Humberger Menu

‘หยก’ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอให้เตรียมพัฒน์ฯ ตอบชัดๆ ทำไมไม่ให้เข้าเรียน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Social Issues

6 พ.ย. 66

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • หยก - ธนลภย์ ยังไม่มีสถานะนักเรียน โดยทางโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ว่าทำไมถึงถูกห้ามเข้าเรียน หยกจึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล
  • ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ให้เหตุผลถึงการปฏิเสธไม่ให้หยกเข้าเรียนว่า หยกไม่มีสถานะนักเรียน เพราะขั้นตอนการมอบตัวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องนำผู้ปกครองตัวจริงมา
  • หยกมีคำถามถึงโรงเรียน 5 ข้อ ซึ่งไม่เคยมีคำตอบชัดเจนนอกจากการพูดปากเปล่า เช่น ใครเป็นผู้ตัดสินใจว่าการมอบตัวสมบูรณ์ ใครเป็นผู้สั่งและตัดสินใจให้โอนเงินค่าเทอมคืน และใครเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการไม่ให้ผลสอบ

...


หยก - ธนลภย์ ยังไม่มีสถานะนักเรียน โดยทางโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ว่าทำไมถึงถูกห้ามเข้าเรียน หยกจึงโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล 

“เปิดเทอมสอง หนูยังคงไม่ได้เข้าไปเรียนเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่เทอมแรกหนูก็เรียนไปแล้ว ทำไมเทอมสองถึงไม่ให้หนูเรียน จดหมายก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบ วันนี้หนูจึงได้ไปทวงถามถึงจดหมายที่ได้เขียนสอบถาม คุณครูที่อยู่ข้างในรั้วจึงบอกให้รอ หนูก็รอ รอเป็นชั่วโมง ระหว่างรอหนูก็ได้ทวงถาม แต่คำตอบที่ได้คือ ให้รอ แล้วครูคนนั้นก็ไม่อยู่ตรงนั้นแล้ว อีกสักพัก หนูจะไปยื่นจดหมายให้นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบและคืนความเป็นธรรม” 

ก่อนหน้านี้ ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ให้เหตุผลถึงการปฏิเสธไม่ให้หยกเข้าเรียนว่า หยกไม่มีสถานะนักเรียน เพราะขั้นตอนการมอบตัวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องนำผู้ปกครองตัวจริงมา แต่หยกยืนยันว่า ได้ทำการมอบตัวและจ่ายค่าเทอมแล้ว โดยมี บุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม รับเป็นผู้ปกครอง

หลังจากไม่สามารถเข้าเรียนและร่วมกิจกรรมอื่นๆ ได้ หยกอ้างว่า โรงเรียนโอนค่าเทอมกลับคืนมาโดยไม่แจ้งให้ทราบ จึงไม่มีความชัดเจนว่า แท้จริงแล้ว สาเหตุที่หยกถูกเตรียมพัฒน์ฯ ปฏิเสธ เป็นเพราะเรื่องผู้ปกครองจริงหรือไม่ 

และวันนี้ 6 พฤศจิกายน หยกได้ไปที่หน้าโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ อีกครั้ง เพื่อทวงคำตอบจากโรงเรียน ถึงเหตุผลที่ไม่ได้เข้าเรียนและร่วมกิจกรรม เพราะโรงเรียนไม่เคยตอบชัดเจน เมื่อครูบอกให้รอ แต่ไม่มีคำตอบ จึงขอไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี

โดยในจดหมายของหยกที่จะนำไปยื่นนายกฯ คือจดหมายถึงผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ที่เคยยื่นเมื่อวันที่ 12 กันยายน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ มีเนื้อหาดังนี้ 


วันที่ 12 กันยายน 2566

เรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ 

ข้าพเจ้า นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ซึ่งทางโรงเรียนได้แจ้งว่าไม่ใช่นักเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการแล้ว ขอแจ้งว่ามาจนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้ายังไม่ได้รับการติดต่อจากทางโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด แต่มีครู ผู้ปกครองและบุคลากรของโรงเรียน ได้ทำการไม่ให้ข้าพเจ้าเข้าไปรับการศึกษาในโรงเรียน และได้แจ้งข้าพเจ้าด้วยปากเปล่าตลอดมา ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าไม่ใช่การกระทำเป็นกิจจะลักษณะและไม่ถูกต้อง จึงขอเรียนถามคุณครูซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ดังนี้ 

1. ช่วงตลอดเทอมและภายหลังที่ข้าพเจ้าไปเรียนในโรงเรียน ใครเป็นผู้อนุญาตให้เข้ามาด้วยเหตุผลใด 

2.ใครเป็นผู้ตัดสินใจว่าการมอบตัวข้าพเจ้าไม่สมบูรณ์ และได้มีการจัดหาทางออกใหข้าพเจ้าอย่างไร นอกเหนือจากบอกให้ข้าพเจ้านำคุณแม่มาเจอที่โรงเรียน

3.ใครเป็นผู้สั่งและตัดสินใจให้โอนเงินคืนข้าพเจ้า เมื่อวันใด และเหตุใดไม่แจ้งข้าพเจ้า 

4.โรงเรียนมีแผนการจะมอบผลสอบให้ข้าพเจ้าหรือไม่ และใครเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการไม่ให้ผลสอบข้าพเจ้า

5. ครูที่ยอมให้ผู้ปกครองเข้ามาพูดคุยกับข้าพเจ้าหรือไม่ และวิ่งตามข้าพเจ้าในเวลาที่ข้าพเจ้าเข้ามาเรียนคือใคร และใครเป็นผู้มีมติอนุญาตให้ผู้ปกครองหลายคนเข้ามาพูดคุย หรือไล่ข้าพเจ้าได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาและถ้าหากได้คำตอบใดๆ แล้ว ขอให้แจ้งข้าพเจ้าโดยตรง โดยแจ้งมายังเบอร์หรือไลน์ติดต่อของข้าพเจ้า หรือเมื่อข้าพเจ้าติดต่อสอบถามได้ 

การกระทำของโรงเรียนตั้งแต่ข้าพเจ้าติดคุกเพราะคดีอาญามาตรา 112 ที่ศาลเยาวชนออกหมายจับมาจนถึงวันนี้ สร้างความสับสนและไม่เข้าใจให้ทั้งตัวข้าพเจ้าและบุคคลทุกคนอย่างมาก จึงขอความร่วมมือจากโรงเรียนด้วย


อย่างไรก็ตาม หยกไม่สามารถยื่นหนังสือถึงนายกฯ ที่ทำเนียบได้ จึงตัดสินใจไปยื่นเรื่องที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล โดย สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เดินมารับหนังสือ และจะดำเนินการภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะนำหนังสือเพื่อแจ้งความคืบหน้ากลับไป 


สาเหตุอาจเกิดจากคดีมาตรา 112 

กรณีของ หยก - ธนลภย์ เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสังคม หลังจากเธอตัดสินใจแต่งชุดไปรเวทและย้อมผมไปเรียน ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์รุนแรง ว่าเป็นเด็กนอกคอก ไม่เคารพกฎของโรงเรียน และโรงเรียนสมควรไล่ออก

แต่ทางโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ ไม่ได้ไล่หยกออก แต่ให้เหตุผลเรื่องไม่มีสถานะนักเรียนเนื่องจากการมอบตัวไม่สมบูรณ์ แต่ไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดอื่น หยกจึงต้องการคำตอบของคำถาม 5 ข้อที่ระบุในจดหมาย

อย่างไรก็ตาม เหมือนข้อความลงท้ายในจดหมายของหยก สถานะนักเรียนและท่าทีของโรงเรียน เปลี่ยนไปตั้งแต่หยกโดนคดีมาตรา 112

คดีมาตรา 112 ของหยกมี 2 คดี คดีแรกเกิดขึ้นขณะเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี จากกิจกรรม '13 ตุลา หวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป' ที่ลานเสาชิงช้า กรุงเทพฯ ส่วนคดีที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ในวันที่หยกเป่าเค้กวันเกิดอายุครบ 15 ปี และอ่านแถลงการณ์หน้าที่ทำการสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน หลังได้รับหมายเรียกจาก สน.สำราญราษฎร์ 

ข้อหามาตรา 112 ก็ทำให้หยกถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี เป็นเวลา 51 วัน โดยศาลยังไม่มีคำตัดสินว่ามีความผิด ก่อนได้รับการปล่อยตัว เมื่อ 18 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวันแรกและวันสุดท้ายที่หยกจะสามารถมอบตัวกับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เพื่อเรียนต่อชั้น ม.4 คือ 16 พฤษภาคม ซึ่งข่าวขณะนั้นบอกว่า ทางโรงเรียนยืดหยุ่นให้หยกสามารถมอบตัวและเข้าเรียนได้

แต่แล้วสถานการณ์ก็พลิก เมื่อหลายวันผ่านไป เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยปิดประตูไม่ให้หยกเข้าเรียน โรงเรียนให้เหตุผลว่า หยกเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่นักเรียน เนื่องจากการมอบตัวไม่สมบูรณ์ เพราะไม่ได้นำผู้ปกครองตัวจริงมา แม้หยกจะแจ้งว่า ผ่านขั้นตอนการจ่ายค่าเทอมครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม ซึ่งกรณีนี้หยกยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทำให้ต้องยื่นจดหมายเพื่อทวงถามหาเหตุผล

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตถึงสาเหตุที่ทำให้ หยก - ธนลภย์ ไม่มีสถานะนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ คือ คู่มือนักเรียน ผู้ปกครอง และครู ประจำปีการศึกษา 2566 ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของโรงเรียนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ระบุว่า นักเรียนทุกคนจะมีคะแนนความประพฤติ 100 คะแนน และหากทำผิดกฎก็จะถูกตัดคะแนน โดยมีเกณฑ์การรักษาคุณสมบัติอันพึงประสงค์อยู่ที่ 70 คะแนน และคะแนนนี้สามารถเพิ่มได้ตามความเหมาะสมของความดีที่กำหนด 

และคู่มือฉบับปี 2566 หน้า 114 มีข้อกำหนดคุณสมบัติอื่นๆ ของการเป็นนักเรียน เพิ่มมากกว่าปีการศึกษา 2565 ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับคดีมาตรา 112 ของหยก คือ 

คุณสมบัติอื่นๆ ของการเป็นนักเรียน

  • เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
  • ไม่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีความ หรือการลงโทษทางกฎหมาย

ในรัฐบาลชุดที่แล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ตรีนุช เทียนทอง กล่าวเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนว่า หยกยังมีสถานะนักเรียน ไม่ได้ถูกไล่ออก และยังเข้าเรียนได้ตามปกติ ส่วนเรื่องชุดไปรเวทกับสีผมนั้น ขึ้นอยู่กับกฎของโรงเรียน

ต่อมา วันที่ 20 มิถุนายน จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลาง เพื่อหาทางออกให้กับทั้งหยกและโรงเรียน แต่รัฐมนตรีจุติได้พูดคุยกับโรงเรียน ครูอาจารย์ แต่ขอไม่ตอบเรื่องสถานะนักเรียนของหยก 

กระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล วราวุธ ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คนใหม่ แต่หยกก็ยังเป็นเยาวชนที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ โดยทีมงานไทยรัฐพลัสเคยสอบถามไปยังรัฐมนตรีวราวุธช่วงตั้งรัฐบาลใหม่ๆ แต่ขณะนั้นวราวุธปฏิเสธจะตอบคำถาม



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

มุมธรรมดาของเด็กเลวที่ชื่อ ‘หยก’ 5 สิ่งเล็กๆ ที่หยกทำเพราะรัก ในฐานะเด็กธรรมดาที่ไม่ได้ถูกแปะป้ายเป็นปิศาจ

เราจะคุยเรื่อง…กันอย่างไร ถ้าไม่พูดถึงมาตรา 112

ข้อความจากเด็กเตรียมพัฒน์ “โรงเรียนไม่ควรทำเหมือน หยก-ธนลภย์ ไม่เคยเป็นนักเรียนที่นี่”

หรือ ‘กลิ่นความเจริญ’ ที่ว่า เป็นเพียงอุปาทานหมู่

เสียงจากศิษย์เก่า ‘เตรียมพัฒน์’ เมื่อโรงเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของ หยก-ธนลภย์

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat