ฟิลิปปินส์เผชิญหน้าจีนในทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดอันปกติในอุษาคเนย์
...
LATEST
Summary
- เหตุการณ์เรือลำเลียงของฟิลิปปินส์เฉี่ยวชนกับเรือยามฝั่งของจีนในบริเวณใกล้เคียงกับแนวหินโสโครกโทมัสในทะเลจีนใต้ เป็นกรณีล่าสุดของความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่อ้างสิทธิในอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลแห่งปัญหาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยเพราะทั้งฟิลิปปินส์และจีน ต่างก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศในย่านนี้ที่อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ สันทราย โขดหิน และแนวปะการัง ในทะเลจีนใต้ ว่าแต่เฉพาะหินโสโครกโทมัสที่สอง นั้นอยู่ในหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 1999
- ตลอดปี 2023 ฟิลิปปินส์โดนเรือยามฝั่งและเรือทหารของจีนคุกคาม 13 ครั้ง และยังสามารถตรวจจับเรือของจีนที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 48 ลำ
...
เหตุการณ์เรือลำเลียงของฟิลิปปินส์เฉี่ยวชนกับเรือยามฝั่งของจีนในบริเวณใกล้เคียงกับ Second Thomas Shoal (แนวหินโสโครกชื่อ โทมัส) ในทะเลจีนใต้ ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน เป็นกรณีล่าสุดของความตึงเครียดในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศที่อ้างสิทธิในอำนาจอธิปไตยเหนือทะเลแห่งปัญหาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แม้ว่าอาจจะไม่ถึงกับพัฒนาไปสู่สงคราม แต่ก็เชื้อเชิญให้มีผู้เล่นเข้ามาสร้างความปั่นป่วนได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนภูมิภาคนี้ไร้ความสงบสุข
ยามฝั่งของจีนอ้างว่า เรือขนส่งลำเลียงของฟิลิปปินส์ฝ่าฝืนคำเตือนแล่นรุกล้ำน่านน้ำของจีน จนเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนเล็กน้อยกับเรือยามฝั่งของจีน แต่ไม่มีรายงานความเสียหายหรือปรากฏว่ามีผู้ใดบาดเจ็บล้มตาย
ในขณะที่กองทัพฟิลิปปินส์ออกแถลงการณ์ในทำนองไม่ให้ราคากับข้ออ้างที่ชวนให้ไขว้เขวของฝ่ายจีน แต่ไม่ต้องการที่จะให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการในครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวหาว่า จีนเป็นฝ่ายรุกล้ำน่านน้ำในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นบ่อยเพราะทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศในย่านนี้ที่อ้างอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ สันทราย โขดหิน และแนวปะการัง ในทะเลจีนใต้ ว่าแต่เฉพาะหินโสโครกโทมัสที่สอง นั้นอยู่ในหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ฟิลิปปินส์อ้างความเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 1999 และได้ไปวางกำลังที่นั่นโดยกองทัพเรือของฟิลิปปินส์ก็ส่งเรือลำเลียงไปเป็นประจำ
ก่อนหน้านี้ก็เกิดสงครามปาก การปะทะคารมระหว่างสองประเทศ เมื่อจีนประกาศคำสั่งใหม่เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ให้อำนาจยามฝั่งจีนคุมขังชาวต่างชาติที่รุกล้ำน่านน้ำของจีนได้นานถึง 60 วันโดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล
ประธานาธิบดี เฟอร์ดินาน มาร์กอส จูเนียร์ ให้ความเห็นว่า คำสั่งนั้นของจีนเป็นการกระทำที่รับไม่ได้โดยแท้ กระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ประณามคำสั่งของจีน และเห็นว่า ถ้าหากหน่วยยามฝั่งของจีนมาจับชาวฟิลิปปินส์ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ การกระทำเช่นว่านั้นคงจะเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมทั้งบอกว่า รัฐหนึ่งรัฐใดไม่ควรบังคับใช้กฎหมายภายในของตัวเองในอาณาเขตหรือน่านน้ำที่อยู่ในอาณาเขตของรัฐอื่น และยิ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิของประเทศอื่น ที่ใช้สิทธินั้นตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หลังจากนั้นอีก 2 วัน รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้แจ้งต่อสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ขอขยายเขตไหล่ทวีปที่ปาลาวันตะวันตก เพื่อจะได้สิทธิในการสำรวจทรัพยากรใต้ทะเลในบริเวณนั้น โดยมาตรา 76 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ปี 1982 ให้อำนาจประเทศชายฝั่งทะเลทั้งหลายกำหนดเขตไหล่ทวีป (คือพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้น้ำ) ออกจากเส้นฐาน (baseline) ไปได้ 200 ไมล์ทะเล
การประกาศเขตไหล่ทวีปครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ก่อนหน้านี้ในปี 2012 สหประชาชาติก็เพิ่งให้การรับรองไหล่ทวีป Benham Rise ขนาดพื้นที่ 135,506 ตารางกิโลเมตรในทะเลฟิลิปปินส์ ที่ยื่นขอเอาไว้ตั้งแต่ปี 2009
ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้ว ฟิลิปปินส์มีทักษะในการใช้กฎหมายระหว่างประเทศและกลไกของสหประชาชาติในการจัดการกับพื้นที่ในทะเลของตัวเองอยู่ไม่น้อย ศาลประจำอนุญาโตตุลาการ (Permanent Court of Arbitration: PCA) ซึ่งเป็นกลไกระงับข้อพิพาทของสหประชาชาติ ตัดสินให้ฟิลิปปินส์ชนะจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2016 ในกรณีพิพาทเหนือ Scarborough Shoal โดยตีตกข้ออ้างทางประวัติศาสตร์ของจีน ด้วยเห็นว่าแผนที่เส้นประ 9 เส้น (ตอนหลังเพิ่มเป็น 10) นั้นแม้จะมีมาตั้งแต่ในประวัติศาสตร์ แต่ไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศที่นำมาใช้อ้างเขตเศรษฐกิจจำเพาะได้ และศาลเห็นว่า กิจกรรมหลายอย่างที่ฝ่ายจีนดำเนินการนั้นอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์เป็นการละเมิดสิทธิ์ของฟิลิปปินส์โดยชัดแจ้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคำพิพากษาในคดีนั้นจะเป็นคุณต่อฟิลิปปินส์ แต่จีนไม่ยอมปฏิบัติตาม อีกทั้งศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือหมู่เกาะ โขดหิน สันทราย หรือแนวปะการังใดๆ เรื่องที่เคยเป็นประเด็นขัดแย้งกันเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือสิ่งเหล่านั้นในทะเลจีนใต้จึงยังคงเป็นปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งจีนและประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ ก็ไม่เคยหยุดกิจกรรมใดๆ ในอันที่จะสร้างปัญหาระหว่างกัน กล่าวคือ ยังคงมีการถมทะเล สร้างเกาะเทียม สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ประโยชน์ทางทหารได้ เช่น สนามบิน หรือ สถานีเรดาร์ หรือแม้แต่มีรายงานว่ามีการสร้างฐานขีปนาวุธด้วยซ้ำไป
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างฟิลิปปินส์และจีนเหนือทะเลจีนใต้ ดูเหมือนจะตึงเครียดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2023 เมื่อเรือยามฝั่งของจีนเล็งแสงเลเซอร์ที่ใช้กันในทางทหารใส่เรือยามฝั่งของฟิลิปปินส์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีมาร์กอสโกรธจนต้องเรียกทูตจีนประจำมะนิลาไปประท้วง ต่อมาในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน ทางฝ่ายจีนได้เผยแพร่แผนที่ฉบับใหม่อ้างอาณาเขตในทะเลจีนใต้เพิ่มเติม จากเดิมที่มีเส้นประ 9 เส้น ก็มาเติมเป็น 10 เส้น ยังผลให้ประเทศที่อ้างสิทธิเหนือทะเลจีนใต้ทั้งหลาย รวมทั้งฟิลิปปินส์ ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
เหตุการณ์รุนแรงครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อเรือยามฝั่งจีนยิงปืนฉีดน้ำแรงดันสูง (ขนาดที่ทำให้เหล็กยุบได้) ใส่เรือลำเลียงขนส่งของฟิลิปปินส์ขณะที่กำลังขนส่งกำลังบำรุงไปยังฐานทหารที่อยู่ในบริเวณ Second Thomas Shoal ทางมะนิลาพยายามโทรสายด่วนไปปักกิ่งเพื่อเคลียร์เรื่องกัน ปรากฏว่าปักกิ่งไม่ยอมรับสาย แถมเหตุการณ์ยิงปืนฉีดน้ำแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอีกในเดือนธันวาคม และในเดือนตุลาคมปีนั้น เรือยามฝั่งของจีนก็ดูเหมือนจะตั้งใจไปเฉี่ยวชนเรือฟิลิปปินส์เข้าอีกในพื้นที่ใกล้เคียงกับแนวหินโสโครก Second Thomas Shoal อีกครั้ง
ยามฝั่งฟิลิปปินส์รายงานว่า ตลอดปี 2023 พวกเขาโดนเรือยามฝั่งและเรือทหารของจีนคุกคาม 13 ครั้ง และยังสามารถตรวจจับเรือของจีนที่รุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ฟิลิปปินส์อ้างว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 48 ลำ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์คงจะไม่พัฒนาไปในทางที่ดีเท่าใดนัก เพราะผู้นำรัฐบาลในปักกิ่งมองประธานาธิบดีมาร์กอสด้วยสายตาที่ไม่ค่อยดีนัก ด้วยเข้าใจว่า เขาคงเป็นพวกโปรอเมริกาเหมือนพ่อของเขา ซึ่งจะชักพาให้สหรัฐฯ เข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อคานกับอิทธิพลของจีน
ดังนั้น การเผชิญหน้าและความตึงเครียดแบบที่เคยเกิดขึ้นในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ดูท่าว่าจะเกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ความปกตินี้อาจจะผิดปกติขึ้นมาได้ ถ้าหากว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้สถานการณ์ลุกลามบานปลายจนควบคุมไม่ได้
