Humberger Menu

ชุมนุมใหญ่บังกลาเทศ เดิมพันอนาคตของนักศึกษา คือลงถนนสู้กับโควตาการจ้างงานของรัฐบาล

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

World

Politics

23 ก.ค. 67

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

LATEST

+
morebutton read more
Summary
  • บังกลาเทศเกิดขบวนการชุมนุมของนักศึกษา เพื่อยกเลิกระบบโควตาการจ้างงานในภาครัฐ หลังจากศาลชั้นต้นที่ ‘คืนสถานะระบบโควตา’ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน
  • วันที่ 21 กรกฎาคม ภายใต้สถานการณ์เคอร์ฟิว และการประท้วงที่เกิดขึ้น ศาลฎีกา บังกลาเทศได้ยกเลิกคำตัดสินก่อนหน้านี้ของศาลชั้นต้นและให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบใหม่
  • การเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้เริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธากา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อยกเลิกระบบโควตาฯ ด้วยเหตุผลว่า ‘ระบบนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ’ ในเดือนมกราคมปี 2018

...


“โรงเรียนของผมมีนักศึกษาวิทยาลัยคนหนึ่งเสียชีวิต ตอนนี้เรากำลังทุกข์ทรมานจากความอยุติธรรม” อาชาป นักศึกษาบังกลาเทศที่ร่วมชุมนุมเกริ่นเรื่อง เพื่อให้เราทำความเข้าใจถึงความรุนแรงที่พวกเขาต้องเจออยู่ขณะนี้ 

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่เมืองธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ นักศึกษาเริ่มลงถนนประท้วงเรียกร้องให้ ‘ยกเลิกระบบโควตาในการจ้างงานภาครัฐ’ ที่สงวนไว้ให้ลูกหลานทหารผ่านศึก

กลุ่มนักศึกษาที่ออกมารวมตัวกันโดยไร้แกนนำ ประกาศเจตนารมณ์ในวันแรกๆ ของการชุมนุมผ่านโซเชียลมีเดียว่า

“เราอยู่ในประเทศที่เรียกว่าเป็น ‘เอกราช’ ที่การพูด หรือชุมนุมเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเรากลายเป็นอาชญากรรม สิ่งที่เราคาดหวังคือ ให้รัฐบาลตัดสินใจอย่างถูกต้องถึงการจัดการเรื่องโควตางาน และยุติเรื่องไม่ให้ไปไกลกว่านี้ แต่ตอนนี้รัฐบาลกำลังเริ่มสังหารนักศึกษาซึ่งเป็นคนชาติเดียวกัน ประวัติศาสตร์กำลังซ้ำรอย เราไม่ต้องการสิ่งนี้จากรัฐบาลของประเทศที่มีเสรีภาพ เราจะชุมนุมประท้วงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ไม่สู้ตอนนี้ก็ไม่มีโอกาสแล้ว ปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยไป แต่คราวนี้เราจะสู้ไปพร้อมกันทั้งประเทศ เราจะเข้มแข็ง และร่วมต่อสู้ไปพร้อมๆ กัน”

เคดิตภาพ Getty


อัตราการว่างงานสูงลิบ และการต่อสู้เพื่ออนาคต 

สาเหตุสำคัญของการประท้วงของนักศึกษาในบังกลาเทศ มีความคล้ายคลึงกับในอีกหลายประเทศ เช่น เคนยา ที่มีการประท้วงของกลุ่มคน Gen Z โดยวัตถุประสงค์หลักคือ ต่อสู้กับภาวะว่างงานและปากท้อง ซึ่งแตกต่างจากกระแสการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลกในยุคก่อนหน้า ที่มักเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยจากรัฐบาล

บังกลาเทศ มีอัตราว่างงานสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่นโยบายของรัฐบาลกลับสงวนโควตางานบางอย่างไว้สำหรับลูกหลานทหารผ่านศึก ผู้เคยทำสงครามปลดแอก จนบังกลาเทศได้เอกราชจากปากีสถานในปี 1971 

คาดการณ์ภาวะการว่างงานของบังกลาเทศในปี 2024 คือ

  • อัตราการว่างงาน 5.09 เปอร์เซ็นต์
  • ประชากรว่างงาน 3.98 ล้านคน
  • ประชากรที่มีงานทำ 51.28 เปอร์เซ็นต์
  • ประชากรวัยแรงงานทั้งหมด 79.26 ล้านคน
  • ประชากรทั้งประเทศ 171 ล้านคน

นอกจากนี้ บังกลาเทศยังประสบปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนรุนแรง โดยรายงานความคืบหน้าการพัฒนาเอเชียใต้ (South Asia Development Update) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของบังกลาเทศสูงถึง 9.6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชากรครึ่งล้านของบังกลาเทศ จะตกไปอยู่ใต้เส้นความยากจนในปี 2024 

ทั้งนี้ อัตราความยากจนของบังกลาเทศอยู่ที่ 5.1 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นจาก 4.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่แล้ว โดยเส้นความยากจนของธนาคารโลกกำหนดไว้ที่มีรายรับน้อยกว่า 2.15 ดอลลาร์ต่อวัน 


อะไรคือการสงวนโควตางานให้ลูกหลานทหารผ่านศึก

เรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อสงครามปลดแอกเมื่อปี 1971 บังกลาเทศแยกตัวเป็นเอกราชจากปากีสถาน ถือเป็นภารกิจประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ 

ปากีสถานได้เอกราชจากอังกฤษในปี 1940 แต่ขณะนั้นมีดินแดนสองแห่งที่ไม่ติดกัน คือ ปากีสถานตะวันตก และปากีสถานตะวันออก แต่โดยการปกครอง ฝั่งตะวันตกมีอำนาจเหนือฝั่งตะวันออก โดยเฉพาะความแตกต่างของประชากรฝั่งตะวันออกเป็นชาวเบงกาลี ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ราบรื่นนัก 

สัญญาณการแยกตัวเป็นเอกราชเกิดขึ้นในปี 1970 เมื่อพรรค Awami League นำโดย ชีค มูจิบูร์ ราชห์มาน หรือ ‘มูจิบ’ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในเขตปากีสถานตะวันออก แต่พรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party: PPP) ไม่ยอมส่งมอบอำนาจให้ 

มีนาคม 1971 กองทัพปากีสถานเข้าแทรกแซงการเมืองของปากีสถานตะวันออก เกิดเป็นสงครามยาวนาน 9 เดือน ผลคือกองทัพปากีสถานยอมแพ้ ในวันที่ 16 ธันวาคม 1971 สงครามที่แลกมาด้วยเอกราชของปากีสถานตะวันออก ในนาม บังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 ถึง 3 ล้านคน

นโยบายที่เกี่ยวเนื่องมายังปัจจุบันคือ ลูกหลานของทหารผ่านศึกในสงครามประกาศเอกราชปี 1971 จะได้รับโควตาการทำงานในภาครัฐถึง 30 เปอร์เซ็นต์

ด้วยปัจจัยเรื่องอัตราการว่างงาน บวกกับสภาพเศรษฐกิจ แต่เส้นทางของพวกเขาถูกขัดขวางด้วยโควตาพิเศษสำหรับเครือญาติของทหารผ่านศึกที่ต่อสู้ในสงครามประกาศอิสรภาพของบังกลาเทศจากปากีสถาน ในปี 1971 ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความเกี่ยวโยงกับกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมืองของประเทศจำนวนมาก กลุ่มนักศึกษาจึงมองว่า นโยบายโควตางานนี้กำลังทำให้พวกเขาไม่มีอนาคต


เมื่อนักศึกษาเรียกร้อง รัฐบาลเหมือนจะรับฟัง แต่ก็ตอบสนองด้วยการสังหาร

เคดิตภาพ Getty

เมื่อจำนวนผู้ชุมนุมโดยสงบเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลบังกลาเทศประกาศเคอร์ฟิว และตัดอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งกองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์ ทั้งนี้ นับถึง 22 กรกฎาคม 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ 133 ศพ ถูกจับกุม 500 คน 

ท่ามกลางสถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างนักศึกษาและรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ภายใต้สถานการณ์เคอร์ฟิว และการประท้วงที่เกิดขึ้น ศาลฎีกา บังกลาเทศได้ยกเลิกคำตัดสินก่อนหน้านี้ของศาลชั้นต้นที่ ‘คืนสถานะระบบโควตา’ และให้คำแนะนำในการปรับปรุงระบบใหม่ 

โดยสั่งปรับโควตาการจ้างงานภาครัฐใหม่เป็นดังนี้ 

  • 93 เปอร์เซ็นต์ พิจารณาจากคุณวุฒิ 
  • 5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับญาติทหารผ่านศึก 
  • 1 เปอร์เซ็นต์ เพื่อคนกลุ่มน้อย 
  • 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้พิการ และเพศที่สาม

ภายหลังการตัดสิน ศาลเรียกร้องให้นักศึกษายุติการชุมนุม และกลับไปเรียน ให้รัฐบาลสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการศึกษา พร้อมสั่งให้รัฐบาลออกประกาศเรื่องนี้ทันที 

ขณะเดียวกัน คำพิพากษา ระบุอีกว่า รัฐบาลสามารถยกเลิก แก้ไข หรือปฏิรูปโควตาที่ศาลกำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภาพรวม

ประเด็นโควตาจ้างงานในภาครัฐ มีการออกมาประท้วงอยู่เสมอ ตั้งแต่มีการตั้งระบบนี้ขึ้นมา เพราะรัฐบาลสามารถปรับเปลี่ยนเปอร์เซ็นต์แต่ละกลุ่ม หรือระดับตำแหน่งที่เปิดรับในเกณฑ์โควตาดังกล่าวได้ ทำให้มีคนได้เปรียบและเสียเปรียบ แต่การออกมาเรียกร้องนั้นล้วนตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของโควตาญาติทหารผ่านศึก ในช่วงที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น

แต่สิ่งที่ ชีค ฮาสินา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ บุตรสาวของ ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน ที่ครองตำแหน่งยาวนานถึง 5 สมัย (1996-2001 และ 2009 ถึงปัจจุบัน) ต้องเผชิญในตอนนี้ ไม่เพียงแต่ปรับเปลี่ยนระบบโควตา หากเป็นการรับมือกับสายตาชาวโลกต่อมาตรการที่ใช้กับนักศึกษาที่ออกมาชุมนุม ว่าทำไมถึงมีการสูญเสียได้ขนาดนี้ 


จุดเริ่มต้นขบวนการปฏิรูประบบโควตาของนักศึกษาบังกลาเทศ 

การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา เริ่มครั้งแรกในเดือนมกราคมปี 2018 เนื่องจากนักศึกษามหาวิทยาลัยธากา (University of Dhaka) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อยกเลิกระบบโควตาการจ้างงานในภาครัฐและประเมินใหม่ พวกเขาให้เหตุผลว่า ‘ระบบนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ’

จากการยื่นฟ้องดังกล่าว ทำให้เป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียของบังกลาเทศอย่างมาก จนทำให้กระบวนการปฏิรูปฯ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และพูดถึงการสงวนตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐไว้สำหรับญาติของทหารผ่านศึก ขยายเป็นวงกว้าง

ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้ง ‘สภาคุ้มครองสิทธิของนักเรียนบังกลาเทศ’ (Bangladesh Student Rights Protection Parishad) เพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิของนักเรียนในบังกลาเทศ โดยมุ่งหวังที่จะให้เสียงนักเรียนได้ถูกรับฟัง สนับสนุนสิทธิการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และเพื่อวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปโควตาด้วย

เดือนมีนาคมในปีเดียวกันกับการยื่นฟ้องศาลให้ยกเลิกระบบโควตาฯ ศาลฎีกาประกาศยกคำฟ้องดังกล่าว บอกว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระบบโควตา 

ต่อมา ในเดือนเมษายน 2018 เริ่มมีการชุมนุมเกิดขึ้นที่เมืองชาห์บักห์ (Shahbagh) ที่ตั้งของสถาบันการศึกษา และสถาบันสาธารณะชั้นนำของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยธากา โดยนักเรียนเริ่มคว่ำบาตรการเข้าเรียน และการสอบระดับประเทศ

การชุมนุมครั้งนั้นทำให้ ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรี ประกาศยกเลิกโควตาทุกประเภทในรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2018  ซึ่งการอนุมัติเกิดขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ระหว่างการประกาศของนายกรัฐมนตรีเรื่องการยกเลิกโควตา และการออกหนังสือเวียน กลุ่มญาติทหารผ่านศึกบางคนได้ยื่นฟ้องต่อศาลเกี่ยวกับการยกเลิกระบบโควตาฯ โดยศาลสูงประกาศผล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 หักล้างประกาศของนายกรัฐมนตรีว่า ระบบโควตายังคงอยู่เหมือนเดิม

จึงทำให้นักศึกษาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกโควตาฯ อีกครั้ง ในวันที่ 6 มิถุนายน แต่ยังคงกระจายตัวอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ 

เริ่มมีการนัดรวมตัวชุมนุม วันที่ 1 กรกฎาคม ภายใต้ธงของ 'ขบวนการนักศึกษาต่อต้านการเลือกปฏิบัติ' ซึ่งสถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่แผนกอุทธรณ์ได้ยึดถือคำพิพากษาของศาลสูง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ว่า ใช้ระบบโควตาเดิม 

ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ

จากนั้นเริ่มมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยในวันที่ 17 กรกฎาคม ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ ได้เรียกร้องให้อดทนรอคำตัดสินของศาลฎีกาเกี่ยวกับระบบโควตา และแสดงความเสียใจต่อเหยื่อและครอบครัวผู้สูญเสียในครั้งนี้ 

จากนั้นก็เริ่มมีการประกาศปิดสถาบันการศึกษาทุกแห่งในประเทศ เนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมาในช่วง 2-3 วัน โดยให้ออกจากมหาวิทยาลัยภายในเย็นวันนี้ ซึ่งสถานศึกษาถูกปิดอย่างไม่มีกำหนด 

“ตอนนั้นนักศึกษาเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบโควตา ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความอดทนและอดกลั้นเป็นอย่างมาก ตำรวจให้ความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่ในบางพื้นที่กำลังใช้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวนี้ เพื่อมีส่วนร่วมในก่อการร้าย เป็นผลให้เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของนักเรียน เจ็บปวด และน่าเศร้ามาก กี่ชีวิตที่ต้องสูญเสียไปโดยไม่จำเป็น” ชีค ฮาสินา กล่าว

นายกฯ เปิดเผยว่า รัฐบาลยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาให้ยืนยันตามหนังสือเวียนที่เคยอนุมัติเมื่อปี 2018 ขอให้ทุกคนอดทนรอฟังศาล เพราะเชื่อว่านักศึกษาทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม

นายกฯ ยังได้กล่าวถึงผู้ก่อการร้ายที่ทำร้ายร่างกายนักศึกษา และคุกคามทางเพศในหอพัก รวมถึงกรณีการโยนนักศึกษาลงจากตึก ทุบตีด้วยไม้และอาวุธมีคม และเผาทำลายหอพักนักศึกษา 

โดยนายกฯ บังกลาเทศทิ้งท้ายว่า “อย่าปล่อยให้ผู้กระทำความผิดอยู่บนถนน” 


วันที่ 18 กรกฎาคม นักศึกษาบังกลาเทศได้ออกแถลงการณ์ถึง เปโดร ซานเชซ นายกฯ สเปน เนื่องจากมีนัดหมายต้อนรับนายกฯ บังกลาเทศไปเยือนในวันที่ 21 กรกฎาคม เป็นเวลา 3 วัน 

“เรียน เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ในนามของนักเรียนชาวบังกลาเทศ ต้องการเปิดตาของคุณให้กับทรราชที่บังกลาเทศกำลังเผชิญอยู่ ทั้งหมดนี้ต้องขอบคุณการก่อการร้ายที่รัฐสนับสนุน เรากำลังถูกตามล่าและสังหารโดยกองกำลังของรัฐบาล และหน่วยงานต่างๆ ของเรา จากการประท้วงอย่างสงบต่อระบบโควตาที่ไม่ยุติธรรมที่เก่าแก่ ซึ่งเสนอโควตางานภาครัฐ 56 เปอร์เซ็นต์ อย่างไม่สมส่วน ในนามของการให้การสนับสนุนนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพทั้ง 7 รุ่นของเราในสงครามปลดปล่อยในปี 1971 โควตาเหล่านี้ถูกใช้โดยรัฐบาลทุจริตของเรา เพื่อจัดหางานเหล่านั้นให้กับผู้สืบทอดที่พวกเขาชื่นชอบเท่านั้น  

นักศึกษาทั่วประเทศรวมตัวกันประท้วงเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งถูกรัฐบาลปราบปรามอย่างนองเลือด ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เราได้สูญเสียชีวิตของบุคคลทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องด้วยน้ำมือของกองทัพของรัฐบาล เช่น ตำรวจ, หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว และเจ้าหน้าที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยชายแดนของบังกลาเทศ ด้วยเลือดของบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด และประเทศที่ตกอยู่ในความวุ่นวายอย่างยิ่ง ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีของเรากำลังหลบหนีไปยังประเทศของคุณ และประเทศอื่นๆ และหลบหนีจากวิกฤติที่เธอก่อขึ้น ไม่มีสื่อ ช่องทาง และหนังสือพิมพ์ใดที่ช่วยให้เราแสดงความจริงที่แท้จริงได้ เนื่องจากการปราบปรามของรัฐบาลของเรา เราต้องการให้คุณเห็นข่าวสารและฉากต่างๆ บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และดูสถานะของประเทศในขณะนี้ เราหวังว่าเมื่อคำนึงถึงเรื่องทั้งหมดนี้แล้ว คุณจะพิจารณาเป็นเจ้าภาพต้อนรับนายกฯ ของเราในประเทศของคุณอีกครั้ง”

ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์เคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ศาลฎีกาประกาศปรับลดโควตาของการจ้างงานญาติทหารผ่านศึกจาก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็น 5 เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่นักศึกษาก็ยังคงเรียกร้องขอความเป็นธรรมถึงเพื่อนนักศึกษาที่ถูกจับกุม และเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ 

ข้อเรียกร้องของนักศึกษา ได้แก่ การพิจารณาคดีกรณีผู้ประท้วงเสียชีวิตในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา, การถอนคำพูดของนายกรัฐมนตรี, ปล่อยตัวผู้ประสานงานขบวนการนักศึกษาต่อต้านการเลือกปฏิบัติ โดยกลุ่มนักศึกษายืนยันว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่เกี่ยวกับศาล 

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2567 กลุ่มนักศึกษา ได้ประกาศยุติการชุมนุมชั่วคราว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดอินเทอร์เน็ต หยุดการโจมตีและการคุกคามนักศึกษา แล้วภายใน 48 ชั่วโมงนี้ต้องประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว แต่หลังจากการประกาศยุติ ยังพบข่าวในบางพื้นที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมอยู่ 

ล่าสุด วันที่ 23 กรกฎาคม ในช่องทางโซเชียลมีเดียของกลุ่มนักศึกษา มีการเผยแพร่คลิปตำรวจสังหารนักศึกษาที่ชื่อ ชีค ยามิน แล้วโยนศพทิ้งข้างถนน นักศึกษาระบุข้อความเรียกร้องไปยังสหประชาชาติว่า ทหารของบังกลาเทศควรถูกตัดออกจากกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ


สายตาชาวโลกมองรัฐบาลบังกลาเทศต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง 

แมทธิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า

“สหรัฐอเมริกาขอประณามการใช้ความรุนแรงต่อการประท้วงอย่างสันติวิธี ขณะเดียวกัน เรียกร้องให้รัฐบาลรักษาสิทธิของผู้ประท้วง โดยเราจะติดตามการชุมนุมในบังกลาเทศอย่างใกล้ชิด”  

โวลเกอร์ เติร์ก (Mr. Volker Türk) เลขาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แสดงความกังวลถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศอย่างมาก เนื่องจากรายงานเกี่ยวกับการจัดวางหน่วยตำรวจกึ่งทหาร เช่น กองกำลังป้องกันชายแดนบังกลาเทศ และกองพันปฏิบัติการพิเศษ ซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน

“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ และเรียกร้องให้กองกำลังรักษาความปลอดภัยดำเนินการให้แน่ใจว่าการใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด รัฐบาลควรใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการคุ้มครองและความปลอดภัยของนักศึกษาที่เข้าร่วมการประท้วงอย่างสันติ และเพื่อรับประกันสิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวการโจมตีต่อชีวิตและความสมบูรณ์ของร่างกาย หรือการปราบปรามในรูปแบบอื่น”

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประเทศไทย กล่าวแสดงความห่วงใยพี่น้องคนไทยในบังกลาเทศ ว่า 

“รู้สึกกังวลใจต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมในบังกลาเทศ พร้อมขอแสดงความเสียใจกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ขอคนไทยทำตามคำแนะนำของสถานทูตใกล้ชิด”


อ้างอิง 1 2 3 4 5 6 7 8



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

มูฮัมหมัด ยูนุส นักเศรษฐศาสตร์โนเบล นำรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศ รักษาสันติภาพ เตรียมเลือกตั้งใหม่

‘ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล’ ก่อตั้งมา 25 ปี ทำไมพัฒนาไปอย่างเชื่องช้า

‘ศาสนา ความเชื่อ ความขัดแย้ง’ การละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์ของชาวฮินดู โดยมุสลิมหัวรุนแรงในปากีสถาน

‘ไวรัสนิปาห์’ อัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโควิด ยังไม่มีวัคซีนและยารักษา

LATEST

+
morebutton read more

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat