เมื่อลูกเป็นฆาตกรผู้ลั่นไก พ่อแม่ต้องรับผิดชอบต่อความตาย?
...
LATEST
Summary
- วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 อีธาน โรเบิร์ต ครัมบลีย์ วัย 15 ปี ใช้ปืน 9 มม. ยิงเพื่อน 4 คนเสียชีวิต มีครูและนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บรวม 7 คน ต่อมาอีธานถูกตั้งข้อหา 24 กระทง ทั้งฆาตกรรมและก่อการร้าย โดยใช้กฎหมายเดียวกับผู้ใหญ่
- เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์ วัย 45 ปี แม่ของเด็กชายที่ก่อเหตุสังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยมปลาย รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2021 ถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาบกพร่องต่อการยับยั้งลูกชายในการใช้อาวุธปืน
- การกราดยิงที่เซอร์เบียโดยเด็กชาย 13 ปี ตามกฎหมายแล้วผู้ก่อเหตุไม่ต้องรับผิด แต่ล่าสุด พ่อแม่กำลังต้องขึ้นศาลรับผิดชอบต่อการกระทำของลูกชาย
...
หลายต่อหลายครั้งที่เด็กหรือเยาวชนลงมือก่ออาชญากรรม สังคมมักเกิดข้อถกเถียงว่าควรกำหนดบทลงโทษอย่างไร หลายความเห็นบอกว่า ควรแก้ที่ตัวบทกฎหมาย กำหนดเกณฑ์อายุผู้กระทำผิดเสียใหม่ หากความผิดนั้นร้ายแรงพอ เด็กต้องรับโทษเท่าผู้ใหญ่ ขณะที่บางคนเห็นว่าเด็กยังคงเป็นเด็ก มีปัจจัยมากมายที่บีบให้เด็กกลายเป็นอาชญากร และผู้รับผิดชอบควรรวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย อย่างกรณีฆาตกรรม ป้ากบ-บัวผัน ตันสุ การกราดยิงพารากอน หรือเด็กใช้มีดแทงคอเพื่อนหน้าเสาธง เพราะอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน โดยล่าสุด การกราดยิงที่สหรัฐฯ มีบทสรุปที่แม่ของมือปืนต้องเป็นผู้รับโทษไปด้วย
เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์
เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์ วัย 45 ปี แม่ของเด็กชายที่ก่อเหตุสังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยมปลาย รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2021 ถูกตัดสินให้มีความผิดข้อหาบกพร่องต่อการยับยั้งลูกชาย ทำให้เธอกลายเป็นคนแรกในสหรัฐฯ ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในเหตุกราดยิงที่ลูกเป็นผู้ลงมือ ส่วน เจมส์ ครัมบลีย์ ผู้เป็นพ่อจะมีการพิจารณาคดีแยกกันที่ยังไม่เสร็จสิ้น
ย้อนกลับไป 30 พฤศจิกายน 2021 อีธาน โรเบิร์ต ครัมบลีย์ วัย 15 ปี วาดรูปปืน ลูกกระสุน และชายที่มีบาดแผลในใบงานวิชาคณิตศาสตร์ เขาเขียนว่า “เลือดเต็มไปหมด หยุดคิดไม่ได้เลย ช่วยผมด้วย” เมื่อทางเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนพบจึงโทรศัพท์ไปหาผู้ปกครองเพื่อขอพบ แต่พ่อแม่ก็เข้ามาพูดคุยไม่นาน โดยให้เหตุผลว่าต้องไปทำงานและไม่ได้นำตัวลูกชายกลับบ้าน อีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา อีธานหยิบปืน 9 มม.ออกมาจากกระเป๋าเป้ และยิงเพื่อน 4 คนเสียชีวิต มีครูและนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บรวม 7 คน ต่อมาอีธานถูกตั้งข้อหา 24 กระทง ทั้งฆาตกรรมและก่อการร้าย โดยใช้กฎหมายเดียวกับผู้ใหญ่
ลูกขุนมีคำตัดสินเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2024 ว่า เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์ ปล่อยให้ลูกชายมีอาวุธปืน โดยละเลยสัญญาณเตือนต่างๆ และตัดสินให้เธอมีความผิด 4 ข้อหาจากการฆ่าคนตายโดยไม่ได้เจตนา ซึ่งแต่ละข้อหาต้องโทษสูงสุด 15 ปี โดยที่ผ่านมา 2 ปี ทั้งพ่อแม่ครัมบลีย์คนต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขัง เนื่องจากไม่มีเงินค่าประกันตัว
ส่วนอีธานลูกชายต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต หลังจากให้การรับสารภาพในข้อหาก่อการร้ายและการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา เมื่อเดือนธันวาคม 2023
ญาติของผู้เสียชีวิตส่วนหนึ่งพอใจกับคำพิพากษา “คุณอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่นี่คือระบบที่ควรจะเป็น” บัค ไมร์ พ่อของ เท็ต ไมร์ เด็กชายวัย 16 ปีที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว BBC หลังจากเข้าร่วมรับฟังคำตัดสิน
เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์ และสามีซื้อปืนให้ลูกชาย ก่อนเกิดเหตุสังหารหมู่เพียง 4 วัน โดยที่เจนนิเฟอร์เป็นคนสอนวิธีใช้
ในระหว่างการไต่สวน คณะลูกขุนมีหลักฐานว่าอีธานต้องการความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตและเห็นภาพหลอน แต่พ่อแม่ไม่พาเขาไปรักษา เจนนิเฟอร์ ครัมบลีย์ กล่าวว่า เธอไม่คิดว่าลูกชายมีปัญหาสุขภาพจิต
คำถามสำคัญของการไต่สวนคดีอยู่ที่ แม่ควรจะคาดการณ์ได้ล่วงหน้าและป้องกันการก่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงในระดับที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้หรือไม่
เอโคว์ ยานกาห์ ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC ว่า การไต่สวนคดีนี้ได้กำหนดแนวทางการถกเถียงเรื่องการรับผิดชอบของพ่อแม่ต่อการกระทำความผิดของลูก ตอนนี้คณะลูกขุนมีเครื่องมือใหม่ จนอาจจะเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนกังวล แม้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยมากๆ คำถามอยู่ที่ว่า เส้นแบ่งของกฎหมายอยู่ที่ตรงไหน
เขามองว่าโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีสำหรับการฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอาจถูกคณะลูกขุนนำมาใช้เป็นจุดงัดข้อกับพ่อแม่ที่ละเลยลูก
“พวกเขาอาจจะบอกพ่อแม่ว่า ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการต่อรองคำให้การ เราจะลองใช้คดีนี้ และส่งคุณเข้าคุก”
แม้ก่อนหน้านี้จะเคยมีคดีที่พ่อแม่ต้องรับผิดจากการเพิกเฉยโดยตรงกับลูก แต่คดีนี้ค่อนข้างพิเศษมากขึ้นไปอีกขั้นที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบกับการกระทำของลูก
“แม้ทางหนึ่งจะเข้าใจว่า จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจะทำให้ลูกขุนใช้วิธีนี้แต่อีกด้านหนึ่ง แต่ก็มีจิตสำนึกรู้ทางศีลธรรม (moral intuition) ที่ว่า คุณไม่สามารถรับผิดชอบกับพฤติกรรมของผู้อื่นได้ ผมคิดว่าสังคมและสำนักงานอัยการ จะต้องคิดเห็นเรื่องนี้คนละทาง”
นอกจากนี้ยานกาห์ตั้งข้อสังเกตว่า การใช้กฎหมายอาจไม่ได้สัดส่วนกับกลุ่มด้อยโอกาส ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนที่เปราะบางทางการเมืองที่สุด เช่น คนจน คนดำ คนผิวน้ำตาล มักเป็นเป้าหมายของกฎหมายอาญา
กราดยิงเซอร์เบียร์ พ่อแม่ถูกนำตัวขึ้นศาล
กรณีคล้ายๆ กันเกิดขึ้นที่เซอร์เบีย หลังเหตุเขย่าขวัญระดับประเทศเกิดขึ้นสองครั้งติดๆ ช่วงต้นปี 2023 วันที่ 3 พฤษภาคม ที่โรงเรียนวลาดิสลาฟ ริบนิการ์ โมเดล เมืองเบลเกรด คอสตา เคคมาโนวิช เด็กชายวัย 13 ปีใช้ปืนยิงเพื่อนร่วมชั้น 9 คน และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 1 คน ต่อมามือปืนยอมมอบตัว
หนึ่งวันผ่านไป 4 พฤษภาคม อูรอซ บลาซิช มือปืนวัย 20 ปี ก่อเหตุยิงคนในหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกราชการ 1 ราย และบาดเจ็บอีก 12 คน
สองเหตุการณ์หลังในเซอร์เบียทำให้เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ เกี่ยวกับกฎหมายอาวุธปืน แม้จะมีเหตุยิงกันเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เซอร์เบียมีอัตราการครอบครองปืนต่อหัวประชากรสูงที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามหลังสหรัฐฯ และเยอรมนี โดยในปี 2021 สถิติคือ ปืน 39 กระบอกต่อประชากร 100 คน และชาวเซอร์เบียยังมีอาวุธปืนผิดกฎหมายอีกมาก เนื่องจากหลายครอบครัวครอบครองปืนไว้ในฐานะของที่ระลึกจากสงครามโลกครั้งที่สอง
กรณีแรก เด็กชายอายุ 13 ปี ไม่ต้องรับโทษทางอาญา เพราะตามกฎหมายเซอร์เบียร์ อายุขั้นต่ำของการรับผิดคือ 14 ปี ปัจจุบัน คอสตา เคคมาโนวิช รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช แต่ความรับผิดชอบต่อความตายของหลายชีวิตมาตกอยู่ที่พ่อแม่ โดยปลายเดือนมกราคม 2024 พ่อของเขาต้องขึ้นศาล โดยอัยการกล่าวว่า พ่อเป็นคนฝึกให้ลูกชายยิงปืน และอนุญาตให้ลูกชายซ่อนปืนพกและกระสุน 92 นัดไว้ในกระเป๋าเป้สะพายหลัง นอกจากนี้พ่อยังถูกตั้งข้อหากระทำการร้ายแรงต่อความปลอดภัยทั่วไป ในขณะที่ผู้เป็นแม่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองเครื่องกระสุนปืนอย่างผิดกฎหมาย โดยการพิจารณาคดีนี้เป็นแบบปิด ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมสังเกตการณ์
อ้างอิง: CNN, BBC, ABC News, The Guardian, Euro News
