Humberger Menu

ภัยอะไรคนเชียงใหม่ก็ต้องพึ่งพาตนเอง ทำไมเชียงใหม่ไม่ได้เป็น ‘มหานคร’ เหมือนกรุงเทพฯ

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

Thai Politics

Politics

17 พ.ย. 67

creator
กองบรรณาธิการ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่อันดับรองจากกรุงเทพฯ แต่เมื่อถึงเวลามีปัญหา โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ฝุ่นควัน ไฟป่า น้ำท่วม คนเชียงใหม่กลับต้องพึ่งตนเองเกือบทุกครั้ง จนเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นโดยคนเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหากันเองหลายองค์กร
  • มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ท้องถิ่นพิเศษเหมือนกรุงเทพฯ มีอำนาจบริหารจัดการตนเองได้โดยไม่ต้องคอยพึ่งส่วนกลาง เชื่อกันว่าวิธีน้ำอาจทำให้คนเชียงใหม่แก้ปัญหาต่างๆ ได้ด้วยตนเอง
  • ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมเสนอ ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร บอกว่า รัฐราชการแบบรวมศูนย์เป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหา เพราะต้องผ่านลำดับการสั่งการบนลงล่าง หากท้องถิ่นจัดการตนเองได้ จะทำให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

...


ฤดูฝุ่นใกล้มาถึง คุณภาพอากาศที่จังหวัดเชียงใหม่เตรียมกลายเป็นโซนแดงและม่วงอีกครั้ง หลังเคยครองแชมป์เมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดของโลก ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ยังวนมาบรรจบทุกปีนานนับทศวรรษ

ปัญหาเรื่องฝุ่นควรจะเป็นปัญหาระดับประเทศ แต่สุดท้ายก็ราวกับส่วนกลางไม่ใยดีว่าเชียงใหม่กำลังประสบภัยพิบัติ ภาคประชาชนเชียงใหม่ก็ต้องรวมตัวกันฟ้องภาครัฐ เนื่องจากแก้ปัญหาล่าช้า จนชาวเชียงใหม่จำนวนมากมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากฝุ่นควัน PM 2.5 จนสถิติผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มสูงขึ้น

ย้อนไปเดือนก่อน เชียงใหม่ก็เพิ่งรับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเมินความเสียหายด้านเศรษฐกิจ 2,000 ล้านบาท ไม่นับบ้านเรือนและชีวิตผู้คนที่ต้องเผชิญกระแสน้ำและโคลน โดยความช่วยเหลือจากส่วนกลางไม่ได้มาทันควัน เราจึงเห็นข่าวอาสาสมัครทั้งเอกชน ภาคประชาสังคม กู้ภัย ทหาร และประชาชนคนกันเอง ระดมกำลังช่วยเหลือ ตั้งแต่ขนย้ายผู้ประสบภัย แจกจ่ายอาหาร ไปจนถึงช่วยกันล้างเศษโคลนออกจากบ้าน 

ลองหลับตาแล้วนึกภาพว่าหากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ การบริหารจัดการจะเป็นแบบนี้หรือเปล่า ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนกลาง ‘จะยอม’ ให้ภัยธรรมชาติร้ายแรงเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ จริงหรือ 



การกระจายอำนาจออกจาก ‘ประเทศกรุงเทพฯ’

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบริหารประเทศ แต่แนวคิดแบบรวมศูนย์นี้มีจุดอ่อนตรงที่ความเจริญและการพัฒนาทุกอย่างถูกรวบไว้ที่ ‘ประเทศกรุงเทพฯ’ พื้นที่ท้องถิ่นพิเศษที่มีผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้อย่างเต็มที่ 

หากเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. จะสามารถจัดการงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาได้ ทั้งเสริมแนวคันกั้นน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เคลียร์เส้นทางระบายน้ำ หรือการแก้ปัญหาฝุ่น กทม. ก็สามารถประกาศพื้นที่มลพิษต่ำ ห้ามรถบรรทุกเข้าได้ ต่างจากจังหวัดอื่นที่ผู้ว่าฯ ขึ้นตรงและรับคำสั่งจากมหาดไทย ส่วนท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แม้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีไม่ได้มีอำนาจมาก และหลายอย่างทับซ้อนกับราชการท้องที่

แผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 78 เพื่อให้ท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการต่างๆ ได้เอง พัฒนาเศรษฐกิจ ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

แต่การกระจายอำนาจในรูปแบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็ยังทับซ้อนกับท้องที่ (ราชการ) ทำให้การกระจายอำนาจอิหลักอิเหลื่อ ห่างไกลจากการจัดการตนเองอย่างอุดมคติ

เมื่อมีการเรียกร้องให้ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ยกเลิกผู้ว่าฯ หรือใช้ระบบผู้บริหารจังหวัดรวมผู้ว่าฯ เข้ากับ อบจ. ก็มีคนกลุ่มหนึ่งกังวลสุดโต่งไปไกลถึงการแบ่งแยกดินแดน


สภาลมหายใจเชียงใหม่ และการเผชิญภัยแบบพึ่งตนเอง

เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่อันดับรองจากกรุงเทพฯ โดดเด่นด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจ หากมองว่าประเทศไทยพึ่งพาเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว เชียงใหม่คือขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ แต่เมื่อถึงเวลามีปัญหา โดยเฉพาะภัยธรรมชาติ ฝุ่นควัน ไฟป่า น้ำท่วม คนเชียงใหม่กลับต้องพึ่งตนเองเกือบทุกครั้ง จนเกิดเป็นภาคประชาสังคมที่ตั้งขึ้นโดยคนเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหากันเองหลายองค์กร

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ นายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานมากกว่าแค่สภาพอากาศตามชื่อ แต่ยังรวมถึงด้านศิลปวัฒนธรรม ประสานความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ และขับเคลื่อนด้านการกระจายอำนาจ 


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ

 

ชัชวาลย์เล่าว่า การทำงานส่วนใหญ่ของสภาลมหายใจเชียงใหม่จะเป็นเรื่องฝุ่นควัน PM 2.5 เชื่อมโยงไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ระบบขนส่งมวลชน พลังงาน เกษตรเชิงเดี่ยว ป่าไม้ ทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน 

“เครือข่ายของเราเป็นเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมที่มารวมตัวกัน สมาชิกของสภาลมหายใจเชียงใหม่มีหลายหน่วยงาน อย่างที่ผ่านมา กรณีน้ำท่วม เครือข่ายก็ช่วยเรื่องน้ำท่วมด้วย ส่วนหนึ่งของคนในเครือข่ายเองก็เป็นผู้ประสบภัย อย่างชุมชนที่เราอยู่ก็ถูกน้ำท่วมเช่นกัน หรือสำนักงาน โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ที่เราเป็นผู้ก่อตั้งก็ถูกน้ำท่วมหนัก”

ยิ่งไปกว่านั้น สภาลมหายใจเชียงใหม่คือหนึ่งในผู้ยื่นฟ้องศาลปกครองร่วมกับนักวิชาการและองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ กรณี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ว่าแก้ไขปัญหาฝุ่นล่าช้า จนเป็นฝ่ายชนะ ศาลปกครองมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมทำแผนแก้ปัญหาฝุ่นภายใน 90 วัน

นั่นหมายความว่า แม้ว่าเชียงใหม่จะเป็นเมืองอันดับต้นๆ ของโลกด้านคุณภาพอากาศย่ำแย่ แต่ราวกับว่าสิ่งนั้นเป็นปัญหาของคนเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นปัญหาของประเทศไทย

“ต้องยอมรับว่าภาครัฐแก้ไขปัญหาฝุ่นควันโดยลำพังไม่สำเร็จ ปัญหาฝุ่นควันที่มีมา 20 กว่าปีเป็นเครื่องพิสูจน์ชัดเจน เราเห็นเลยว่าภาครัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้ พวกเราจึงลุกขึ้นมาในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ เพราะปัญหานี้หนักขึ้นทุกวัน จึงพยายามลุกขึ้นมาเป็นปากเป็นเสียง แล้วการรวมตัวกันของภาคประชาชนจะทำให้รัฐทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะพูดคุยฟังเสียงประชาชนที่มากขึ้น และการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มากขึ้น จะทำให้เกิดการตระหนักการเข้าใจ เกิดสำนึกที่จะเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน”

ชัชวาลย์บอกว่า หนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาที่แท้จริง คือการกระจายอำนาจมาให้ท้องถิ่นได้ลงมือจัดการปัญหาด้วยตัวเอง 

“แต่การกระจายอำนาจอย่างเดียวก็ไม่ได้ งบประมาณต้องมาด้วย ต้องปลดล็อกให้การมีส่วนร่วมมีความหมาย ไม่ใช่เป็นไม้ประดับ หรือการให้คนในท้องถิ่นร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเอง กำหนดชะตากรรม ชะตาชีวิตของตัวเองต้องมีมากขึ้น เพราะไม่มีทางที่รัฐส่วนกลางจะมาเข้าใจท้องถิ่น เป็นไปไม่ได้” 



นอกจากการกระจายอำนาจ ประธานสภาลมหายใจยังเห็นว่า รัฐส่วนกลางจำเป็นต้องลดอคติ ว่าต้นเหตุของฝุ่นควัน PM 2.5 มาจากชาวบ้าน 

“อย่ามองแค่ว่าชาวบ้านชาวเขาเผาป่า มันไม่ใช่ ปัญหาในเชียงใหม่เกิดขึ้นเยอะมาก ทั้งคมนาคม ขนส่ง อุตสาหกรรม นายทุน อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อนบ้าน ปัญหาเกิดขึ้นเยอะไปหมด ไม่ใช่แค่ชาวบ้านชาวเขา ถ้าจะต้องแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ เรื่องของพลังงานสะอาด ต้องมีนโยบายพลังงานสะอาดไม่ใช่ปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ปล่อย PM 2.5 อยู่ตลอดเวลาต้องสร้างพลังงานสะอาด” 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องสิทธิที่มั่นคงของชุมชน เพราะตอนนี้ชุมชนถูกประกาศพื้นที่ป่าทับซ้อนอยู่ จังหวัดเชียงใหม่มีหมู่บ้านที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ 1,200 แห่ง เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ป่าทั้งที่ชาวบ้านอยู่มาก่อน ชาวบ้านจึงไม่มีสิทธิในที่ทำกิน ไม่ได้รับงบประมาณในการพัฒนา เพราะอยู่ในที่ผิดกฎหมาย

“เรื่องนี้ต้องปลดล็อกให้ชุมชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน สามารถปลูกไม้ยืนต้นได้ไม่ใช่แค่ข้าวโพด ตอนนี้ปลูกไม้ยืนต้นไม่ได้ ถ้าปลูกโดนเจ้าหน้าที่ป่าไม้ตัด แต่ปลูกข้าวโพดได้” 

สภาลมหายใจเชียงใหม่ยังเสนอนโยบายเปลี่ยนจากพืชเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นวนเกษตร หรือการอนุรักษ์ดินและน้ำ เช่น เวลาปลูกข้าวโพดบ่อยๆ ดอยจะหัวโล้น พอหน้าฝน ดินโคลนจึงถล่มพังทลาย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ส่วนหน้าแล้งก็จะเกิดกลุ่มควัน เพราะข้าวโพดต้องเผา ฉะนั้นจึงต้องเปลี่ยนระบบเกษตรให้เป็นเกษตรยั่งยืนมากขึ้น

“เรายังเสนอให้ควบคุมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ไม่ให้ส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะกลุ่มควันสุดท้ายจะเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งการที่เราต้องมี พ.ร.บ. อากาศสะอาด สุดท้ายต้องสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวของภาคประชาชน คล้ายกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ มาขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐด้วย”



ยกระดับเชียงใหม่ให้เป็น ‘มหานคร’ เทียบเท่ากรุงเพทฯ 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนเชียงใหม่แสดงความต้องการชัดเจนว่าทุกอย่างในบ้านของพวกเขาอาจดีขึ้น หากท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตนเองได้ โดยมีระบบท้องถิ่นพิเศษของกรุงเทพฯ เป็นต้นแบบ

ชัชวาลย์บอกว่า โครงสร้างแบบเดิมที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีความยึดโยงกับพื้นที่ เพราะมาแค่ไม่กี่ปีก็ย้าย หรือไม่ก็เกษียณอายุ จึงเสนอร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดที่มาจากท้องถิ่น เกิดสภาพลเมืองที่เป็นองค์กรจากภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ในรูปของสภาพลเมือง 

ย้อนไป 10 กว่าปีที่แล้ว เคยมีการยื่น พ.ร.บ.บริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ให้กับสภา เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2556 แล้วหลังจากนั้นก็เกิดรัฐประหาร คสช. ขึ้น ร่าง พ.ร.บ. นี้จึงถูกตีตกไป

กระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ยื่นร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ให้สภาผู้แทนราษฎรกันอีกครั้ง โดย ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 ขณะนั้นเป็นผู้รับมอบ 

ล่าสุด สภาลมหายใจเชียงใหม่เป็นหนึ่งในภาคประชาสังคมคนเชียงใหม่ที่เชิญชวนประชาชนร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ‘เชียงใหม่มหานคร’ หรือ  ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดเชียงใหม่มหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการปลดล็อกเชียงใหม่ จากการรวมศูนย์อำนาจ รัฐส่วนกลาง ให้เชียงใหม่จัดการตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอรัฐส่วนกลาง โดยมีกำหนดรวบรวมรายชื่อเมื่อ  9 ตุลาคม 2567

วัตถุประสงค์หนึ่งที่ระบุไว้ในการยื่นเสนอกฎหมายคือ ประชาชนเชียงใหม่พร้อมที่จะจัดการปัญหาฝุ่นควัน ไฟป่า ออกแบบระบบการศึกษา ระบบสุขภาพ ระบบสวัสดิการ ด้วยตนเอง พร้อมจ่ายภาษีและนำภาษีมาบริหารจังหวัดเชียงใหม่ และพร้อมเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มหานคร



เชียงใหม่มหานครออกแบบโครงสร้างการปกครองไว้คือ เชียงใหม่มหานครอยู่ระดับบน ตามมาด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่าง เทศบาล และ อบต. โดยหน่วยงานท้องถิ่นที่ชื่อเชียงใหม่มหานครจะมีขอบเขตอำนาจเหมือนท้องถิ่นพิเศษกรุงเทพฯ คือจัดการตนเองได้ทั้งหมด ยกเว้นการทหาร การคลังรัฐ ระบบเงินตรา ศาล และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับราชการส่วนกลาง

“อยากเห็นรัฐกระจายอำนาจมาให้ชุมชนให้ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐแก้ไขปัญหาไม่ได้เพราะเป็นรัฐรวมศูนย์รวมอำนาจไว้ที่ตรงกลาง เวลาแก้ไขปัญหาค่อยสั่งลงมาผ่านกระทรวง ทบวง กรม  ซึ่งการแก้ไขปัญหาด้วยคำสั่งมันแก้ไม่ได้ การแก้ไขปัญหาต้องทำให้คนในท้องถิ่นคนในชุมชนลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเอง แต่การที่จะให้ชุมชนและท้องถิ่นลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ต้องมีอำนาจต้องมีสิทธิ มีงบประมาณ และการสนับสนุนจากรัฐที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งความพร้อมในการแก้ไขปัญหาด้วย แต่ในวันนี้รัฐรวมศูนย์ก็ล็อกสิ่งเหล่านี้ไว้” 

หากเชียงใหม่ได้เป็น ‘มหานคร’ ที่สามารถบริหารจัดการทรัพยากรของตนเองได้ ชัชวาลย์เชื่อว่า จะเกิดการร่วมวางแผนพัฒนาจังหวัด ระดมความรู้ความสามารถของคนเชียงใหม่มาวางแผนร่วมกัน และยังสามารถตรวจสอบถ่วงดุลผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งได้ รวมทั้งสนับสนุนความเข้มแข็งของประชาชนของท้องถิ่นให้มีศักยภาพ จนสามารถลุกขึ้นมาดูแลแก้ไขปัญหาของแต่ละท้องถิ่นได้



โครงสร้างเชียงใหม่มหานคร

โครงสร้างอำนาจตามที่ชาวเชียงใหม่เสนอไว้ใน ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร คือ มีผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร และสภาเชียงใหม่มหานคร ทั้งสองอย่างนี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเชียงใหม่ 

หน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชื่อเชียงใหม่มหานครคึอ จัดบริการสาธารณะเฉพาะส่วนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยรวมทั้งจังหวัด และเป็นบริการขนาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาดและการลงทุน ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับล่างไม่สามารถดำเนินการได้เอง

อำนาจหน้าที่ผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร

  • กำหนดนโยบายและการบริหารราชการของเชียงใหม่มหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย
  • สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของเชียงใหม่มหานคร
  • แต่งตั้งและถอดถอนรองผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร เลขานุการ ผู้ว่าราชการเชียงใหม่ มหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการเชียงใหม่มหานคร 
  • บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
  • วางระเบียบเพื่อให้งานของเชียงใหม่มหานครเป็นไปโดยเรียบร้อย 
  • รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติเชียงใหม่มหานคร 
  • ยุบสภาเชียงใหม่มหานครในกรณีที่ข้อบัญญัติงบประมาณประจำปีไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเชียงใหม่มหานคร
  • ประสานงานและร่วมมือกับข้าราชการทหาร ข้าราชการฝ่ายตุลาการข้าราชการฝ่ายอัยการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ข้าราชการในสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ในการพัฒนาเชียงใหม่มหานครหรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ 
  • เข้าร่วมประชุมสภาพลเมืองเพื่อรับฟังหรือชี้แจงข้อมูลต่อสภาพลเมืองเมื่อได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากสภาพลเมือง 
  • อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น

โดยการทำงานทั้งหมดจะมีสภาเชียงใหม่มหานคร คอยกำกับติดตามการบริหารงานของผู้ว่าราชการ ออกข้อบัญญัติการบริหาร บริการสาธารณะ พิจารณาข้อบัญญัติงบประมาณ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ชัชวาลย์บอกว่า ความเป็นมหานครแบบเชียงใหม่ จะต้องมีเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ได้เป็นแบบกรุงเทพฯ ทั้งหมด เพราะคนเชียงใหม่ต้องการเชียงใหม่มหานคร ไม่ใช่เชียงใหม่ที่เป็นกรุงเทพฯ แห่งที่สอง 

เราอยากเห็นการพัฒนาที่เป็นแบบของเชียงใหม่ ไม่อยากพัฒนาแบบกรุงเทพฯ เราจะเติบโตด้วยศักยภาพของเรา ไม่ใช่เราจะปิดกั้นตัวเอง เราสามารถเชื่อมโยงกับโลกกว้างเชื่อมโยงกับต่างประเทศได้ มีอิสระที่จะเชื่อมโยงกับกลุ่มต่างๆได้ โมเดิร์นด้วย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของเราด้วยและทันสมัยด้วย

share




Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat