Humberger Menu

2024 ปีแห่งการเลือกตั้ง เมื่อ AI ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เอเชียพร้อมรับมือข้อมูลปลอมๆ แค่ไหน

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

World

Science & Tech

23 มี.ค. 67

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เมื่อมีการใช้ AI มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ชาวเอเชียมีความพร้อมรับมือข้อมูลปลอมๆ มากแค่ไหน - ข้อสันนิษฐานคือ ไม่ เพราะมีกรณีศึกษาสำคัญเกิดขึ้นแล้วที่อินโดนีเซีย
  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคลิปวิดีโอของประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่หาเสียงให้พรรคการเมืองหนึ่งกลายเป็นไวรัล คลิปนี้สร้างโดย Deepfake ทั้งหน้าและเสียงของซูฮาร์โต เฉพาะแพลตฟอร์ม X มีผู้ชมถึง 4.7 ล้านคน

...


ปี 2024 เป็นปีแห่งการเลือกตั้ง เพราะกว่า 60 ประเทศทั่วโลกถึงวาระจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกผู้นำประเทศคนใหม่

บริษัท CrowdStrike ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์แนะนำว่า ประเทศต่างๆ ควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับข้อมูลบิดเบือนในช่วงการเลือกตั้ง จำนวน Deepfake ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่าระหว่างปี 2022-2023

Deepfake มาจาก  Deep Learning รวมกับ Fake เป็นการใช้ AI สร้างวิดีโอ ภาพ และเสียงขึ้นมาใหม่ ด้วยการป้อนข้อมูลจำนวนมากให้ AI เรียนรู้ และประมวลผลออกมาเป็นการสร้างอัตลักษณ์บุคคลใหม่ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้สลับใบหน้า ซึ่งมีความสมจริง ทำให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อได้ง่าย

อันตรายขั้นต่ำที่สุดของ Deepfake คือ ก่อมลพิษแก่ระบบนิเวศข้อมูลข่าวสาร และหากนำมาใช้ทางการเมือง Deepfake จะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และได้รับความคิดเห็นเกี่ยวกับพรรคการเมืองหรือผู้สมัครคนนั้นยากขึ้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะเชื่อข้อมูลที่สร้างขึ้นจาก Deepfake ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด และบิดเบือน กว่าจะรู้ความจริงก็อาจเลยวันเลือกตั้งไปแล้ว แม้ว่ารัฐบาลต่างๆ จะพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ จัดการกับข้อมูลผิดๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่พบเห็นบ่อยๆ อย่าง Fake News หรือลึกถึงระดับ Deepfake แต่ข้อมูลบิดเบือนจะแพร่กระจายไปไกลเกินกว่าจะจัดการทัน

อดัม เมเยอร์ส หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการการสื่อสาร CrowdStrike กล่าวว่า Deepfake ยังอาจจะยืนยันอคติของแต่ละคน แม้จะรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง แต่ถ้าข้อมูลนั้นตรงกับสิ่งที่ตนเองอยากจะเชื่อ คนก็จะจำเรื่องนี้ไว้

ไซมอน เชสเตอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสของ AI governance สิงคโปร์กล่าวว่า ชาติเอเชียยังไม่พร้อมรับมือกับ Deepfake ในการเลือกตั้ง ทั้งการกำกับดูแล เทคโนโลยี และการศึกษา ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคลิปวิดีโอของประธานาธิบดีซูฮาร์โตที่หาเสียงให้พรรคการเมืองหนึ่งกลายเป็นไวรัล คลิปนี้สร้างโดย Deepfake ทั้งหน้าและเสียงของซูฮาร์โต เฉพาะแพลตฟอร์ม X มีผู้ชมถึง 4.7 ล้านคน ส่วนในปากีสถาน ช่วงเลือกตั้ง มี Deepfake ของอดีตประธานาธิบดี อิมราน ข่าน ที่ประกาศว่า พรรคของเขาบอยคอตการเลือกตั้ง

เชสเตอร์แมนยังกล่าวด้วยว่า ฟุตเทจปลอมที่ทำขึ้นเพื่อบิดเบือนการเลือกตั้ง เช่น เหตุการณ์ไม่จริงในคูหาเลือกตั้งก็อาจจะทำให้คนเสื่อมศรัทธาต่อการเลือกตั้งได้ ในทางกลับกันหากมีเหตุทุจริตระหว่างการเลือกตั้งจริง ผู้สมัครอาจจะโต้ว่าไม่ใช่ภาพจริงแต่เป็นผลของ Deepfake 

รายงานการคุกคามทั่วโลกโดย CrowdStrike ระบุว่า หลายประเทศเช่น จีน รัสเซีย อิหร่าน มีแนวโน้มที่การเลือกตั้งจะถูกแทรกแซง เชสเตอร์แมนกล่าวว่า ถ้าผู้ครองอำนาจต้องการแทรกแซงการเลือกตั้งในประเทศ การแก้ปัญหายิ่งสำคัญ โดย Deepfake ยังคงสร้างขึ้นโดยผู้เล่นทางการเมืองที่อยู่ในประเทศนั้น

แคโรล ซูน หัวหน้าฝ่ายสังคมและวัฒนธรรม สถาบันวิจัยนโยบาย สิงคโปร์กล่าวว่า ผู้เล่นในประเทศอาจจะรวมถึงพรรคฝ่ายค้าน และผู้ต่อต้านทางการเมืองทั้งขวาจัดและซ้ายจัด

ใครต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้? เชสเตอร์แมนมองว่า เป็นหน้าที่ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพราะว่ามีบทบาทต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2024 บริษัทเทคชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Google Meta Microsoft และ IBM ได้ประกาศข้อตกลงร่วมกันว่าจะพัฒนาเครื่องมือต่อสู้กับการใช้ AI ในทางที่ผิดเพื่อรับมือกับการเลือกตั้งในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เชสเตอร์แมนยังมองว่า การหวังพึ่งเจตนาดีของบริษัทเทค ซึ่งเป็นภาคเอกชนทำภารกิจที่สำคัญต่อสาธารณะอาจไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก การตัดสินใจว่าเนื้อหาแบบใดควรจะอยู่บนโซเชียลมีเดียอาจจะใช้เวลานานกว่าจะได้ข้อสรุป ด้วยเหตุนี้ เขาจึงเสนอว่าควรต้องมีการออกกฎระเบียบกำกับดูแล

ตอนนี้มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือไม่แสวงหากำไรในชื่อ Coalition for Content Provenance and Authenticity (C2PA) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเนื้อหาออนไลน์ อย่างการระบุตัวตนผู้ผลิตเนื้อหาให้ผู้ชมทราบ หรือการแจ้งว่าเนื้อหานี้มีการใช้ AI หรือไม่ โดย Google Microsoft และ Adobe ก็เป็นสมาชิกของเครือข่ายนี้ด้วย


อ้างอิง: CNBC, Newsweek



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

จับโป๊ะภาพสุดเนียน จาก AI และ Deepfake ภาพไหนที่ไม่ได้มาจากมนุษย์?

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat