‘คุณปู่ผู้น่ารัก’ และ ‘เด็กเส้น’ เสียงวิจารณ์ว่าที่ผู้นำใหม่อินโดนีเซีย อาจทำให้ประชาธิปไตยในอาเซียนยิ่งถดถอย
...
LATEST
Summary
- ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีกลาโหมอินโดนีเซีย มีคะแนนนำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 กลายเป็นว่าที่ผู้นำคนใหม่แบบไม่พลิกโผ
- สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่าปราโบโวปรับภาพลักษณ์ในการหาเสียงเลือกตั้งโดยเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ จากนายพลลูกเขยอดีตผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต มีประวัติพัวพันกับการลักพาตัว และอุ้มหาย นักเคลื่อนไหวทางการเมือง พลิกโฉมกลายเป็น ‘คุณปู่’ ทาสแมวผู้น่ารักน่ากอดในโลกโซเชียล
- อีกปัจจัยที่สำคัญและมีส่วนทำให้ปราโบโวชนะเลือกตั้งครั้งนี้คือการเสนอชื่อ จิบราน รากาบูมิง รากา ลูกชายประธานาธิบดี โจโก วิโดโด ผู้นำยอดนิยมที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง มาเป็นรองประธานาธิบดีคู่กัน
- ทีมว่าที่ผู้นำใหม่อินโดนีเซียถูกครหาว่า ‘ยื้ออำนาจ’ เพราะก่อนหน้านี้ปราโบโวก็เป็นผู้กุมอำนาจด้านความมั่นคงในตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ส่วนจิบรานถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘เด็กเส้น’ แม้อายุไม่ถึงเกณฑ์จะเป็นรองประธานาธิบดี แต่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยให้ลงสมัครได้
...
อินโดนีเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคของไทยที่มีสถิติติดอันดับต้นๆ ของโลกในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก (รองจากอินเดียและสหรัฐอเมริกา) ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 1 ของโลก และประเทศที่ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังเป็นประเทศที่มีเขตเวลาหรือไทม์โซนถึง 3 เขต เพราะอาณาเขตทั้งหมดของประเทศนั้นกว้างขวาง รวมถึงหมู่เกาะซึ่งกระจายตัวอยู่ในไทม์โซนที่แตกต่างกัน
การเลือกตั้งทั่วประเทศของอินโดนีเซียที่จัดไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2024 จึงเป็นการเลือกตั้งวันเดียวจบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกประจำปีนี้เลยก็ว่าได้ เพราะมีทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดี สส. และสมาชิกสภาปกครองท้องถิ่นรวมกว่า 20,000 ที่นั่ง มีคูหาเลือกตั้งราว 800,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีจำนวนกว่า 205 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมดประมาณ 270 ล้านคน)
แต่ประเด็นที่นักวิเคราะห์จับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เป็นเพราะตลอดทศวรรษที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหรือเป็นตัวกลางเจรจาในหลายประเด็นที่เป็นสากล การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาลอินโดนีเซียครั้งแรกในรอบหลายปีจึงอาจทำให้นโยบายระหว่างประเทศหรือจุดยืนเกี่ยวกับอาเซียนเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซียมีประวัติโชกโชนทางการเมือง เคยเป็นลูกเขยอดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการ และเคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยพิเศษที่ก่อเหตุลักพาตัวและอุ้มหายนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน ทำให้ต้องจับตามองว่านโยบายเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักการด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นอย่างไรเมื่ออยู่ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่
ปราโบโว ซูเบียนโต
นายพลมือเปื้อนเลือด กลายเป็นคุณปู่ผู้น่ารัก เพื่อคะแนนเลือกตั้ง
ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซียคนปัจจุบัน เป็นผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีประจำปี 2024 เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงทั้งหมด แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะยังไม่ได้ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ แต่มีแนวโน้มชัดเจนว่าเขาคือผู้ชนะที่ได้คะแนนนำอย่างชัดเจนโดยไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งรอบ 2 ในเดือนมิถุนายนตามกำหนดการเดิมที่วางไว้กรณีไม่มีผู้สมัครคนไหนได้คะแนนนำแบบทิ้งห่าง
ขณะที่ จิบราน รากาบูมิง รากา นายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตา ลูกชายคนโตของ โจโก วิโดโด หรือ ‘โจโกวี’ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งลงสมัครร่วมกับปราโบโวในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ประกาศชัยชนะต่อหน้าผู้สนับสนุนของเขาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 เป็นที่เรียบร้อยเช่นกัน ทั้งยังบอกผู้สนับสนุนที่ใช้แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลว่าอย่าไประรานหรือเยาะเย้ยผู้สมัครคนอื่นๆ ที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งอีกด้วย
ทั้งสองคนไม่ใช่ ‘หน้าใหม่’ ในสนามการเมือง โดยเฉพาะปราโบโวที่เป็นทายาทตระกูลชนชั้นนำของอินโดนีเซีย ตัวเขาเองก็มีบทบาททางการเมืองที่สำคัญมานานแล้ว และผู้ใหญ่ในยุคก่อนสหัสวรรษคงจดจำเขาได้ดีในฐานะลูกเขยซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีเผด็จการของอินโดนีเซีย ที่ครองประเทศตั้งแต่ปี 1967–1998 โดยในยุคที่ซูฮาร์โตเรืองอำนาจ ปราโบโวเป็นนายพลผู้บัญชาการหน่วยพิเศษที่ดูแลด้านความมั่นคงและปฏิบัติการต่างๆ ที่ได้รับคำสั่งจากผู้นำรัฐบาลเผด็จการอีกต่อหนึ่ง
เมื่อซูฮาร์โตพ้นจากอำนาจ ปราโบโวถูกทางการสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำ ห้ามเดินทางเข้าประเทศ โดยอ้างว่าเขามีประวัติเกี่ยวพันการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง
ตอนที่ปราโบโวสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014 ก็เคยให้สัมภาษณ์กับ Aljazeera ยอมรับว่าหน่วยพิเศษที่เขาดูแลสมัยรัฐบาลซูฮาร์โตเกี่ยวพันกับการลักพาตัวนักเคลื่อนไหวทางการเมืองจริง และญาติของผู้ถูกลักพาตัวย้ำว่ามีนักเคลื่อนไหวอย่างน้อย 13 คน ที่หายสาบสูญจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ปราโบโวยืนยันว่า เขาไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะสิ่งที่ทำไปคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายทหาร ซึ่งคนที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและชาตินิยมจำนวนมากก็ยังมองว่าปราโบโวเป็นทหารที่เด็ดขาดและยึดมั่นในหน้าที่ หลังจากนั้นเขาก็เว้นวรรคไปประกอบธุรกิจหลายอย่าง จึงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีเมื่อลงสนามการเมืองอินโดนีเซียในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
แม้แต่โจโกวีซึ่งได้รับความนิยมสูงกว่าผู้นำคนอื่นๆ ในอดีตยังต้องประนีประนอมกับปราโบโวเพื่อลดทอนความขัดแย้งทางการเมือง หลังจากที่เป็นคู่แข่งกันในสนามเลือกตั้งปี 2014 และ 2019 ในที่สุดเขาก็ตั้งปราโบโวเป็นรัฐมนตรีกลาโหม และในการเลือกตั้งปี 2024 โจโกวีไม่สามารถลงสมัครชิงตำแหน่งได้อีก เพราะมีข้อห้ามเรื่องการดำรงตำแหน่งติดต่อกันในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปราโบโวจึงคาดหวังว่าเขาจะได้รับชัยชนะในครั้งนี้ และการหาเสียงก็พยายามลบล้างภาพ ‘นายทหารมือเปื้อนเลือด’ โดยทีมหาเสียงของเขาใช้แพลตฟอร์มสื่อโซเชียลในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ หรือถ้าพูดให้เจาะจงลงไปก็คือคน Gen Y จนถึง Gen Z อายุระหว่าง 18-35 ปีที่คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมดในอินโดนีเซีย
ภาพลักษณ์ใหม่ที่ปราโบโวนำเสนอ คือ คุณปู่ (หรือคุณตา) ผู้น่ารักน่ากอด (cute and cuddly grandpa) ทั้งยังเป็น ‘ทาสแมว’ อีกด้วย โดยทีมหาเสียงของปราโบโวนำแมวมาร่วมสื่อสารในแคมเปญเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง คนอินโดนีเซียจึงได้เห็นปราโบโวในวัย 72 ปี ซึ่งมีรูปร่างค่อนไปทางเจ้าเนื้อ เต้นอย่างสนุกสนานไปกับเพลงบนเวทีหาเสียง แถมยังเคยทำท่ามินิฮาร์ตเวลาถูกถ่ายภาพ ซึ่งคนไทยอาจจะคุ้นๆ กับนักการเมืองลักษณะนี้ และจะบอกว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียเหมือนกันก็คงได้ถ้าดูจากผลเลือกตั้ง (แม้จะยังไม่ได้รับรองผลอย่างเป็นทางการก็ตามที)
จิบราน รากาบูมิง รากา
ส่วนจิบรานไม่ได้เติบโตมาในตระกูลชนชั้นนำ เพราะโจโกวีพ่อของเขาถูกขนานนามมาตลอดว่าเป็นผู้นำสามัญชนที่ติดดินและฟังเสียงประชาชน แต่จิบรานก็หนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์ว่าเป็น Nepo baby หรือ ‘เด็กเส้น’ และถูกมองว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เติบโตในเส้นทางสายนี้อย่างรวดเร็วโดยอาศัยคะแนนนิยมของพ่อจนได้เป็นนายกเทศมนตรีเมืองสุราการ์ตาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 40 ปี ซึ่งผู้สนับสนุนของจิบรานจำนวนมากได้โต้แย้งผ่านสื่อโซเชียลว่าจิบรานไม่ใช่เด็กเส้น แต่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ฝ่ายหัวก้าวหน้า พร้อมจะสนับสนุนความเปลี่ยนแปลง และมีความสามารถ ผู้คนจึงสนับสนุนเขาโดยไม่ได้สนใจว่านี่คือลูกของโจโกวีหรือไม่
อย่างไรก็ดี ทันทีที่จิบรานประกาศลงเลือกตั้งร่วมกับปราโบโว และโจโกวีไม่ได้ประกาศหนุนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เป็นตัวแทนพรรครัฐบาล PDI-P ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของเขามาตั้งแต่ยุคที่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรก คะแนนนิยมของทีม ‘ปราโบโว-จิบราน’ ก็พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวรในสนามการเมืองจริงๆ เพราะทั้งคู่เคยขับเคี่ยวกันถึงขั้นที่ปราโบโวกล่าวหาว่าโจโกวีชนะเพราะโกงเลือกตั้ง ทั้งยังเล่นใหญ่ถึงขั้นประกาศสวนว่าตัวเองต่างหากที่เป็นผู้ชนะ แต่สุดท้ายก็เจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ จนมาถึงวันที่ลูกชายโจโกวีผนึกกำลังกับปราโบโวชิงชัยกับผู้สมัครจากพรรคร่วมรัฐบาลในที่สุด
โจโก วิโดโด 'โจโกวี'
อย่าเรียก ‘สืบทอดอำนาจ’ โปรดเรียกว่า ‘ความต่อเนื่องด้านนโยบาย’
เพราะมีจิบรานเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีร่วมกับปราโบโว ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความพยายามที่จะยื้ออำนาจดังขึ้นจากหลายฝ่าย รวมถึงฝั่งรัฐบาลเองและภาคประชาสังคม โดยมีการตั้งคำถามถึงตอนที่ปราโบโวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม ได้ผลักดันการจัดซื้อจัดหาอาวุธและการจัดสรรงบประมาณด้านความมั่นคงที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าคุ้มค่าหรือไม่ เช่น การสั่งซื้อเครื่องบินเจ็ตจากกาตาร์ และมีผู้กังวลว่าถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดีอาจมีอำนาจและช่องทางมากขึ้น โครงการเหล่านี้อาจถูกปัดฝุ่นนำกลับมาใหม่
และการที่ลูกชายของโจโกวีลงสมัครชิงตำแหน่งกับปราโบโวก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นความพยายามผ่องถ่ายอำนาจจากพ่อไปสู่ลูก ไม่ต่างจากระบบอุปถัมภ์และการใช้เส้นสายที่โจโกวีเคยวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเขาเคยชูจุดแข็งในฐานะที่ตัวเองคือคนธรรมดานอกเกมอำนาจของชนชั้นนำในอดีตจนได้ใจประชาชนจำนวนมาก แต่ตอนนี้กลับผลักดันให้ลูกชายเป็นผู้สืบทอดอำนาจทางการเมืองเสียเอง
ปราโบโว ซูเบียนโต และ จิบราน รากาบูมิง รากา
นอกจากนี้ จิบรานยังไม่มีคุณสมบัติด้าน ‘อายุ’ ที่จะสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีได้ เพราะเดิมมีเงื่อนไขว่าผู้สมัครต้องมีอายุ 40 ปีบริบูรณ์ แต่มีการยื่นเรื่องให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความเมื่อปี 2023 ว่าจะปรับแก้เงื่อนไขเรื่องอายุได้หรือไม่ ซึ่งเสียงข้างมากของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า ‘ทำได้’ จึงเท่ากับเปิดไฟเขียวให้จิบรานลงสมัครได้สำเร็จ ข้อกล่าวหาว่าศาลเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องจึงตามมาทันที เพราะตอนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมตินั้นคือช่วงที่ อันวาร์ อุสมาน น้องเขยของโจโกวี เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญอยู่พอดี แต่คนจำนวนมากกลับไม่รู้สึกว่านี่คือเรื่องบังเอิญ
แม้ต่อมาอันวาร์จะถูกกรรมาธิการด้านจริยธรรมลงมติปลดจากตำแหน่งด้วยเหตุผลว่าละเมิดจริยธรรม เข้าข่ายใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ แต่มติของศาลเรื่องอายุผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีไม่ได้กลายเป็นโมฆะ จิบรานก็เลยเดินหน้าลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีต่อไปได้ และมีผู้สนับสนุนที่มองว่านี่คือสิ่งที่จำต้องทำเพื่อปลดล็อกให้คนรุ่นใหม่อย่างจิบรานมีโอกาสปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ทำให้ทีมหาเสียงของปราโบโวและจิบรานย้ำเพิ่มเติมก่อนวันเลือกตั้งว่าสิ่งที่ทำลงไปไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ แต่เป็นการรักษาความต่อเนื่องด้านนโยบาย โดยระบุว่าหลายโครงการอาจถูกทบทวนหรือยกเลิกไปถ้าหากผู้สมัครคนอื่นได้รับเลือกแทนที่จะเป็นปราโบโวกับจิบราน
โครงการที่ปราโบโวยืนยันบ่อยๆ ว่าจะสานต่อถ้าได้เป็นประธานาธิบดี รวมถึงการย้ายเมืองหลวง การก่อสร้างเส้นทางคมนาคม ระบบสาธารณูปโภคระดับเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ส่วนนโยบายที่ทีมปราโบโวเสนอเองมุ่งเน้นที่การกระตุ้นเศรษฐกิจ พิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ส่งเสริมการจ้างงานแก่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และเพิ่มงบในโครงการอาหารกลางวันฟรีเพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
แต่เมื่อถูกทวงถามเรื่องการชำระประวัติศาสตร์ และการสะสางคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตที่ไม่คืบหน้า ไม่สามารถตามหาเบาะแสผู้สูญหาย หรือลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้ก่อเหตุได้ และยังเป็นเรื่องที่ญาติของผู้ได้รับผลกระทบต้องสู้กันต่อไป จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความลักลั่นของกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ได้ จิบรานและโจโกวีถูกวิจารณ์จากคนที่เคยสนับสนุนพวกเขาเช่นกัน โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมซึ่งมองว่าการสานต่อนโยบายเป็นเพียงข้ออ้างสืบทอดอำนาจ ทั้งยังเป็นการคำนึงถึงเป้าหมายส่วนตัวมากกว่า และท้ายที่สุดก็จะกลายเป็นผลเสียต่อกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ควรยึดมั่นในหลักการ
ว่าที่ผู้นำใหม่ของอินโดฯ อาจเซาะกร่อนบ่อนทำลายประชาธิปไตย
ถึงแม้ปราโบโวจะประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งไปแล้ว พร้อมย้ำว่าตัวเขาเป็นประธานาธิบดีของทุกคน แต่จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการได้ก็ยังต้องรอจนถึงเดือนตุลาคม 2024 เพราะหลังจากนี้ กกต. และหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการรับรองผลเลือกตั้งจะตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่างๆ ว่ามีการทุจริตหรือเหตุขัดข้องอื่นใดที่ถึงขั้นต้องจัดเลือกตั้งซ่อมในบางพื้นที่หรือไม่ เพราะสื่ออินโดนีเซียรายงานว่า มีผู้แจ้งเรื่องการก่อกวนคูหาเลือกตั้งและพบเหตุขัดข้องทางเทคนิคในจุดเลือกตั้งราว 600 แห่งทั่วประเทศ
สำนักข่าว Bloomberg และ Reuters นำเสนอความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ที่มีต่อชัยชนะของปราโบโว โดยมีผู้ระบุว่าโลกกำลังจะเจอกับผู้นำประเทศที่ ‘คาดเดาได้ยาก’ เพิ่มมาอีกคนหนึ่ง ไม่ต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา หรือโรดริโก ดูแตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ เพราะเขาเป็นนักการเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องอำนาจนิยมและเป็นคนอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย เคยประกาศต่อหน้าสื่อต่างชาติที่มาทำข่าวเลือกตั้งว่าประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อประเทศชาติอีกด้วย
นักวิเคราะห์บางส่วนจึงมองว่าสิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือ สถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในอินโดนีเซียเอง และปราโบโวเคยแสดงท่าทีว่าเขาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ที่ 2 สมัย ถ้าดูจากการผลักดันของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำให้จิบรานกลายเป็นเพื่อนร่วมทีมเลือกตั้งของปราโบโวในครั้งนี้ได้ ก็มีแนวโน้มสูงว่าอาจมีการกดดันผ่านช่องทางนี้จนนำไปสู่การแก้ไขธรรมนูญขยายเวลาในตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งถ้าทำจริงจะกระทบต่อกระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุลในประเทศอย่างมาก อาจนำไปสู่การประท้วงใหญ่และเหตุการณ์ไม่สงบต่างๆ
ถึงแม้ว่าปราโบโวจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของตัวเองให้กลายเป็นคุณปู่อารมณ์ดีน่ารักน่ากอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ก่อนหน้านั้นเขาคือ นายทหารที่บัญชาการหน่วยพิเศษมานานนับสิบปี แถมยังเป็นหน่วยพิเศษที่เกี่ยวพันการลักพาตัวและซ้อมทรมานนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในอดีตอีกด้วย และเคยเป็นผู้นำปฏิบัติการล้อมปราบเหตุการณ์ความไม่สงบในติมอร์ตะวันออกช่วงปี 1983 ซึ่งบานปลายกลายเป็นการสังหารหมู่ประชาชนพื้นเมืองนับร้อยราย ด้วยประวัติอันโชกโชนนี้ ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนสรุปว่าธรรมชาติคนเราไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยหรือความเคยชินดั้งเดิมได้ง่ายดายนัก โดยเฉพาะคนที่อยู่กับอำนาจมาแทบจะตลอดชีวิต
แม้แต่สถานการณ์ประชาธิปไตยในอินโดนีเซียยังน่าเป็นห่วงขนาดนี้ บทบาทของอินโดนีเซียต่อสถานการณ์ด้านประชาธิปไตยในอาเซียนจึงคาดเดาได้ยากไปด้วย โดยเฉพาะประเด็นเมียนมาที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากและการจัดการชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าอินโดนีเซียภายใต้รัฐบาลปราโบโวอาจเรียกร้องให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อของสมาชิกอาเซียนเพื่อยุติความรุนแรง แต่ถ้าดูจากความพยายามที่ผ่านมาก็คงเห็นว่าไม่สามารถกดดันรัฐบาลเมียนมาได้ บวกกับปีนี้ลาวเป็นประธานอาเซียน จึงไม่น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นมากนัก
นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ปราโบโวดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม เขามุ่งเน้นการยกระดับกองทัพให้มีกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ ส่งเสริมความเข้มแข็งของกองทัพและการกำกับดูแลน่านน้ำโดยรอบเพราะอินโดนีเซียเองก็มีเรื่องกระทบกระทั่งกับจีนบริเวณหมู่เกาะนาทูน่า ติดกับทะเลจีนใต้ นักวิเคราะห์จึงประเมินว่าปราโบโวอาจผลักดันบทบาทอินโดนีเซียในฐานะผู้นำของกลุ่มประเทศอาเซียนทางด้านการทหาร และเขาเคยเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนมาแล้วว่าอยากให้มีการฝึกซ้อมรบร่วมกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะว่าไปก็คือการผนึกกำลังแสดงแสนยานุภาพอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกัน การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของอินโดนีเซียในสมัยรัฐบาลโจโกวีเมื่อปี 2023 ถูกวิจารณ์ว่าไม่มีความเคลื่อนไหวเชิงรุกมากนัก อินโดนีเซียสนใจประเด็นเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศมากกว่า แต่การผลักดันความร่วมมือทางการทหารและแนวโน้มเรื่องการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมในยุคปราโบโวก็อาจจะนำไปสู่แรงกดดันให้เกิดการแข่งขันทางการทหารในภูมิภาคได้เช่นกัน
ส่วนการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และแนวทางแก้ปัญหาข้อพิพาทในยุครัฐบาลปราโบโว ถูกประเมินว่าอาจแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐบาลโจโกวีซึ่งเน้นการเจรจาไกล่เกลี่ยและต่อรองเป็นหลัก แต่จะแตกต่างถึงขั้นไหนต้องรอดูต่ออีกทีหลังปราโบโวรับตำแหน่งในเดือนตุลาคม
