Humberger Menu

เมื่อนักฟุตบอลหญิงกว่า 130 คนยื่นจดหมายถึง FIFA ให้ ‘ยกเลิกการดีลกับสปอนเซอร์’ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิสตรี

-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

Politics & Society

World

Social Issues

11 ธ.ค. 67

creator
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์
BookmarkLineCopy
-ก
+
Light
Dark
ฟังบทความ

...

Summary
  • นักฟุตบอลหญิงอาชีพกว่า 130 คน ลงนามในจดหมายเปิดผนึก เพื่อเรียกร้องให้ ‘ฟีฟ่า’ (FIFA) หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ยกเลิกข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ของบริษัท Aramco ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย
  • เหตุผลของการคัดค้านครั้งนี้เพราะ Aramco คือบริษัทที่ขึ้นชื่อว่ามีส่วนก่อให้เกิด Climate Change และบริษัทดังกล่าวยังถือเป็นของรัฐซาอุดีอาระเบียถึง 98.5% นักกีฬาหญิงจึงมองไปถึงประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ของซาอุดีอาระเบียด้วย

...


ในโลกของ ‘ฟุตบอล’ แฟนๆ มักคาดหวังให้นักเตะโฟกัสอยู่กับการแข่งขัน เล่นให้ดี คว้าชัยชนะ และรักษาอันดับหรือคะแนนไว้ให้ได้ ผู้คนไม่ต้องการให้มีอะไรไปรบกวนสมาธิหรือจิตใจของนักกีฬา ชีวิตของเขาและเธอจึงจดจ่อ -- อย่างเอาเป็นเอาตาย -- อยู่กับลูกกลมๆ ในสนาม

แต่นักฟุตบอลหญิงมืออาชีพจำนวนหนึ่งตัดสินใจเบนสายตาของพวกเธอมาโฟกัสที่โลกกลมๆ ของเราไปพร้อมกัน

ปีนี้ นักฟุตบอลหญิงอาชีพกว่า 130 คน จาก 27 ประเทศ ซึ่งลงเล่นรวมกันกว่า 2,700 นัด ตัดสินใจลงนามในจดหมายเปิดผนึก เพื่อเรียกร้องให้ ‘ฟีฟ่า’ (FIFA) หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ยกเลิกข้อตกลงการเป็นสปอนเซอร์ของบริษัท Aramco ยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันจากซาอุดีอาระเบีย 

ต้องเล่าย้อนไปว่า ในช่วงต้นปี 2024 ฟีฟ่าซึ่งมีภารกิจบริหารจัดการกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทดังกล่าว เป็นความร่วมมือที่จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงปี 2027 โดยบริษัทจะเป็นสปอนเซอร์ของฟุตบอลโลกชายในปี 2026 และฟุตบอลโลกหญิงในปีถัดไป

กลุ่มนักฟุตบอลอาชีพหญิงอธิบายเหตุผลของการคัดค้านครั้งนี้ว่า Aramco เป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซของรัฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสถาบันวิจัยอิสระชื่อ Carbon Tracker กล่าวว่าอารัมโกเป็น "ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลก"

นอกจากนี้ การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าวถือเป็นของประเทศซาอุดีอาระเบียถึง 98.5% พวกเธอจึงมองไปถึงแนวคิดและวิธีปฏิบัติต่างๆ ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นเหล่านี้เสมอ

ด้วยเหตุผลนี้ กลุ่มนักฟุตบอลหญิงจึงเรียกข้อตกลงของฟีฟ่ากับบริษัท Aramco ว่าเป็นการ ‘ชูนิ้วกลางให้กับฟุตบอลหญิง’ (middle finger to women’s football) และเรียกร้องให้ฟีฟ่าพิจารณาข้อตกลงใหม่ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมและสิ่งแวดล้อม

ในจดหมายของพวกเธอยังระบุตัวอย่างการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณีไว้ด้วย เช่น ในเดือนมกราคม 2023 ซาอุดีอาระเบียได้ตัดสินจำคุก Salma al-Shehab นักศึกษาปริญญาเอก นักอนามัยทันตกรรม (และเธอเป็นแม่ของลูกสองคนด้วย) เป็นเวลา 27 ปี ตามด้วยการสั่งห้ามเดินทางอีก 27 ปีในข้อหา ‘รีทวีต’ เพื่อสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก

จดหมายเปิดผนึกยังระบุถึงนโยบายของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เช่น การเพิ่งอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้ในปี 2018 และการคุมขังผู้หญิงที่รณรงค์เพื่อความก้าวหน้าโดยที่พวกเธอถูกคุกคามทางเพศและทรมานระหว่างการสอบสวน อีกทั้งผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวยังคงถูกห้ามเดินทางและเผชิญข้อจำกัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก

รวมถึงกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียง 4 สัปดาห์หลังจากที่ฟีฟ่าประกาศความร่วมมือกับ Aramco คือกรณีของครูสอนฟิตเนสชื่อ มานาเฮล อัล-โอไตบี เธอถูกตัดสินจำคุก 11 ปีภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย เพียงเพราะโพสต์เนื้อหาส่งเสริมสิทธิผู้หญิงบนโซเชียลมีเดีย

นักฟุตบอลหญิงไม่เพียงลงนามในจดหมายเปิดผนึกเท่านั้น แต่ยังเดินทางไปที่การประชุม COP29 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีโซฟี จุงเก เพเดอร์เซน กองกลางของอินเตอร์ มิลานและทีมชาติเดนมาร์ก และ เคธี่ รูด ผู้เล่นทีมฮาร์ทส์ในสก็อตแลนด์พรีเมียร์ลีก และทีมชาตินิวซีแลนด์ เป็นหัวหอกในการส่งสารนี้ถึง จานนี่ อินฟานติโน่ ประธานสหพันธ์ฟีฟ่าด้วย



โซฟี จุงเก้ พีเดอร์เซน ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้โดยกล่าวว่าการตัดสินใจของฟีฟ่านั้น “แย่กว่าการยิงเข้าประตูตัวเอง” และเสริมว่าเธอต้องการให้ฟีฟ่าแทนที่ Aramco ด้วยผู้สนับสนุนรายอื่น ซึ่งมีค่านิยมสอดคล้องกับความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน และโลกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนแทน

นักบอลหญิงที่ร่วมลงนามคนอื่นๆ ก็ออกมาส่งเสียงอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้เช่นกัน เช่น เจสซี เฟลมมิ่ง กัปตันทีมชาติของแคนาดา และกองกลางของพอร์ตแลนด์ ธอร์นส์ กล่าวว่า “ Aramco เป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ที่สุดของโลก โลกที่เราทุกคนเรียกว่าบ้าน การรับเงินสนับสนุนจากบริษัทนี้ ฟีฟ่ากำลังเลือกเงินมากกว่าความปลอดภัยของผู้หญิงและความปลอดภัยของโลก และนี่คือสิ่งที่พวกเราในฐานะผู้เล่นกำลังต่อสู้ร่วมกัน”

หรือ วิเวียนน์ มีเดมา กองหน้าของแมนเชสเตอร์ซิตี้และนักฟุตบอลทีมชาติเนเธอร์แลนด์ ก็กล่าวว่า “จดหมายฉบับนี้แสดงให้เห็นว่านี่คือสิ่งที่เราไม่ต้องการและไม่ยอมรับในฟุตบอลหญิง การสนับสนุนนี้ขัดแย้งกับความมุ่งมั่นของ FIFA ที่มีต่อสิทธิมนุษยชนและโลก ฉันคิดว่าในฐานะนักฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะนักฟุตบอลหญิง เรามีหน้าที่แสดงให้โลกและคนรุ่นต่อไปเห็นถึงสิ่งที่ถูกต้อง”



อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า Aramco ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนฟุตบอลหญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟุตบอลชายด้วยเช่นกัน ล่าสุด เดวิด จอห์น วีลเลอร์ นักฟุตบอลชายชาวอังกฤษที่เล่นในตำแหน่งกองกลางให้กับสโมสรไวคอมบ์ วันเดอเรอร์ส ในลีกวันของอังกฤษ (และเคยเล่นให้กับทีมอื่นเช่น พอร์ตสมัท, เอ็กซิเตอร์ ซิตี้) ได้เขียนบทความเผยแพร่ในสื่อ The Guardian โดยเขาสนับสนุนการเรียกร้องของนักฟุตบอลหญิง ทั้งยังอธิบายในมุมของนักเตะชายไว้ด้วยว่า

“หลังจากจดหมายดังกล่าวเผยแพร่ ผมก็ออกมาสนับสนุนความคิดของพวกเธอ ผมยังหวังว่านักฟุตบอลชายมืออาชีพคนอื่นๆ จะเข้าร่วมกับผมด้วยเหมือนกัน นักฟุตบอลหญิงได้รับเสียงปรบมืออย่างกว้างขวางที่ออกมาพูดแบบนี้ แต่นักฟุตบอลชายไม่ได้ทำในสิ่งเดียวกัน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ฟีฟ่ายังเตรียมประกาศให้ซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกชาย 2034 อีก

“ฟุตบอลชายและหญิงเป็นโลกที่แตกต่างกันมาก ฟุตบอลหญิงมีประวัติศาสตร์ที่ผู้เล่นต้องออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมและมีส่วนร่วมกับประเด็นสังคมต่างๆ ทั้งในและนอกวงการกีฬา ขณะเดียวกันฟุตบอลหญิงก็เต็มไปด้วยความไม่มั่นคงทางการเงิน การลงทุนที่ไม่เพียงพอ และยังมีประเด็นต่างๆ ในชีวิตนอกวงการฟุตบอลอีก ผมคิดว่าต้องขอบคุณการรณรงค์ของเหล่านักกีฬาหญิงที่ทำให้ฟุตบอลหญิงเดินมาถึงจุดนี้ได้

“ประสบการณ์ของผู้เล่นชายในยุคของผมนั้นแตกต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว นักฟุตบอลจากสโมสรมักจะถูกบอกให้หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวนภายนอก และนักฟุตบอลอาชีพที่ออกมาพูดหรือแสวงหาชีวิตนอกสนามก็มีสิทธิจะถูกตะโกนบอกว่า ‘เสแสร้ง’ หรือบอกให้ ‘มุ่งความสนใจไปที่ฟุตบอลก็พอ‘ ในช่วงเวลาที่ผลการแข่งขันเริ่มพลิกผัน บ่อยครั้งที่เราถูกปฏิบัติเหมือนสินค้า สินค้าที่เข้ามาเพื่อแข่งขัน และถูกขายเมื่อราคาเหมาะสม”

“แต่พวกเราใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งนอกและในสนามครับ สิ่งนี้ทำให้ผู้เล่นลุกขึ้นต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ รณรงค์เรื่องสุขภาพจิต หรือบริจาคทรัพย์สินส่วนใหญ่ของตัวเองให้กับการกุศล และความเชื่อเดียวกันนี้ทำให้ผมออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งขึ้นและต่อต้านผู้สนับสนุนการพนันในฟุตบอลด้วย 

“ฟุตบอลชายมีทัศนคติเชิงลบอยู่บ้างว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรอก เงินมีอำนาจ และทุกคนถูกซื้อได้ ผมว่าเราต้องก้าวข้ามสิ่งนี้ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยหากปราศจากการผลักดัน แต่หากผู้เล่น แฟนบอล โค้ช ผู้บริหารสโมสร และสมาคมฟุตบอลมารวมตัวกัน เราจะมีพลังมหาศาล หากไม่มีพวกเรา ก็ไม่มีฟุตบอลเกิดขึ้น เรามาสร้างเกมที่เราต้องการกันเถอะครับ”


อ้างอิง: Athletes of The World, The Guardian, BBC



Share article
  • Line
  • link

ไทยรัฐออนไลน์ ใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และ นโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)

ยอมรับ
Thailand Web Stat