Humberger Menu

1 ปี สงครามอิสราเอล-ฮามาส

ปฏิบัติการ 7 ตุลาคม 2023 ซึ่งกลุ่มติดอาวุธฮามาสโจมตีอิสราเอล ลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามกาซา และในเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายอิสราเอลและฮามาสผลัดกันรุกผลัดกันรับ แต่ก็ยังไม่อาจประกาศชัยชนะได้ทั้งสองฝ่าย โดยนักวิเคราะห์จากสถาบันด้านความมั่นคงในอิตาลี SIR แจกแจงว่า อิสราเอลยึดพื้นที่ในฉนวนกาซาได้เพิ่มเติม ทั้งยังสังหารแกนนำกลุ่มฮามาสได้สำเร็จ จนดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ แต่ที่จริงแล้วปฏิบัติการทางทหารไม่สามารถช่วยเหลือตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกฮามาสจับไปได้ 

ขณะนี้ยังมีตัวประกันชาวอิสราเอล 101 คนอยู่ในเงื้อมมือของฮามาส และตัวประกันที่ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านอย่างปลอดภัยก่อนหน้านั้นก็เป็นผลจากขั้นตอนการเจรจาหยุดยิงและแลกเปลี่ยนข้อตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ในขณะที่การเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลครั้งหนึ่งทำให้ตัวประกันถูกฮามาสสังหารทิ้งเพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลไม่ยอมหยุดยิงและเข้าสู่การเจรจารอบใหม่ 

รถถังอิสราเอลยังคงมุ่งหน้าสู่พรมแดนฉนวนกาซา

ทางฝั่งฮามาสแม้จะดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำ ถูกตอบโต้จนสูญเสียแกนนำและกำลังพล แต่ความนิยมของฮามาสในดินแดนปาเลสไตน์เขตเวสต์แบงก์กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว แซงหน้ารัฐบาลปาเลสไตน์ PA (Palestinian Authority: PA) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มฟาตาห์ (Al Fatah) ขั้วอำนาจเดิมที่ปกครองเวสต์แบงก์มานานข้ามทศวรรษ ทั้งยังมีแนวโน้มสูงว่าคนปาเลสไตน์รุ่นใหม่จะเข้าร่วมหรือสนับสนุนการต่อสู้ของฮามาสเพิ่มขึ้น 

เหตุผลสำคัญที่คนรุ่นใหม่จะหันไปสนับสนุนฮามาส เป็นเพราะเห็นตัวอย่างว่าปฏิบัติการอันรุนแรงและไม่เลือกเป้าหมายของฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อฝั่งอิสราเอลได้จริง แต่กระนั้นความนิยมของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาซึ่งเป็นพื้นที่สงครามในปัจจุบันก็ยังน้อยกว่าผู้สนับสนุนฮามาสในเขตเวสต์แบงก์ โดยกลุ่มหลังอยู่นอกพื้นที่สู้รบจึงไม่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากสงครามกาซาโดยตรง 

สิ่งเดียวที่คนส่วนใหญ่ในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งสองฝั่งเห็นตรงกันคือรัฐบาล PA ไม่อาจนำไปสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพที่ฝั่งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่อรองเงื่อนไขของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม และการที่รัฐบาล PA อ้างแนวทางสันติวิธีปรองดองกับฝั่งอิสราเอลกลับทำให้ปาเลสไตน์เสียเปรียบและต้องยอมให้ฝั่งอิสราเอลมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบวกกับการยื้ออำนาจในการบริหารและปัญหาทุจริตเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องภายในเครือข่ายรัฐบาล PA ก็ยิ่งทำให้คนปาเลสไตน์รุ่นใหม่ไม่เชื่อว่าแนวทางของรัฐบาล PA และกลุ่มฟาตาห์จะทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นได้ และหันไปสนับสนุนแนวทางการสู้รบของกลุ่มฮามาสมากขึ้น

ประเด็น ‘เฝ้าระวัง’ ในวันครบรอบ 1 ปี ปฏิบัติการ 7 ตุลาคม

ช่วงครบรอบ 1 ปี 7 ตุลาคม มีการประท้วงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

ผู้สื่อข่าวของ ABC News รายงานว่ารัฐบาลตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย รวมถึงสหราชอาณาจักร สั่งระดมกำลังด้านความมั่นคงเฝ้าระวังจุดที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง เช่น บริเวณสถานทูตอิสราเอล ซึ่งกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนและผู้สนับสนุนอิสรภาพปาเลสไตน์ประกาศล่วงหน้าว่าจะรวมตัวประท้วงการทำสงครามกาซาในวันครบรอบปฏิบัติการ 7 ตุลาคม 

ขณะเดียวกัน สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ FBI ของสหรัฐฯ ก็เตือนเช่นกันว่า ผู้สนับสนุนแนวคิดขวาจัดเชิดชูคนผิวขาว หรือ White Supremacist ที่มีอยู่หลายกลุ่มในประเทศ อาจก่อเหตุรุนแรงตอบโต้การประท้วงของกลุ่มสนับสนุนปาเลสไตน์เช่นกัน แต่ขอบเขตของการก่อเหตุของกลุ่มขวาจัดอาจไม่หยุดแค่นั้นเพราะกลุ่มหนุนแนวคิด White Supremacist ในสหรัฐฯ เคยมีประวัติใช้ความรุนแรงทำร้ายกลุ่มหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ และกลุ่มผู้อพยพมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการตอบโต้หรือปะทะจากฝ่ายตรงข้ามกัน

การชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ที่เบอร์ลิน เยอรมนี

ขณะเดียวกันมีรายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (MoH) ของรัฐบาลฮามาสในฉนวนกาซา เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2024 ระบุว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการโจมตีทางทหารของอิสราเอลต่อกาซา ลดลงจากจำนวนกว่า 41,431 คน อ้างอิงข้อมูลสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ในวันที่ 22 กันยายน 2024 กลายเป็น 34,344 คน หลังจากมีองค์กรระหว่างประเทศตั้งข้อสงสัยว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ประเมินโดย MoH อาจสูงเกินจริง ทำให้ MoH พิจารณาทบทวนและพบว่ามีข้อผิดพลาดในกระบวนการเก็บข้อมูลเกิดขึ้นจริง

MoH ชี้แจงว่าตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิดขึ้นในช่วงที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลต่างๆ ในกาซามีผู้เข้ารับการรักษาจำนวนมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ต้องใช้วิธีนับจำนวนศพโดยไม่ได้ตรวจสอบเอกสารระบุตัวตนของผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทั้งยังพบปัญหาระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาลล่มเพราะไฟฟ้าดับในช่วงที่อิสราเอลปฏิบัติการโจมตีกาซา ทำให้การรวบรวมตัวเลขคลาดเคลื่อน แต่หลังจากถูกทักท้วง MoH ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับ จนกระทั่งพบสาเหตุและจำนวนตัวเลขที่รายงานผิดพลาดไป

ชาวปาเลสไตน์ฝังศพผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล

ไมก์ สปาแกต นักวิเคราะห์ขององค์กร Action On Armed Violence (AOAV) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ตั้งคำถามต่อตัวเลขผู้เสียหายในรายงานของ MoH แถลงในวันที่ 24 กันยายน 2024 ว่าจำนวนผู้เสียชีวิต 34,344 คนถือว่าใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด โดยเปรียบเทียบกับการเก็บข้อมูลขององค์กรด้านมนุษยธรรมทั้งในประเทศและระหว่างประเทศซึ่งเข้าไปช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ความขัดแย้ง ทั้งยังจำแนกด้วยว่าผู้เสียชีวิต 11,355 คนยังเป็นเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ขณะที่ 20,034 คนเป็นผู้ใหญ่ทั้งเพศหญิงและชาย อายุตั้งแต่ 18-59 ปี และอีกราว 2,955 คนอยู่ในกลุ่มผู้สูงวัยซึ่งมีอายุตั้งแต่ 59 ปีขึ้นไป

ส่วนผลพวงของปฏิบัติการ 7 ตุลาคม ต่อฝั่งอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 คนและถูกจับเป็นตัวประกันเกือบ 250 คนในวันเกิดเหตุ แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีการเจรจาต่อรองระหว่างคู่ขัดแย้ง ทำให้มีการปล่อยตัวประกัน 109 คน แต่อีกราว 101 คนยังอยู่ในการควบคุมของฮามาส และตัวประกัน 6 รายเสียชีวิต ทว่าตัวเลขนี้ไม่ได้รวมตัวประกันชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม เข้าไปด้วย

ปาเลสไตน์ ‘สนิมเกิดแต่เนื้อในตน’ ดับฝันแนวทางสันติ

ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทวีความรุนแรงขึ้นหลังปฏิบัติการ 7 ตุลาคม และบทวิเคราะห์ของ The Economist ต้นเดือนกันยายน 2024 ตั้งคำถามว่า คนรุ่นใหม่ในปาเลสไตน์อาจถูกผลักให้หันไปสนับสนุนแนวทางสุดโต่งและใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น และแนวทางสองรัฐ (Two-state Solution) ซึ่งเป็นข้อเสนอของสหประชาชาติ (UN) เพื่อแก้ปัญหาตะวันออกกลาง จะได้รับการสนับสนุนน้อยลง เช่นเดียวกับโพลที่เผยแพร่โดยสถาบัน The Washington Institute ระบุว่า คนปาเลสไตน์รุ่นใหม่ไม่เชื่อว่าการรับรองสถานะรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ไปพร้อมๆ กันจะเกิดขึ้นจริงได้ โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนปาเลสไตน์รุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีแบบสองรัฐเกิดจากจุดอ่อนภายในฝั่งปาเลสไตน์เอง 

มาห์มุด อับบาส 

ปัญหาใหญ่คือ ‘เลือกความสงบ แต่พบคอร์รัปชัน’ มีต้นทางจากความฉ้อฉลของรัฐบาลปาเลสไตน์ PA ซึ่งเต็มไปด้วยเครือข่ายกลุ่มฟาตาห์ ซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองของขบวนการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (Palestine Liberation Organization: PLO) กลุ่มติดอาวุธที่เคยก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งในอดีต ขณะที่ มาห์มุด อับบาส ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ก็เป็นแกนนำฟาตาห์ที่ยื้ออำนาจในการบริหารปาเลสไตน์มายาวนานเกือบ 20 ปี ประชาชนปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจนโยบายของรัฐบาล PA ที่เอ่ยอ้างสันติวิธีและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอิสราเอล แต่กลับละเลยความเป็นอยู่ของประชาชนปาเลสไตน์เอง 

ยัสเซอร์ อาราฟัต อดีตผู้นำปาเลสไตน์ ผู้ก่อตั้งฟาตาห์

กรณีกลุ่มขวาสุดโต่งของอิสราเอลบุกเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ รวมถึงทหารอิสราเอลใช้อำนาจตรวจค้นเกินกว่าเหตุและคุกคามทำร้ายชาวปาเลสไตน์บริเวณด่านรอยต่ออิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทำให้รัฐบาล PA ถูกวิจารณ์ว่ามีท่าทีและแถลงการณ์ที่เข้าข้างฝั่งอิสราเอลมากกว่าประชาชนของตัวเองหลายต่อหลายครั้ง และความนิยมของรัฐบาล PA ถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มฮามาสประกาศตัดขาดกับ PA และฟาตาห์ พร้อมนำกำลังบุกยึดครองฉนวนกาซาและประกาศตัวเป็นผู้ปกครองดินแดนดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2007 และกลายสภาพเป็นขั้วอำนาจที่ได้รับความนิยมจากชาวปาเลสไตน์ยิ่งกว่า PA ในปัจจุบัน

โพลของ The Palestinian Center for Policy and Survey Research (PCPSR) ซึ่งสำรวจข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2024 พบว่า ความนิยมของฮามาสในกลุ่มประชากรชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ฟาตาห์ได้รับความนิยมเพียง 20 เปอร์เซ็นต์จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ในขณะที่ก่อนสงครามกาซาจะเริ่มต้น ความนิยมของฟาตาห์เหนือกว่าฮามาสโดยเฉลี่ย หรืออยู่ที่ 22 เปอร์เซ็นต์ ส่วนฮามาสอยู่ 20 เปอร์เซ็นต์ 

ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาส

อย่างไรก็ดี โพลของ PCPSR บ่งชี้ว่าคนในพื้นที่สงครามกาซามีความนิยมต่อกลุ่มฮามาส ‘น้อยกว่า’ คนในเวสต์แบงก์ซึ่งอยู่ห่างไกลจากพื้นที่สงครามและการระดมโจมตีของกองทัพอิสราเอล ทั้งยังมีชาวปาเลสไตน์ซึ่งไม่เห็นด้วยกับฝ่าย PA และฮามาสราว 12 เปอร์เซ็นต์ โดยชาวปาเลสไตน์กลุ่มนี้ให้เหตุผลว่า พวกเขาไม่มีตัวเลือกทางการเมืองที่ดีกว่านี้ แต่เสียงของชาวปาเลสไตน์ ‘สองไม่เอา’ ไม่ได้ถูกพูดถึงมากเท่าผู้สนับสนุนฮามาสหรือ PA แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะเป็นหนึ่งในชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามและความขัดแย้งที่ดูจะไม่มีวันจบสิ้นในบ้านเกิดของพวกเขาเอง

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ของ The Washington Institute ยังระบุด้วยว่า อุดมการณ์ของฮามาสไม่น่าจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้เช่นกัน เพราะฮามาสเคยประกาศว่าไม่ยอมรับสถานะของรัฐอิสราเอล และต้องการก่อตั้งรัฐอิสลามในดินแดนที่อิสราเอลครอบครอง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีในปี 2017 ว่าพร้อมทบทวนเรื่องการสนับสนุนแนวทางสองรัฐ แต่ฮามาสก็ยังถูกระบุเป็นกลุ่มสุดโต่งที่ประเทศตะวันตกขึ้นบัญชีเป็นกลุ่มก่อการร้ายอยู่ดี ต่างกับรัฐบาล PA ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งอาจจะเสื่อมความนิยมในบ้านตัวเอง แต่ได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศมากกว่า เพราะแนวทางของ PA ชูอุดมการณ์ชาตินิยมปาเลสไตน์โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่อุดมการณ์อิสลามนิยมเหมือนฮามาส 

อีกประเด็นที่นักวิเคราะห์หลายรายย้ำเสมอคือ ฮามาสเป็นส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยปาเลสไตน์ แต่ไม่ใช่ชาวปาเลสไตน์ทั้งหมด การผลักดันให้ปาเลสไตน์เข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพและสนับสนุนรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าของ PA เป็นหนทางที่จะลดวงจรความขัดแย้งในตะวันออกกลางได้อย่างถาวรกว่า 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาการเมืองภายในปาเลสไตน์เป็นเรื่องยาก เพราะรัฐบาล PA มีปัญหาเรื่องทุจริต ทั้งยังไม่สามารถหารายได้เพื่อปกครองตัวเองได้ ต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนประเทศที่หนุนหลังรัฐบาล PA ก็ยังมีประเด็นการเมืองภายในของตัวเองที่ต้องจัดการ นโยบายช่วยเหลือหรือสนับสนุนปาเลสไตน์จึงพลอยปรับเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ด้วย

อิสราเอล ผู้ขยายสมรภูมิความขัดแย้งให้ยิ่งบานปลาย

แม้ฮามาสจะเปิดฉากโจมตีก่อนในปฏิบัติการ 7 ตุลาคม แต่นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงชี้ว่า นโยบายของรัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักดันให้ฮามาสหาข้ออ้างในการก่อเหตุได้อย่างสมเหตุสมผลเช่นกัน เพราะคนในรัฐบาลเนทันยาฮูมักแสดงความเห็นในเชิงส่งเสริมกลุ่มอิสราเอลขวาจัดให้เข้าไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนปาเลสไตน์ ทั้งยังมีหลายกรณีที่ทหารอิสราเอลปะทะและใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับชาวปาเลสไตน์ตามด่านรอยต่อระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ 

นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู

หลังปฏิบัติการ 7 ตุลาคม อิสราเอลตอบโต้กลับฮามาสด้วยกำลังอาวุธสงครามเต็มรูปแบบทั้งทางบก ทางอากาศ ก่อนจะขยายการสู้รบไปยังเลบานอน เยเมน ซีเรีย ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยพุ่งเป้าไปยังกลุ่มติดอาวุธซึ่งประกาศจุดยืนสนับสนุนฮามาส ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน และกลุ่มติดอาวุธเชิดชูอุดมการณ์อิสลามที่เคลื่อนไหวในซีเรีย 

การขยายแนวรบของอิสราเอลถูกประเมินจากนักวิเคราะห์ว่าเป็นการตอบโต้รัฐบาลอิหร่านซึ่งประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์ต่ออิสราเอลและสหรัฐฯ ขณะที่อิสราเอลระบุว่าอิหร่านเป็นภัยคุกคามโลกและเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย จึงใช้เหตุผลนี้ในการตอบโต้ทางทหาร รวมถึงคว่ำบาตรอิหร่านในหลายด้าน 

ผู้ประท้วงในตุรกี

นอกจากนี้ นโยบายแข็งกร้าวแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันของอิสราเอลยังกระทบความสัมพันธ์กับประเทศอาหรับบางส่วนที่เคยเป็นตัวกลางเจรจาต่อรองระหว่างฝั่งอิสราเอลกับปาเลสไตน์จนตกที่นั่งลำบาก โดยมีตัวอย่างที่สำคัญคือ จอร์แดน ซึ่งเปิดให้ทหารอเมริกันไปประจำการในประเทศ จึงเป็นมิตรกับอิสราเอลที่เป็นพันธมิตรสหรัฐฯ เหมือนกัน แต่การทำสงครามกาซา เข่นฆ่าชาวปาเลสไตน์ไปหลายหมื่นคน ทำให้รัฐบาลจอร์แดนที่เป็นมุสลิมสายกลางไม่อาจแสดงจุดยืนเข้าข้างอิสราเอลได้ 

ขณะเดียวกัน อียิปต์ ซึ่งมีนโยบายผ่อนผันด้านพรมแดนและเส้นทางเศรษฐกิจกับอิสราเอล ก็ได้รับผลกระทบจากการอพยพลี้ภัยของชาวปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ล่าสุดที่อิสราเอลระดมโจมตีเมืองราฟาห์เพื่อทำลายฐานที่มั่นของฮามาส ทำให้ชาวปาเลสไตน์หนีภัยการสู้รบทะลักข้ามแดนจนอียิปต์ไม่สามารถจัดการกับคนจำนวนมากได้ 

6 ตัวประกันที่ถูกสังหารจากการโจมตีของอิสราเอล

นอกจากนี้ การกระหน่ำโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลเองก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุ เพราะไม่ยอมหยุดเจรจาเมื่อตัวเองเป็นฝ่ายได้เปรียบ ทำให้ตัวประกันอิสราเอลถูกสังหาร ทั้งยังสะท้อนด้วยว่ารัฐบาลอิสราเอลในสมัยของผู้นำสายเหยี่ยวอย่างนายกฯ เนทันยาฮู มุ่งมั่นกวาดล้างกาซาโดยไม่แยกแยะระหว่างกลุ่มฮามาสและประชาชนปาเลสไตน์ นำไปสู่การร้องเรียนของตัวแทนประเทศแอฟริกาใต้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้พิจารณาว่าผู้นำอิสราเอลเข้าข่ายก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่

ทหารอิสราเอล

หลายประเทศและหลายองค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่าการระดมโจมตีกาซาของอิสราเอลแทบจะกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ไปแล้ว เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บพิการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และออกจะเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ผู้นำรัฐบาลเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นชนชาติที่เคยเจอโศกนาฏกรรมการสังหารหมู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก่อน ไม่ตระหนักถึงความเจ็บปวดและความร้ายแรงของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างที่ควรจะเป็น

ชาติมหาอำนาจโยงใยอยู่เบื้องหลังสงครามตัวแทน

ตั้งแต่สงครามเริ่มต้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2023 และความขัดแย้งเริ่มขยายวง ตัวแสดงชาติมหาอำนาจจึงเริ่มปรากฏตัวชัดมากขึ้น

สหรัฐอเมริกา

ถือเป็นชาติพันธมิตรที่สำคัญอันดับหนึ่งของอิสราเอล ทั้งในแง่ความสัมพันธ์เชิงภูมิรัฐศาสตร์และความร่วมมือด้านการทหาร เพราะสหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนอิสราเอลให้ถ่วงดุลประเทศทรงอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอิหร่านหรือซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ ยังสนับสนุนอิสราเอลด้านข่าวกรอง การพัฒนาเทคโนโลยีด้านความมั่นคง และการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งถูกนำไปใช้ในการโจมตีกาซาในปัจจุบัน

อิหร่าน

การเป็นสาธารณรัฐอิสลามซึ่งครอบครองปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองเป็นอันดับ 2 ของโลก ทั้งยังมีโครงการอาวุธนิวเคลียร์ ทำให้อิหร่านเป็นประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางที่มีอิทธิพลต่อโลกมุสลิม แม้จะมีชาติอาหรับอื่นๆ คอยคานอำนาจแต่อิหร่านก็เป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธอ้างอุดมการณ์อิสลามที่เคลื่อนไหวอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ฮามาส ฮิซบอลเลาะห์ ฮูตี ซึ่งประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับอิสราเอลทั้งหมดในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ในอิรัก ซีเรีย และบาห์เรนด้วย

รัสเซีย

ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ต้อนรับ มาห์มุด อับบาส ผู้นำรัฐบาลปาเลสไตน์ที่เดินทางเยือนกรุงมอสโกของรัสเซียในเดือนสิงหาคม 2024 และก่อนหน้านั้นไม่นานปูตินเพิ่งเจรจากับนายกฯ เนทันยาฮูของอิสราเอลให้ระงับการส่งอาวุธไปยังยูเครนที่กำลังสู้รบกับรัสเซียอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจแลกเปลี่ยนด้วยการที่รัสเซียจะระงับการส่งอาวุธไปยังอิหร่าน ทำให้ท่าทีของรัสเซียฉายภาพมหาอำนาจที่พยายามเป็นตัวกลางการเจรจาต่อรองระหว่างทั้งสองฝ่ายมากกว่าจะสนับสนุนทางทหารโดยตรงเหมือนสหรัฐฯ และแม้บทบาทนี้ของรัสเซียจะยังไม่เห็นผลชัดเจนแต่ก็มีน้ำหนักพอจะถ่วงดุลบทบาทของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้

กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ

สมาชิกความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council เรียกสั้นๆ ว่ากลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือกลุ่มรัฐริมอ่าว มีทั้งหมด 6 ประเทศด้วยกัน คือ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ บาห์เรน ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมนิกายซุนนี ต่างจากอิหร่านซึ่งเป็นประเทศมุสลิมนิกายชีอะ ทำให้กลุ่มประเทศอ่าวฯ เป็นประเทศพันธมิตรสำคัญของปาเลสไตน์ที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและรับมือกับผู้อพยพลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ขัดขวางถ้าอิสราเอลจะประกาศศึกกับอิหร่านที่ให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาส จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่น่าจับตาว่าจะมีท่าทีอย่างไรถ้าสงครามกาซาลุกลามบานปลาย

จีน

จีนเป็นประเทศที่รับรองสถานะรัฐปาเลสไตน์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสหประชาชาติ และในสถานการณ์ความขัดแย้งอิสราเอล-ฮามาส ณ ปัจจุบัน จีนก็พยายามแสดงบทบาทตัวกลางการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติความขัดแย้ง โดยเดือนสิงหาคม 2024 จีนเป็นเจ้าภาพเชิญผู้นำกลุ่มฮามาสและฟาตาห์เข้าสู่กระบวนการเจรจาหารือที่กรุงปักกิ่ง สะท้อนว่าจีนเข้าใจรากเหง้าปัญหาปาเลสไตน์ว่าต้องเริ่มจากการทำให้รัฐบาลฝั่งเวสต์แบงก์กับกาซาสามัคคีกันให้ได้เสียก่อนถึงจะมีกำลังพอที่จะไปต่อรองกับอิสราเอล ที่สำคัญคือจีนยังเป็นพันธมิตรที่ดีของรัสเซียที่ช่วยกันคานอำนาจสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกซึ่งต้องการชิงบทบาทนำในการควบคุมสถานการณ์ตะวันออกกลางอีกด้วย

‘ประชาชน’ เหยื่อไฟสงครามและภาวะทางใจที่เกินเยียวยา

สื่อหลายสำนักเผยแพร่บทสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการ 7 ตุลาคม และสงครามกาซา พบว่ามีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก โดยครอบครัวตัวประกันและผู้เสียชีวิตฝั่งอิสราเอลมีบาดแผลทางใจ นอกจากจะเศร้าเพราะความเป็นห่วงคนในครอบครัวแล้ว ยังพบการแสดงความเกลียดชังต่อชาวปาเลสไตน์เพิ่มขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์

 

ขณะที่กลุ่มขวาจัดหรือกลุ่มชาตินิยมในอิสราเอลเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามฮามาสให้สิ้นซาก โดยไม่คำนึงว่าปฏิบัติการต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อชาวปาเลสไตน์อื่นๆ อย่างไร ทั้งยังมีครอบครัวตัวประกันซึ่งเสียชีวิตก็ไม่พอใจที่รัฐบาลอิสราเอลไม่คำนึงถึงชีวิตประชาชนของตัวเอง แต่ไม่อาจทำอะไรได้ เพราะกระแสในสังคมส่วนใหญ่ล้วนสนับสนุนให้ทำสงครามต่อ 

ส่วนคนในฉนวนกาซาต้องบาดเจ็บล้มตายและพิการเรื้อรัง รวมถึงสูญเสียครอบครัวเป็นจำนวนมาก แต่ที่สาหัสกว่านั้นคือระบบสาธารณสุขพื้นฐานถูกทำลายไปมากกว่า 500 แห่ง โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่านี่คือความเสียหายระยะยาวของชาวปาเลสไตน์ เพราะคนในพื้นที่สู้รบจะเผชิญกับภาวะอดอยากและโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ไปอีกนาน และเด็กที่เกิดใหม่มีโอกาสตายมากกว่ารอด

นักวิเคราะห์ยังย้ำด้วยว่าการทำสงครามกาซาไม่อาจนำไปสู่สันติภาพได้ มีแต่จะยิ่งทำให้คนทั้งสองฝ่ายเกลียดชังกันและกันมากขึ้น จนเป็นผลให้ใช้ความรุนแรงตอบโต้กันไปมา แม้อิสราเอลจะเข้มแข็งกว่าในทางอาวุธและกำลังคน แต่คนปาเลสไตน์ยุคต่อๆ ไปอาจหันไปเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเพิ่มขึ้นเพื่อตอบโต้อิสราเอลในอนาคต วนเวียนกันไปอย่างนี้อีกนาน

สิ่งหนึ่งที่แน่ใจได้คือกลุ่มค้าอาวุธและผู้ที่ได้ประโยชน์จากการทำสงครามทั้งหลายจะยังมีรายได้มหาศาลจากความขัดแย้งเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีชีวิตและอนาคตของประชาชนของคนทั้งสองฝั่งเป็นต้นทุนใช้จ่าย เห็นได้จากการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารและความมั่นคงของอิสราเอล สหรัฐฯ และหลายประเทศสมาชิก NATO ซึ่งดูจะ ‘สมเหตุสมผล’ ในภาวะสงคราม ทั้งยังทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเติบโตเฟื่องฟู แต่ในระยะยาวอาจกระทบต่อนโยบายด้านอื่นๆ ของประเทศ 

อาจสรุปได้สั้นๆ ว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในสงครามกาซาต่างก็มือเปื้อนเลือดโดยถ้วนหน้า และดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะไม่ได้คำนึงถึงประชาชนคนทั่วไปในอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ชีวิตถูกทำลายหรือต้องติดอยู่ในสงครามความขัดแย้งต่อไปอีกหลายเจเนอเรชัน


อ้างอิง:

AA, ABC News, AgenSIR, , Aljazeera, AOAV, BBC, CFR, CSIS, The Guardian, IRIS-France, LBC, Nature, OCHA, The Times of Israel, VOA News, The Washington Institute

Share
สร้างสรรค์โดย
creator
ตติกานต์ เดชชพงศ