มาตรา 112 บนถนนสายก้าวไกล อวสานพรรคส้ม?
...
LATEST
Summary
- เปิดเรื่องราวก่อน ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณี ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ 12 มิ.ย.นี้ กรณีหาเสียงแก้ มาตรา 112 มีพฤติการณ์ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือไม่
- หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ ใครบ้างที่จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองและลูกพรรคที่เหลือก้าวไปทางใดได้บ้าง และไม่เกินปลายปี 2567 รู้ผลการตรวจสอบจริยธรรม 44 สส. ยื่นแก้มาตรา 112 ของ ป.ป.ช.
- สรุป 9 ประเด็น พรรคก้าวไกล ชี้แจงต่อศาสรัฐธรรมนูญ ถึงข้อกล่าวหาของ กกต.
...
ปี 2567 เป็นปีที่พรรคก้าวไกลอาจจะก้าวต่อไปไม่ได้ไกล และอาจถูกยุบในวันพรุ่งนี้ เพราะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จากการหาเสียงด้วยการแก้ไขมาตรา 112 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องยุบพรรคจากข้อหาเดียวกัน
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ กรณีหาเสียงแก้มาตรา 112 มีพฤติการณ์ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง และในวันที่ 12 มิถุนายน ศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล
หากมองย้อนกลับไปสิ่งที่นำพาพรรคก้าวไกลมายังจุดปัจจุบันได้นั่นคือ มาตรา 112 ทั้งการเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่นำพาพรรคให้ได้เสียงจากประชาชนมากที่สุด การถูกเขี่ยออกจากการเป็นรัฐบาล ข้ออ้างในการชวดตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสุดท้ายจะนำพาไปสู่การลบชื่อพรรคก้าวไกลให้หายไป
จะเกิดอะไรขึ้น หากศาลตัดสินยุบพรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกล ปัจจุบันเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ด้วยจำนวน สส. 147 คน ซึ่งมากที่สุดในฝ่ายค้าน หากมีการยุบพรรคขึ้นมาแล้ว พรรคก้าวไกลในสภาฯ จะยังคงเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้อยู่หรือไม่
หากศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล กรณีกระทำการล้มล้างและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ซึ่งนอกจากยุบพรรคและ กก.บห. ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตด้วย
กก.บห. ชุด 1 วันที่ 25 มีนาคม 2564 - 14 กันยายน 2566
- พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. และหัวหน้าพรรค
- ชัยธวัช ตุลาธน สส. และเลขาธิการพรรค
- ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส. และ กก.บห. (ปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม)
- สมชาย ฝั่งชลจิตร สส. และ กก.บห.
- อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห.
- อภิชาติ ศิริสุนทร สส. และ กก.บห.
- เบญจา แสงจันทร์ สส. และ กก.บห.
- สุเทพ อู่อ้น สส. และ กก.บห.
กก.บห. ชุด 2 วันที่ 15 กันยายน 2566 - 22 กันยายน 2566
- ชัยธวัช ตุลาธน สส. และหัวหน้าพรรค
- อภิชาติ ศิริสุนทร สส. และเลขาธิการพรรค
- ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- สุเทพ อู่อ้น สส. และ กก.บห.
- อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.
- เบญจา แสงจันทร์ สส. และ กก.บห.
- สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.
กก.บห. ชุด 3 วันที่ 23 กันยายน จนถึงปัจจุบัน
- ชัยธวัช ตุลาธน สส. และหัวหน้าพรรค
- อภิชาติ ศิริสุนทร สส. และเลขาธิการพรรค
- ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค
- ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค
- สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.
- อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.
- เบญจา แสงจันทร์ กก.บห.
- สุเทพ อู่อ้น สส. และ กก.บห.
สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพียงของชุด 3 นั้นมีเพียง กก.บห. ในสัดส่วนภาคเหนือ ที่เพิ่งรับหน้าที่เมื่อ 6 เดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล เปลี่ยนโครงสร้าง กก.บห. โดยกำหนดให้รองหัวหน้าพรรคและโฆษกพรรค ไม่นับเป็น กก.บห. ตามกฎหมาย ซึ่งหากถูกยุบพรรค กก.บห. ชุดที่พิธาเป็นหัวหน้าพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ซึ่งจะไม่เหมือนกับกรณี กก.บห.ของพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิ 10 ปี
ทั้งนี้ การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้ แต่ยังคงมีสิทธิไปเลือกตั้งได้ เท่ากับว่า สส.ที่ดำรงตำแหน่ง กก.บห. ทุกคนจะต้องพ้นจากการเป็น สส.ทันที
สำหรับ สส.ที่ไม่ได้เป็น กก.บห. ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่ก็ต้องสังกัดเข้าพรรคใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีการประกาศยุบพรรค ซึ่งจุดนี้ สส.ก้าวไกลในปัจจุบันจะย้ายไปบ้านใหม่ไปพรรคใหม่ที่ต้องเตรียมตั้งสำรองไว้หมดหรือไม่ หรือจะมีใครที่จะย้ายไปเสริมทัพให้กับพรรคอื่นแทน เมื่อถึงเวลานั้นคงต้องรอดูว่าพรรคก้าวไกลจะคุมเสถียรภาพทัพของตัวเองได้หรือไม่ หรือรัฐบาลจะมีเสถียรภาพมากขึ้น
ต่อที่ 2 ป.ป.ช. อาจยื่นศาลสอบจริยธรรม 44 สส. แก้มาตรา 112 และจบเหมือนกรณี ช่อ-พรรณิการ์
ส่วนกรณี 44 สส.ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไข มาตรา 112 เป็นอีกกรณีไม่เกี่ยวกับกรณีศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค แต่เป็นการร้อง ต่อ ป.ป.ช. กรณีผิดจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งหาก ป.ป.ช.มีมติว่าผิด ต้องส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัย หากศาลรับฟ้อง คนที่ยังเป็น สส. และมีรายชื่ออยู่ใน 44 รายชื่อนั้นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
สำหรับ 44 รายชื่อ สส.ที่ร่วมยื่นแก้ 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง สส. อยู่ 31 คนได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ศิริกัญญา ตันสกุล, เบญจา แสงจันทร์, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, ปดิพัทธ์ สันติภาดา (ปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม), ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, รังสิมันต์ โรม, ธีรัจชัย พันธุมาศ, ญาณธิชา บัวเผื่อน, นิติพล ผิวเหมาะ, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์, ณัฐวุฒิ บัวประทุม, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, วรภพ วิริยะโรจน์, คำพอง เทพาคำ, จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์, จรัส คุ้มไข่น้ำ, สุเทพ อู่อ้น, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์, อภิชาติ ศิริสุนทร, องค์การ ชัยบุตร, ศักดินัย นุ่มหนู, มานพ คีรีภูวดล, วาโย อัศวรุ่งเรือง, วรรณวิภา ไม้สน, สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ, วุฒินันท์ บุญชู, สมชาย ฝั่งชลจิตร และ สุรวาท ทองบุ
ส่วนอีก 13 คนไม่ได้เป็น สส.ในสภาฯ ชุดปัจจุบัน ได้แก่ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์, กัญจน์พงศ์ จงสุทธนามณี, พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ปริญญา ช่วยเกตุ คีรีรัตน์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา, สมเกียรติ ถนอมสินธุ์, ทองแดง เบ็ญจะปัก, พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ, ณัฐพล สืบศักดิ์วงศ์, ทวีศักดิ์ ทักษิณ (ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา มนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม) และ สมเกียรติ ไชยวิสุทธิกุล
ซึ่งความรุนแรงของการยื่นสอบจริยธรรม สส. ต่อ ป.ป.ช. อาจนำไปสู่การตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต โดยสามารถยกกรณีของ พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิตมาเป็นกรณีศึกษาได้
กรณี ช่อ-พรรณิการ์ นั้น เริ่มต้นจาก ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย (ขณะนั้น) ยื่นหนังสือให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ พรรณิการ์ กรณีโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กที่ทำให้ประชาชนเข้าใจไปในทางที่อาจเชื่อมโยงกับเรื่องของสถาบันฯ เป็นพฤติการณ์หรือการกระทำที่ส่อไปในทางขัดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต่อมา ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ชี้มูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 พรรณิการ์ ผิดจริยธรรมร้ายแรง จึงส่งเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกา
ต่อมา 20 กันยายน 2566 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หลังโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน นอกจากนี้ ยังไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้ แต่ยังคงมีสิทธิไปเลือกตั้งได้
กรณีนี้เองหากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผิด คนที่มีตำแหน่ง สส.ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่วันยุติปฏิบัติหน้าที่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และอาจมีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วยก็ได้ และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ
แม้กรณีที่ กกต.มีมติยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ กับ กรณี 44 สส.ยื่นแก้มาตรา 112 จะต้องแยกกันทางกฎหมาย แต่โดยร่วมทางการเมืองแล้วนั้น พรรคก้าวไกลจะเสียแกนนำพรรคที่มีผลต่อฐานคะแนนอย่างมาก เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลและเป็นผู้นำพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในปี 2566, ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน ที่อยู่เคียงข้างกับอุดมการณ์ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่จนถึงปัจจุบัน หรือ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร และ รังสิมันต์ โรม ตัวละครสำคัญเหล่านี้จะถูกให้ออกจากบทบาทการเมืองในสภาฯ
หากการยุบพรรคและการตัดสิทธิเกิดขึ้นจริงทั้งหมด ตัวละครสำคัญๆ ในพรรคก้าวไกลก็เท่ากับถูกล้างบางไปเป็นส่วนใหญ่
คำถามถัดมาคือ ผู้นำรุ่นใหม่ที่ขึ้นมาจะเป็นใคร และจะสามารถนำอุดมการณ์และต่อสู้กับพรรคการเมืองอื่นต่อได้หรือไม่
หากเชื่อกันว่าอุดมการณ์ของก้าวไกลจะไม่มีวันตาย และเป็นพรรคที่เกิดปรากฏการณ์ ‘ตายสิบเกิดแสน’ ได้เหมือนตอนยุบพรรคอนาคตใหม่ หากก้าวไกลถูกยุบจริง วันนั้นเราคงได้เห็นกัน ‘พรรคส้มร่างที่สาม’ จะหน้าตาเป็นเช่นไร
9 เหตุผล พิธา แถลงสู้คดี
วันที่ 9 มิถุนายน พิธา ได้แถลงเปิดเผยถึงข้อต่อสู้ของพรรคที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่ผ่านมา โดยมี 9 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ ซึ่งเป็นข้อต่อสู้คดีเดียวกับครั้งที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ซึ่งยกมาตรา 210 ที่บัญญัติอำนาจและหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
- พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย
- พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ สส. สว. รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ
- หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ไม่มีข้อใดที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองเลย รวมถึงไม่ได้เปิดช่องให้ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจอื่นให้ศาลรัฐธรรมได้อีก การที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยอ้างว่าตนเองมีอำนาจยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.พรรคการเมืองนั้น เป็นการอ้างกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2.กระบวนการยื่นคำร้องของกกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกร้องไม่มีโอกาสรับทราบโต้แย้งหรือแสดงพยานหลักฐาน ตามระเบียบของ กกต.ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่เพิ่งมีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ทำให้กรณีของพรรคก้าวไกลแตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่และพรรคไทยรักษาชาติ ที่ยังไม่มีระเบียบนี้ออกมา
พิธา ระบุว่าในระเบียบเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องให้พรรคการเมืองมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนมีการเสนอรายงานรวบรวมข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนพิจารณา และเมื่อนายทะเบียนพิจารณาข้อเท็จจริงเสร็จแล้ว มีหลักฐานอันสมควรก็ให้เสนอ กกต.พิจารณา และในกรณีที่ กกต.เห็นชอบตามความเห็นของนายทะเบียน จึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้สั่งยุบพรรคได้
"ซึ่งกระบวนการนี้ไม่เคยเกิดขึ้น พรรคก้าวไกลไม่เคยมีโอกาสได้รับทราบข้อเท็จจริง โต้แย้ง หรือนำพยานหลักฐานเข้าสู่กระบวนการของ กกต. เพราะฉะนั้นการยื่นคำร้องในคดีนี้ขัดกับระเบียบที่ กกต.ตราขึ้นเอง และไม่ชอบด้วยกฎหมาย" พิธากล่าว
3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คดีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้ พิธา อธิบายว่า คำพิพากษาคดีแรกจะผูกพันอีกคดีต่อเมื่อเป็นข้อหาเดียวกัน เพราะเมื่อต่างข้อหาจะต่างวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย ซึ่งคดีก่อนหน้านี้เกี่ยวพันกับรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โทษให้เลิกกระทำ ส่วนคดีนี้ เกี่ยวพันกับ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 ที่โทษร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิ์ กก.บห.
พิธาย้ำว่า เนื่องจากเป็นคดีที่มีข้อหาต่างกันและระดับโทษก็ต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นแตกต่างกัน ฉะนั้นคดีนี้จึงไม่มีความผูกพันต้องพิจารณาข้อเท็จจริงในคดีใหม่ด้วยมาตรฐานการพิสูจน์ที่สูงกว่าคดีก่อน จะอ้างว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวหาพรรคล้มล้างการปกครองเป็นที่ยุติแล้วตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่ได้
4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ พิธากล่าวถึงในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาว่า นโยบายแก้ไขมาตรา 112 กกต. ไม่เคยสั่งห้ามหรือขอให้มีการแก้ไข และยืนยันว่าเนื้อหาที่เสนอแก้ไขนั้นไม่ได้เป็นการล้มล้าง
การกระทำที่จะเป็นการล้มล้างการปกครองต้องเป็นการกระทำที่ใช้กำลังบังคับเพื่อให้การปกครองสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่แม้จะไม่ใช้กำลังบังคับแต่ต้องเป็นการใช้อำนาจการรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปเป็นระบอบการปกครองแบบอื่นอย่างชัดเจน - อ้างอิงจากเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพรรคก้าวไกล
5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค ทางพรรคก้าวไกลได้อธิบายว่า การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นการกระทำโดยมติ กก.บห. หรือ มติพรรค แต่เป็นการกระทำของสมาชิกพรรค โดยมีการเข้าชื่อเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 เป็นการกระทำตามอำนาจเสนอกฎหมายของ สส. ที่เป็นสมาชิกพรรคเท่านั้น และไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพรรค รวมถึงการร่วมชุมนุม หรือการแสดงความคิดทางการเมืองก็เป็นเรื่องของบุคคลไม่ใช่มติจากพรรค
ดังนั้นการที่ กกต.อาศัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการที่ สส.เป็นสมาชิกของพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียวเป็นผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 แสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำของพรรคมาเป็นมูลเหตุในการยื่นคำร้องครั้งนี้ จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงและเหตุผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนำมาปรับใช้แก่คดีนี้
6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย แม้ตามกฎหมายจะมีโทษ 'ยุบพรรค' แต่พรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นโทษการยุบพรรคใช้เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
พิธา กล่าวว่าที่ผ่านมา กกต.ได้ยกคำร้องยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายหาเสียงการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ การเป็นนายประกันในคดีมาตรา 112 การรณรงค์แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 โดยมีผู้ร้องขอให้ยุบพรรคก้าวไกล แต่ กกต. ไม่เคยทักท้วงและยกคำร้องมาตลอด และ กกต.ก็ไม่เคยมีหนังสือเตือนมาที่พรรคก้าวไกลเหมือนกับที่เคยส่งหนังสือเตือนพรรคการเมืองหนึ่งที่ไปหาเสียงที่จังหวัดนครราชสีมาโดยใช้สถาบันฯ ในการหาเสียง และไม่เคยทักท้วงนโยบายที่ยื่นให้ กกต. ต่างจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่ กกต.เคยให้ชี้แจงเรื่องการใช้งบประมาณ
อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลยังย้ำว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลก็ยังไม่ได้เข้าสภาฯ หรือแม้จะเข้าไปในสภาฯ ได้ ก็ยับยั้งหรือแก้ไขได้ในกระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งยังสามารถถูกตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญได้อีกว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
“ฉะนั้น สิ่งที่พรรคก้าวไกลถูกกล่าวหาจึงเป็นสิ่งที่ระบบนิติบัญญัติสามารถยับยั้งได้ด้วยตัวเอง ไม่ได้เป็นความผิดที่เกิดขึ้นแล้ว และยังมีวิธีแก้ไขอื่นอยู่หากเห็นว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำนั้นเป็นการกระทำที่ล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง ไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนที่จะต้องให้ยุบพรรคก้าวไกล” พิธา กล่าว
7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิน กก.บห.
8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9.การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับชุด กก.บห. ในช่วงที่ถูกกล่าวหา โดย กกต. ร้องขอให้ยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของ กก.บห. รวมทั้งหมด 3 ชุดได้แก่
- ชุด 1 ดำรงตำแหน่งวันที่ 25 มีนาคม 2564 จนถึงวันที่ 14 กันยายน 2566
- ชุด 2 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2566 จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2566
- ชุดที่ 3 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2566 จนถึงปัจจุบัน
พรรคก้าวไกลชี้แจงว่า หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงจะพบว่าการกระทำที่ศาลฯ เห็นว่าเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองนั้นเป็นการกระทำที่เกิดในระยะเวลาของ กก.บห. ชุด 1 และชุด 2 ดำรงตำแหน่งอยู่ ไม่ได้เกิดในช่วงที่ กก.บห. ชุดที่ 3 ดำรงตำแหน่ง ดังนั้นในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควรเพื่อถอนสิทธิ์สมัครกับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ กก.บห.ชุด 1 และชุด 2
มาตรา 112 เหตุผลสำคัญยุบพรรคก้าวไกล
หลังเลือกตั้ง 8 พรรคการเมืองที่นำโดยพรรคก้าวไกล จับมือแถลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล (MOU) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 มีร่าง MOU ออกมา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นประเด็นของพรรคก้าวไกล โดยข้อที่ 2 คือ ‘นิรโทษกรรมคดีการเมือง’ ยกเว้นมาตรา 112 ถ้อยคำระบุว่า
“เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา”
แต่ในวันแถลง MOU จริง เนื้อหาส่วนนี้ถูกลบหายไป เช่นเดียวกับการแก้ไขมาตรา 112 ที่ถูกสงวนไว้เป็นวาระของพรรคก้าวไกลที่จะนำไปพูดคุยกันในสภาฯ เพราะพรรคอื่นไม่ได้มีความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรานี้สอดคล้องไปในทางเดียวกันจนถึงขั้นนำมาเป็นข้อตกลงร่วมได้
ในการโหวตนายกฯ รอบแรก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดยมีประเด็นสำคัญในการอภิปรายอย่างดุเดือดในสภาฯ คือนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกล
ในวันนั้น ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี ผู้อภิปรายหลักของพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า
“ท่านคิดไหมครับว่า ถ้าท่านแก้มาตรา 112 บ้านเมืองนี้จะสงบ บ้านเมืองนี้จะเจริญ วันนี้ท่านได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ท่านเก็บเรื่องนี้ไว้ในกระเป๋าไม่ได้หรือ”
หลังพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หน้าที่นี้ถูกส่งต่อไปยังพรรคเพื่อไทย พรรคที่ได้เสียงเป็นอันดับ 2 แต่เมื่อส่งไม้ต่อการแก้ไขมาตรา 112 กลายเป็นเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลและโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองอื่นๆ
โดยพรรคเพื่อไทยนัดพรรครัฐบาลเดิม 5 พรรค ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งทุกพรรคยินดีร่วมงานกับเพื่อไทย แต่ไม่ร่วมงานกับพรรคแก้ไขมาตรา 112 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยจึงแสดงความชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลจะไม่ได้อยู่ในสมการตั้งรัฐบาลอีกต่อไป และจะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112
21 สิงหาคม 2566 หนึ่งวันก่อนโหวตนายกฯ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่า
“พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองรวม 11 พรรค จำนวน 314 เสียง ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และไม่มีพรรคก้าวไกลเข้าร่วมรัฐบาล…”
ทำให้พรรคก้าวไกลจากพรรคที่ชนะและนำจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นฝ่ายค้านทันที
แต่ยังไม่จบแค่นั้น มาตรา 112 ยังคงส่งผลต่อพรรคก้าวไกลตามมาอีกในทางกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 31 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลเรื่อง ‘การแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองฯ’
ต่อมา 1 กุมภาพันธ์ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ว่า ขอให้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92(1) (2) อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว จะผูกพันถึง กกต. ที่ต้องทำตามหน้าที่ เพราะถือเป็นความปรากฏ
ซึ่งวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา กกต.มีมติส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง จากการเสนอแก้ไขและยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ต่อมา 18 มีนาคม กกต. ส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการทำงานของ กกต. ว่าดำเนินการรวดเร็วไปหรือไม่ หากเทียบกับการยื่นคำร้องเรื่องอื่นๆ
นอกจากการยื่นเรื่องยุบพรรคก้าวไกลผ่าน กกต.แล้ว ยังมีคนยื่นเรื่องต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
โดย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ พร้อมกับคณะศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และ สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือร้องเรียนกับ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของ สส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่...พ.ศ.... โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 รวมถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในข้อหาผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ในวันเดียวกับที่ กกต.ประกาศส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าตรวจสอบจริยธรรม 44 สส. พรรคก้าวไกล ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ถึงแม้จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาชี้แจงในการกระทำ ซึ่งกรอบระยะเวลาได้กำหนดไว้ 180 วันนับจากได้รับเรื่องร้องเรียน แต่อย่าลืมว่า ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบถึง 44 คน จึงต้องใช้เวลา แต่จะเร่งให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลา ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว
อ้างอิง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาพรรคก้าวไกล
