รัฐบาลเพิ่มงบกลาโหมสวนทาง ‘วิกฤติ’ คำสัญญาปฏิรูปกองทัพใน 4 ปี เชื่อได้แค่ไหน?
...
LATEST
Summary
- จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมาจนถึงการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 ความหวังในการเห็นการปฏิรูปกองทัพตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยช่วงหาเสียง ซึ่งบัดนี้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าใกล้ความเป็นไปไม่ได้ไปทุกขณะ
- ในการอภิปรายงบประมาณ 2567 พรรคฝ่ายค้านอภิปรายว่า ทั้งที่รัฐบาลบอกว่าประเทศชาติกำลังเกิดวิกฤติ แต่ทำไมงบกลาโหมเพิ่มขึ้น และยังมีโครงการต่างๆ ที่ชวนสงสัยในการใช้งบ รวมทั้งการซื้อเรือดำน้ำยังไม่ชัดเจน
- สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงว่า การจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลง หรือแทบไม่ได้เพิ่มขึ้น และมีแผนปรับลดกำลังพล และจำนวนนายพลของกองทัพลงอยู่แล้ว รวมทั้งใช้มาตรการจูงใจเพื่อให้ชายไทยสมัครทหารมากขึ้น
...
“วิกฤติแบบใด ทำไมงบกลาโหมเพิ่มขึ้น ทุกครั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติ กระทรวงกลาโหมจะเสียสละเพื่อประเทศโดยการตัดลดงบประมาณของตัวเอง เพื่อนำไปใช้ในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในวิกฤติของท่านเศรษฐา งบกลาโหมเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์ สรุปแล้วนี่มันวิกฤติแบบใดกันแน่”
ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวเปิดประเด็นถึงงบประมาณกระทรวงกลาโหม ระหว่างอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2567
ศิริกัญญาแสดงตัวเลขงบประมาณกระทรวงกลาโหมในช่วงต่างๆ ที่ผ่านมา ดังนี้
- วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2541 เทียบกับ ปี 2542 งบกลาโหมลดลง ร้อยละ 20
- วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2552 เทียบกับ ปี 2553 งบกลาโหมลดลง ร้อยละ 10
- วิกฤติโควิด-19 ปี 2564 เทียบกับ ปี 2565 งบกลาโหมลดลง ร้อยละ 5
- วิกฤติเศรษฐา ปี 2566 เทียบกับ ปี 2567 งบกลาโหมกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2 จาก 194,498 ล้านบาท เป็น 198,320 ล้านบาท
สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ด้วยว่า ตามปกติในปีที่เกิดวิกฤติ จะทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ กู้เงินเพิ่มไปชดเชยรายได้ที่หายไป และมีเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเมื่อดูจากที่รัฐบาลจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางเอาไว้ในปี 2567-2570 พบว่าขาดดุลเท่าเดิมทุกปี จนดูไม่ออกว่าปีไหนวิกฤติ
คำอภิปรายของศิริกัญญาทำให้เกิดคำถามว่า ในเมื่อเศรษฐาป่าวประกาศว่า ‘เกิดวิกฤติ’ แล้วทำไมจึงจัดทำงบประมาณแบบนี้ ทำไมกระทรวงกลาโหมจึงไม่เสียสละ หรือรัฐบาลเพื่อไทยเกรงใจกองทัพมากกว่าเกรงใจประชาชน
อาจมองอีกมุมได้ว่า หรือวิกฤติเศรษฐาจะเป็นเพียงวิกฤติทิพย์ที่เศรษฐาสร้างภาพขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการเรือธงของรัฐบาล คือ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องกู้เงิน 500,000 ล้านบาท มาแจกคนไทยที่เข้าเกณฑ์คนละ 10,000 บาท ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่พรรคเพื่อไทยกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้คนทั้งพรรคเพื่อไทยประสานเสียงว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ต้องกู้เงิน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการจัดงบกลาโหมเพิ่มขึ้นจะมาจากสาเหตุใด แต่การจัดทำงบประมาณฉบับนี้ มีข้อสังเกตมากมาย ตามที่ สส.ก้าวไกล อภิปรายไว้
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
สงสัยรัฐบาลต้องการลดกำลังพล แต่ทำไมงบบุคลากรถึงเพิ่มขึ้น
การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ วันที่สอง 4 มกราคม 2567 เอกราช อุดมอำนวย สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณภาพรวม ซึ่งกลาโหมขอจัดสรร 198,000 ล้าน เพิ่มจากปี 2566 ที่ได้รับจัดสรร 194,000 ล้าน เพิ่มขึ้น 3,800 ล้าน แต่เมื่อมาดูการจัดสรรงบประมาณด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านบุคลากรกลับพบว่าเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคิดเป็นร้อยละ 55 เฉพาะกองทัพบกใช้งบประมาณถึงร้อยละ 64 ของงบประมาณ นี่คือภาพสะท้อนกลาโหมกำลังขยายขนาดหรือไม่ สวนทางกับแผนลดกำลังพลโดยสิ้นเชิง
เอกราชกล่าวอีกว่า งบประมาณรายจ่ายบุคคลยังซ่อนรูปอยู่ในส่วนต่างๆ อาทิ ค่าเบี้ยเลี้ยง เครื่องแต่งกาย และเมื่อรวมงบทหารกองประจำการ (ทหารเกณฑ์) งบประมาณจะสูงถึง 14,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.8 ของงบฯ บุคลากรทั้งหมด และตั้งข้อสังเกตว่า ในร่างฉบับนี้ควรตั้งดัชนีตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ให้ชัดเจนว่าบุคลากรควรมีเท่าไร รวมถึงมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน
“ชี้ให้ชัดว่าจำนวนทหารกองประจำการต้องการจำนวนเท่าไรกันแน่ และมีคนสมัครจริงเท่าไร และต้องเกณฑ์เท่าไร ถ้าท่านไม่ตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดแล้ว ท่านจะวัดผลการทำงานได้อย่างไร สรุปแล้วเยาวชนที่เขารออยู่ เขาจะได้ยกเลิกบังคับการเกณฑ์ทหารหรือไม่”
สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เผยว่า การเกณฑ์ทหารในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา กองทัพก็สามารถลดทหารกองประจำการและงบประมาณลงไปได้ แต่พอกลับมาช่วงนี้ ทหารเกณฑ์ยังคงใช้อัตราใกล้เคียงแบบเดิม ลดไปเล็กน้อยเท่านั้น สรุปยังเป็นนโยบายเรือธงหรือไม่
“อยากให้ช่วยตอบแบบเป็นวิทยาศาสตร์ว่า เราต้องใช้ทหารกองประจำการเท่าไร ทหารมืออาชีพเท่าไร และจำเป็นต้องมีนายพลจำนวนเท่าไรกันแน่”
สงสัยงบลับ ทำไมเท่ากันทุกปี และมีเงินทอนสร้างสนามบินอู่ตะเภาหรือไม่
เอกราชสงสัยว่าเหตุใดงบลับจึงต้องเท่ากันทุกปีและมีการเบิกจ่ายเกือบร้อยละ 100
“ท่านจะปรารถนาจะปฏิรูปกองทัพด้วยงบลับสานสัมพันธ์กับทหาร 469 เกือบ 500 ล้านบาท ที่มีบรรทัดเดียว อิ่มกันถ้วนหน้าหรือไม่”
เอกราชสงสัยว่า งบบางส่วนอาจมีความทับซ้อน คือ งบทหารพัฒนา จำนวน 3,145 ล้านบาท มีอาทิ งบโครงการจัดหาแหล่งน้ำ 1,308 ล้านบาทซึ่งเท่ากับร้อยละ 39 ของกรมน้ำบาดาลที่ดูและเรื่องนี้โดยตรงที่ได้รับงบ 3,323 ล้านบาท เป็นต้น
สส.ก้าวไกล เขตดอนเมือง กล่าวถึงพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานว่า มีโครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 สนามบินอู่ตะเภา มูลค่า 16,259 ล้านบาท ที่ประกอบด้วยงบประมาณแผ่นดิน 2,480 ล้านบาท และเงินที่จะไปกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) อีก 13,778 ล้านบาท ทำไมกองทัพเรือต้องขอโครงการไปทำเอง ทั้งที่เป็นสนามบินพาณิชย์ และขอถามว่ามูลค่าโครงการนี้ที่เพิ่มขึ้นมา มีการยัดไส้เงินทอนหรือไม่ จึงเป็นสาเหตุให้ AIIB ไม่อนุมัติ
ซุกงบซื้ออาวุธแบบดาวน์น้อย สร้างภาระผูกพันทางงบประมาณ
ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ระบุว่า กระทรวงกลาโหมจัดทำงบประมาณแบบเดิม พร้อมนำเอกสารเสนอของบของกองทัพบก เพื่อทำโครงการหนึ่งมูลค่า 16,000 ล้านบาท มาฉายขึ้นจอกลางห้องประชุมรัฐสภา เพื่อแสดงให้เห็นว่ากองทัพบกได้เขียนแจ้งวัตถุประสงค์ของโครงการเล็กน้อย แต่สำหรับที่มาและความต้องการ และเป้าหมาย/ตัวชี้วัด ไม่ได้กรอกข้อความใดๆ ซึ่งแตกต่างจากคำของบประมาณของหน่วยของบประมาณอื่นที่ระบุข้อมูลครบถ้วน
งบจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ปรับลดวงเงินเหลือ 30,063 ล้านบาท จากปีก่อน 32,429 ล้านบาท แบ่งเป็น
- สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 524 ล้านบาท
- กองทัพบก 10,046 ล้านบาท
- กองทัพเรือ 9,166 ล้านบาท
- กองทัพอากาศ 9,588 ล้านบาท
- กองบัญชาการกองทัพไทย 741 ล้านบาท
แม้ภาพรวมงบลดลง 2,400 ล้านบาท แต่ชยพลบอกว่า ถ้าเจาะลึกลงไปเหมือนงบลด แต่ไม่ลดโครงการ แค่ดาวน์น้อยลง โดยสัดส่วนการวางเงินดาวน์เพื่อจัดหาอาวุธของกระทรวงกลาโหม มีดังนี้
- ปี 2565 ดาวน์ร้อยละ 19.1
- ปี 2566 ดาวน์ ลดลงเหลือร้อยละ 13.1
- ปี 2567 ดาวน์เพียงร้อยละ 8.8
ชยพลเผยว่า แม้จะจำนวนเงินดาวน์จะน้อยลง แต่ยอดวงเงินรวมที่ต้องก่อหนี้ผูกพันในระยะยาวยังในปี 2567 มีมูลค่า 57,816 ล้านบาท หรือมากกว่าปี 2566 ถึง 2.3 เท่า
“ถือเป็นสุดยอดนวัตกรรมอินโนเวทินคลังแสง ที่สร้างหายนะให้ประเทศในระยะยาว”
สส.กรุงเทพฯ เขตหลักสี่และเขตจตุจักร ตั้งคำถามต่อ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ถ้างบฯ ไม่พอก็ต้องลดโครงการ ไม่ใช่ปล่อยให้จำนวนโครงการเป็นไปตามที่กองทัพต้องการ แต่ไปลดเงินดาวน์ และยังฝากถามถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่า ทำไมปล่อยให้สุทินดาวน์น้อย ทวีสินเชื่อ สร้างเคราะห์ใหญ่ หรือนี่คือความพยายามของรัฐบาลที่จะเอาอกเอาใจกองทัพ
ถามจุดยืนจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน เสี่ยงเสียค่าโง่ 25,000 ล้านบาท
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำเครื่องยนต์จีน S-26T ของกองทัพเรือจากประเทศจีน ถูกชยพลหยิบยกขึ้นมาอภิปรายว่า วันที่ 4 มกราคม ถือเกินกำหนดวันที่ทางการจีนต้องส่งมอบเรือดำน้ำมาแล้ว 94 วัน หรือพูดได้ว่า จีนทำผิดสัญญา เพราะไม่สามารถหาเครื่องยนต์ตามสเปกมาให้ได้ เพราะเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ให้ คำถามคือข้อผูกพันตามสัญญาจะยังครอบคลุม ยังมีผลหรือเปล่า และไทยจะเสียค่าโง่หรือไม่
ชยพลกล่าวอีกว่า มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับค่าโง่เรือดำน้ำรวม 8 โครงการ รวมวงเงิน 15,776.36 ล้านบาท มี 4 โครงการเสร็จแล้ว 6,542.16 ล้านบาท และอีก 4 โครงการยังไม่เสร็จ 9,234.2 ล้านบาท ถามว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำ 4 โครงการที่ยังไม่เสร็จหรือไม่
“หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการเรือดำน้ำลำที่ 1 ต่อไปตามข้อตกลงที่เป็นอยู่ นอกจากเราจะเสียเปรียบ ได้เครื่องยนต์ดีเซลที่ไม่ตรงปกแล้ว เราจะพาประเทศไทยเดินต่อไปสู่เส้นทางที่ต้องเสียเงินอีก 25,000 ล้านบาทจากการซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ โดยที่เราไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย”
สส.ก้าวไกล ตั้งคำถามว่า วิกฤติแบบใด ที่เงิน 25,000 ล้านบาท ถึงเอาไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประเทศอื่น ทำไมไม่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทำให้เสียประโยชน์แก่ชาวไทยมหาศาล
สส.ปทุมธานีสงสัย งบกองทัพเรือกู้เรือหลวงสุโขทัย ปกปิดอะไรไว้
ต่อเนื่องจากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการทหาร โพสต์ข้อความถึงงบประมาณของกองทัพเรือในการกู้เรือหลวงสุโขทัย โดยสงสัยว่า จะได้กู้เรือได้หรือไม่ เพราะตั้งคุณสมบัติการจัดซื้อจัดจ้างไว้สูงมาก บันทึกข้อความกองทัพเรือระบุว่า จะจ่ายค่าใช้จ่ายให้ผู้ยื่นข้อเสนอ (กู้เรือ) จำนวนเงินร้อยละ 100 เมื่อส่งมอบเรือแล้ว หรือพูดง่ายๆ คือ จ่ายเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย เมื่อผู้รับเหมากู้เรือและส่งมอบสำเร็จ ซึ่งผู้รับเหมาต้องรวยและมั่นใจระดับไหนที่กล้ามารับงานกู้เรือ ซึ่งน่าจะใช้เวลานาน โดยไม่เบิกเงินก่อนเลย
“สเปกสูงจัดแบบนี้ ทำราวกับไม่อยากให้มีใครกล้ามาเสนอกู้เรือ เพราะกู้มาแล้วจะรู้สาเหตุการจมของเรือหรือไม่ อย่างไร”
เชตวันตั้งข้อสังเกตอีกว่า การกำหนดให้ผู้รับเหมาต้องชำระคราบโคลน ปรับแต่ง คือ ลบล้าง อะไรหรือไม่ เมื่อผู้รับเหมากู้เรือขึ้นมาได้แล้ว ทำไมในการส่งมอบแก่ทางราชการ ต้องไปส่งถึงที่ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในสภาพโครงสร้างตัวเรือภายนอกใกล้เคียงกับผลสำรวจตามเอกสาร Detailed Survey Report ซึ่งไม่เคยมีใครเคยเห็น และที่สำคัญ คือข้อความ "ชำระคราบโคลนภายนอกและภายในตัวเรือให้เรียบร้อย ปรับแต่งสภาวะเรือให้มีความปลอดภัย ลอยลำได้ด้วยตัวเอง"
สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ตั้งคำถามว่า การ ‘ชำระคราบ’ และ ‘ปรับแต่ง’ จะเป็นการลบล้างหลักฐานสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยล่มหรือไม่
“ผมเห็นด้วยครับ ว่าเราจำเป็นต้องกู้เรือขึ้นมาเพื่อหาสาเหตุการล่ม แต่พอมาอ่านบันทึกข้อความของกองทัพเรือนี้แล้ว ชักไม่แน่ใจว่า กองทัพเรือ อยากกู้ และ/หรือ อยากรู้สาเหตุการล่มที่แท้จริงหรือไม่”
สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
สุทินอ้างงบฯ กลาโหมลดลงเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อ และจะลดนายพล 380 คนในปี 2570
วันเดียวกัน 4 มกราคม 2566 ในการอภิปราย สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ที่ตั้งคำถามว่า ยุควิกฤติในรัฐบาลปัจจุบัน ทำไมไม่ลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมลง ในข้อเท็จจริงนั้นปรับลดแล้ว แต่เป็นไปภายใต้ข้อจำกัดและสถานการณ์ของประเทศ การจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้น เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ลดลง คือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 - 1.3 แต่หากเทียบกับค่าเงินเฟ้อ หรือสัดส่วนในภาพรวมของงบประมาณแผ่นดินเหมือนกับไม่ได้งบฯ เพิ่มขึ้น
เรื่องปฏิรูปกองทัพ เรื่องปรับลดกำลังพล สุทินกล่าวว่า ได้ตั้งคณะทำงานเรื่องการปรับลดกำลังพลเป็นเรื่องแรกๆ การปฏิรูปทำรวดเร็วดังใจไม่ได้ ต้องคำนึงถึงขวัญกำลังพลว่ากระทบศักยภาพกำลังรบหรือไม่ ส่วนอัตรานายพลที่มีอยู่ 700 กว่าคน ในปี 2570 จะลดลง 380 คน เพื่อให้เร็วจะทำโครงการเออร์ลี่รีไทร์ (early retire) ถ้ามีนายพลเข้าโครงการ นายพลจะลดลงรวดเร็วกว่าปี 2570 ซึ่งจะไม่เพิ่มภาระทางงบประมาณ
“ส่วนที่มองว่างบประมาณด้านกำลังพลยังสูง หากจะทำให้เร็วต้องปลด แต่ทำไม่ได้ เพราะขวัญกำลังใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ปีนี้จึงไม่เห็นงบบุคลากรลดลง”
สุทินบอกว่า 3 เดือนที่ผ่านมา ยังทำอะไรไม่ได้ ปลดใครไม่ได้ แต่มีแผนการปรับกำลังพล คือ
- ยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น
- ควบรวมหน่วยที่ภารกิจใกล้เคียงกัน
- ปิดอัตราไม่บรรจุเพิ่มเมื่อบุคลากรเกษียณอายุราชการ
สุทินชี้แจงประเด็นงดการเกณฑ์ทหารว่า ใช้วิธีการสมัครทหารเกณฑ์ ด้วยการใช้มาตรการแรงจูงใจ เช่น เงินเดือนทหารเกณฑ์รับเต็มจำนวน ได้เรียนต่อเนื่องหลังปลดประจำการ มีโอกาสรับราชการในหน่วยงานทหารและโรงเรียนตำรวจ รวมถึงได้โอกาสรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเกียรติยศ โดยการรับสมัครทหารเกณฑ์จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย
กรณีซื้อเรือดำน้ำจีน รอแนวทางจากอัยการ และการกู้เรือสุโขทัยไม่ทำลายหลักฐาน
ประเด็นเรือดำน้ำ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่า ต้องเห็นใจกองทัพเรือ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีนด้วย เพราะเศรษฐกิจที่จะทำร่วมกันกับจีนจะมีประโยชน์ร่วมกัน 200,000 ล้านบาท แต่หากนำปัญหาเรือดำน้ำมาเป็นข้อขัดแย้ง อาจไม่คุ้ม
“ได้ถามอัยการสูงสุดในข้อตกลงที่ทำไปนั้น จะยกเลิกได้หรือไม่ หรือจะเดินหน้าอย่างไร ทั้งนี้ ผมเชื่อว่า จะรอไม่เกิน 2 วัน อัยการสูงสุดจะตอบมา ซึ่งผมเชื่อว่าจะได้แนวทางเดินซึ่งมีฐานรองรับคำอธิบายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หากจะเดินหน้าแบบเดิม ต้องไม่เสียเงิน 6,000 ล้านบาท แต่หากผิดสัญญา จีนต้องคืนเงิน” \
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการกู้เรือหลวงสุโขทัยว่า การดึงเรือขึ้นมา บันทึกฝึกข้อตกลงต้องกู้เรือในสภาพที่สมบูรณ์ทั้งลำ ไม่เอาชิ้นส่วน เพื่อพิสูจน์หาหลักฐาน แต่โคลนทะเลท่วมเรือจำเป็นต้องนำโคลนออก ซึ่งไม่ใช่การทำลายหลักฐาน เพราะตนเชื่อว่าหลักฐานไม่สามารถทำลายได้ด้วยการล้างโคลน ยืนยันว่าการดำเนินการไม่มีนอกไม่มีในแน่นอน
ส่วนประเด็นกองทัพเรือที่มีพันธกิจที่เกี่ยวกับรันเวย์ที่ EEC สุทินกล่าวว่า ทราบข้อเท็จจริงว่ากองทัพเรือไม่อยากทำ แต่รัฐบาลขอร้องให้ช่วยเป็นหน่วยงานขับเคลื่อน EEC โดยให้รับผิดชอบสนามบินอู่ตะเภา ที่กองทัพเรือเป็นเจ้าของ โดยทำให้เป็นสนามบินพาณิชย์ รวมถึงใช้เนื้อที่กองทัพเรือ 7,000 ไร่เพื่อทำ EEC
“EEC เป็นภารกิจที่จำเป็น ไม่ต้องกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส เพราะบอร์ด EEC จับตาดู”
สุทินชี้แจงประเด็นเรื่องการซื้ออาวุธยุค ‘สุทินดาวน์น้อย’ เพราะต้องการผ่อนนานว่า ข้อเท็จจริง คือมีเม็ดเงินร้อยละ 15 ต้องจ่ายล่วงหน้า ที่เหลือต้องจ่ายจริง ทั้งนี้ขอเงินดาวน์ไปร้อยละ 20 แต่สำนักงบประมาณตัดเหลือร้อยละ 15 เพราะปีงบประมาณ 2567 เหลือเวลาใช้งบเพียง 4 เดือน กังวลว่าใช้งบประมาณไม่ทัน ไม่ใช่กรณีดาวน์น้อยเพื่อผ่อนนาน
“ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ลืมจุดยืนเดิม และต้องการให้กองทัพทันสมัย พยายามทำทุกอย่าง แต่ต้องใช้เวลา กลยุทธ์ ขอเวลาพิสูจน์ แต่ยืนยันไม่เข้ามาเพื่อซูเอี๋ย หรืออวยกองทัพ” สุทินกล่าวทิ้งท้าย
พลโทภราดร พัฒนถาบุตร
เพิ่มงบกลาโหมคือการเสียสัตย์ซ้ำซาก?
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2567 พลโทภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณกระทรวงกลาโหมได้เปิดฉากเสียสัตย์ซ้ำรอยเดิม พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้จะตัดงบกลาโหมลดลงร้อยละ 10 แต่กลับเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 หากไม่เกิดเหตุรัฐบาลบาลข้ามขั้ว จะเกิดนโยบายการสร้างทหารอาชีพ ยึดงานภารกิจหลักคือการปกป้องอธิปไตยจากอริราชศัตรู กำลังพลจะลดลง ไม่บังคับเกณฑ์จะทำได้จริงในปี 2567 โครงสร้างกองทัพจะกะทัดรัด ทันสมัย เป็นสากล เดินหน้าสู่รูปธรรมได้จริง
พลโทภราดรกล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลยอมเสียรังวัดจัดสรรงบกลาโหมเพิ่มขึ้นและงบแผนรวมไม่ตรงปก สังคมต่างมองว่า เป็นเพราะพรรคแกนนำรัฐบาลถูกกลุ่มอำนาจเก่าใช้กลยุทธ์จับขุนเป็นตัวประกันมาใส่แอกรัฐบาลไว้ แต่ถ้าพรรคแกนนำดวงตาเห็นธรรมสำนึกได้ ก็จะเห็นถึงวิธีการปลดแอก นั่นคือการกลับไปเคารพต่อการปฏิบัติตามสัญญาประชาคมตามผลการเลือกตั้ง
ถ้าคิดปฏิรูปกองทัพ เพื่อไทยต้องเปลี่ยนแนวคิด 180 องศา
กองทัพทำตัวเป็นรัฐซ้อนรัฐ และมีบทบาททางการเมืองตีคู่กับรัฐบาลมาตลอดเวลา นับจากการรัฐประหาร เมื่อปี 2490 ถ้าถามว่า ปฏิรูปกองทัพคืออะไร คำตอบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือทำให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนตามครรลองระบอบประชาธิปไตย
ส่วนถ้าพิจารณาความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้ จะพบว่า กองทัพถูกนำมาแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้ชนชั้นนำถึง 2 ครั้ง คือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ส่งผลให้ชนชั้นนำสามารถร่วมกันปกครองประเทศไทยได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประชาชน ผู้ยึดอำนาจทั้ง 2 ครั้ง ผู้ยุยง และผู้สนับสนุน ยังไม่ถูกสอบสวน เพื่อนำตัวมาลงโทษ
การเข้ามาของรัฐบาลเพื่อไทยรอบนี้ ทั้งที่แพ้เลือกตั้ง แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คือการแก้ปัญหาเชิงอำนาจให้ชนชั้นนำที่ไม่สามารถใช้กลไกเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศได้ต่อไป เช่น ยุครัฐบาลประยุทธ์สอง ปี 2562-2566
จึงมีการคาดการณ์ตั้งแต่ต้นว่า รัฐบาลข้ามขั้วจะไม่สามารถปฏิรูป/เปลี่ยนแปลง/แตะต้องโครงสร้างทางอำนาจเดิม รวมถึงกองทัพได้ เพราะมีการทำสัญญากับปิศาจเอาไว้แล้ว โดยมี ทักษิณ ชินวัตร ยอมกลับมาประเทศไทยเป็นตัวประกันให้ แต่ไม่ยอมติดคุก
และแล้วสิ่งที่คาดการณ์ไว้ก็เดินตามโรดแมปของมัน จากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมาจนถึงการจัดทำงบประมาณ ปี 2567 ทำให้เกิดความชัดเจนว่า ความหวังในการเห็นการปฏิรูปกองทัพตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยช่วงหาเสียง ซึ่งบัดนี้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าใกล้ความเป็นไปไม่ได้ไปทุกขณะ มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมดังนี้
ลดงบกระทรวงกลาโหมลง 10 เปอร์เซ็นต์ ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง
แต่ในการจัดทำงบประมาณ กลับเพิ่มงบฯ ให้กระทรวงกลาโหมร้อยละ 2 ทั้งที่อ้างว่า เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตรงนี้เป็นทั้งการไม่รักษาคำพูด และไม่สมเหตุสมผล แต่ยังดีที่เรื่องจำนวนนายพล สุทินมีโครงการลดนายพลจาก 700 คนให้เหลือครึ่งหนึ่งภายใน 4 ปี ซึ่งต้องติดตามความสำเร็จต่อไป
แก้ไขกฎหมาย ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
แต่ในทางปฏิบัติไม่มีการเสนอแก้ไขกฎหมายยกเลิกเกณฑ์ทหาร ชายไทยยังต้องถูกเกณฑ์ทหารเช่นเดิม มีแต่การชี้แจงของสุทินว่ากำลังทำอยู่
ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง
พอเป็นรัฐบาลแล้วก็ยังมีแนวคิดด้านความมั่นคงเหมือนเดิม อาทิ ต่ออายุการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ยกเลิกหน่วยไอโอของกองทัพ ไม่ยกเลิกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ไม่ยกเลิกภารกิจที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของทหาร เช่น การขุดบ่อน้ำบาดาล ล่าสุด มีแนวคิดจะใช้ค่ายทหารบำบัดยาเสพติดอีก แนวทางการทำงานแบบนี้ไม่สอดคล้องกับการทำให้เกิดทหารมืออาชีพ ส่วนเรื่องเสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหารที่หาเสียงไว้ก็ไม่ถูกพูดถึง
โดยสรุปคือ ถ้ายังปฏิรูปกองทัพไม่ได้โอกาสที่กองทัพจะแทรกแซงการเมืองก็ยังมีอยู่ต่อไป เดิมพันครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อลมหายใจของระบอบประชาธิปไตยและสิทธิเสีภาพของประชาชน
ทุกอย่างยังไม่สายสำหรับรัฐบาลเพื่อไทย
หลงทางยังแค่เสียเวลา เมื่อรู้ตัวว่าหลงทางก็ปรับเส้นทางใหม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจไปผิดทางไม่ฟังเสียงใครก็จะขาดความน่าเชื่อถือเกินกว่าจะเดินทางต่อไปได้ ร่างงบประมาณ ปี 2567 ผ่านวาระแรกของสภาฯ ไปแล้ว ด้วยเสียงท่วมท้น ยังมีวาระที่สองที่รัฐบาลในฐานะที่ร่วมเป็นกรรมาธิการงบประมาณยังจะสามารถทบทวนความเหมาะสมของการจัดทำงบประมาณเพื่อรับมือวิกฤติ โดยเฉพาะงบฯ กลาโหม 198,320 ล้านบาทได้
น่าจะเป็นโอกาสท้ายๆ แล้วที่ เศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย ต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าที่ผ่านมา แค่หลงทาง ไม่ใช่ตั้งใจไปผิดทาง
