Humberger Menu

จากคลิปและคำถาม ‘ทหารมีไว้ทำไม’ จุดความหวังปฏิรูปกองทัพ กดดันทหารปล่อยวางเสนาพาณิชย์

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Politics

30 ม.ค. 67

creator
บูรพา เล็กล้วนงาม
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ประเด็นวิจารณ์กองทัพเริ่มจากคลิป ‘ทหารมีไว้ทำไม’ ที่ตามติดชีวิตทหารผู้น้อยบริเวณชายแดน นำมาสู่ข้อสังเกตว่า เหมือนการทำไอโอ และหากจะพูดถึงชีวิตที่ยากลำบากของทหารผู้น้อย คลิปนี้ควรเปิดให้ทหารระดับนายพลดู
  • นำมาสู่การตรวจสอบที่อยู่อาศัย และธุรกิจทหาร เกิดเป็นวิวาทะระหว่าง จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร และ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม
  • ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน

...


‘ทหารมีไว้ทำไม’ ถูกตั้งคำถามจากสังคมอีกครั้ง หลังแฮชแท็ก #pigkaploy และ #ทหารมีไว้ทำไม ติดเทรนด์อันดับ 1 ใน X จากกรณี พลอย-พลอยไพลิน ตั้งประภาพร ยูทูบเบอร์ ช่อง Pigkaploy ปล่อยคลิป ‘ทหารมีไว้ทำไม EP.1’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2567 โดยพลอยไปถ่ายทำรายการ 3 วัน 2 คืน กับทหารชายแดนไทย-พม่า ที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ 

คลิปดังกล่าวถูกนำไปประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์รัฐบาลไทย และเพจที่เกี่ยวข้องกับทหาร อาทิ โฆษกกระทรวงกลาโหม กองบัญชาหารกองทัพไทย ฯลฯ ทำให้ได้รับเสียงชื่นชมจากคนฝ่ายหนึ่ง

แต่คนอีกฝ่ายมองว่า พลอยเข้าใจผิด เพราะคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม ไม่ได้ถามทหารชั้นผู้น้อย แต่เป็นการถามทหารที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ใช้งบประมาณไม่โปร่งใส พัวพันอิทธิพลสีเทา มีนายพลล้นประเทศ และยึดอำนาจสม่ำเสมอ ล่าสุด ผลพวงของรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ยังมีอยู่ในรูปแบบรัฐบาลข้ามขั้ว ที่ไม่ยอมปฏิรูปกองทัพตามที่หาเสียงไว้ รวมถึงไม่แตะต้องผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเดิม

ยังมีข้อสงสัยว่า คลิปดังกล่าวเป็นปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) ของกองทัพ หรือ การโฆษณาชวนเชื่อหรือไม่



ข้อสงสัยดังกล่าวถือว่า มีน้ำหนัก ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังหารือกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ว่า

“ผมอนุญาตให้กองทัพทำไอโอได้ แต่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ ประชาสัมพันธ์ผลงานของหน่วยตัวเอง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจภารกิจกองทัพ” 

เราจึงเห็นไอโอในสังคมออนไลน์ยังมีอยู่ ไม่ลดลงจากช่วงรัฐบาลที่มีผู้นำเป็นทหารในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา

ประการที่สอง รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่ส่งสัญญาณว่าจะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้เลย อาทิ ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และเสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร

ต่อมา พลอยออกมาชี้แจงว่า เป็นความผิดพลาดของตัวเองที่ถ่ายทอดออกมาจนทำให้เกิดความเข้าใจไปในหลายรูปแบบ และไม่ได้รับบรีฟของกองทัพมาถ่ายทำรายการ เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนการถ่ายทำ เข้าไปในพื้นที่ และการประสานงาน 

ก่อนจะเปลี่ยนชื่อคลิปดังกล่าวเป็น ‘ตามติดชีวิตทหารชายแดน’ โดยผ่านไป 2 สัปดาห์ มีผู้เข้าชมคลิปแล้ว 1.1 ล้านวิว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง ฌอน บูรณะหิรัญ มีผู้ติดตาม 3 ล้านคน ได้โพสต์คลิปลงเฟซบุ๊ก ชื่อตอนว่า ‘ผมปลูกต้นไม้กับท่านประวิตร’ หรือคลิปชื่นชมยกย่อง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ผู้ติดตามผิดหวัง และความนิยมตกต่ำลงนับจากนั้นมา ซึ่งต้องติดตามว่า กรณีพลอยจะมีทางเดินเหมือน หรือต่างจากฌอนหรือไม่ 


โฆษกกลาโหมชี้แจงประชาสัมพันธ์กองทัพเป็นเรื่องปกติ 

มีคำอธิบายคลิป ‘ทหารมีไว้ทำไม’ จาก จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ว่า หน่วยงานของกองทัพ หรือกระทรวงกลาโหม บางครั้งมีผู้ที่มาทำคลิปในลักษณะนี้เป็นเรื่องปกติ 

ส่วนกรณี จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล โฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร จะตรวจสอบกองทัพใช้งบจ้างยูทูบเบอร์มาทำคลิป ประชาสัมพันธ์กองทัพ จิรายุ กล่าวว่า การใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์ ไม่จำเป็นต้องใช้อินฟลูเอนเซอร์ หรือยูทูบเบอร์ เชื่อว่าหลายหน่วยงาน และหลายกระทรวงก็ทำประชาสัมพันธ์ปกติ ขึ้นอยู่กับรูปแบบ


จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.พรรคก้าวไกล


จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ เปิดเผยว่า กองทัพควรตอบเรื่องทหารมีไว้ทำไมด้วยการกระทำไม่ใช่โหนทหารชายแดนหากิน เพราะเงินเดือนทหารเหล่านั้นน้อยมาก งานก็หนัก คลิปดังกล่าวควรเอาไปให้นายพลดู ว่าสภาพห้องพักทหารชายแดนบนดอยน่าหดหู่มาก เมื่อเทียบกับงบประมาณกองทัพปีละเกือบ 200,000 ล้านบาท

จิรัฏฐ์ ระบุว่า อยากจะขอไปดู และถ่ายทำคอนโดสำหรับนายพล แถวเกียกกาย ที่มี 18 ชั้น 1 ยูนิต กว้าง 94 ตารางเมตร 3 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ 1 ห้องรับเเขก ที่จอดรถห้องละ 2 คัน จะไปดูที่อยู่ราคาเป็นล้าน หรูหราเเค่ไหน นายพลอยู่กันอย่างไร รวมถึงสนามกอล์ฟกานตรัตน์ หรือสนามงู ซึ่งตั้งอยู่บริเวณรันเวย์สนามบินดอนเมือง ที่เหล่านายพลเข้าไปใช้บริการเป็นสวัสดิการภายใน ไม่ให้คนนอกเข้า 

โฆษกกระทรวงกลาโหมออกมาโต้ว่า สถานที่ที่จิรัฏฐ์อ้างถึงไม่ใช่คอนโด แต่เป็นแฟลต และไม่ได้หรูหรา โดยขนาดห้องเป็นไปตามขนาดลำดับชั้น หรือตำแหน่ง ส่วนสนามกอล์ฟไม่ใช่สนามของนายพลกองทัพ เพราะคนทั่วไปสามารถไปใช้บริการได้ ไม่ต้องเป็นสมาชิก

วิวาทะระหว่างจิรายุกับจิรัฏฐ์เป็นยกแรกของการตรวจสอบกองทัพผ่านการทำประชาสัมพันธ์ ก่อนแตกประเด็นออกไปตรวจสอบทรัพย์สิน และธุรกิจของกองทัพ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในหัวข้อปฏิรูปกองทัพ

ความเคลื่อนไหวของจิรัฏฐ์ รวมไปถึงความพยายามเข้าตรวจสอบบ้านพักของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี ทำให้ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีกลาโหม ออกมาปราม ว่าต้องดูตามความเหมาะสม และบ้านเมืองมีหลักการเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ 

ไม่กี่วันผ่านไปจิรัฏฐ์ถูกกล่าวหาจากกองทัพบกว่า หนีทหาร และปลอมแปลงเอกสารใบผ่านการเกณฑ์ทหาร หรือ สด.43 ซึ่ง สุทิน คลังแสง ชี้แจงว่า เป็นเพียงการตรวจสอบเท่านั้น ไม่ใช่การกลั่นแกล้ง หรือปิดปากจิรัฏฐ์ไม่ให้พูดถึงเรื่องธุรกิจกองทัพ



กองทัพบกสัญญาปฏิรูปหลังเหตุกราดยิงที่โคราช แต่การปฏิรูปนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง 

แม้คลิป ‘ทหารมีไว้ทำไม’ จะกระตุ้นให้ความพยายามปฏิรูปกองทัพรอบใหม่ถูกขับเคลื่อน แต่ข้อเสนอปฏิรูปกองทัพรอบล่าสุด เกิดขึ้นมาตั้งแต่หลังเหตุทหารกราดยิงประชาชน 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2563 เกิดเหตุการณ์ ทหารยศจ่าสิบเอก สังกัดกรมสรรพาวุธกระสุนที่ 22 ก่อเหตุยิงผู้บังคับบัญชา และแม่ยายผู้บังคับบัญชา เสียชีวิตคาบ้านพัก ชนวนเหตุสำคัญมาจากปมขัดแย้ง ธุรกิจเงินทอน โครงการสวัสดิการเงินกู้ข้าราชการทหารบก เพื่อซื้อบ้านสวัสดิการที่เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจกองทัพ ระหว่างผู้ก่อเหตุกับผู้บังคับบัญชา และเครือญาติ ที่จ่าสิบเอกผู้กู้เงินไม่ได้เงินทอนตามที่ตกลงไว้ ต่อมาจ่าสิบเอกเดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งกลางเมืองนครราชสีมา แล้วก่อเหตุการณ์ยิงประชาชน สุดท้ายก็ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 58 คน 

ทำให้ พลเอกอภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก สัญญาว่า จะปฏิรูปกองทัพ และจะล้างบางธุรกิจภายในกองทัพ แต่ผ่านไปจนถึงวันเกษียณอายุราชการในปลายปี ก็ไม่ใกล้เคียงกับความสำเร็จ การปฏิรูปกองทัพในรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เกิดขึ้นจริง และกองทัพไม่ได้พูดถึงเรื่องปฏิรูปกองทัพ หรือจัดการธุรกิจกองทัพอีกเลย

แต่ใช่ว่าโอกาสปฏิรูปกองทัพจะหมดไป เนื่องจากพรรคก้าวไกลบรรจุเรื่องปฏิรูปกองทัพไว้เป็นนโยบาย ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงหัวข้อ ‘คืนธุรกิจกองทัพให้รัฐบาล’

พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอให้โอนถ่ายธุรกิจกองทัพทั้งหมดมาให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กำกับดูแลแทน โดยสวัสดิการกำลังพลที่กองทัพอ้างว่านำมาจากการใช้ประโยชน์จากที่ราชพัสดุที่ผ่านมา ก็ให้ไปขอผ่านสำนักงบประมาณและสภาผู้แทนราษฎรตามกระบวนการงบประมาณเหมือนหน่วยงานรัฐอื่นๆ

หลังเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นร่างกฎหมายที่ระบุว่าเป็น ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศ เข้าสู่การพิจารณาของสภา โดยเป็นชุดกฎหมายปฏิรูปกองทัพ 5 ฉบับ ประกอบด้วย

1.ร่าง พ.รบ.รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100 เปอร์เซ็นต์ 

2.ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม เพื่อตัดอำนาจของสภากลาโหม ให้พลเรือนอยู่เหนือกองทัพ 

3.ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐ 

4.ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อันเป็นการยุติโครงสร้างรัฐซ้อนรัฐ

5.ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช.

ทั้งหมดคือเส้นทางเดินของการปฏิรูปกองทัพในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่รอวันส่งผลในทางปฏิบัติ


เส้นทางเศรษฐี และขุมทรัพย์นายพล

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาญัตติ ขอให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนและจัดการธุรกิจและทรัพย์สินของกองทัพ รวม 3 ญัตติ ที่ สส.พรรคก้าวไกล เสนอ



เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กรุสมบัติ และอาณาจักรลึกลับขุมทรัพย์ธุรกิจในกองทัพทำให้นายพลร่ำรวย นายพลมีทรัพย์สินจำนวนมาก ตั้งแต่สิบล้าน จนถึงร้อยล้าน และพันล้านบาท โดยเบญจาเรียกแหล่งขุมทรัพย์กองทัพที่เป็นความมั่งคั่งของนายพลว่า ‘เส้นทางเศรษฐี’ มี 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ที่ราชพัสดุ กองทัพมีที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศ 7.5 ล้านไร่ โดยกองทัพนำมาสร้างเป็นธุรกิจต่างๆ อาทิ ปั๊มน้ำมัน 150 แห่ง สนามกอล์ฟ 74 แห่ง ร้านสะดวกซื้อ ตลาดนัด สโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า สถานีโทรทัศน์ บ้านพักตากอากาศ ฯลฯ ใครจะร่วมโครงการกู้เงินซื้อบ้านในที่ของกองทัพต้องมีผู้บังคับบัญชาลงนามให้ ผู้ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินรัฐไปให้กำลังพล คือผู้บังคับบัญชาที่สูบเลือดสูบเนื้อจากชั้นผู้น้อย

ที่มา: สไลด์อภิปราย เบญจา แสงจันทร์ / พรรคก้าวไกล

2.บอร์ดรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง เป็นขุมทรัพย์ที่ทหารมาเป็นกรรมการจำนวนมาก ทั้งที่เป็นงานที่ไม่ตรงความชำนาญของทหาร 

ที่มา: สไลด์อภิปราย เบญจา แสงจันทร์ / พรรคก้าวไกล

3.งบประมาณกระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีหน่วยใดตรวจสอบได้ เป็นต้นเหตุทุจริต มีเงินทอนจัดซื้ออาวุธ ตั้งบริษัทของทหารรับงานในกองทัพ

ที่มา: สไลด์อภิปราย เบญจา แสงจันทร์ / พรรคก้าวไกล

4.คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพ 205 คลื่น มากสุดในประเทศ แต่ไม่เคยเปิดเผยเงินค่าเช่าคลื่น รวมถึงค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ที่ ททบ.5 ได้ค่าเช่าโครงข่าย 1,008 ล้านบาทต่อปี  

ที่มา: สไลด์อภิปราย เบญจา แสงจันทร์ / พรรคก้าวไกล

5.ขุมทรัพย์ธุรกิจพลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า โซลาร์ฟาร์ม ที่กองทัพมีกิจการเป็นของตัวเอง ซึ่งรวมถึงกรณีกองทัพเรือรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อไปจำหน่ายต่อให้ประชาชน ที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

ที่มา: สไลด์อภิปราย เบญจา แสงจันทร์ / พรรคก้าวไกล

เบญจาจึงเห็นว่า ควรถ่ายโอนกิจการต่างๆ ให้มาอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของรัฐบาลมากกว่าเป็นของกองทัพ


สภาไฟเขียวตั้งกรรมาธิการศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การทำธุรกิจไม่ใช่หน้าที่ของทหาร เพราะไม่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ และยังทำให้กองทัพเข้าไปพัวพันกับการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ เปรียบเป็น ‘เสนาพาณิชย์’ ที่เป็นแหล่งรายได้นอกระบบของนายพล กับเครือข่ายอุปถัมภ์ที่อยู่หลังม่านการเมือง ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น ขาดความโปร่งใส 

วิโรจน์สนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ รวมทั้งให้จัดการเงินนอกงบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่ปล่อยให้เสนาพาณิชย์กลายเป็นบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ

เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ผู้เสนอญัตติดินสนามกอล์ฟธูปะเตมีย์ อภิปรายว่า ต้องการให้นำสนามกอล์ฟกองทัพอากาศ (ธูปะเตมีย์) จำนวน 626 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุมาจัดทำเป็น ‘พื้นที่สาธารณะ’ สำหรับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวที่มีจำนวนมาก แต่ยังขาดพื้นที่ออกกำลังกาย และพื้นที่สาธารณประโยชน์อื่น โดยเสนอให้โอนพื้นที่สนามกอล์ฟมาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานีรับผิดชอบ 

สะถิระ เผือกประพันธุ์ สส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสนับสนุนญัตติ โดยระบุว่า ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี กองทัพเรือเป็นฝ่ายดูแลระบบการให้บริการสาธารณะนี้ (ไฟฟ้า) กับประชาชนในพื้นที่มาเป็นเวลา 8 ปี แต่มีการขยายเขตไฟฟ้าให้ประชาชนยังมีไม่ถึงร้อยละ 5 ยกตัวอย่างที่ตำบลแสมสาร ยังไม่มีไฟฟ้าชั่วคราวใช้ ซึ่งกองทัพเรืออ้างว่าเป็นปัญหาด้านข้อพิพาทที่ดิน รวมถึงประชาชนในอำเภอสัตหีบหลายพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่างๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 25 คน คือ

สัดส่วนคณะรัฐมนตรี

1. พลตรีมงคล บุตรดาวงษ์ 

2. พลเรือโทชยุต นาเวศภูติกร

3. พลอากาศตรีจักรกฤษณ์ ธรรมวิชัย 

4. ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ

5. โกวิทย์ ธารณา

6. จิรายุ ห่วงทรัพย์

สัดส่วนพรรคก้าวไกล 

7. เบญจา แสงจันทร์

8. เชตวัน เตือประโคน 

9. จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์

10. พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์

11. พวงทอง ภวัครพันธ์ุ

12. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 

สัดส่วนพรรคเพื่อไทย

13. เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม 

14. พนม โพธิ์แก้ว

15. สรัสนันท์ อรรณนพพร

16. ว่าที่ร้อยตรีโมฮามัดยาสรี ยูซง 

17. นริสสร แสงแก้ว

สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย

18. บัณฑิต อ่าวสถาพร

19. อาทิศักดิ์ ตั้งใจตรง

20. ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน

สัดส่วนพรรคพลังประชารัฐ

21. สะถิระ เผือกประพันธ์

22. ศรัณยา สุวรรณพรหม

สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์

23. สุธรรม ระหงษ์

สัดส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ 

24. เกชา ศักดิ์สมบูรณ์

สัดส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา

25. สรชัด สุจิตต์


ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ หากถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ

การที่สภาฯ เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาหาแนวทางถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ ถ้าหากสามารถทำได้จริงก็จะทำให้ความมีอภิสิทธิ์ของกองทัพถูกยกเลิกไป กองทัพจะกลับอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนเช่นเดียวกับหน่วนงานทั่วไป ภาพการเสนอของบประมาณโดยส่งกระดาษแผ่นเดียวไม่มีรายละเอียดใดๆ จะค่อยๆ หายไป สิ่งนี้จะส่งผลต่อสำนึกของทหาร ทหารค่อยๆ จะกลายเป็นทหารมืออาชีพไม่แสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ และยุติแทรกแซงการเมืองเหมือนที่ผ่านมา 

มองอีกด้าน กำลังพลจะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบเฉพาะการป้องกันประเทศเท่านั้น ไม่ต้องไปทำงานนอกเหนือหน้าที่อีก กองทัพก็จะได้ประโยชน์ในส่วนนี้ เพราะไม่ต้องจ้างงานบุคลากรเกินความจำเป็นของหน้าที่จริงของกองทัพ และจะได้ทำงานของตัวเองเท่านั้นพอ


ผู้ที่จะได้ประโยชน์อื่น หากกองทัพโอนธุรกิจมาให้รัฐบาล คือประชาชนผู้ใช้บริการจากธุรกิจต่างๆ ของกองทัพที่จะได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน และมีประสิทธิภาพ

share


รัฐวิสาหกิจก็จะได้รับประโยชน์ เพราะจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมาเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ ผลตอบแทนที่จ่ายให้กรรมการรัฐวิสาหกิจจะได้ไม่สูญเปล่าเหมือนกับการจ่ายเงินให้นายพลที่ขาดความรู้ความชำนาญ

รัฐบาลเองก็จะได้ประโยชน์จากธุรกิจที่รับโอนมาจากกองทัพเพราะจะสามารถแบ่งธุรกิจให้หน่วยงานที่เหมาะสมไปบริหารงาน และสามารถเก็บผลประโยชน์เข้าคลังได้เพื่อจัดสรรเป็นงบประมาณบริหารประเทศ แทนที่จะเข้ากระเป๋าของคนในกองทัพโดยอ้างว่าธุรกิจต่างๆ เป็นสวัสดิการกำลังพล 



นายพลต้องเสียสละ หากอยากให้ปฏิรูปกองทัพเดินหน้า

ผู้เสียผลประโยชน์หากถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ คือผู้บังคับบัญชาทั่วไปที่เก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากธุรกิจแบบตามน้ำ นายทุนส่วนหนึ่งที่หากินกับกองทัพ รวมถึงทหารระดับนายพลที่มีตำแหน่งเทียบเท่ากับอธิบดีก็จะได้รับค่าตอบแทนที่ลดลง แต่มีความเหมาะสม เพราะได้รับค่าตอบแทนเทียบเท่ากับข้าราชการระดับเดียวกันของหน่วยงานอื่น โดยนายพลต้องเสียสละจะไม่รับผลตอบแทนมากเกินสมควรจากระบบเสนาพาณิชย์อีกต่อไป

ถ้ายึดส่วนรวมเป็นที่ตั้ง การเปลี่ยนแปลงให้ธุรกิจกองทัพมาอยู่ในกำกับของรัฐบาลได้มากกว่าเสียหลายเท่าตัว

ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ถ้าพรรคเพื่อไทยเห็นสอดคล้องกับพรรคก้าวไกล ก้าวแรกของการปฏิรูปก็มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ถ้ายังมีความเห็นที่แตกต่างก็คงต้องให้สังคมกดดัน และเรียกร้องโดยตรงต่อรัฐบาล เพราะความหวังเห็นกองทัพลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองแทบจะเป็นศูนย์ ประชาชนที่รู้เท่าทันเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

แม้การจัดการธุรกิจกองทัพจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพทั้งระบบ แต่ถ้าทำสำเร็จก็จะทำให้ความเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ หรือทหารมีอำนาจเหนือการเมือง ค่อยจางหายลงไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเดินหน้าประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตย โดยไม่ต้องสะดุดบ่อยครั้งที่มีรัฐประหาร ซึ่งประชาชนเองคือผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุด



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat