้วิธีให้ผู้ให้บริการอุปกรณ์ไร้สายทุกรายจำเป็นต้องส่งการแจ้งเตือนฉุกเฉินไปยังอุปกรณ์บนเครือข่าย มีการสั่นที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อแยกความแตกต่างจากการแจ้งเตือนอื่นๆ แต่ใช้โทนเสียงเดียวกับที่ผู้คนจะจดจำได้จากการแจ้งเตือนที่ออกอากาศทางวิทยุและทีวี 

6.เนเธอร์แลนด์ มีระบบ NL-Alert ใช้เสาสัญญาณเซลลูลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงการโอเวอร์โหลดเครือข่ายโทรศัพท์ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีหมายเลขโทรศัพท์เพื่อส่งการแจ้งเตือน ใช้ในสถานการณ์ที่คุกคามถึงชีวิต เช่น ไฟไหม้ครั้งใหญ่ การโจมตีของผู้ก่อการร้าย หรือเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ในขณะที่ระบบของสหราชอาณาจักรไม่ได้ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการโจมตีด้วยที่สะเทือนขวัญ

7.ฝรั่งเศส มีระบบชื่อ FR-Alert เปิดให้บริการทั่วฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2022 โดยจะส่งการแจ้งเตือนทางโทรศัพท์มือถือไปยังทุกคนในพื้นที่ คำเตือนถึงเหตุการณ์สำคัญ รวมถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ เช่น โรคระบาด อุบัติเหตุร้ายแรงบนถนนและทางรถไฟ และการโจมตีของผู้ก่อการร้าย โดยการแจ้งเตือนจะมาพร้อมกับเสียงและการสั่น รวมถึงรายละเอียดลักษณะของความเสี่ยง สถานที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบ และคำแนะนำใดๆ เช่น อยู่บ้านหรือออกจากพื้นที่


อ้างอิง: thairath.co.th (1,2) , news.sky.com , bangkokbiznews.com , mcot.net



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat