วาระการศึกษาฉบับภูมิใจไทย แม้ภาษาอังกฤษจะด้อย ผลประเมิน PISA จะต่ำ แต่เราต้องภูมิใจในความเป็นชาติ
...
LATEST
Summary
- นอกจากทักษะภาษาอังกฤษของไทยจะต่ำกว่ามาตรฐาน ผล PISA ปี 2565 ของนักเรียนไทย ก็ยังพบว่าทุกทักษะที่ประเมิน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
- อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ของ 4 กระทรวงในกำกับของพรรคภูมิใจไทย
- สามารถมองได้ว่าแม้ว่าการศึกษาไทยจะถูกพิสูจน์ด้วยผลการประเมินที่ออกมาว่าต่ำกว่ามาตรฐานในระดับสากล แต่แนวทางการศึกษาตามแนวทางของภูมิใจไทย ยังคงเน้นหนักในทิศทางเดิมที่เคยเป็นมา คือปลูกฝังแนวคิดอนุรักษนิยม โดยไม่พูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษาให้ทัดเทียมนานาประเทศ
...
แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะถูกกล่าวหาจากพรรคก้าวไกลว่าเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์ แต่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน กลับมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดี ในขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของคนไทย
สอดคล้องกับกรณีที่สถาบันการศึกษาภาษาอังกฤษ EF Education First เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษ (English Proficiency Index) จากผู้ใหญ่ 2.2 ล้านคน จาก 113 ประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 พบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จาก 113 ประเทศ และรั้งอันดับสุดท้ายในอาเซียนจาก 8 ประเทศ (ไม่มีผลการสำรวจของประเทศบรูไนและลาว)
ค่าเฉลี่ยดัชนีความสามารถทางภาษาอังกฤษทั่วโลกอยู่ที่ 502 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ 416 คะแนน กล่าวคือคนไทยสามารถแนะนำตัวเองหรือผู้อื่นได้เบื้องต้น ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ที่ไม่ซับซ้อน และบอกทิศทางให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างง่าย
ถ้าพิจารณการสำรวจตั้งแต่ปี 2554 จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยของไทยอยู่ระดับต่ำมาก ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย มีเพียงปี 2560 ที่ขึ้นไปเล็กน้อยเท่านั้น
มีคำถามว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ทำไมระบบการศึกษาไทยซึ่งสอนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา สัปดาห์ละ 5 ชั่วโมง คนไทยถึงยังมีทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก
Education First ได้ให้ข้อแนะนำเชิงนโยบายแก่ภาครัฐและหน่วยงานด้านการศึกษา อาทิ
- สร้างระบบการประเมินทักษะทางภาษาที่ครอบคลุมทั้งครูและนักเรียน เพื่อกำหนดมาตรฐาน
- เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษในการฝึกอบรมครูใหม่ และมีการหมั่นอบรมเพิ่มพูนทักษะการสื่อสารของครูอยู่ตลอด
- ตรวจสอบมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษ ว่าถูกสอนด้วยคนที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของ Education First เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ภาครัฐจะทำตามหรือไม่ก็ได้ แต่ถ้าภาครัฐไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการศึกษา ยืนยันการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามเดิม ผลลัพธ์ในอนาคตคงไม่ต่างไปจากตอนนี้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพการศึกษาไทยประการหนึ่ง
เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่ต่ำมากของคนไทย คนบางส่วนมองว่าเป็นเพราะการสอนเน้นให้ท่องจำ เน้นทำข้อสอบ ไม่ได้สอนให้สื่อสาร ไม่ได้ให้นักเรียนใช้ภาษาอังกฤษจริง และผู้ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ก็เนื่องจากไปเรียนเพิ่มเติมเอง
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน เศรษฐา ทวีสิน ฝากให้กระทรวงศึกษาธิการตอบสนองต่อกรณีที่มีการเปิดเผยการจัดอันดับดังกล่าว โดยไม่ว่าจะเป็นโครงการอะไร ก็ขอให้ออกมาอย่างเร่งด่วน
ต้องติดตามว่าความต้องการผลสำเร็จอย่างเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีจะจบลงแบบไหน เพราะพรรคภูมิใจไทยที่คุมงานด้านการศึกษามีนโยบายออกไปอีกทิศทางหนึ่ง
ผลประเมิน PISA นักเรียนไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ต่ำสุดในรอบ 20 ปี
ทักษะด้านวิชาการของนักเรียนไทยก็อยู่ในระดับเดียวกับความสามารถทางภาษาอังกฤษ
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) เปิดเผยผลประเมินนักเรียนอายุ 15 ปี โดยในปีนี้มีประเทศที่เข้าร่วมทั้งสิ้น 81 ประเทศ
ผล PISA ปี 2565 นักเรียนที่มาจากประเทศหรือเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ทำข้อสอบได้อย่างโดดเด่น ได้แก่ มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเอสโตเนีย ส่วนนักเรียนไทย พบว่าทุกทักษะที่ประเมิน ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
- ทักษะการอ่าน ไทยอยู่ในอันดับที่ 64 จาก 81 ประเทศ เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 34) บรูไน (อันดับ 44) และมาเลเซีย (อันดับ 60)
- ทักษะด้านคณิตศาสตร์ ไทยอยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 31) บรูไน (อันดับ 40) และมาเลเซีย (อันดับ 54)
- ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ไทยอยู่ในอันดับที่ 58 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ (อันดับ 1) เวียดนาม (อันดับ 35) บรูไน (อันดับ 42) และมาเลเซีย (อันดับ 52)
ผลคะแนนของเด็กนักเรียนไทยประจำปี 2565 ต่ำที่สุดกว่าการทดสอบครั้งก่อนๆ นับแต่ไทยเข้าร่วมประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในช่วงต้นทศวรรษ 2543
นอกจากความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษที่สำรวจโดย EF Education First และผลการประเมินทักษะด้านวิชาการโดย PISA ของไทยจะตกต่ำแล้ว การศึกษาของไทยก็ยังมีปัญหาพื้นฐานเรื้อรังอื่นที่รอการแก้ไขอยู่อีกไม่น้อย รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ต้องตระหนักในเรื่องนี้ด้วย อาทิ ครูคนเดียวสอนหลายวิชา ครูไม่ครบชั้นเรียน ครูต้องทำหน้าที่อื่น ทำให้ไม่มีเวลาจัดการเรียนการสอน รวมถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงกับนักเรียนโดยครูที่ยังไม่หมดไปและเป็นข่าวอยู่เสมอ
ภูมิใจไทยย้อนยุค ให้นโยบายสร้างคนโดยเน้นจิตสำนึกรักชาติ
ปัญหาการใช้ภาษาอังกฤษและทักษะวิชาการของนักเรียนไทยตกต่ำ เป็นปัญหาเรื้อรัง แต่ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงยังมีปัญหาพื้นฐานอื่นอีก แต่เมื่อพิจารณาแนวทางการทำงานของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแล้ว พบว่าแก้ปัญหาไม่ครอบคลุมและไม่ตรงจุด แล้วยังไปเปิดประเด็นสร้างวาระใหม่แทน
วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่กระทรวงศึกษาธิการ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของชาติ เป็นคนที่มีจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ ของ 4 กระทรวงในกำกับของพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
อนุทิน ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยอีกตำแหน่ง อยากให้ 4 กระทรวงในกำกับมีเป้าหมายและภารกิจในแนวทางเดียวกัน คือ การพัฒนาคน พัฒนาชาติ
พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์ชาติไทย เข้าใจความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ สามารถดำรงตนเป็นพลเมืองดีที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
“ผู้ที่จะเข้ารับราชการนอกจากจะต้องมีความรู้ ความสามารถในสาขาต่างๆ แล้ว ต้องมีทัศนคติที่ดีในการดำรงตนเป็นข้าราชการที่ดี ภาคภูมิใจ และเข้าใจในความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ” พลตำรวจเอกเพิ่มพูนกล่าว
การลงนามบันทึกความเข้าใจ 4 กระทรวง ทำให้เรื่องจิตสำนึกรักชาติ ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติไทย และยึดมั่นสถาบันสำคัญของชาติ กลายเป็นทิศทางหลักในการทำงานของกระทรวงภายใต้การกำกับของพรรคภูมิใจไทย น่าสนใจว่าทิศทางเช่นนี้จะนำพาประเทศไทยและการศึกษาของไทยไปในทิศทางไหน
พรรคภูมิใจไทยออกตัวเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมมาโดยตลอด ย้อนกลับไปช่วงจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยประกาศพร้อมร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย โดยมีเงื่อนไขข้อแรก คือไม่แตะต้องกฎหมายมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขหรือเรื่องอื่นๆ
ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยอ้างอิงสถาบันเพื่อหวังผลทางการเมือง เพื่อให้ได้เป็นรัฐบาล มากกว่ายึดมั่นต่อเสียงของประชาชน และหลักสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบอบประชาธิปไตยใช่หรือไม่
ส่วนกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการระบุว่า ข้าราชการที่ดีต้องมีความภาคภูมิใจ และเข้าใจในความสำคัญของสถาบันหลักของชาติ ทำให้มีคำถามว่า ข้าราชการที่ดีควรเป็นข้าราชการที่ทำงานรับใช้ประชาชนอย่างเต็มความสามารถไม่ใช่หรือ การภูมิใจในสถาบันหลักของชาติเกี่ยวข้องกับการเป็นข้าราชการที่ดีตรงไหน นอกจากสร้างการท่องจำค่านิยมที่ถูกกำหนดขึ้น เพื่อความมั่นคงของชนชั้นนำโดยอ้างเรื่องของชาติ คล้ายกับย้อนเวลาไปในยุคสงครามเย็น
ในเมื่อแนวความคิดของผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเป็นเช่นนี้ ทำให้อดข้องใจไม่ได้ว่าการศึกษาของชาติจะทัดเทียมประเทศอื่น โดยเฉพาะในอาเซียนได้อย่างไร
เพิ่มพูนไม่ได้มอบนโยบายปลูกฝังให้รักชาติตั้งแต่แรก
หลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ได้มอบนโยบายในการจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือ นโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา 4 ด้าน และนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง 6 ด้าน
ในการมอบนโยบายไม่มีแนวทางการปลูกฝังให้รักชาติ ภูมิใจประวัติศาสตร์ และยึดมั่นสถาบัน เท่ากับว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมาภายหลัง ตามวาระของพรรคภูมิใจไทยในการประสานทำงานร่วมกัน 4 กระทรวง มากกว่าทำเพื่อวาระด้านการศึกษาโดยตรง
ข้อสำคัญคือนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูนไม่ได้พูดถึงเรื่องปฏิรูปการศึกษา และนโยบายของรัฐบาลข้ามขั้วก็ไม่มีเรื่องปฏิรูปการศึกษาเช่นกัน ถ้าจะให้วิเคราะห์คงเป็นเพราะถ้าปฏิรูปการศึกษาแล้ว นักเรียนจะคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นระบบมากขึ้น ความเชื่อถือในแนวคิดอนุรักษนิยมอาจถูกสั่นคลอน ไม่มั่นคงเหมือนที่เป็นมาตลอด
กระทรวงสังกัดภูมิใจไทยทยอยออกมาตรการปลูกฝังความรักชาติ
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน เพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การสอบข้าราชการใหม่ในการสอบภาค ข. หรือภาค ค. กำหนดให้เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกรักชาติ ฯลฯ เข้าไป เพื่อให้ผู้สมัครได้แสดงวิสัยทัศน์และในขั้นสัมภาษณ์จะมีการถามซ้ำอีกครั้ง เพื่อเป็นการกลั่นกรองบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการ
วันเดียวกัน ที่กระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะที่ดูแลเด็กและเยาวชนกว่า 6.5 ล้านคน ให้ความสำคัญกับการสร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ภูมิใจในชาติ และยึดมั่นสถาบันหลัก โดยได้กำหนดเป็นนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ. ปีงบประมาณ ปี 2567-2568
ร้อยตรีธนุระบุว่า สพฐ. ได้ประกาศให้สถานศึกษาจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน
การเรียนวิชาประวัติศาสตร์
- ระดับประถมศึกษา ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมงต่อปี (สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมง)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนในวิชาประวัติศาสตร์ หรือหน้าที่พลเมือง อยากให้ปรับวิธีการสอนให้ตอบโจทย์การเรียนในยุคปัจจุบันและมีความชัดเจนมากขึ้น
พลตำรวจเอกเพิ่มพูนยังขอให้ผู้บริหารองค์กรสร้างจิตสำนึกในความรักชาติ และขอให้ไปดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะสามารถคัดเลือกผู้บริหารและข้าราชการที่เป็นคนดีมาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม โดยการคัดเลือกข้าราชการระดับ 11 และระดับ 10 ก็จะพิจารณาเรื่องความรักชาติ คุณธรรม และจริยธรรม
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้รื้อฟื้นวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และจริยธรรมศึกษา สำหรับสถาบันการศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้สถานศึกษาในสังกัดจัดการเรียนการสอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยนำวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และจริยธรรมศึกษา เป็นวิชาหลักในการเรียน ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานศึกษาจัดกิจกรรม หรือโครงการที่มุ่งเน้นในเรื่องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ การตระหนักในหน้าที่พลเมือง การยกย่องบุคคลที่ทำความดี มีคุณธรรม จริยธรรม
ข้อสังเกตหลายประการต่อการเน้นความรักชาติ
ประการแรก วิชาความรู้เหล่านี้มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องบังคับให้นักเรียนเรียนเพิ่มเติม เพราะปัจจุบันทุกโรงเรียนก็สอนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ถ้ายึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ควรสอบถามนักเรียนก่อนว่าต้องการเรียนหรือไม่
พรรคภูมิใจไทยต้องตระหนักว่า วิกฤติการศึกษาของไทยคือเรียนมากแต่ได้น้อย การเพิ่มวิชาเรียนที่ไม่จำเป็นขึ้นมาอีก น่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี มองอีกแง่คือบุคลากรและงบประมาณก็มีจำกัดอยู่แล้ว หากต้องแบ่งทรัพยากรไปใช้ในเรื่องนี้อีกก็อาจทำให้งานส่วนอื่นติดขัด
ประการที่สอง ตำราที่จะนำมาจัดการเรียนการสอนจะใช้ตำราประเภทไหน จะใช้ตำราแนวอนุรักษนิยมที่มุ่งเชิดชูสถาบันหลักหรือไม่ เรื่องนี้น่ากังวล เพราะการสอนประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักสอนแต่แง่มุมเดียวคือสอนเรื่องของราชวงศ์และชนชั้นสูง เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในชาติ มีความรักชาติ หวงแหนดินแดน ซึ่งเป็นแนวคิดชาตินิยม จนไม่ได้คำนึงถึงบริบทและมองเห็นความจริงด้านอื่น ผลที่ตามมาคือการดูหมิ่นเกลียดชังประเทศเพื่อนบ้าน และกลายเป็นวาทกรรมป้ายสีคนคิดเห็นแตกต่าง เช่น คนรักชาติ กับคนชังชาติ
ประการที่สาม การรื้อฟื้นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง จริยธรรม และปลูกฝังความรักชาติ จะนำไปสู่การเรียนรู้แบบท่องจำ สอนให้นักเรียนยอมรับโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ โดยไม่มีการคิดวิเคราะห์แยกแยะเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะยังมองไม่เห็นทางเลยว่ารัฐราชการไทยจะเปิดกว้างให้มีการเรียนรู้เรื่องนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาของไทยเป็นความรู้สำเร็จรูปในระบบที่ปิดกั้นมาโดยตลอด
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ อย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 พฤษภาเลือด 2535 การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2552-2553 และการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อปี 2562-2564 เหตุการณ์เหล่านี้แทบไม่ปรากฏไว้ในแบบเรียน หรือถ้ามีก็มีอย่างเสียไม่ได้
ส่วนคุณค่าอื่น อาทิ ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียม ฯลฯ ก็ไม่น่าจะได้เห็นในการเรียนการสอนเช่นนี้ ขณะสิ่งที่น่าจะได้เห็นคือการสอนให้นักเรียนบำรุงรักษาโครงสร้างเดิมของสังคมไทยเอาไว้ ยินยอมให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวที่คนส่วนน้อย ยอมรับระบบอาสุโส และระบบอุปถัมภ์ โดยการสอนคงไม่ต้องการให้นักเรียนกล้าตั้งคำถามถึงสภาพเศรษฐกิจสังคมไทย ความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น พร้อมวิธีสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นทิศทางต่อเนื่องจากระบอบประยุทธ์ ที่บัญญัติไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ประการสุดท้าย ในเมื่อทิศทางของฝ่ายการเมืองเป็นเช่นนี้ ผู้บริหารของกระทรวง และผู้บริหารสถานศึกษา คงต้องทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายฝ่ายการเมืองเพื่อความก้าวหน้าต่อหน้าที่การงาน ซึ่งจะทำให้ทิศทางการศึกษาเปลี่ยนไป ฉะนั้นการหวังให้ประเทศมีการศึกษาที่ก้าวหน้าและเกิดการปฏิรูปการศึกษาคงต้องรอต่อไป
การกำหนดแนวทางการศึกษาเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ แม้จะยังไม่ส่งผลในทันที แต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชากร ความเจริญก้าวหน้า และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
แนวทางของภูมิใจไทยปลูกฝังความคิดเอียงขวาเพื่อวาระของชนชั้นนำ
พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคเชิงปฏิบัติการ มุ่งเน้นทำงานให้เป็นรูปธรรม โดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อข้อเรียกร้องและคำสัญญาของคนที่เลือกพรรคภูมิใจไทย ต่างจากพรรคในฝั่งรัฐบาลด้วยกันอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องเชิงอุดมการณ์และจุดยืนของพรรค
แต่มีสิ่งหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทยยึดถือ คือจะเล่นการเมืองให้สอดคล้องหรือไม่ขัดแย้งกับวาระของผู้มีอำนาจ จึงเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางทำงานด้วยการอิงแอบเรื่องความรักชาติ ประวัติศาสตร์ตามตำรา และเรื่องของสถาบันหลัก
เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยอยู่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง จึงไม่สามารถทำงานด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าได้ ประกอบกับเมื่อพรรคสีน้ำเงินเข้มไม่ได้กำกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจที่สามารถสร้างผลงานเป็นรูปธรรม พรรคอันดับสามจึงเลือกแนวทางเอียงขวาอย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่าแนวทางการทำงานเช่นนี้ จะสามารถนำไปสร้างคะแนนนิยมและหาเสียงได้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนแนวทางอนุรักษนิยม
การกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนด้วยการจัดการศึกษาที่มุ่งรักษาโครงสร้างเดิมของสังคมไทยที่มีลักษณะจากบนลงล่าง รวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและรัฐราชการไทยเช่นนี้ แทบไม่แตกต่างจากแนวทางที่พลเอกประยุทธ์เคยทำในเรื่องค่านิยม 12 ประการ ซึ่งคือการกล่อมนักเรียนให้เชื่อในระบบอำนาจนิยม เชื่อในเรื่องคุณงามความดีที่ถูกกำหนดไว้แล้ว
กล่าวโดยสรุปคือ แนวทางการเรียนการสอนของพรรคภูมิใจไทย ไม่ต่างจากการคุมกำเนิดความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน ทำให้ประเทศย่ำอยู่กับที่หรือเดินถอยหลัง ซึ่งสอดคล้องกับวาระของชนชั้นนำ กองทัพ ข้าราชการ และนายทุน ที่ต้องการจองจำประเทศไทย ไม่ต้องการเห็นประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริงได้มีอำนาจ และใช้อำนาจเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
ทำให้คำกล่าวที่ว่ารัฐบาลเศรษฐาคือส่วนต่อขยายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เป็นสิ่งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างน้อยก็เรื่องการบริหารจัดการด้านการศึกษา โดยวาระเรื่องการศึกษาของพวกเขาคือการกล่อมเกลาเด็กและเยาวชนไม่ตั้งคำถาม มองข้ามปัญหาเรื้อรังในโครงสร้างต่างๆ ความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม เพื่อให้ผู้มีอำนาจและนักการเมืองบางกลุ่มอาศัยโครงสร้างนี้เพื่อหาผลประโยชน์และสร้างความมั่นคงของตัวเองต่อไป
