Humberger Menu

สหภาพยุโรป (EU) มีบทบาทต่อโลกอย่างไร ทำไมคนในอยากออก แต่คนนอกอยากเข้า?

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

World

Politics

10 ธ.ค. 67

creator
ตติกานต์ เดชชพงศ
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • ชาวจอร์เจียรวมตัวประท้วงใหญ่หลังนายกรัฐมนตรี อิราคลี โคบาคิดเซ สั่งระงับกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ไปจนกว่าจะถึงปี 2028 ผู้ประท้วงมองว่าพรรครัฐบาลปัจจุบันเปลี่ยนอุดมการณ์ไปเป็นประชานิยมขวาจัดซึ่งพยายามยึดโยงกับรัสเซีย
  • นายกฯ จอร์เจียสั่งสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ มีผู้ถูกจับกุมหลายร้อยคน และมีผู้บาดเจ็บ ทำให้รัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีแถลงประณามการใช้กำลังกับผู้ประท้วงในจอร์เจียว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิพื้นฐานของพลเมืองในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อแสดงออกทางการเมือง
  • ระหว่างที่ผู้ประท้วงในจอร์เจียกดดันให้รัฐบาลตัวเองเดินหน้าเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ตามแผนเดิม พรรค AfD ในเยอรมนี ซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมขวาจัดกลับประกาศว่าพรรคจะเสนอให้เยอรมนีถอนตัวจาก EU ถ้าหากชนะการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2025
  • แม้พรรคขวาจัดจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศแถบยุโรป แต่ผลสำรวจความเห็นพลเมืองยุโรปปลายปี 2024 บ่งชี้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งยังเชื่อมั่นใน EU และเห็นว่า EU เป็นพื้นที่ปลอดภัยท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา

...


หลังการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาจอร์เจียถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2024 คณะกรรมการการเลือกตั้งของจอร์เจียก็ประกาศว่า พรรค Georgian Dream (GD) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2012 เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง แต่แนวร่วมพรรคฝ่ายค้านในจอร์เจียและรัฐสภายุโรปแถลงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นบรรยากาศการเลือกตั้ง ‘ไม่เสรีและไม่เป็นธรรม’ พร้อมอ้างอิงรายงานของผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและชาวจอร์เจียบางส่วนที่ระบุว่ามีการแทรกแซงที่อาจเข้าข่ายโกงผลเลือกตั้งเกิดขึ้น


องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe: OSCE) ซึ่งส่งผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งไปปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งจอร์เจียที่เพิ่งผ่านมา เผยแพร่รายงานปลายเดือนพฤศจิกายน 2024 ระบุว่า พบเห็นการกดดันและคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ประจำคูหาเลือกตั้งซึ่งพยายามชี้นำให้คนเลือกตัวแทนพรรครัฐบาล ทั้งยังพบเห็นบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วเกินจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ และกลไกภาครัฐต่างๆ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้งมีพฤติกรรมนำเสนอหรือโน้มน้าวให้ประชาชนเลือกพรรครัฐบาล แต่เพิกเฉยต่อการให้ข้อมูลบิดเบือนหรือการใช้ถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังโจมตีผู้สมัครจากพรรคฝ่ายค้าน 

ด้วยเหตุนี้ สภายุโรป ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศสมาชิก EU จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จอร์เจียจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเหตุผลหนึ่งที่ EU ใช้กดดันจอร์เจียคือเงื่อนไขในการสมัครเป็นสมาชิก EU ระบุว่า ประเทศผู้สมัครต้องยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน 

แต่นายกฯ อิราคลี โคบาคิดเซ ตอบโต้กลับโดยระบุว่า ข้อเรียกร้องของ EU เป็นการข่มขู่รัฐบาลจอร์เจียด้วยข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริง จึงประกาศเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2024 ว่ารัฐบาลของเขาจะระงับกระบวนการพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ไปจนถึงปี 2028 และในระหว่างนี้ก็จะไม่ขอรับงบประมาณสนับสนุนหรือความช่วยเหลือใดๆ จาก EU ด้วยเช่นกัน

นายกฯ จอร์เจีย อิราคลี โคบาคิดเซ


ปรากฏว่าชาวจอร์เจียที่ไม่เห็นด้วยกับการระงับแผนเข้าร่วม EU ของนายกฯ โคบาคิดเซ ต่างลุกฮือขึ้นชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เรียกได้ว่ามีคนมาเข้าร่วมมากกว่าตอนที่รวมตัวประท้วงผลเลือกตั้งปลายเดือนตุลาคมเสียอีก โดยผู้ประท้วงที่แสดงความเห็นผ่านสื่อระบุว่าการปฏิเสธเข้าร่วม EU เป็นผลเสียต่อจอร์เจียมากกว่าจะเป็นผลดี และยังน่าเป็นห่วงว่ารัฐบาลโคบาคิดเซจะหันไปพึ่งพาหรือสานสัมพันธ์กับรัสเซียแทน ทั้งที่ผู้นำรัสเซียคนปัจจุบันอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ถูกตั้งฉายาว่าเป็นผู้นำอำนาจนิยม


จะเข้าร่วมหรือต่อต้าน EU = คำถามที่กลายเป็นชนวนขัดแย้งในจอร์เจีย

การประท้วงใหญ่ในจอร์เจียเริ่มขึ้นหลังนายกฯ โคบาคิดเซประกาศยับยั้งแผนเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ในวันที่ 28 พฤศจิกายน และการประท้วงยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐบาลเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปราบปรามจลาจลใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ ทำให้มีผู้ถูกจับกุมกว่า 400 คน บาดเจ็บราว 100 คน รวมถึงผู้ที่ให้ปากคำว่าถูกตำรวจตีจนขาหัก อ้างอิงการรายงานของสำนักข่าว Aljazeera และ AP เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2024 แต่การปราบปรามที่เข้มงวดนี้ไม่ได้ทำให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมลดลงแต่อย่างใด 

ท่าทีของผู้ประท้วงสะท้อนให้เห็นว่าการระงับเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU เป็นเรื่องใหญ่ที่พวกเขาพร้อมจะต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อกดดันให้รัฐบาลกลับเข้าร่องเข้ารอยและดำเนินการตามแผนเดิมที่วางไว้ ซึ่งผู้ประท้วงส่วนใหญ่มองว่าการที่นายกฯ โคบาคิดเซ ‘ฝักใฝ่รัสเซีย’ คือภาพสะท้อนความต้องการที่จะยื้ออำนาจและนำแนวทางปราบปรามผู้เห็นต่างของรัฐบาลรัสเซียมาใช้ในประเทศตัวเอง 


หลายเดือนที่ผ่านมา พรรครัฐบาล Georgian Dream ที่กุมอำนาจในการบริหารประเทศมานานหลายสมัย เพิ่งออกกฎหมายหลายฉบับที่ลิดรอนสิทธิพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกกฎหมายรับรองการสมรสของคนเพศเดียวกัน รวมถึงเพ่งเล็งกลุ่มหลากหลายทางเพศ และบังคับใช้กฎหมายป้องกันการแทรกแซงของอิทธิพลต่างชาติ ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนมองว่าเป็นกฎหมายที่มีไว้เพื่อปิดปากหรือสกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมากกว่า และการที่รัฐบาลเลือกสานสัมพันธ์กับรัสเซียแทนที่จะเป็น EU ที่สนับสนุนการปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจอร์เจียยิ่งกว่าเดิม 

ที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียมักกล่าวอ้างว่ามีนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น แต่ก็เป็นรัสเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน อีกเช่นกัน ที่ส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงในดินแดนข้อพิพาทระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเซาท์ออสซีเชียและอับคาเซียซึ่งจับอาวุธขึ้นต่อต้านรัฐบาลจอร์เจียเมื่อปี 2008 จนกลายเป็นสงครามรัสเซีย-จอร์เจียที่กินเวลานาน 5 วัน และทำให้ภูมิภาคดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซียนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มชาวจอร์เจียที่สนับสนุนรัสเซียจึงปะทะขัดแย้งทางความคิดกับชาวจอร์เจียที่สนับสนุนหลักการเสรีประชาธิปไตย ซึ่งคนกลุ่มหลังถูกเรียกขานว่าเป็น ‘พวกฝักใฝ่ตะวันตก’ และเป็นคนกลุ่มเดียวกันกับที่ออกมาประท้วงกดดันให้รัฐบาลเดินหน้าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU

การประท้วงในจอร์เจีย


จุดแข็งของ EU ‘รวมกันเราอยู่-เพิ่มอำนาจต่อรอง’

ที่จริงแล้วกลุ่มประเทศแถบยุโรปมีความร่วมมือกันหลายด้านหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แต่การผลักดันจนเกิดสหภาพยุโรป หรือ EU ได้สำเร็จในปี 1993 เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลฝรั่งเศสและเยอรมนีที่ผลักดันให้ประเทศผู้ร่วมก่อตั้งในภูมิภาคยุโรปลงนามเห็นชอบ สนธิสัญญามาสทริชท์ (Treaty of Maastricht) ในปีก่อนหน้า 

เงื่อนไขหลักในการก่อตั้ง EU คือการรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในกลุ่มประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม รวมถึงเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับประเทศยุโรปในเวทีโลก หลังจากที่ถูกขนาบด้วยมหาอำนาจ 2 ฝั่งอย่างสหรัฐอเมริกาและอดีตสหภาพโซเวียตที่ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดในยุคสงครามเย็น

สมาชิกก่อตั้งยุคแรกเริ่มของ EU มี 6 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส, เยอรมนี (ตะวันตก), เบลเยียม, อิตาลี, ลักเซมเบิร์ก และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งล้วนอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนา แต่หลังจากการก่อตั้ง EU อย่างเป็นทางการก็มีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมด้วยจนกระทั่งมีสมาชิกรวม 27 ประเทศในปัจจุบัน โดย EU ได้กำหนดกลไกการดำเนินความร่วมมือต่างๆ ในแบบสถาบันเหนือรัฐ หรือ Supranational Institution ผ่านทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สภายุโรป (European Parliament) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of Justice of the European Union: CJEU) เป็นฝ่ายตุลาการ 

นอกจากนี้ยังมีกลไกระหว่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ คณะมนตรียุโรป (European Council) เป็นเวทีการประชุมของประมุขแห่งรัฐหรือผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก EU โดยมีการประชุมอย่างเป็นทางการปีละ 4 ครั้ง 

ส่วนคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (The Council of the European Union) เป็นองค์กรตัดสินใจหลักของ EU ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐสมาชิก EU อีกต่อหนึ่ง และธนาคารกลางยุโรป (The European Central Bank: ECB) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในกลุ่มประเทศสมาชิก

การก่อตั้ง EU ถูกยกย่องเป็นแบบอย่างที่หลายประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อยากเจริญรอยตาม (ประชาคมอาเซียนของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่ก็เป็นหนึ่งในนั้น) เพราะ EU มีส่วนทำให้ประเทศสมาชิกดำรงสันติภาพได้ในระยะยาวและมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด EU จึงกลายเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐที่ก้าวหน้าที่สุดในโลกหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 และยุคสงครามเย็น


แม้วัตถุประสงค์แรกเริ่มของการก่อตั้ง EU จะมุ่งเน้นเรื่องความมั่นคงและการเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีโลกเพื่อถ่วงดุลกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ ในยุคสงครามเย็น แต่สิ่งที่เป็นจุดแข็งของ EU อย่างแท้จริงคือความร่วมมือทางเศรษฐกิจจนกลายเป็นตลาดเดี่ยว (single market) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ EU มีอำนาจต่อรองในการเจรจากับคู่ค้าทั่วโลก ทั้งยังมีการกำหนดสกุลเงินยูโรเป็นค่ากลางด้านการเงิน และประเทศสมาชิกยอมรับเงื่อนไขการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยเสรีของประชากร ทำให้เกิดการลงทุนและการโยกย้ายแรงงานที่ส่งเสริมการเติบโตและขยายตัวทางเศรษฐกิจ

การรวมศูนย์อำนาจในการกำหนดนโยบายให้อยู่ในมือฝ่ายบริหารของ EU ก็ช่วยให้ยุโรปมีความมั่นคงและมีกลไกในการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างประเทศสมาชิก ขณะที่ประเทศขนาดเล็กที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก EU ก็ได้ประโยชน์จากนโยบายเปิดพรมแดนและกลายเป็นส่วนหนึ่งฐานการผลิตในตลาดเดี่ยวซึ่งใช้มาตรฐานแบบเดียวกัน ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนในประเทศสมาชิก EU ด้วยกัน ส่วนประเทศขนาดใหญ่ก็ได้แรงงานที่ตรงกับความต้องการในตลาด เกิดการสร้างงานจำนวนมากที่กระตุ้นเศรษฐกิจและการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งทำให้ EU เติบโตอย่างต่อเนื่อง 

อีกประเด็นที่ทำให้การเข้าร่วมกับ EU มีประโยชน์ต่อประเทศขนาดเล็กคือการได้เข้าร่วมในกรอบความร่วมมือเพื่อการป้องกันประเทศสมาชิก หรือ PESCO (Permanent Structured Cooperation on Security and Defense) ซึ่งแม้จะเพิ่งก่อตั้งในปี 2017 เพื่อเป็นกลไกหลักด้านการป้องกันประเทศของสมาชิก แต่ก่อนหน้านี้สมาชิก EU ราว 20 ประเทศก็เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพโซเวียตในอดีตอยู่แล้ว และปัจจุบันมีภารกิจหลักๆ ในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกคุกคามจากภายนอก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศยุโรปขนาดเล็กอยากจะเป็นสมาชิก EU เพื่อเพิ่มโอกาสในการเป็นสมาชิก NATO ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทางทหารและพันธมิตรด้านความมั่นคง


จะเกิดอะไรขึ้นถ้า EU แตกแยกจนถึงขั้น ‘ล่มสลาย’

ในขณะที่ชาวจอร์เจียกดดันให้รัฐบาลเลิกเตะถ่วงการเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU กลับมีความเคลื่อนไหวสวนทางจากภายใน EU เอง โดยพรรค AfD ในเยอรมนีซึ่งมีแนวคิดชาตินิยมขวาจัดและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เสนอนโยบายว่า จะให้เยอรมนีถอนตัวจาก EU ถ้าหากพรรคได้รับเลือกเป็นเสียงข้างมากในการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นก่อนกำหนดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2025

นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินว่า ถ้าพรรค AfD ได้รับเลือกเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จจะส่งผลกระทบต่อ EU อย่างแน่นอน เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีที่นั่งในสภายุโรปมากสุด และถูกมองว่าเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อน EU ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 

ถ้ารัฐบาลเยอรมนีถอนตัวตามนโยบายหาเสียงของ AfD ซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นผู้ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งปีหน้า ก็อาจไปถึงจุดที่ EU ล่มสลายได้ เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีที่นั่งในสภายุโรปมากที่สุด (96) รองลงมาคือฝรั่งเศส (79) และอิตาลี (76) 

แกนนำพรรค AFD ในเยอรมนี


บรรดาพรรคขวาจัดในประเทศแถบยุโรปที่ได้รับเลือกตั้งเพิ่มขึ้นก็มีแนวคิดคล้ายกับพรรค AfD ที่มองว่าการทำตามมาตรฐานหรือกรอบความร่วมมือของ EU บั่นทอนอำนาจอธิปไตยในประเทศ ทำให้การดำรงอยู่ของ EU ถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่ายังมีความจำเป็นอยู่ไหมในโลกปัจจุบันนี้

อย่างไรก็ดี ถ้า EU ล่มสลาย ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าที่มีกับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก เพราะจากที่เคยทำข้อตกลงกับ EU ในฐานะตลาดเดี่ยวก็อาจต้องไปเริ่มต้นเจรจาเงื่อนไขและข้อตกลงกันใหม่ในกรอบทวิภาคีระหว่างประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต่อรองกันได้ แต่ช่วงแรกคงหลีกเลี่ยงไม่พ้นเหตุติดขัดที่อาจเกิดจากการปรับแก้หรือเปลี่ยนกรอบความร่วมมือกันใหม่

สิ่งที่ถูกมองว่าจะเป็นปัญหาใหญ่สุดถ้า EU ล่มสลายจริงๆ คือการยกเลิกสกุลเงินยูโรซึ่งถูกใช้เป็นมาตรฐานทางการเงินในประเทศสมาชิกและกลับไปใช้เงินสกุลของแต่ละประเทศตามเดิม จะทำให้อัตราแลกเปลี่ยนและการลงทุนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ต้องปรับตัวครั้งใหญ่ และในช่วงแรกน่าจะเกิดปฏิกิริยาตอบรับในเชิงลบที่อาจส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงที่จะสูญเสียของนักลงทุน รวมถึงกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจการเงินในประเทศสมาชิกซึ่งอาจส่งผลบานปลายไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าของ EU ด้วย 

นอกจากนี้ การกำหนดเขตเชงเกน (Schengen Area) อาจถูกยกเลิก และจะส่งผลกระทบต่อการขอวีซ่าเดินทางจากเดิมที่สามารถขอ ‘เชงเกนวีซ่า’ เพื่อเดินทางเข้าออกประเทศประเทศสมาชิก EU และรัฐอื่นๆ ในยุโรปรวม 29 แห่งที่ทำข้อตกลงความร่วมมือเขตเชงเกน ซึ่งยกเลิกการใช้หนังสือเดินทางและการควบคุมบริเวณพรมแดนทุกประเภทสำหรับการเดินทางระหว่างรัฐภาคีในเขตเชงเกน และจะทำให้ผู้เดินทางไปยังประเทศแถบนี้ต้องไปขอวีซ่าจากรัฐแต่ละแห่งโดยตรง ซึ่งไม่สะดวกและไม่ครอบคลุมเท่ากับวีซ่าเชงเกน  


กระแสชาตินิยมขวาจัดเฟื่องฟู แต่โพลชี้คนยุโรปยังเชื่อมั่นใน EU

ในระยะเวลาสองสามปีที่ผ่านมา EU เริ่มเสื่อมมนต์ขลังในสายตาของพลเมืองในประเทศสมาชิกเอง เพราะ EU เผชิญกับความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างหนัก ทั้งที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงผลพวงจากวิกฤตหนี้และวิกฤตค่าเงินในกลุ่มประเทศสมาชิกบางส่วนที่ทำให้เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่แก่สมาชิก EU ทั้งหมด ตลอดจนปรากฏการณ์ที่คนในประเทศ EU ต่อต้านนโยบายรับผู้อพยพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแสเกลียดชังผู้ลี้ภัยซึ่งนำไปสู่การเติบโตของกลุ่มการเมืองที่มีแนวคิดชาตินิยมขวาจัด 

พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดในหลายประเทศตั้งคำถามอยู่เรื่อยๆ ว่าจำเป็นต้องเป็นสมาชิก EU อยู่ไหม เพราะในปี 2007 มีการผลักดันให้ประเทศสมาชิก EU ลงนามใน สนธิสัญญาลิสบอน (Lisbon Treaty) ซึ่งระบุเงื่อนไขว่าประเทศสมาชิกต้องให้ความเห็นชอบในการสละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ความร่วมมือในกรอบ EU ซึ่งอยู่ในรูปแบบ ‘เหนือชาติ’ โดยรวมถึงการออกนโยบายด้านการเงิน การค้าร่วม การแข่งขันทางธุรกิจ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรชีวภาพทางทะเล

เงื่อนไขใน สนธิสัญญาลิสบอน ส่งผลให้หลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการทำธุรกิจหรือตั้งภาษีศุลกากรในประเทศให้สอดคล้องกับความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก EU โดยรวม ทำให้เกิดกระแสต่อต้านในหลายประเทศซึ่งมองว่าเงื่อนไขเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อคนในชาติเพราะต้องร่วมแบกรับนโยบายใหญ่โตที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลประเทศอื่นแทนที่จะคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในชาติตัวเอง 

ส่วนกรณีของจอร์เจีย พรรค Georgian Dream ของนายกฯ โคบาคิดเซ เปลี่ยนจากอุดมการณ์ยุคแรกเริ่มที่สนับสนุนความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันของกลุ่มการเมืองแบบพหุนิยม กลายเป็นสนับสนุนรัฐบาลรัสเซียและพร้อมยอมรับความช่วยเหลือจากรัสเซียในด้านต่างๆ โดยไม่ต้องปรับแก้เรื่องประชาธิปไตยหรือการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเรือนแบบที่ EU ตั้งเงื่อนไข ทำให้ประชาชนชาวจอร์เจียจำนวนมากออกมารวมตัวประท้วง เพราะไม่อยากให้รัสเซียมีอิทธิพลในประเทศ แต่อยากให้จอร์เจียเป็นสมาชิก EU 

ถึงกระนั้นก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่ในเดือนพฤศจิกายน 2024 จัดทำโดยหน่วยงานด้านสื่อสารประชาสัมพันธ์ของ EU เอง บ่งชี้ว่าคนยุโรปส่วนใหญ่ หรือ 51 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ยังคงเชื่อมั่นใน EU ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ทำการสำรวจครั้งแรกในปี 2007 เป็นต้นมา 

ขณะที่ 7 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถาม หรือประมาณ 69 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่า EU มีศักยภาพและกลไกที่ดีมีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องผลประโยชน์ในเวทีโลกของสมาชิก EU โดยรวม และเชื่อมั่นว่า EU ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีเสถียรภาพท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยปัญหา และ 74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยังสนับสนุนการใช้สกุลเงินยูโรเป็นมาตรฐานทางการเงิน เพราะช่วยให้การจัดการค่าครองชีพทำได้อย่างสะดวกและมีหลักเกณฑ์เดียวกัน 

สิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามชาวยุโรปกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับ EU คือความสามารถในการป้องกันและรักษาความมั่นคงในประเทศสมาชิกและระหว่างประเทศสมาชิก EU โดยรวม คิดเป็น 33 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยประเด็นผู้ลี้ภัย คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยประชากรส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มองว่ารัฐบาลประเทศ EU ควรมีการบริหารจัดการนโยบายผู้ลี้ภัยที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ และประเด็นถัดมาคือความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค


บทเรียน Brexit สู่ Bregret อาจยับยั้ง EU ไม่ให้ล่มสลายได้

นอกเหนือจากผลสำรวจความเห็นชาวยุโรปที่บ่งชี้ว่า EU ยังได้รับความเชื่อมั่น ยังมีตัวอย่างสำคัญที่คนใน EU จำนวนมากยังไม่ลืม คือ การลงประชามติของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2016 ที่เสียงข้างมากลงมติให้สหราชอาณาจักรถอนตัวจากสมาชิกภาพ EU จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Brexit ซึ่งมาจากการรวบคำว่า British Exit เพราะฝ่ายขวาในสหราชอาณาจักรปลุกกระแสชาตินิยมโดยมองว่าการเป็นสมาชิก EU ทำให้ประเทศเสียเปรียบหลายด้าน โดยเฉพาะประเด็นอธิปไตยของประเทศเพราะการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานโดยเสรีของประชากรในประเทศสมาชิก EU ทำให้คนต่างชาติหลั่งไหลมาทำงานและตั้งรกรากถาวรในสหราชอาณาจักร 

เวลาผ่านไป 8 ปี เว็บไซต์ Statista รายงานผลสำรวจความเห็นประชาชนในสหราชอาณาจักรที่มีต่อสภาพความเป็นอยู่ในประเทศหลังออกจาก EU พบว่าคนรุ่นใหม่ในช่วงวัย 18-25 ปีมากกว่าครึ่งรู้สึกเสียใจที่เสียงข้างมากในปี 2016 โหวตเลือกให้ถอนตัวจาก EU คิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม 

ประเด็นที่ทำให้เสียใจมากสุดคือภาพรวมของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงเกิดการเคลื่อนย้ายของนักลงทุนที่เคยได้รับประโยชน์จากสถานะสมาชิก EU ออกจากสหราชอาณาจักร และผู้ตอบแบบสอบถามที่เคยโหวตเลือกออกจาก EU ราว 16 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าถ้าตัวเองมีโอกาสเลือกอีกครั้งจะโหวตให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิก EU ต่อไป จนกลายเป็นปรากฏการณ์ Bregret หรือ British Regret ที่สะท้อนความเสียใจของคนจำนวนหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจพลาดในปีที่มีการลงประชามติ Brexit

อดีตนายกฯ บอริส จอห์นสัน ผู้พาอังกฤษออกจาก EU


อย่างไรก็ดี โพลที่ Statista อ้างอิงบ่งชี้ว่าคนที่เคยโหวตออกจาก EU ที่บอกว่าตัวเองจะไม่เปลี่ยนใจแม้ได้รับโอกาสให้เลือกใหม่ได้อีกครั้งยังมีจำนวนมาก หรือ 72 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าสิ่งที่เป็นข้อกังวลมากที่สุดไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นอธิปไตย ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มนี้มองว่าการรักษาอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดนโยบายหรือดำเนินการต่างๆ ต้องมาจากการมติประชาชนหรือตัวแทนทางการเมืองที่ประชาชนในสหราชอาณาจักรเป็นผู้เลือกมา ไม่ใช่เกิดจากฝ่ายบริหารของ EU ที่ถูกครอบงำโดยบางประเทศที่มีเสียงข้างมากในสภายุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรป 

ส่วนกรณีของจอร์เจียต่างจากสหราชอาณาจักร เพราะจอร์เจียยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก EU อย่างเป็นทางการ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงอาจจะยังไม่รู้สึกหรือมองไม่เห็นว่าข้อดีข้อเสียของการเข้าร่วม EU เป็นอย่างไรบ้าง แม้จะมีเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักการทูตที่เข้าร่วมการประท้วงกดดันให้รัฐบาลจอร์เจียเดินหน้าแผนเข้าร่วม EU ด้วย แต่ยังไม่อาจประเมินได้ว่าการประท้วงจะสร้างแรงกระเพื่อมให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนท่าทีได้หรือไม่ 

ถ้าดูจากท่าทีแข็งกร้าวของนายกฯ โคบาคิดเซที่กล่าวว่าผู้ประท้วงเป็นพวกรับเงินจากต่างชาติเข้ามาแทรกแซงผลการเลือกตั้งในจอร์เจีย รวมถึงการสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามอย่างเต็มที่ แม้จะมีผู้ประท้วงบาดเจ็บหรือถูกซ้อมขณะถูกเจ้าหน้าที่คุมตัว นายกฯ ก็ยืนยันโดยไม่รอกระบวนการไต่สวนว่าเจ้าหน้าที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะเป็นการทำตามคำสั่งของรัฐบาล จึงไม่ต้องถูกไต่สวนดำเนินคดีแต่อย่างใด

แม้ EU จะอยู่ในสภาพ ‘คนในอยากออก คนนอกอยากเข้า’ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือกระแสขวาจัดเฟื่องฟูในกลุ่มประเทศยุโรปก็ทำให้เอกภาพของ EU สั่นคลอน สวนทางกับการแผ่ขยายอำนาจของรัสเซียในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และด้วยความที่หลายประเทศเคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตในอดีตก็มีส่วนทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความเอนเอียงไปทางรัสเซียมากกว่า EU 


อ้างอิง:



Share article
  • Line
  • link

RELATED

+

เมื่อรัฐสภากลายเป็นสนามรบ หรือการใช้ความรุนแรงในสภา กำลังบอกว่าการเมืองไม่ปกติ

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat