Humberger Menu

พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย ความหวังใหม่ของการพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชา

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

World

Global Affairs

13 มี.ค. 67

creator
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • การพัฒนาปิโตรเลียมของกัมพูชาเริ่มต้นขึ้นนานแล้ว แต่สะดุดช่วงเขมรแดง แม้จะกลับมาฟื้นตัวในยุคของ ฮุน เซน จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่กัมพูชาก็ไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม
  • ขณะนี้กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก
  • หากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) น่าจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม

...


ความพยายามครั้งใหม่ในการเปิดเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย และการพัฒนาแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกันระหว่างสองประเทศดูเหมือนจะจุดประกายความหวังให้กับการพัฒนาแหล่งพลังงานใต้ท้องทะเลของกัมพูชาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากการขุดเจาะน้ำมันในทะเลแห่งแรกในประวัติศาสตร์ประสบกับความล้มเหลวภายในระยะเวลาแค่ 6 เดือนเมื่อปี 2021

กัมพูชาเริ่มมองหาแหล่งพลังงานจากทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ทะเลพร้อมๆ กับไทย คือในห้วงทศวรรษ 1970 เมื่อมีการประกาศเขตไหล่ทวีปและให้สัมปทานแก่บริษัทต่างประเทศเข้าทำการสำรวจ โดยในยุคแรกๆ นั้น รัฐบาลกัมพูชาให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันฝรั่งเศส คือ Elf du Cambodge ในพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งอยู่ในเขตที่กัมพูชาอ้างว่าเป็นไหล่ทวีปของตน แล้วหลังจากนั้นก็มีบริษัทจากฮ่องกง สหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมกับ Elf เพื่อทำการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมในทะเลกัมพูชาอีกหลายบริษัท

แต่บริษัทเหล่านั้นยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้จริงจัง ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกัมพูชาเมื่อเขมรแดงทำการปฏิวัติปลดปล่อยประเทศในปี 1975 และทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมด แล้วตามมาด้วยสงครามกลางเมืองเป็นเวลานานกว่าทศวรรษ ส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของกัมพูชา

จนกระทั่งย่างเข้าสู่ปลายทศวรรษ 1980 เมื่อสงครามเริ่มสงบลง พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแผนสันติภาพ จึงปรากฏว่ามีนักธรณีวิทยาชาวรัสเซียเริ่มเข้ามาทำการสำรวจและจัดทำแผนผังทางด้านปิโตรเลียมแบ่งพื้นที่ในเขตของกัมพูชา (คือพื้นที่ซึ่งอยู่นอกบริเวณที่ไทยอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปเมื่อปี 1973) ออกเป็น 5 บล็อก รัฐบาลกัมพูชาในเวลานั้นจึงเริ่มประกาศให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศเพื่อทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอีกครั้งหนึ่ง บริษัทเหล่านั้นได้แก่ Enterprise Oil, Premiere Oil, Campex, Idemitsu และ Woodside  ได้เข้าสำรวจด้วยเทคนิคคลื่นไหวสะเทือนแบบสะท้อน ซึ่งทำให้รู้ว่าในทะเลกัมพูชานั้นมีศักยภาพทางด้านปิโตรเลียมอยู่พอประมาณ แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรไปมากกว่านี้

การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเริ่มจริงจังมากขึ้นในตอนต้นศตวรรษที่ 21 นี่เอง เมื่อการปิโตรเลียมกัมพูชา ได้ประกาศปรับปรุงแผนผังปิโตรเลียมใหม่โดยใช้อักษร A ถึง F เป็นชื่อบล็อกแทนหมายเลข และ ให้บริษัท Chevron และ MOECO เข้าสำรวจบล็อก A 

บริษัท เชฟรอน และหุ้นส่วน ได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมในปี 2010 แต่ไม่สามารถตกลงเรื่องการแบ่งปันรายได้และการเสียภาษีกับรัฐบาลกัมพูชาได้ เชฟรอนจึงถอนตัวจากโครงการนี้ และขายหุ้นให้กับ บริษัท KrisEnergy จากสิงคโปร์ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ได้เซ็นสัญญาผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ 3,140 ตารางกิโลเมตรของบล็อก A กับทางการกัมพูชาในปี 2014 

KrisEnergy ได้เซ็นสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับทางการกัมพูชาจากการพัฒนาทรัพยากรปิโตเลียมในแหล่ง อัปสรา ในบล็อก A ในปี 2017 และเตรียมการผลิตน้ำมันจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมาประสบความสำเร็จในเดือนธันวาคม 2020 เมื่อ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น ได้ประกาศให้โลกรู้ว่า น้ำมันหยดแรกของกัมพูชาถูกดูดขึ้นจากใต้ทะเลแล้ว นับเป็นการเริ่มศักราชของอุตสาหกรรมปิโตรเลียมในประเทศได้เสียทีหลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนาน

ราวกับว่าดินแดนแห่งนี้ต้องคำสาป KrisEnergy ไม่สามารถผลิตน้ำมันจากแหล่งดังกล่าวให้ได้ 7,500 บาร์เรลต่อวันตามที่คาดหมายไว้ในตอนต้น แต่สามารถทำได้เพียงประมาณ 1,000 บาร์เรลต่อวันเท่านั้น ทำให้บริษัทมีฐานะทางการเงินย่ำแย่ ขาดทุน 169 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 แถมมีหนี้สินอยู่อีกถึง 503 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องประสบกับภาวะล้มละลาย ปิดฉากการผลิตน้ำมันในกัมพูชาเมื่อเดือนมิถุนายน 2021 นับเวลาได้เพียง 6 เดือนนับแต่วันเริ่มการผลิต 

แถมเรื่องที่สร้างความขมขื่นใจให้อดีตนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ก็เกิดขึ้นอีกหลังจากบริษัทล้มละลายแล้ว น้ำมันดิบจำนวน 300,000 บาร์เรล ที่บรรจุอยู่ในเรือบรรทุกน้ำมัน ก็ถูกเชิดหนีเข้าน่านน้ำไทย ก่อนที่จะออกไปลอยลำอยู่ที่เกาะบาตัมของอินโดนีเซีย รัฐบาลกัมพูชาใช้เวลาอีกนับปีในการไปตามน้ำมันนั้นกลับคืนมา ที่สุดก็ตัดสินใจขายเอาเงินแบ่งกันโดยให้รัฐบาลกัมพูชา 70 เปอร์เซ็นต์ ให้บริษัทเรือบรรทุกน้ำมัน 24 เปอร์เซ็นต์ และอีก 6 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือให้เป็นของบริษัทผู้ผลิตที่ล้มละลายไปแล้ว 

ความล้มเหลวของ KrisEnergy สะท้อนปัญหาในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมได้หลายประการ กล่าวคือ 

ประการแรก ปัญหาการเมือง และสงคราม เป็นตัวฉุดรั้งที่สำคัญทำให้ขาดความต่อเนื่องในการสำรวจและขุดเจาะ 

ประการที่สอง ทางการกัมพูชาให้สัมปทานในพื้นที่จำกัด ทำให้บริษัทผู้ผลิตไม่สามารถผลิตน้ำมันได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ หรือการคาดหมายได้ จนต้องประสบกับภาวะขาดทุน 

ประการที่สาม พื้นที่ด้านตะวันออกของ สันเกาะกระ (Ko Kra Ridge) ในอ่าวไทยนั้นประกอบไปด้วยแอ่งที่คาดว่าจะมีทรัพยากรปิโตรเลียมอยู่ 3 แอ่งด้วยกัน คือ แอ่งมาเลย์ ซึ่งเป็นแอ่งที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะมาเลเซีย รองลงมา คือ แอ่งปัตตานี อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย และแอ่งขะแมร์ของกัมพูชานั้นเล็กและตื้นที่สุด ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าน่าจะมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมอยู่น้อยที่สุดด้วย แม้ว่าลักษณะทางธรณีวิทยาไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง อายุ และชนิดของชั้นหินจะคล้ายกันก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม กัมพูชาก็ยังไม่ละความพยายามที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมอีกต่อไป ล่าสุดรัฐบาลกัมพูชาประกาศเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2022 ว่าได้ให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ บริษัท EnerCam Resource จากแคนาดา เพื่อขุดเจาะในบล็อก A ไปแล้ว แต่ผ่านไปปีกว่าแล้วยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าบริษัทใหม่นี้จะดำเนินการให้ได้ผลอย่างที่คาดหวัง

ในขณะที่กัมพูชายังมีแหล่งปิโตรเลียมในทะเลในส่วนของตัวเหลืออีก 5 บล็อกที่ให้สัมปทานบริษัทต่างประเทศทำการสำรวจไปแล้ว แต่ยังไม่มีบริษัทใดแสดงความคืบหน้ามากนัก 

ดังนั้น ถ้าหากประสบความสำเร็จในการเจรจากับไทยในการร่วมพัฒนา และแบ่งปันผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนอีก 16,000 ตารางกิโลเมตร (เฉพาะในส่วนที่ต้องพัฒนาร่วมกัน) ซึ่งฝ่ายกัมพูชาเองก็ได้แบ่งเป็น 4 พื้นที่ และได้ให้สัมปทานกับบริษัทต่างชาติรวมทั้ง Conoco, Idemitsu และ Total ทับซ้อนกับไทยเอาไว้แล้วตั้งแต่ปี 1997 นั้นจะทำให้กัมพูชาพื้นที่ที่คาดว่าจะมีแหล่งทรัพยากรปิโตรเลียมมากขึ้นกว่าเดิม 

ที่สำคัญจะมีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมจากไทยซึ่งมีประสบการณ์ที่ต่อเนื่องยาวมากกว่า ก็น่าจะสามารถช่วยต่อความหวังในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานของกัมพูชาไปได้อีกพอสมควร แต่ทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่ทัศนคติของคนไทยอีกด้วยว่า อยากจะพัฒนาไปด้วยกันกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดที่ชาตินี้คงหนีกันไปไม่พ้น หรือว่าโลภเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว


พื้นที่ของบริษัทผู้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียม ทั้งในบริเวณทับซ้อน 4 พื้นที่ และ 5 บล็อกของกัมพูชา


ผู้ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมของกัมพูชา / รวบรวมโดยผู้เขียน



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

การโจมตีฝ่ายตรงข้ามด้วย MOU 44 ในวงล้อมของชาตินิยมไทย-กัมพูชา

พื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อน คือความหวังแหล่งพลังงานสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังก๊าซกัมพูชา

ข้อพิพาทชาตินิยมไทย-กัมพูชา เพื่อผลประโยชน์ของชาติ หรือแอบแฝงการเมือง?

MOU 44 ทำความเข้าใจไม่ยาก เว้นเสียแต่ว่าไม่อยากจะเข้าใจ

ถ้าไทยยกเลิก MOU 44 จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ทับซ้อนไทย - กัมพูชา

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat