ความไม่เท่าเทียมบนเครื่องบิน คนพิการถูกเลือกปฏิบัติ อาจเป็นอุปสรรคต่อการเป็นฮับการบินโลก
...
LATEST
Summary
- เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ที่ประกอบด้วยองค์กรและภาคีเครือข่าย 20 แห่ง ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากกรณีมีผู้โดยสารถูกสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผลไม่สามารถเดินเองได้
- ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ยังไม่พบเกิดขึ้นกับสายการบินอื่นๆ ที่คนพิการสามารถขึ้นเครื่องได้ กลุ่มผู้เรียกร้องจึงขอให้กระทรวงคมนาคมใช้กฎหมายเข้าไปเสริมเพื่อให้ทุกสายการบินปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้คนพิการต้องแจ้งก่อนขึ้นเครื่องบิน
- เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรียกสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์เข้ามาชี้แจงรายละเอียดภายใน 7 วัน หากสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ยังคงเพิกเฉย จะพิจารณาเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการบินต่อไป
...
สัปดาห์นี้เองที่ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวว่าจะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการบินภูมิภาค เป็นฮับการบินโลก ให้สุวรรณภูมิติด 1 ใน 50 สนามบินของโลกภายใน 1 ปี และติด 1 ใน 20 ของโลก ภายใน 5 ปี
แต่ไม่นานมานี้ คนพิการเพิ่งถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่อง สิทธิบนเครื่องบินของคนยังไม่เท่ากัน หากอยากเป็นฮับการบินอาจต้องพัฒนากันอีกหลายเรื่อง
คนพิการเป็นคนอีกกลุ่มที่มักถูกเลือกปฏิบัติจากสภาวะทางร่างกายที่แตกต่างจากบุคคลทั่วไป รวมถึงยังถูกปฏิเสธการเข้าถึงบริการเครื่องบินโดยสารด้วย สาเหตุนี้จึงทำให้คนพิการ อาทิ คนพิการทางการเคลื่อนไหว และคนพิการทางสายตา ฯลฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 200 คน ต้องออกมาแสดงพลังเพื่อทวงสิทธิขั้นพื้นฐานของตัวอีกครั้ง
คนพิการในประเทศไทยมีจำนวน 2,249,537 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.39 ของประชากรไทย อ้างอิงข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 แบ่งได้เป็น
- พิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย 1,155,339 คน หรือร้อยละ 51.7
- พิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย 415,999 คน หรือร้อยละ 18.57
- พิการทางการเห็น 184,542 คน หรือร้อยละ 8.24
- พิการด้านอื่นๆ
เห็นได้ว่าคนพิการไม่ใช่ประชากรที่มีจำนวนน้อย ฉะนั้น การปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปต่อคนพิการจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ที่ประกอบด้วยองค์กรและภาคีเครือข่าย 20 แห่ง อาทิ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ฯลฯ นัดรวมตัวที่หน้ากระทรวงคมนาคม เพื่อยื่นหนังสือถึง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จากพรรคเพื่อไทย พร้อมมีสำเนาถึง สุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และผู้บริหารสูงสุดสายการบินไทยเวียตเจ็ท
หนังสือร้องเรียนและเรียกร้องประเด็นสายการบินละเมิดสิทธิการเดินทาง
สรุปใจความได้ว่า การเดินทางเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน กรณีล่าสุด กฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล นักรณรงค์ และผู้ใช้รถเข็น พบปัญหาในการเดินทาง ถูกสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ (Thai VietJet Air) ปฏิเสธไม่ให้เดินทาง ด้วยเหตุผลไม่สามารถเดินเองได้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 เที่ยวบิน VZ130 จากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินเชียงราย
กฤษนะ ละไล (ที่สองจากซ้าย)
ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบและความเสียหายต่องานและเวลา และเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นการเลือกปฏิบัติ ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ผิดทั้งกฎหมายและหลักการสากลอย่างชัดเจน
ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวลขอให้กระทรวงคมนาคมปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีตามที่รับทราบจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก
โดยสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ต้องยกเลิกใบอนุญาตการบินชั่วคราวจนกว่าไทยเวียตเจ็ทจะแก้ไขปัญหาเสร็จเรียบร้อย และขอให้จัดการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากไม่มีความคืบหน้าจะใช้มาตรการยื่นฟ้องสายการบินไทยเวียตเจ็ททันที
ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ กฤษนะ ละไล เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ในวันเกิดเหตุเดินทางคนเดียวโดยไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อไปร่วมกิจกรรมแนะนำการท่องเที่ยวที่จังหวัดเชียงรายที่คนพิการเข้าถึงได้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่กลับถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน เหตุผลเพราะเดินขึ้นเครื่องไม่ได้
กฤษนะกล่าวอีกว่า จากนั้นจึงเดินทางกลับมายังที่พัก ก่อนให้ทีมงานซื้อตั๋วเครื่องบินใหม่ให้ และได้เดินทางในช่วงเย็นวันเดียวกัน 1 กุมภาพันธ์ ด้วยสายการบินไทยแอร์เอเชีย และเดินทางกลับจากเชียงรายด้วยสายการบินไทย คิดว่าในเมื่อสายการบินจากประเทศเวียดนามมาให้บริการที่ประเทศไทยแล้ว ก็ควรที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานต่อคนพิการของประเทศไทยให้ได้
มีกฎหมายรองรับสิทธิคนพิการอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เท่าเทียม
หนึ่งในผู้ใช้ชีวิตบนรถเข็นที่ออกมายื่นข้อเรียกร้อง วรกร ไหลหรั่ง ประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านบุคคลพิการ ทุพพลภาพและผู้ด้อยโอกาส สภาทนายความฯ และที่ปรึกษากฎหมายภาคีเครือข่ายคนพิการ กล่าวว่า การยื่นข้อร้องเรียนเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้โดยสะดวก โดยเป็นสิ่งที่มีกฎหมายรองรับว่า คนพิการต้องเท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และกฎกระทรวง แต่ กฤษนะ ละไล ก็ไม่สามารถขึ้นเครื่องได้ ภาคีจึงมาหารือกันว่าควรร้องเรียนเพื่อให้คนพิการ คนสูงอายุ คนทุพพลภาพ และคนเจ็บป่วย โดยทั่วไป สามารถเดินทางได้ โดยต้องการให้กระทรวงคมนาคมกวดขันให้เป็นไปตามกฎหมาย
“เคยร่วมพูดคุยกับคนพิการกับหน่วยงานของรัฐถึงเรื่องเหล่านี้แล้ว แล้วเรื่องถูกโฮลด์ไว้ (ดึงเรื่องไว้) เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ แล้ว”
วรกรยังขอให้ไทยเวียตเจ็ทแอร์แก้ไข เพราะสายการบินอื่นยังแก้ไขได้ แล้วทำไมไทยเวียตเจ็ทแอร์ที่มาให้บริการที่ประเทศไทยจะแก้ไขไม่ได้ พร้อมขอให้กระทรวงคมนาคมใช้กฎหมายเข้าไปเสริมเพื่อให้ทุกสายการบินปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อไม่ให้คนพิการต้องแจ้งก่อนขึ้นเครื่องบิน อาทิ ภายใน 48 ชั่วโมง หรือ ภายใน 72 ชั่วโมง เพราะเป็นการลักลั่นและไม่ยุติธรรมต่อคนพิการ อีกทั้งที่สนามบินมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้คนพิการขึ้นเครื่องบินอยู่แล้ว แต่ไม่ได้นำออกมาใช้ อาทิ ลิฟต์ยกคนพิการขึ้นเครื่อง หรือ ทางลาดขึ้นเครื่อง แต่กลับต้องให้คนพิการแจ้งก่อนล่วงหน้า
วรกร ไหลหรั่ง
การอ้างว่าเป็นสายการบินต้นทุนต่ำคิดค่าบริการถูกอยู่แล้ว เพื่อคนพิการคนเดียวทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นนั้น วรกรกล่าวว่า ทำไมไม่มองว่าควรนำอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้คนพิการขึ้นเครื่องบินที่มีอยู่ออกมาใช้ทุกครั้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่อคนพิการ แต่กลับใช้วิธีแบกหามคนพิการที่เดินไม่ได้ขึ้นเครื่องแทน
“เหมือนเขาเป็นแมว เหมือนเขาเป็นหรือตัวอะไร นี่คือการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคนมีหมด แต่ในทางปฏิบัติชีวิตของคนพิการเป็นพลเมืองชั้นสามไม่ใช่ชั้นสอง ซึ่งมันไม่แฟร์ และมันไม่ใช่” วรกรกล่าวทิ้งท้าย
อรกัลยา พิชชาออน ตัวแทนเครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MoveD) กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นเครือข่ายซึ่งรับไม่ได้กับการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ การที่สายการบินกระทำการแบบนี้ซ้ำๆ ถือเป็นการหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างมาก รวมทั้งหมิ่นอำนาจที่ถูกละเลยของกระทรวงคมนาคม
อรกัลยากล่าวอีกว่า ในยุคสังคมสูงวัย ไม่ใช่แค่คนพิการที่จำเป็นต้องใช้วีลแชร์ คนเจ็บคนป่วย รวมทั้งผู้สูงอายุในวันนี้และในอนาคต ก็มีแนวโน้มต้องกลายเป็นผู้มีความต้องการพิเศษ ฉะนั้นการแก้ปัญหาของสายการบินโดยไม่อนุญาตให้ผู้มีความต้องการพิเศษขึ้นเครื่องถือเป็นการเลือกปฏิบัติ
ณรงค์ ไปวันเสาร์ ประธานชมรมคนพิการผู้ค้าสลากรายย่อย และตัวแทนคนพิการจากภาคตะวันออก ผู้ใช้รถเข็น เปิดเผยว่า เคยมีประสบการณ์กับสายการบินที่ขอปล่อยลมยางรถเข็นโดยอ้างความปลอดภัย ซึ่งเข้าใจได้ว่ายางอาจระเบิดกลางอากาศ แต่เมื่อถามว่าแล้วจะสูบคืนให้หรือไม่ กลับได้คำตอบว่า “ผมไม่ทราบ มันเรื่องของคุณ”
ณรงค์กล่าวอีกว่า การออกมารณรงค์วันนี้จะไม่สูญเปล่า เพราะจะทำให้ทุกสายการบินที่จะกระทำหรือละเมิดกับคนพิการต้องตระหนักคิดว่ามีคนพิการรอประท้วงหรือรอฟ้องร้องอยู่
ผู้ช่วยรัฐมนตรีคมนาคมมารับเรื่อง แต่ไม่ต่อสายถึงรัฐมนตรี
ในวันยื่นข้อเรียกร้อง เมื่อถึงเวลานัดหมาย เวลา 10.30 น. กฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม อดีตผู้สมัคร สส.กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย และคณะ ลงมารับเรื่องร้องเรียนจากภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล พร้อมแจ้งว่า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เดินทางไปต่างจังหวัด จึงไม่สามารถมารับเรื่องได้ด้วยตัวเอง กฤชนนท์ บอกว่า จะให้ทำหนังสือตักเตือนไปยังสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ภายในสัปดาห์นี้ และถ้าไม่แก้ไขจะพิจารณาเรื่องใบอนุญาตการบินต่อไป
แต่กลุ่มผู้เรียกร้องยังไม่พอใจ เพราะต้องการให้ต่อโทรศัพท์ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อให้รับทราบด้วย มิฉะนั้นเกรงว่า เรื่องจะถูกดึงเอาไว้ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองคำขอ
กฤษนะ ละไล กล่าวว่า เหตุการณ์กรณีไทยเวียตเจ็ทแอร์เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก บ่อยครั้ง ทั้งผู้โดยสารคนไทย และชาวต่างชาติ แต่สายการบินยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ เข้าข่ายท้าทายอำนาจของรัฐบาลไทย เหมือนไม่ให้ราคา
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย
เสาวลักษณ์ ทองก๊วย สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติ กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ ว่าอยู่ที่ทัศนคติ เพราะหลายคนไม่ได้เห็นคุณค่าของคนพิการว่าจะมีศักยภาพและมีสถานะทางเศรษฐกิจที่จะสามารถเดินทางได้ มีความคิดเหมารวมว่าคนพิการยากจน ไม่มีโอกาสได้ใช้บริการสายการบิน ข้อที่สองคือกฎหมาย โดยประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่มีการบังคับใช้เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อคนพิการ และประเทศไทยไม่มีนโยบายระดับชาติเรื่องการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการ กฎกระทรวงที่มีก็เป็นกฎกว้างๆ และไม่มีสภาพบังคับใช้ จึงไม่สามารถบังคับสายการบินได้
“หน้าที่ของกระทรวงคมนาคม คือต้องกลับไปรื้อดูว่า ข้อบังคับในการเลือกปฏิเสธผู้โดยสารพิการและไม่พิการ ควรต้องนำมาปรับปรุง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีสภาพบังคับใช้ และผู้เลือกปฏิบัติต่อคนพิการต้องมีมาตรการจัดการ”
เสาวลักษณ์ระบุว่า ควรมีการให้ความรู้และให้การศึกษาเรื่องการให้ความสะดวกต่อคนพิการด้วย
อาคารกระทรวงคมนาคมไม่มีทางลาดสำหรับคนพิการ สะท้อนแนวคิดการออกแบบ
หลังจากเจรจาสักพักก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะกลุ่มคนพิการไม่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กลุ่มคนพิการจึงไม่ได้ยื่นหนังสือต่อกฤชนนท์ จากนั้น ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวลจึงเคลื่อนตัวจากหน้ากระทรวงเข้าไปปักหลักชุมนุมภายในอาคารกระทรวงคมนาคมเพื่อรอคำตอบ โดยการเคลื่อนที่ของผู้ใช้รถเข็นต้องให้บุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนช่วยกันแบกหามรถเข็นขึ้นบันไดอาคารกระทรวง เนื่องจากตัวอาคารไม่มีทางลาดสำหรับผู้ใช้รถเข็น
ก่อนหน้านี้ ช่วงเช้า คนพิการทางการเคลื่อนไหวที่มาชุมนุมหน้ากระทรวงต้องเคลื่อนย้ายตัวเองไปเข้าห้องน้ำในสถานที่อื่นใกล้เคียงกัน เนื่องจากขึ้นตึกกระทรวงไม่ได้ ขณะคนพิการกำลังถูกอุ้มเข้ากระทรวง เจ้าหน้าที่ประกาศว่า มีทางลาดอยู่ด้านหลังอาคาร แต่คนพิการไม่ได้ไปใช้ทางลาดนั้น เนื่องจากเห็นว่า การที่สถานที่ราชการทำทางลาดไว้ด้านหลังเช่นนี้เป็นการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งทางลาดต้องเลื่อนรถอ้อมไปกว่า 100 เมตร
ระหว่างที่คนพิการและผู้เกี่ยวข้องทยอยเข้ามาในกระทรวงมีความพยายามปิดประตูด้านหน้าเพื่อไม่ให้มีคนเข้าไปข้างในเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ชุมนุมส่งเสียงทักท้วง เจ้าหน้าที่จึงยอมเปิดประตูไว้ตามเดิม
สรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีต สส.ชลบุรี 3 สมัย ปัจจุบันสังกัดพรรคเพื่อไทย และคณะ ได้ลงมาพบกับกลุ่มผู้พิการ มีการพูดคุยกันถึงเรื่องที่มาร้องเรียน และกลุ่มผู้ประท้วงได้ยื่นหนังสือให้แก่สรวุฒิ
สรวุฒิเปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรียกสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์เข้ามาชี้แจงรายละเอียดภายใน 7 วัน หลังจากนั้นให้มีการนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปต่อไป แต่หากสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ยังคงเมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จะพิจารณาเรื่องการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการบินต่อไป
ภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนขนส่งมวลชนเพื่อคนทั้งมวล ได้เดินทางออกจากกระทรวงคมนาคมเพื่อไปยื่นหนังสือต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ต่อไป โดยมีตัวแทนประธานรัฐสภาเป็นผู้มารับเรื่องจากคนพิการ
ย้อนรอยไทยเวียตเจ็ทแอร์ถูกร้องเรียนเลือกปฏิบัติกับคนพิการ
การเลือกปฏิบัติต่อคนพิการของสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ไม่ได้ถูกร้องเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีมาแล้วหลายครั้ง อาทิ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีสายการบินปฏิบัติต่อคนพิการไม่เหมาะสม ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลการดำเนินงานภายใน 30 วัน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รายงานว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสารชาวต่างชาติ ซึ่งมีความพิการทางร่างกายและจำเป็นต้องใช้รถเข็นไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สำหรับเคลื่อนที่นำรถเข็นไฟฟ้าขึ้นเครื่องบิน เนื่องจากรถเข็นไฟฟ้าดังกล่าวบรรจุแบตเตอรี่ลิเทียมขนาดความจุ 240 วัตต์ - ชั่วโมง เกินกว่าที่สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์อนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ (ไม่เกิน 160 วัตต์ - ชั่วโมง) ซึ่งไม่สอดคล้องกับประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ที่ให้นำแบตเตอรี่ขนาดไม่เกิน 300 วัตต์ - ชั่วโมง ขึ้นเครื่องได้
รวมทั้งกรณีเจ้าหน้าที่ของการท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ถอยสะพานเทียบเครื่องบินออกในขณะที่ผู้โดยสายยังอยู่บนสะพานจนผู้โดยสารเกือบพลัดตกจากทางลาดของสะพานดังกล่าว ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวัง
กรณีดังกล่าวคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่า เป็นการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งความพิการ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ
กรณีนี้เป็นกรณีที่ เสาวลักษณ์ ทองก๊วย ทวงถามคำตอบจากผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ แม้จะครบกำหนด 30 วันแล้ว
ย้อนกลับไปอีก ไทยเวียตเจ็ทแอร์ก็ถูกร้องเรียน สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทยโพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ว่า ได้รับหนังสือตอบกลับ เรื่องแนวทางการให้บริการคนพิการของสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ จากคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา หลังทำหนังสือร้องเรียนไปว่า คนหูหนวกถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมจากสายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ โดยสายการบินชี้แจงว่า ได้เปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานให้ผู้ที่มีข้อจำกัด 2 คนนั่งแถวเดียวกันได้ และให้ผู้ที่มีข้อจำกัดนั่งแถวเดียวกันได้ 3 คน กรณีเดินทางกับครอบครัว
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนพิการต้องแก้ไขทั้งระบบ
กรณีที่เกิดขึ้นอาจจะมองว่า เป็นปัญหาของคนคนหนึ่งก็ได้ และมีวิธีแก้ปัญหาคือให้คนพิการไปนั่งสายการบินอื่นแทน แต่ถ้าจะมองในภาพรวมจะพบว่าเป็นปัญหาทั้งระบบ เพราะเกี่ยวข้องกับการเลือกปฏิบัติ การเห็นคนไม่เท่ากัน และการไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าเห็นว่าคนพิการเท่าเทียมกับคนปกติ ปัญหาสายการบินปฏิเสธผู้โดยสารพิการไม่ให้ขึ้นเครื่องบินจะไม่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต้องถูกขจัดให้หมดไป ไม่ใช่เก็บเอาไว้ หรือมีขึ้นเพิ่มเติม หลายฝ่ายควรมีคำตอบ
สายการบินไทยเวียตเจ็ทแอร์ ควรต้องตอบคำถามให้ได้ อะไรคือเบื้องลึกที่ทำให้เกิดความไม่ลงรอยกับคนพิการหลายครั้งหลายครา การอ้างว่าไม่มีกฎระเบียบบังคับอย่างเจาะจงอาจเป็นคำตอบที่ไม่น่าพึงพอใจ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ควรมีคำตอบว่า จุดโหว่ของการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอยู่ตรงไหน พร้อมกำกับดูแลสายการบินให้ทำตามมาตรฐาน
กระทรวงคมนาคม ควรมีนโยบายที่สนับสนุนคนพิการ และหาทางทำให้นโยบายมีผลในทางปฏิบัติ และหาจุดโหว่ของกฎกระทรวงเพื่อแก้ไขปรับปรุง
สิ่งที่ทำให้กรณีปฏิเสธผู้โดยสารมีความสำคัญ คือประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ และมีกฎหมาย ที่ส่งเสริมความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว เหตุใดจึงเกิดการเลือกปฏิบัติกับคนพิการอีก ส่วนการตักเตือนผู้เลือกปฏิบัติ รวมถึงอาจมีบทลงโทษเป็นเรื่องแค่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะต้นเหตุคือไม่ควรมีการเลือกปฏิบัติตั้งแต่แรก
สุดท้ายคือ กรณีที่คนพิการออกมาต่อสู้เรียกร้อง คนพิการไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเองเท่านั้นแต่ทำเพื่อคนทุกคนที่มีโอกาสจะต้องนั่งรถเข็น อาทิ ผู้สูงอายุ ผู้เจ็บป่วย ผู้ทุพพลภาพ และการชุมนุมประท้วงซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้และจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าประชาชนกลุ่มต่างๆ รวมตัวกันได้ติดเช่นเดียวกับกลุ่มคนพิการ
