Humberger Menu

ทำไมคนถึงชอบเรื่องผีๆ สำรวจพัฒนาการความเชื่อสู่ความบันเทิง เราเชื่อเรื่องผี หรือแค่ ‘อยากเชื่อ’ ว่าผีมีจริง

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Human's Life

Social Issues

31 ต.ค. 67

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

LATEST

+
morebutton read more
Summary
  • คนเป็นล้านเชื่อเรื่องผี คนจำนวนมากยืนยันว่าเห็นผี แม้จะไม่มีใครเคยพิสูจน์เรื่องการมีอยู่ของผีได้จริงๆ จังๆ แต่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เรื่องผีๆ ก็ไม่เคยหายไปไหน และคนก็รักที่จะนั่งล้อมวงฟังเรื่องผี ทั้งๆ ที่ผีเป็นของคู่กับความกลัวและความตาย
  • ในยุคโบราณมนุษย์ต้องระวังตัวจากภัยรอบตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด สมองของมนุษย์จึงพัฒนาจากการมองหาภัยคุกคาม ภัยคุกคามของมนุษย์จึงมีรูปร่างในจินตนาการ เมื่อเกิดปรากฏการณ์อะไรที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง เรามักเชื่อว่า มันต้องเป็นความตั้งใจของใครหรืออะไรบางอย่างทำให้เกิดขึ้น
  • บางครั้งเราก็ไม่ได้เชื่อเรื่องผีจริงๆ แต่เราต้องการที่จะเชื่อว่าผีมีจริง เพื่อเติมเต็มบางคำถามและความไม่รู้ที่เป็นพื้นที่เทาๆ ในความรับรู้มากกว่า

...


ผีคืออะไร ผีมีจริงไหม เป็นคำถามคลาสสิกที่มีอายุพอๆ กับมนุษยชาติ

ความมืดคือความไม่รู้ขนาดใหญ่เพราะมองไม่เห็น ความไม่รู้จึงกลายเป็นความกลัว และเริ่มสร้างภาพของผีแฝงกายอยู่ในความมืด 

คนเป็นล้านเชื่อเรื่องผี คนจำนวนมากยืนยันว่าเห็นผี แม้จะไม่มีใครเคยพิสูจน์เรื่องการมีอยู่ของผีได้จริงๆ จังๆ แต่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เรื่องผีๆ ก็ไม่เคยหายไปไหน และคนก็รักที่จะนั่งล้อมวงฟังเรื่องผี ทั้งๆ ที่ผีเป็นของคู่กับความกลัวและความตาย

ไม่ว่าโลกจะพัฒนาแค่ไหน แต่ความเชื่อเรื่องผีของมนุษย์ก็ไม่เคยหายไป มีคนหลายล้านยืนยันว่าเคยผ่านประสบการณ์เห็นผี แต่ข้อพิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของผีก็ยังไม่เคยปรากฏแบบจังๆ 

การสำรวจของ Ipsos ในปี 2019 พบว่าชาวอเมริกัน 46 เปอร์เซ็นต์เชื่อเรื่องผีจริงๆ และการศึกษาวิจัยของ Pew Research ในปี 2015 พบว่าผู้คนราว 18 เปอร์เซ็นต์บอกว่าเคยเห็นผี

หลายปีถัดมา การสำรวจของ YouGov เรื่องผีในปี 2020 พบว่า ชาวอเมริกัน 46 เปอร์เซ็นต์เชื่อเรื่องผี ขณะที่ผลสำรวจในปี 2021 พบว่า 20 เปอร์เซ็นต์อ้างว่าเคยเห็นวิญญาณกับตาตัวเอง 

นอกจากคนจะเชื่อเรื่องผี กลัวผี ความกลัวผีก็ยังเป็นความบันเทิงประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคที่ยอดฟัง The Ghost Radio ทะลุหลักล้านในคือเดียว 


ผี ศาสนา และโลกหน้าหลังความตาย

ถ้ามองในกรอบศาสนา มูลเหตุพื้นฐานในการเกิดขึ้นของศาสนาในโลกถูกตั้งต้นจากคำถามโลกแตกของความไม่รู้ 3-4 ข้อ เราเกิดมาทำไม เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เรามีชีวิตที่ดีได้อย่างไร และเราตายแล้วไปไหน ซึ่งโลกหลังความตายและผีคือคำตอบของข้อสุดท้าย

แน่นอนว่าทุกคนกลัวความตาย เพราะความตายคือความไม่รู้ และเหมือนกับชุดคำอธิบายที่ว่า ในทุกความมืดมิดต้องมีอะไรอยู่สักอย่าง นั่นทำให้ความกลัวความไม่รู้ถูกแทนที่ด้วยความรู้ (นั่นคือมีผี!) ดังนั้น ความเชื่อว่ามีโลกหลังความตาย และผู้ตายจะกลายเป็นผีนั้นทำให้การสิ้นสุดของชีวิตไม่ได้เป็นจุดจบของการเดินทาง แต่ยังมี ‘โลกหน้า’ ที่จิตของมนุษย์ยังสามารถดำรงได้ในสถานะของ ‘ผี’ หรือวิญญาณ 


ผีคือคำตอบง่ายๆ ของสิ่งที่อธิบายยากๆ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ คริส เฟรนช์ จากภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน โกลด์สมิธ อธิบายว่า ในยุคโบราณมนุษย์ต้องระวังตัวจากภัยรอบตัวเพื่อให้มีชีวิตรอด เช่น สัตว์ร้ายผู้ล่า ศัตรู สมองของมนุษย์จึงพัฒนาจากการมองหาภัยคุกคาม และสิ่งนี้ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรม ภัยคุกคามของมนุษย์จึงมีรูปร่างในจินตนาการ เมื่อเกิดปรากฏการณ์อะไรที่ไม่รู้จะอธิบายยังไง เรามักเชื่อว่า มันต้องเป็นความตั้งใจของใครหรืออะไรบางอย่างทำให้เกิดขึ้น และ ‘ผี’ มักเป็นสิ่งที่ถูกนำมาเติมคำในช่องว่าง 

มีคำอธิบายมากมายว่าผีอาจเกิดจากประสบการณ์ธรรมชาติและการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนของเรา เช่น กลัวจนเห็นภาพหลอน ขาดออกซิเจน นอนผิดท่า ฝันขณะตื่น ไปจนถึงการสัมผัสถึงคลื่นแม่เหล็กและไฟฟ้า

ดังนั้น ปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา จึงมักกลายเป็นเรื่องผี เช่น อาการอัมพาตขณะหลับที่พบได้ค่อนข้างบ่อย แต่มันก็กลายเป็นอาการหลอกหลอน ด้วยความเชื่อที่ว่า มีบางสิ่งบางอย่างทำให้เราขยับไม่ได้ ที่เรียกว่า ผีอำ

สิ่งที่นำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ ก็มักจะมาจากประสบการณ์ความเชื่อที่หล่อหลอมและสอนกันมาในสังคมนั้นๆ แล้วก็ฝังอยู่ในจิตใจ คนไทยอาจเห็นหญิงสาวห่มสไบ คนอีกที่หนึ่งอาจเชื่อว่าเป็นมนต์ดำของหมอผี ซาตาน วิญญาณเร่ร่อน หรือปีศาจจากนรก

“ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่เคยได้ยินคำอธิบายเหล่านี้มาก่อนและมันเกิดขึ้นกับคุณ คุณก็อาจจะคิดว่ามีบางอย่างแปลกประหลาดและเหนือธรรมชาติกำลังเกิดขึ้นจริง และคุณคงชอบความคิดที่ว่ามีอะไร ‘เกิดขึ้นจริง’ มากกว่า”

ที่แปลกคือ เรามักจะตัดคำอธิบายให้เหลือสั้นๆ ในรูปแบบที่เรารู้และเชื่อ เช่น ถ้าเห็นสิ่งของในบ้านเคลื่อนที่เอง หลายคนจะคิดว่าเป็นเรื่องผีมากกว่าแผ่นดินไหว

“การที่เราคิดหาคำอธิบายไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคำอธิบาย” เฟรนช์กล่าว

สตีเฟน ฮัปป์ นักจิตวิทยาคลินิกและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ เอดเวิร์ดวิลล์ บอกว่า การเห็นผีส่วนหนึ่งมาจากปรากฏการณ์ทางจิตใจที่เรียกว่า Pareidolia คือการเห็นสิ่งต่างๆ ที่คลุมเครือผิดพลาดเป็นรูปร่างของบางสิ่ง ส่วนใหญ่มักเป็นใบหน้าหรือรูปร่างมนุษย์ เช่น ใบหน้าบนดวงจันทร์ ต้นไม้ที่มีรูปร่างคน "เมื่อเห็นรูปร่างและเงาแบบสุ่มในบ้านมืดๆ มันจะดูเหมือนผี" 

และความเชื่อเรื่องภูติผีวิญญาณอาจตอบสนองความต้องการทางจิตวิทยาที่ลึกซึ้งกว่าที่คิด

“จักรวาลยังมีหลายอย่างที่เรายังไม่เข้าใจ และการเติมเต็มความว่างเปล่าด้วยคำอธิบายก็ช่วยปลอบโยนใจได้ คำอธิบายเหนือธรรมชาติมักถูกกล่าวออกมาอย่างมั่นใจ แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่แท้จริงก็ตาม และความมั่นใจนี้ทำให้เกิดความรู้สึกผิดๆ เกี่ยวกับความจริง” 

เมื่อคิดในทางนี้ อาจหมายความได้ว่า บางครั้งเราก็ไม่ได้เชื่อเรื่องผีจริงๆ แต่เราต้องการที่จะเชื่อว่าผีมีจริง เพื่อเติมเต็มบางคำถามและความไม่รู้ที่เป็นพื้นที่เทาๆ ในความรับรู้มากกว่า


ทั้งๆ ที่กลัว แต่คนก็ชอบเรื่องผี

เชื่อว่าหลายคนกลัวผี แต่ก็เชื่อมากๆ อีกเช่นกันว่าเรื่องผีๆ ขายได้อยู่เสมอ ทั้งหนังสยองขวัญหรือเรื่องเล่าชวนขนหัวลุก

เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหนังสยองขวัญคือการผ่อนคลายประเภทหนึ่ง เพราะการดูหนังเป็นการเสพความรู้สึกกลัวชั่วคราว ไม่ได้มีอะไรให้เสี่ยงอันตรายเท่าความน่ากลัวจากภัยรอบตัวที่เจอในทุกๆ วัน 

เอ็ดดี้ ไวท์ รองศาสตราจารย์ผู้สอนวิชาความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ อธิบายถึงสิ่งที่ดึงดูดผู้คนเข้าหาเรื่องผีๆ และลึกลับว่า คือการแสวงหาความหมายในโลกที่ซับซ้อน

“ดูเหมือนว่าชีวิตของเราจะมีความไม่แน่นอนและสับสนวุ่นวาย และบางครั้งผู้คนก็ต้องการโครงสร้างหรือคำอธิบายสำหรับการดำรงอยู่ และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติอาจช่วยให้เข้าใจความหมายนั้นได้”

สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ตายแล้วมีโลกหน้าไหม โลกหลังความตายเป็นอย่างไร ลึกๆ แล้วคนเรามีคำถามพวกนี้ เรื่องผี วิญญาณ จึงเข้ามาเติมเต็มชีวิต

“โลกของวิทยาศาสตร์ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อเราตระหนักว่าจักรวาลและจักรวาลนั้นใหญ่โตกว่ามาก” 

วิทยาศาสตร์กำลังค้นพบสิ่งที่อยู่ภายนอก ซึ่งไม่ใช่สถานที่ของเรา ดังนั้น ผู้คนจึงมองหาพื้นที่อื่นๆ ที่สามารถค้นหาคำตอบสำหรับคำถามเหล่านั้นได้

share

ความกลัวก็มีข้อดี เพราะความกลัวช่วยให้เรามีสติ หากเราไม่รู้สึกกลัว เรามั่นใจในตัวเองมากเกินไป และในกรณีเลวร้ายที่สุด เราอาจตกอยู่ในอันตรายได้เพราะเราไม่ระวังอะไรเลย

ในอีกด้านหนึ่ง ทุกคนมักมี ‘เรื่องผี’ เป็นของตัวเอง ผีเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่เราไม่อยากเจอ ไม่อยากจำ เป็นความเจ็บปวดที่เราต้องเผชิญหน้า การเผชิญหน้ากับความกลัวในการเสพเรื่องผีจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของความกลัวมากขึ้น และเราจะเผชิญหน้ากับความจริงได้ดีขึ้น 


เมื่อความกลัวผีกลายเป็นความบันเทิง 

ความกลัวที่เหมาะสมคือความสนุกสนาน เมื่อดูหนังหรือนั่งฟังรายการผี ลึกๆ ของเราจะตอบได้ว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นกับเราจริง เหมือนกับเราเดินเข้าบ้านผีสิง ที่รู้ว่าต่อให้น่ากลัวแค่ไหน สักพักก็ถึงทางออก  

เรื่องนี้ทำให้เราเข้าใจว่า ทำไมเรื่องผีจึงยังคงทำให้เราหลงใหลได้ ความกลัวมักเกี่ยวข้องกับประสบการณ์เชิงลบ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองพื้นฐานต่อภัยคุกคาม แต่ภายในขอบเขตที่ควบคุมได้ ความกลัวจึงมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

การเผชิญกับความกลัวอย่างมีสติส่งผลดีต่อจิตใจ เช่นเดียวกับวัคซีนที่ทำให้ร่างกาย เรื่องผีๆ สางๆ ก็ทำให้จิตใจเผชิญกับความกลัวในปริมาณคงที่ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นทางอารมณ์ เป็นวิธีที่ปลอดภัยในการทำให้เราคุ้นเคยกับความกลัวและเรียนรู้วิธีจัดการ รับมือ และอยู่ร่วมกับมัน

หนังผีหลายๆ เรื่องยังเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเรื่องเล่าในวัฒนธรรมของยุคสมัย สะท้อนทัศนคติของผู้คน สภาพสังคม ประเพณี วิธีการจัดการความเศร้า ความกลัว ความตาย และความหมายของชีวิต 

ในหนังผีหลายๆ เรื่องยังมีปมความยุติธรรม การแก้แค้น และการอุปมาอุปไมยที่สะท้อนถึงปัญหาทางสังคมและพฤติกรรมของมนุษย์ 

ที่น่าสนใจคือ หนังผียุคปัจจุบัน ผีกลายเป็นแค่เครื่องนุ่งห่มที่ปกคลุมประเด็นทางสังคม เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้น ความเหลื่อมล้ำทางเพศ และความตึงเครียดทางเชื้อชาติไว้ เช่นเดียวกับหนังซอมบี้ที่มักพูดเรื่องความน่ากลัวในใจมนุษย์มากกว่าศพเดินได้ 

His House หนังสยองขวัญสัญชาติอังกฤษ พูดถึงผีที่ซ่อนอยู่หลังกำแพงบ้าน โดยซ่อนประเด็นของเรื่องจริงว่าด้วยเรื่องปัญหาผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าสู่ยุโรป

ส่วนการเล่าเรื่องผีนั้นต้องใช้ทักษะการเล่าชั้นสูง เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้คล้อยตาม บันเทิง พาผู้ฟังไปสู่อีกโลกหนึ่ง เราจะเห็นหลายๆ คนเล่าเรื่องผีผ่านรายการดัง มีพัฒนาการของตัวละครที่ดี บรรยายบรรยากาศเยี่ยม สร้างฉาก เร้าอารมณ์ และทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ 

หลายๆ เรื่องเล่ามักเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้ากับประสบการณ์ผู้ฟังได้ในระดับเดียวกับวรรณกรรม เล่นกับมิติความกลัวเชื่อมโยงระหว่างผู้เล่าและผู้ฟัง เมื่อรู้สึกกลัวและรับมือกับความกลัวได้ดี ความเป็นมนุษย์ในใจเราจะยิ่งเติบโต


อ้างอิง:



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

สื่อหลอน ซ่อนความบันเทิง รับเทศกาลฮาโลวีน 2022

LATEST

+
morebutton read more

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat