เหตุการณ์โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการซีเรียสำเร็จแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันอาทิตย์ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตกว่า 500,000 รายจากสงครามกลางเมืองซีเรียอันยาวนานกว่า 13 ปี ประชาชนนับล้านต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ
เมื่อวันพุธที่แล้ว กลุ่มอิสลามติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ฮายัต ทาห์รีร์ อัลชาม (Hayat Tahrir al-Sham: HTS) ร่วมกับพันธมิตร ได้บุกยึดพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศได้สำเร็จ
หลังจากบุกยึดเมืองอเลปโป เมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศ พวกเขาได้เดินขบวนลงมาทางใต้ ผ่านถนนสายหลักมุ่งหน้าสู่กรุงดามัสกัส ขณะที่กองทัพซีเรียระส่ำระสาย
ช่วงเที่ยงวันอาทิตย์ อาบู มุฮัมมัด อัลจาวลานี ผู้นำกลุ่ม HTS ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์ของรัฐว่า “ระบอบการปกครองของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล-อัสซาด ถูกโค่นล้มลงแล้ว”
กองกำลังบุกเข้ายึดกรุงดามัสกัสและปล่อยนักโทษที่ถูกรัฐบาล ‘ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นธรรม’ ขณะที่ประธานาธิบดีอัสซาดหลบหนีออกนอกประเทศ และได้สถานะผู้ลี้ภัยในรัสเซีย
เมื่อวันอาทิตย์คงเป็นค่ำคืนที่ชาวซีเรียทั้งในและนอกประเทศปลื้มใจจนหลับไม่ลง แต่หลังจากนี้ยังต้องจับตาดูว่า ซีเรียในยุคหลังอัสซาดจะเป็นอย่างไร เมื่ออาหรับสปริง (Arab Spring) หวนกลับมาเยือนตะวันออกกลางอีกครั้ง แม้จะช้าไป 13 ปีก็ตาม
เมื่ออัสซาดก้าวขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2000 ต่อจาก ฮาเฟซ อัล-อัสซาด พ่อของเขาซึ่งเป็นผู้นำคนก่อน ตอนแรกมีการคาดหมายว่าอัสซาดไม่น่าดำเนินแนวทางแบบเดิมๆ
แต่หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามกลางเมืองในเดือนมีนาคม 2011 ตัวเลขผู้เสียชีวิตและถูกทำให้สูญหายโดยรัฐอย่างน้อย 580,000 รายในช่วงทศวรรษแรกของสงคราม จากการประมาณการโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ น่าจะพอยืนยันได้ว่าทั้งสองอาจไม่แตกต่างกัน
ระบอบอัสซาดที่ยาวนาน 24 ปีเพิ่งจบสิ้นลงจากความร่วมมือของพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลอย่างน้อย 3 กลุ่ม ทว่าหากนับรวมตั้งแต่ยุคฮาเฟซเมื่อปี 1971 เท่ากับว่าประชาชนซีเรียต้องทนการกดขี่มานานกว่า 50 ปี
สถานะ: ถูกโค่นล้ม
ผู้สนับสนุน: รัสเซีย อิหร่าน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์
สถานะ: ยึดเมืองหลวง ประกาศโค่นระบอบอัสซาด
ผู้สนับสนุน: ตุรกี
ผู้สนับสนุน: สหรัฐฯ
ตุรกีมองกลุ่มนี้เป็นศัตรู เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับกองกำลังชาวเคิร์ด PKK ที่ผิดกฎหมายในตุรกีและกาตาร์
หรือ Islamic State of Iraq and Syria: ISIS และ IS กลุ่มติดอาวุธสุดโต่งที่มีแนวคิดในการสร้างรัฐอิสลาม ศัตรูหลักคือกองกำลังที่สหรัฐฯ สนับสนุนอย่าง SDF
สถานะ: เสียผู้นำเมื่อเดือนเมษายน 2023 จากปฏิบัติการของหน่วยข่าวกรองตุรกี และประกาศตั้งผู้นำคนใหม่ในเดือนสิงหาคม
“อนาคตเป็นของเรา” อาบู มุฮัมมัด อัลจาวลานี (Abu Mohammed al-Jawlani) หัวหน้ากลุ่ม HTS วัย 42 ปี กองกำลังต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ที่ยุคก่อตั้งเคยมีความสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์ กล่าวกับผู้สนับสนุนที่มัสยิดในกรุงดามัสกัส
กลุ่มพันธมิตรหลักที่ร่วมกันโค่นเผด็จการอัสซาดคือ HTS, TFSA และ DSF โดยกลุ่มที่มีอิทธิพลมากที่สุดในซีเรียคือ HTS แต่ยังต้องแข่งขันเพื่อแย่งชิงอิทธิพลกับกลุ่ม SNA/TFSA ทางตะวันตกเฉียงเหนือด้วยกัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากตุรกี ส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือคือกลุ่ม SDF ที่สหรัฐฯ สนับสนุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเคิร์ด ก็ได้ครองพื้นที่เพิ่มขึ้น
ส่วนทางใต้มีกลุ่มกบฏจำนวนมากในพื้นที่ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธที่นำโดยชนกลุ่มน้อยชาวดรูซ (Druze) ซึ่งไม่ถูกนับว่าเป็นกลุ่มอิสลาม
เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า ซีเรียคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งที่สุดของรัสเซียในแถบตะวันออกกลาง เมื่อวันอาทิตย์ สื่อรัสเซียรายงานว่า อดีตประธานาธิบดีอัสซาดอยู่ที่กรุงมอสโก และได้รับสถานะผู้ลี้ภัย
ระหว่างสงครามกลางเมือง รัสเซียใช้ฐานทัพอากาศซีเรียสังหารชาวซีเรียหลายพันคนที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาด ในยุคสงครามเย็นใหม่ ซึ่งรัสเซียแสวงหาการขยายอิทธิพล แนวโน้มที่ทางการรัสเซียอาจสูญเสียการเข้าถึงซีเรียอย่างถาวรจะกลายเป็นข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ต่อสหรัฐฯ มหาศาล
ซีเรียเป็นจุดเชื่อมต่อทางภูมิศาสตร์สำคัญที่ทำให้อิหร่านขนอาวุธและเสบียงอื่นๆ ให้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนได้ การโค่นอัสซาดจะทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์อ่อนแอลง เนื่องจากคลังอาวุธของกลุ่มอยู่ในเลบานอนตอนใต้ ทำให้อิหร่านต้องหาทางเข้าสู่ชายแดนอิสราเอลโดยตรง จากนี้อิหร่านอาจต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการเข้าสู่การเจรจาหรือจะมุ่งไปที่การเพิ่มอาวุธนิวเคลียร์
สนับสนุนกองกำลัง TFSA ที่เป็นพันธมิตรโค่นล้มระบอบอัสซาด ขณะเดียวกัน กองทัพตุรกียังเปิดฉากโจมตีกองกำลังชาวเคิร์ด SDF ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ทางตอนเหนือของซีเรียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าจุดยืนของตุรกีและสหรัฐฯ แตกต่างกันสิ้นเชิงในเรื่องการสนับสนุนชาวเคิร์ด ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับกลุ่ม IS
สหรัฐฯ ยังคงมุ่งทำลายล้างกลุ่ม IS โดยมีทหาร 900 นายประจำอยู่ทางตะวันออกของซีเรีย
รัฐบาลโจ ไบเดน ไม่ต้องการให้กลุ่ม IS กลับมามีอำนาจอีกครั้ง แต่ไบเดนเหลือเวลาอยู่ในตำแหน่งอีกเพียง 6 สัปดาห์ก่อนเข้าสู่สมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่แสดงท่าทีไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในซีเรีย
หากรัสเซียถูกขับออกจากฐานทัพเรือที่ทาร์ทัส ซึ่งเป็นท่าเรือเพียงแห่งเดียวในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่เป็นจุดซ่อมบำรุงและสนับสนุนเรือรบรัสเซีย ย่อมเป็นผลประโยชน์อย่างมากต่อสหรัฐฯ
กองกำลังภาคพื้นดินของอิสราเอลเคลื่อนพลผ่านเขตปลอดทหารบริเวณชายแดนอิสราเอล-ซีเรียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นการเข้าสู่ดินแดนซีเรียอย่างเปิดเผยครั้งแรกของอิสราเอลนับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970 นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่า กองทัพอิสราเอลได้เข้ายึดที่มั่นทางทหารที่กองทัพซีเรียละทิ้ง แต่เป็นไปเพียงชั่วคราวและเพื่อการป้องกัน
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2010 ที่ตูนิเซีย มูฮัมหมัด บูอาซีซี ต้องลาออกจากการเรียน ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเริ่มต้นใช้ชีวิต เขาจึงต้องมาเข็นรถขายผักผลไม้เพื่อช่วยเหลือครอบครัว แต่ต้องถูกตำรวจหญิงหมิ่นหยามและตบหน้า ยึดรถขายผลไม้ ปรับเงินเพราะไม่มีใบอนุญาต บูอาซีซี วัย 26 ปี เผาตัวเอง ที่เมืองซิดีบูซิด เมื่อ 17 ธันวาคม 2010 ก่อนที่จะเสียชีวิตในวันที่ 4 มกราคม 2011 การเผาตัวเองของบูอาซีซีลุกลามสู่ ‘การปฏิวัติดอกมะลิ’ (Jasmine Revolution) และลุกลามไปทั่วดินแดนอาหรับ กลายเป็น ‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring) โดยมีโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือกระจายข่าวสารและระดมมวลชน
รัฐบาลถูกโค่นล้ม ประธานาธิบดี ไซน์ เอล อาบีดีน เบน-อาลี แห่งตูนิเซีย ที่อยู่ในอำนาจมา 23 ปี ต้องหลบหนีไปยังซาอุดีอาระเบีย
เกิดการชุมนุมใหญ่ ณ จัตุรัสทาห์รีร์ ขับไล่ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัก ที่ครองอำนาจเกือบ 30 ปีสำเร็จ
เกิดขึ้นตามหลังอียิปต์ และสามารถล้ม อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีที่อยู่ในตำแหน่งมา 22 ปีได้สำเร็จ
การชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นทางตะวันออกของลิเบีย นำไปสู่การโค่นอำนาจและสังหาร นายพล มูอัมมาร์ กัดดาฟี ที่ครองอำนาจยาวนานถึง 42 ปี
เกิดการชุมนุมใหญ่ที่กรุงดามัสกัส และเมืองอื่นๆ แต่การลุกฮือของประชาชนซีเรียไม่สามารถโค่น บาชาร์ อัล-อัสซาด ได้ นำไปสู่สงครามกลางเมืองนานกว่าทศวรรษ และเกิดตัวละครใหม่ คือกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) และคลื่นอพยพของผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาล ที่กลายมาเป็นปัญหาของเหล่าชาติตะวันตกในเวลาต่อมา และอาหรับสปริงที่ซีเรียก็เพิ่งประสบความเร็จในการโค่นผู้นำเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2024
อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าอาหรับสปริงเป็นการลุกฮือของประชาชนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้มหาศาล แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่เพียงชั่วคราว บางประเทศกลายเป็นรัฐล้มเหลว’ (failed state) บางประเทศกลับเข้าสู่วังวนเผด็จการ ไม่เปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง
ซีเรียคือตัวอย่างของกรณีพังพินาศที่สุด เพราะการชุมนุมกลายเป็นสงครามกลางเมือง เป็นต้นกำเนิดของคลื่นผู้อพยพนับล้านทั่วโลก และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการรัฐอิสลาม หรือ ISIS
อ่านเพิ่มเติมที่: ‘อาหรับสปริง’ การปฏิวัติเปลี่ยนผ่านที่ปลายทางไม่ใช่ประชาธิปไตย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม ชาวซีเรียที่อยู่นอกประเทศออกมาร่วมเดินขบวนเฉลิมฉลองพร้อมโบกสะบัดธงชาติ ทั้งในกรีซ อังกฤษ และเดนมาร์ก
ส่วนผู้ลี้ภัยซีเรียในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบราว 5.5 ล้านคน เฝ้ารอคอยที่จะได้กลับประเทศ ขณะเดียวกันก็กังวลถึงชีวิตใหม่ที่ต้องกลับไปพบเจอ ไม่นับอีกกว่า 7 ล้านคนที่ต้องเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยในประเทศบ้านเกิดตนเอง
เมื่อขับไล่อัสซาดและปลดปล่อยซีเรียได้สำเร็จ ชาวซีเรียได้หายใจกันเต็มปอดแล้ว ประเทศจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป
โทมัส จูโน ผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ภาควิชากิจการสาธารณะและระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยออตตาวา ให้ความเห็นว่า การต่อสู้กับระบอบอัสซาดเป็นกาวที่เชื่อมพันธมิตรโดยพฤตินัยนี้เข้าด้วยกัน
เมื่ออัสซาดออกจากประเทศไปแล้ว ความท้าทายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้คือ ความร่วมมือกันระหว่างพันธมิตรกลุ่มต่างๆ จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะกลุ่ม TFSA กับ SDF ที่มีผู้สนับสนุนอยู่คนละค่าย คือตุรกีและสหรัฐฯ ตามลำดับ
อีกทั้งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มต่อต้านจะขับไล่ทั้งอิหร่านและรัสเซียออกไปด้วยหรือไม่ หรือจะมีการเจรจาหาข้อตกลงกับสองมหาอำนาจที่มีส่วนเข่นฆ่าพวกเขาในสงครามกลางเมืองอันยาวนาน
“ไม่ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น คงไม่เลวร้ายไปกว่าระบอบการปกครองของบาชาร์ อัลอัสซาด” ฮาเชม อัลอัสซูกี (Hashem Alsouki) อดีตข้าราชการชาวซีเรียที่ถูกคุมขังและทรมานในช่วงต้นสงคราม ซึ่งต่อมาได้ลี้ภัยไปยังยุโรป กล่าว
ซีเรียยังต้องจัดการกับสุญญากาศทางอำนาจ และอีกความท้าทายสำคัญคือ ทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นรัฐก่อการร้ายหรือเป็นรัฐล้มเหลว เหมือนกับกรณีลิเบีย หลังจาก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกปลดจากตำแหน่งและสังหารเมื่อ 13 ปีก่อน
เราคงได้เห็นคำตอบในไม่กี่เดือนหลังจากนี้ ซึ่งมันย่อมกำหนดว่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันอาทิตย์เป็นการปลดปล่อยประชาชนและเริ่มต้นซ่อมสร้างประเทศอีกครั้ง หรือจะเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิบัติการทางทหารรอบใหม่กันแน่
อ้างอิง: The Guardian [1], The Guardian [2], DW, Saydnaya, The New York Times [1], The New York Times [2], The New York Times [3], BBC